ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่ออิสราเอลได้ผู้นำคนใหม่ อะไรจะเกิดขึ้น?

เมื่ออิสราเอลได้ผู้นำคนใหม่ อะไรจะเกิดขึ้น?

15 มิถุนายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

นายนตาลี เบนเน็ตต์ (Natali Bennett) นายกรัฐมนตรคนใหม่อิสราเอล ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Naftali_Bennett#/media/File:Naftali-Bennett.jpg

เมื่อเวลา 20.50 น. ของคืนวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2564 รัฐสภาของอิสราเอล ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกของกรุงเยรูซาเลม ได้ประกาศผลการโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลผสมจาก 8 พรรคการเมือง เลือกให้นายนตาลี เบนเน็ตต์ (Natali Bennett) ผู้นำพรรคยะมานี (Yamani) อันเป็นพรรคขวาสุดโต่ง (far right) เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทนนายเบนจามิน เนทันยาฮู ด้วยคะแนนเสียง 60:59 และงดออกเสียง 1 เสียง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศนี้

ตลอดเวลาที่มีการประชุมสภาครั้งนี้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู เป็นผู้เดียวที่สวมหน้ากากอนามัยสีดำ ในขณะที่ไม่มีผู้ใดในสภาสวมใส่หน้ากากเลย สีหน้าของเขาเรียบเฉย และเดินออกจากที่ประชุมทันทีที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เดินขึ้นไปที่โพเดียมเพื่อกล่าวสาบานตนรับหน้าที่ใหม่ต่อหน้ารัฐสภา

ก่อนหน้าการประชุมนี้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู ได้ประกาศว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่นี้ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นรัฐบาล “ซ้ายจัด” จะนำประเทศชาติไปสู่ความหายนะ และเขาจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้งหนึ่งเร็วกว่าความคาดหวังของทุกคน

ขณะที่รัฐสภากำลังประชุมอยู่นั้น ชาวอิสราเอลหลายพันคนได้รวมตัวกันในจัตุรัสราบินกลางเมืองเทลอาวีฟ เฉลิมฉลองการสิ้นสุดของยุคของนายเบนจามิน เนทันยาฮู ร้องเพลงเล่นดนตรีกันอย่างสนุกสนาน เพราะชาวอิสราเอลส่วนใหญ่เบื่อหน่ายและผิดหวังกับการทำงานของนายเบนจามิน เนทันยาฮู โดยเฉพาะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนทำให้เกิดสงครามกับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ ทำให้เยาวชนชาวปาเลสไตน์กว่าสามพันคนเสียชีวิต อาคารในเขตฉนวนกาซาหลายสิบหลังพังพินาศ ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ขาดทั้งอาหาร น้ำดื่ม และเวชภัณฑ์ เกิดการเดินขบวนประท้วงตามเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป สหประชาชาติและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประณามการกระทำของอิสราเอล

นายเบนจามิน เนทันยาฮู เองได้ยอมรับเมื่อรู้ผลว่าเขาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ว่า สิ่งที่กระทำไปต่อฮามาสนั้นเป็นความรุนแรงเกินเหตุผล แต่ก็บอกว่ารัฐบาลของเขาประสบความสำเร็จในการป้องกันประเทศจากอันตรายต่างๆ และได้ให้ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับมอตซาต แถลงข่าวความสำเร็จที่ได้ส่งจารชนกลุ่มหนึ่ง 20 นาย เข้าไปจารกรรมเอกสารลับของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ใกล้กรุงเตหะราน ออกมาได้ในช่วงกลางดึกเมื่อสองสัปดาห์ก่อน และพิสูจน์ว่ารัฐบาลของอิหร่านไม่ได้ทำตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับประเทศตะวันตก ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาลของเขา

กระนั้นก็ดี การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่เกิดแรงกระเพื่อมใดๆ ทางการเมืองในอิสราเอลหรือการเมืองระหว่างประเทศ ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่เชื่อว่ายุคสมัยของนายเบนจามิน เนทันยาฮู นั้นหมดลงแล้ว แม้ว่าตัวของเขาเองยังคงทะเยอทะยานที่จะกลับมานำประเทศอีก เพราะเมื่อนายเบนจามิน เนทันยาฮู พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาย่อมไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองพิเศษใดๆ ในฐานะผู้นำประเทศ เรื่องราวอื้อฉาวซึ่งมีนักการเมืองและประชาชนจำนวนมากเคยกล่าวหาเขาไว้นั้นก็จะแดงออกมา และหลายคนยังเชื่อต่อไปอีกว่านายเบนจามิน เนทันยาฮู มีสิทธิ์ที่จะถูกพิพากษาดำเนินคดีให้ติดคุกติดตารางอีกด้วย เพราะแม้ในขณะนี้เอง นายเบนจามิน เนทันยาฮูถูกฟ้องในคดีอาญาข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงถึง 3 คดี

รัฐบาลผสม 8 พรรคการเมืองซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสราเอลมาก่อน และทั้ง 8 พรรคต่างไม่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกันเลย นายไยร์ ละปิด (Yair Lapid) หัวหน้าพรรคยะเช อาติท (Yashe Atid) เป็นพรรคทางสายกลางที่มีสัดส่วนจำนวนที่นั่งของสมาชิกรองลงมาจากพรรคยะมินา ก็มิได้เห็นสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้ง 8 พรรคมีจุดยืนร่วมกันอยู่ประการเดียวคือการต่อต้านนายเบนจามิน เนทันยาฮู เท่านั้น และลางร้ายของรัฐบาลผสมนี้เห็นได้จากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะได้คะแนน 61 ต่อ 59 ปรากฏว่ามี ส.ส. ของพรรคผสมที่มีตัวแทนของชาวอาหรับอยู่ด้วยเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย อันเนื่องมาจากการจำกัดสิทธิของชาวเบ็ตวินในอิสราเอล ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่เร่ร่อนเผ่าหนึ่งในตะวันออกกลาง

นายละปิด ตกลงกับนายเบนเน็ตต์ ว่าเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากนายเบนเน็ตต์ ซึ่งตกลงว่าจะรับตำแหน่งนี้เมื่อนายเบนเน็ตต์ลงจากตำแหน่งอีกสองปีข้างหน้า อันเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคการเมืองนี้ เป็นครั้งแรกของอิสราเอลที่มีการทำสัญญาระหว่างพรรคการเมืองในลักษณะเช่นนี้

ชาวอาหรับผู้มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งนั้นมีจำนวนถึง 1.5 ล้านคนในอิสราเอล แต่พวกเขาไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศเลยแม้แต่น้อย แม้ชาวปาเลสไตน์เป็นชาวอาหรับกลุ่มใหญ่แต่ก็มีความรู้สึกว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติมาตลอด รัฐบาลของอิสราเอลทุกชุดไม่เคยยอมรับสถานภาพของประเทศปาเลสไตน์ แม้ประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติถึง 133 ประเทศให้การยอมรับประเทศปาเลสไตน์แล้วก็ตาม

ในสายตาของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ไม่ได้เห็นความแตกต่างใดๆ ระหว่างรัฐบาลผสมชุดใหม่กับรัฐบาลของนายเบนจามิน เนทันยาฮู เลย เหมือนกับเหล้าเก่าในขวดใหม่ ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงถูกไล่ที่ และชุมชนชาวยิวได้แผ่ขยายเข้าไปในดินแดนอันเป็นที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์อยู่ทุกวัน โดยชาวยิวอ้างข้อความในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดายว่า ดินแดนทั้งหมดนี้เป็นของเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประธานให้แก่พวกเขากว่า 5,000 ปีมาแล้ว ทั้งที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุอย่างชัดเจนว่า ชาวยิวได้อพยพจากดินแดนนี้เมื่องสองพันปีที่แล้ว จากการโจมตีของอาณาจักรโรมัน และแตกกระสานซ่านเซ็นกันไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกตั้งแต่ประเทศจีน ยุโรป เรื่อยไปจนถึงทวีปแอฟริกา ตลอดระยะเวลาดังกล่าวชาวปาเลสไตน์ไม่ได้เดินทางออกไปจากดินแดนนี้เลย และพวกเขาก็ถือว่าเป็นลูกหลานผู้สืบสายเลือดมาจากอับบราฮัมเช่นกัน

ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ผู้นำคนแรกที่โทรศัพท์พูดคุยโดยตรงจากประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิสราเอลคือประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ในสายตาของพรรคเดโมแครตแล้ว ใครก็ได้ที่ไม่ใช่นายเบนจามิน เนทันยาฮู ถือว่าใช้ได้ เพราะนายเบนจามิน เนทันยาฮู เคยสร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้แก่ประธานาธิบดีโอบามามาแล้ว โดยที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู ใช้เส้นสายเข้าไปปราศรัยในรัฐสภาสหรัฐ ประณามนโยบายของประธานาธิบดีโอบามาในการที่จะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางอย่างรุนแรง และในวันต่อมาได้เข้าพบประธานาธิบดีโอบามาที่ทำเนียบขาวอย่างไม่เป็นทางการ แล้วเลกเชอร์ให้ประธานาธิบดีฟังกว่าสองชั่วโมง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวโอบามาไม่ได้พูดแม้แต่คำเดียว สีหน้าและแววตาเจื่อนๆ เหมือนเป็นผู้แพ้สงครามและเต็มไปด้วยความอับอาย และหลังจากนั้นประธานาธิบดีโอบามาก็ไม่เคยให้นายเบนจามิน เนทันยาฮู เข้ามาพบอีกเลย

นายเบนจามิน เนทันยาฮู ถือว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็น “ปิยะมิตร” ของตนและเป็นมหามิตรกับอิสราเอล เพราะนอกจากที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีและผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจที่ประกาศย้ายสถานทูตจากกรุงเทลอาวีฟไปสู่กรุงเยรูซาเลม ทรัมป์ยังประสบความสำเร็จในการสถาปนาการทูตระดับปกติ ระหว่างประเทศอาหรับในตะวันออกกลางหลายประเทศกับอิสราเอล อย่างชนิดที่ไม่เคยมีนักการทูตคนได้คิดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังได้ขายเทคโนโลยีทางการทหารที่ทันสมัยที่สุดแก่อิสราเอล เป็นการติดเขี้ยวเล็บให้กับรัฐบาลนายเบนจามิน เนทันยาฮู ยิ่งกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา

อันที่จริงพรรคเดโมแครตเป็นพรรคที่มีวิสัยทัศน์ ที่สร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางอย่างชัดเจน สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน สหรัฐประสบความสำเร็จอย่างมากในการเชิญนายกรัฐมนตรียิตซัค ราบิน ของอิสราเอลมาประชุมกับนายยัตเซอร์ อาราฟัด ผู้นำองค์การพีแอลโอ จนทั้งคู่ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ทำเนียบขาวได้สำเร็จมาแล้ว

ในสนธิสัญญานั้นพีแอลโอสัญญาว่าจะไม่ก่อการร้ายใดๆ กับชาวยิวหรือประเทศอิสราเอล และนายกรัฐมนตรีอิสราเอลจะดำเนินการมอบคืนดินแดนทั้งหลายที่ยึดมาได้จากสมัยสงครามหกวัน อันได้แก่ ฉนวนกาซา ที่ราบสูงโกลัน และเวสต์แบงก์คืนให้ชาวปาเลสไตน์เพื่อสร้างเป็นประเทศปาเลสไตน์ต่อไป นายเบนจามิน เนทันยาฮู ได้วิจารณ์นโยบายนี้ของนายราบินอย่างรุนแรง เพราะเขาและสมาชิกพรรคลิคุตเชื่อว่าดินแดนเหล่านี้อิสราเอลได้มาด้วยเลือดเนื้อ จึงไม่เป็นธรรมที่จะยกคืนให้เจ้าของเดิม

นายเบนจามิน เนทันยาฮู ได้เดินสายปราศรัยและประณามนายยิตซัค ราบิน อย่างรุนแรงโดยที่มีชาวยิวนับหมื่นมาฟังคำปราศรัยของเขา และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นายยิตซัค ราบิน ถูกมือปืนประกบยิงสังหารโหดจากด้านหลัง ทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางของประธานาธิบดีคลินตันหยุดลงอย่างน่าเสียดาย การก่อการร้ายทวีความรุนแรงขึ้นทันทีตามเมืองใหญ่ๆ ของอิสราเอล จนในที่สุดทำให้นายเบนจามิน เนทันยาฮู ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในสมัยแรก

ภายใต้การบริหารของรัฐบาลผสม 8 พรรค ซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำในรัฐสภา สถานการณ์ทางการเมืองของอิสราเอลมิได้ดีขึ้นเลย ชาวปาเลสไตน์ยังคงไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาลชุดนี้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลผสมอันเปราะบางนี้มีสิทธิ์อย่างยิ่งที่จะถูก นายเบนจามิน เนทันยาฮู “เจาะยาง” โดยไม่รู้ตัว และโอกาสที่พรรคเดโมแครตของสหรัฐจะเข้าไปสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางนั้นเชื่อได้ว่าเป็นศูนย์ เพราะรัฐบาลอิสราเอลที่ผ่านมามิได้เกรงใจรัฐบาลอเมริกันเท่าใดนัก ไม่ว่าพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันได้เป็นรัฐบาลในสหรัฐฯ ทั้งหมดก็ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของชาวยิว ซึ่งมีล็อบบี้ยิสต์ ที่ลงทะเบียนไว้กว่าสี่พันคนในกรุงวอร์ชิงตัน ดี.ซี. รัฐบาลโจ ไบเดน อาจดีใจที่อิสราเอลเปลี่ยนผู้นำแล้ว

แต่สมการทางการเมืองภายในประเทศมิได้เปลี่ยนเลย ความยุ่งยากซับซ้อนของความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับก็ยังเป็นวิกฤติของชาวโลกอีกต่อไปนานแสนนาน