ThaiPublica > คอลัมน์ > เทคโนโลยีการแก้ปัญหาโลกร้อน ประเทศไทยจะไปทางไหน?

เทคโนโลยีการแก้ปัญหาโลกร้อน ประเทศไทยจะไปทางไหน?

18 กุมภาพันธ์ 2022


ดร. นพ. มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://climate.nasa.gov/news/3142/nasa-greenland-mission-completes-six-years-of-mapping-unknown-terrain/

ปัญหาหนึ่งอันเป็นวิกฤตการณ์ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีการประชุมระดับโลกกันมาหลายต่อหลายครั้งตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ที่ชัดเจน การประชุม COP26 ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นประเด็นใหญ่ของโลกในขณะนี้ ซึ่งมีผู้นำของประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุม และมีปฏิญญาร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยมุ่งที่จะจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ปัญหาสำคัญในการแก้ไขวิกฤตินี้ มิได้อยู่ที่การรณรงค์การลดการใช้พลังงานให้น้อยลง เพราะการใช้พลังงานที่น้อยลงหมายถึงการลดอุปสงค์ของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว อันจะยังผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง ในทางตรงกันข้าม วิธีการที่ประเทศในภาคีสนธิสัญญาปารีสได้แนะนำไว้คือการใช้กลไก “การตลาดเสรี” ในการขับเคลื่อน นั่นหมายถึงการใช้ระบบ “ทุนนิยม” เพื่อสร้างอุปสงค์ ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานทางเลือก เปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสสร้างรายได้อีกรูปแบบหนึ่งแทนที่จะชะลอกลไกทางเศรษฐกิจลง นั่นหมายถึงการลดละเลิกการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมัน หันมาใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังแสงแดด พลังจากกังหันลม พลังงานความร้อนจากใต้พื้นพิภพ พลังงานน้ำ เป็นต้น

ส่วนพลังงานนิวเคลียร์นั้นเป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายประเทศได้พัฒนาเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขึ้นผลิตพลังงานสะอาดโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย เช่น ประเทศฝรั่งเศสได้พัฒนาระบบเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของตนอย่างมีประสิทธิภาพและขายกระแสไฟฟ้าแก่ประเทศเพื่อนบ้านของตน สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมากก็ตาม กระนั้นเองเตาปฏิกรณ์ปรมาณูยังเป็นที่กังขาในหมู่ชาวโลกอย่างมาก นับตั้งแต่การเกิดอุบัติเหตุเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่โรงงานไฟฟ้าปรมาณูเชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียด และอุบัติเหตุที่โรงงานไฟฟ้าปรมาณูที่ฟูกุชิมะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอุบัติเหตุทั้งสองครั้งยังสร้างรังสีตกค้างในสภาพแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเตาปฏิกรณ์ปรมาณูแม้จะปลอดภัยเพียงใด ย่อมสร้าง “กาก” ที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งกำจัดได้ยากต้องอาศัยเวลาอีกหลายพันปีกว่าที่สารกัมมัตภาพรังสีเหล่านั้นจะหมดฤทธิ์ลง ยังผลให้ประเทศมหาอำนาจกำลังทยอยปิดโรงงานไฟฟ้าปรมาณูลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาโลกร้อนนี้มิได้เป็นที่รับทราบกันมาไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ทราบดีกันมากว่า 30 ปีแล้ว และรายงานให้ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท แต่แทนที่บริษัททั้งหลายเหล่านั้นจะพยายามหันหน้ามาแก้ไขปัญหากลับให้ทุนแก่นักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ค้นคว้าเพื่อยืนยันว่าปรากฏการณ์โลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง ทว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีวงจรการเกิดขึ้นของมันเอง ไม่เกี่ยวอะไรด้วยกับการเผาผลาญถ่านหินหรือน้ำมันในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น

แม้ว่าองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนนี้ติดต่อกันมาตลอด แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ได้ล็อบบี้รัฐบาลประเทศมหาอำนาจจนปัญหาที่ยิ่งใหญ่นี้ลุกลามกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากที่นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงอุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด จนทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมาโดยตลอด เกิดการฟอกขาวของปะการรังของประเทศออสเตเลีย สัตว์ป่าและสัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์อย่างถาวร พายุขนาดใหญ่ที่มีความเร็วลมสูงขึ้นมาตลอดทำลายตึกราบบ้านช่อง ไฟป่าลุกลามในหลายเขตพื้นที่ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป

ในขณะที่พื้นที่หลายแห่งของโลก เกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันอย่างยาวนาน และการตัดไม้ทำลายป่าดงดิบ โดยเฉพาะป่าดงดิบของประเทศบราซิล ซึ่งครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ดูดซับประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลก ได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ดูดซึมก๊าซเหล่านั้นไปแล้ว นอกจากพวกที่ชอบเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าดงดิบอันอุดมสมบูรณ์นี้แล้ว ผืนป่าแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสายแร่ทองคำจำนวนมหาศาล เป็นที่ดึงดูดผู้ที่เข้ามาลักลอบทำเหมือนทองคำ เกิดมลภาวะการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำ จนทางรัฐบาลบราซิลไม่รู้จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร และนโยบายของประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่นำพาต่อการตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบทำเหมือนทองเถื่อนกันเลย

สหรัฐอเมริกาเองได้ถอนตัวจากสนธิสัญญากรุงปารีสเพราะพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี “โลกร้อน” ประธานาธิบดีทรัมป์เองต้องการจะเอาใจฐานเสียงของตน อันได้แก่กรรมกร เหมืองถ่านหิน และตนเองมีความเชื่อว่าโลกร้อนขึ้นเพราะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่เกี่ยวอะไรกับก๊าซเรือนกระจก ทรัมป์จึงได้นำอเมริกาออกจากสนธิสัญญาปารีส กว่าที่โจ ไบเดน จะนำอเมริกากลับเข้าไปสู่สนธิสัญญานี้อีก ก็เกือบจะสายเกินแก้

ปัญหาที่ชาวโลกสงสัยกันคือ “ขณะนี้โลกของเราควรหันไปใช้เทคโนโลยีอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน?”

สิ่งที่ทุกฝ่ายตกลงกันคือการยุติการแผ้วถางป่าอย่างเด็ดขาด และการเร่งรัดการปลูกป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนชื้น เพราะพืชสีเขียวดูดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์เพื่อไปใช้ในขบวนการสังเคราะห์แสง และเป็นวิธีการที่ประหยัดที่สุด “นั่นคือระดมชาวโลกช่วยกันปลูกป่า” แต่นักเคลื่อนไหวทางสภาพแวดล้อมก็บอกว่า “มันช้าเกินไป” หากจะใช้วิธีนี้อย่างเดียวจะไม่ทันการณ์ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งองศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน การแก้ปัญหานี้ด้วยการปลูกป่าต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี ปัจจุบันในออสเตรเลียมีบริษัทที่ผลิตโดรนเพื่อใช้ในการปลูกป่าโดยตรง โดรนเหล่านี้บรรจุเมล็ดพืชจำนวนมากและยิงเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ลงสู่พื้นดิน บริเวณที่เหมาะสม มีปุ๋ยและน้ำเพียงพอ ซึ่งทางบริษัทได้ประชาสัมพันธ์ว่าตนสามารถใช้นวัตกรรมนี้ปลูกไม้ยืนต้นได้กว่า 100 ล้านต้นต่อปีทีเดียว

นอกจากวิธีการปลูกต้นไม้และปลูกป่า วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้กลยุทธ์ “หนามยอกก็เอาหนามบ่ง” วิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งการปลูกป่าแต่สร้างโรงงาน ดูดก๊าซเรือนกระจกลงดินโดยใช้กรรมวิธีทางเคมี และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมาหลายสิบปีแล้ว นั่นคือเทคโนโลยีการฟอกอากาศที่ใช้ในเรือดำน้ำและยานอวกาศ เช่น ในยาน Apollo ที่ส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ แทนที่จะใช้ในระบบปิดก็หันมาใช้ในระบบเปิด โดยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง เทคโนโลยีนี้มียังแบ่งออกเป็นอีกหลายประเภท เช่น “carbon capture” “carbon sequestration” เป็นต้น

ขณะนี้มีบริษัทในประเทศแคนนาดา และในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐได้พัฒนาขึ้นมาแล้วเรียกว่า direct carbon caption เป็นต้นแบบ เทคโนโลยีนี้ดูดอากาศเข้าไปผ่านช่องเล็กๆ คล้ายรังผึ้งซึ่งมีน้ำยาเคมีที่ดูดจับก๊าซเรือนกระจกและนำมาแยกส่วนทำให้เป็นของแข็งแล้วอัดลงในพื้นดิน โรงงานนี้เพียงโรงเดียวสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับต้นไม้ 40 ล้านต้นต่อวัน และเป็นที่คำนวณได้ว่าหากต้องการดูดจับก๊าซเหล่านี้ให้หมดปัญหาเรือนกระจก โลกจำเป็นต้องมีโรงงานดูดก๊าซเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 40,000 โรงกระจายกันไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากนาย Bill Gates และบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ของอเมริกาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ฟังดูดี นักวิจารณ์ได้ตำหนิว่านวัตกรรมนี้เป็นผลเสียกับโลกเพราะทำให้การบริโภคน้ำมันของประชากรโลกสูงขึ้น แทนที่จะลดลง

ที่มาภาพ : https://climate.nasa.gov/news/3134/reducing-emissions-to-lessen-climate-change-would-yield-dramatic-health-benefits-by-2030/

นอกจากเทคโนโลยีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้แล้ว การใช้พลังงานสะอาดยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับโลก พลังงานลมนั้นหลายประเทศสามารถนำมาใช้ได้ดี เช่น ในเยอรมนี เพราะมีลมแรง ส่วนในประเทศไทย การติดกังหันลมขนาดใหญ่นั้นหาที่ติดตั้งยากมาก และไม่คุ้มทุน พลังงานน้ำจากเขื่อนใหญ่ ๆ ต่าง ๆ ก็ไม่เพียงพอ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีแดดแรง และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรอยู่แล้ว แต่แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่เพียงพออย่างแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานถลุงเหล็ก เพราะต้องใช้พลังงานจำนวนมาก การกลับไปใช้พลังงานความร้อนจากถ่านหินย่อมก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกเป็นจำนวนมาก เป็นการเพิ่มปัญหาแก่โลก

ปัจจุบันพลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนสะอาดได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมนี เป็นที่รู้จักกันกันนามของ green hydrogen ซึ่งเป็นก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดจากการใช้พลังงานแสดงอาทิตย์แยกน้ำบริสุทธิ์ออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน และมิได้ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมันซึ่งจะไปเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้กับโลก ปัจจุบันมีการใช้กันในหลายกระบวนการ เช่น ให้พลังแก่รถยนตร์ที่เรียกกันว่า city car ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กราคาถูก มีสองที่นั่ง และใช้พลังงานจาก green hydrogen โดยเติมจากปั๊มก๊าซไฮโดรเจน รถในลักษณะนี้ใช้ควบคู่กับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนในตอนแรกในตอนแรกเมื่อกดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ ต่อจากนั้นแล้วเครื่องยนต์นี้จะใช้พลังงานก๊าซไฮโดรเจนในการสันดาบทั้งหมดทั้งหมด ผลลัพธ์จากการสันดาบคือไอน้ำบริสุทธิ์ ไม่มีก๊าซเรือนกระจกหรือของเสียที่เป็นภัยกับสุขภาพออกมาเลย สถานีเติมก๊าซไฮโตรเจนนี้กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ของเยอรมนี ซึ่งประเทศนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพัฒนา green hydrogen และได้นำมาใช้แล้วในการขับเคลื่อนเรือดำน้ำ เครื่องบิน และแม้แต่โรงงานถลุงเหล็กซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าต้องใช้พลังงานสูงมาก เยอรมนีจึงเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในเทคโนโลยีนี้

เทคโนโลยีการใช้พลังงาน green hydrogen เป็นนวัตกรรมทางพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทยยิ่งกว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าเสียอีก และไม่จำเป็นที่ประเทศไทยต้องเดินตามก้นต่างประเทศ สร้างที่ชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ให้ทั่วประเทศเสียก่อน ในขณะที่สถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีอยู่น้อย ประเทศไทยสามารถลัดขั้นตอนพัฒนาพลังงาน green hydrogen เพื่อใช้กับรถยนต์ เรือ โรงงานอุตสาหกรรม ในประเทศเยอรมนีและประเทศในยุโรป โรงงานผลิต green hydrogen มีปัญหาเพราะประเทศของเขาได้รับแสงอาทิตย์ไม่ต่อเนื่องทั้งปี ในช่วงฤดูหนาว กลางวันสั้นไม่กี่ชั่วโมง การใช้พลังงานแสงแดดมาใช้แยกโมเลกุลของน้ำออกจากกันทำได้ยากลำบาก ในขณะประเทศของเราพลังงานแสงอาทิตย์มีอยู่อย่างเหลือเฟือ แต่ข้อจำกัดของอุตสาหกรรมโรงงานสร้าง green hydrogen นี้อยู่ที่การใช้พื้นที่มากสักหน่อย หากใช้พลังแสงอาทิตย์

สิ่งที่มนุษย์มักจะลืมกันคือ ประเด็นสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อน คือ การแก้ไขปัญหาที่น้ำทะเลทั่วโลกมีสภาวะเป็นกรดมากยิ่งขึ้น เพราะทะเลนั้นมีพื้นที่ถึง 71% ของพื้นผิวโลกทั้งหมด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ยานพาหนะ และการแผ้วถางป่า ปล่อยออกมาจำนวนมหาศาลถูกน้ำทะเลซึมซับไปมากยิ่งกว่าที่ป่าไม้ทั้งโลกเสียอีก

เมื่อความเป็นกรดของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง และอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกและธารน้ำแข็งละลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น วิธีการแก้ไขที่ตรงไปตรงมาคือ การเพิ่มความเป็นด่างให้น้ำทะเล โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เช่น การเติมออกซิเจนให้น้ำทะเล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อนราคาประหยัด เช่น การใช้ทุ่นเติมออกซิเจนให้น้ำทะเล โดยการสร้างทุ่นสองชั้นๆ ชั้นแรกสำหรับลอยน้ำ มีวาวทางเดียวเพื่อให้อากาศถูกดูดเข้าไปใด แกนในเป็นกระบอกสูบ ซึ่งต่อกับตุ้มถ่วงซึ่งเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามแรงของคลื่นในทะเล ทุกครั้งที่คลื่นซัดมา กระบอกสูบนี้จะเคลื่อนที่ขึ้นลง และดูดอากาศซึ่งมีก๊าซออกซิเจนอยู่กว่า 20 % อัดเข้าไปในน้ำทะเลที่อยู่โดยรอบ พลังจากคลื่นนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนกระบอกสูบอากาศลงในน้ำทะเล โดยไม่ต้องใช้พลังงานอย่างอื่นเลย

เมื่อเพิ่มออกซิเจนให้น้ำทะเลมากขึ้น ความเป็นกรดลน้อยลงความเป็นด่างเพิ่มมากขึ้น สิ่งมีชีวิตที่เป็นพืชน้ำขนาดเล็กในทะเลที่เรียกว่าแพลงก์ตอน (plankton) จะเพิ่มมาขึ้นรอบ ๆ ทุ่นนั้น และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เกิดการสังเคราะห์แสงมากยิ่งขึ้น ปริมาณออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง แพลงก์ตอนเหล่านี้ยังเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำในทะเลจำนวนมาก นี่เป็นนวัตกรรมที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ต้นทุนการผลิตต่ำ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มประมาณห่วงโซ่ทางอาหารให้กับสัตว์ทะเลอีกด้วย หากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในโครงการนี้ย่อมจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละหลายล้านตัน อุปกรณ์ง่าย ๆ ดังกล่าวนี้บริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้คิดค้นขึ้นแล้ว และน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยใช้ทุนรอนที่ต่ำ และทุกประเทศที่ติดทะเลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

แนวคิดการบำบัดน้ำทะเลให้เป็นด่างนี้ สามารถนำมาใช้โดยใช้เทคโนโลยีอื่นได้อีก เช่น สร้างโรงงานบำบัดน้ำทะเล การทำฟาร์มเพาะ phytoplankton การปลูกป่าชายเลน การปลูกหญ้าทะเล วิธีการเหล่านี้จะต้องการงบประมาณที่แตกต่างกันไป และขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละประเทศ

แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกอีกแบบหนึ่งคือการเปลี่ยนวิถีการบริโภค เช่น การงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อวัว เนื่องจากฟาร์มโคเนื้อนั้นสร้างก๊าซมีเทน (methane: CH4) ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง จากกระเพาะอาหารของวัว และสัตว์เคี้ยวเอื้องทั้งหลาย ก๊าซมีเทนแม้จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีผลให้เกิดสภาวะโลกร้อยได้มากกว่าหลายเท่านัก ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัทผลิตเนื้อวัวเทียมออกมาจำหน่าย ซึ่งมีรสเหมือนเนื้อวัวทุกประการ แต่ในปัจจุบันราคายังคงแพงกว่าเนื้อวัวอยู่มาก หากผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยม ความต้องการทางตลาดสูงขึ้น ราคาน่าจะถูกลงในอนาคต

การแก้ไขวิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาเร่งด่วนซึ่งได้รับความสนใจในหมู่คนไทยน้อย เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ แม้เป็นที่แน่ชัดว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้น การแก้ไขปัญหานี้มิได้อยู่ที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่อยู่กับทุกภาคส่วนของชุมชนมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสม การปลูกป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ การทำเกษตร การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล การเผาศพ รวมไปถึงการเลือกบริโภคอาหารที่ควรบริโภค จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาร่วมมือกัน เพื่อมอบโลกที่สะอาดปลอดภัยมากขึ้นให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป ก่อนที่วิกฤตินี้จะสายเกินแก้