ThaiPublica > คอลัมน์ > อินเดียกับความเป็นกลาง — นโยบายต่างประเทศอันโดดเด่น?

อินเดียกับความเป็นกลาง — นโยบายต่างประเทศอันโดดเด่น?

27 เมษายน 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่มาภาพ : https://indianexpress.com/article/india/india-coronavirus-news-updates

อินเดียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรถึง 1.33 พันล้านคน และตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา อินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ยืนอยู่บนความเป็นกลาง เป็นผู้นำประเทศกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned countries) ไม่เข้าข้างทั้งด้านโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียดเป็นผู้นำ และเมื่อสงครามเย็นยุติลง กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทำลาย สหภาพโซเวียดล่มสลาย อินเดียยังคงดำรงความเป็นกลางอย่างนี้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัสเซียบุกยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อินเดียยังมีจุดยืนที่มั่นคง ไม่เข้าไปประณามฝ่ายใดทั้งในการลงมติในสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาชาติทั้ง 10 ครั้งอินเดียเป็นประเทศที่งดออกเสียงทุกครั้ง ผลแห่งการมีจุดยืนที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้กลับส่งผลดีต่อประชาชนอินเดียอย่างชัดเจน

ตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมหาอำนาจ เช่น รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เยอรมนี กรีซ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ เริ่มต้นด้วยเมื่อปลายเดือนมีนาคม นายเซอร์เก ราฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย เดินทางมาเข้าพบนายนเรนทระ โมที ที่กรุงเดลี ไม่นาน รัฐมนตรีต่างประเทศมหาอำนาจก็ทยอยกันเดินทางมากรุงเดลีอย่างไม่ขาดสาย เช่น จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรีย

เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศเหล่านี้ มีเฉพาะนายเซอร์เก ราฟรอฟ คนเดียวเท่านั้นที่ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย และผลการพบปะนั้นเป็นสิ่งออกมาเป็นคุณกับทั้งสองฝ่าย คือ นายราฟรอฟยืนยันความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอินเดียกับรัสเซีย และรัสเซียยินดีที่จะขายน้ำมันในราคาพิเศษ คือ ถูกกว่าประเทศอื่นถึง 27% และรัสเซียยินดีที่จะขายเทคโนโลยีทุกอย่างให้อินเดียหากอินเดียต้องการจะซื้อ และยังย้ำกับนายกรัฐมนตรีอินเดียอีกว่า หากมีประเทศใดที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาเป็นเจ้าภาพเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ประเทศนั้นมีอยู่เพียงประเทศเดียวคืออินเดีย เหตุนี้ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีราคาน้ำมันถูก คือ ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 5% เท่านั้น

ที่มาภาพ:https://www.hindustantimes.com/india-news/russia-offers-india-big-discount-on-purchase-of-15-million-barrels

คำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียทำให้นายโจ ไบเดน ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาพยายามทุกวิถีทางที่จะโน้มน้าวให้อินเดียออกมายืนข้างฝ่ายตน และประณามรัสเซียในการโจมตียูเครน รวมทั้งแสดงความไม่สบายใจที่อินเดียไม่ยอมลงมติประณามรัสเซียตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปได้เสนอขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว แม้อินเดียยอมเข้าประเทศกลุ่ม QUAD (อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) ตามนโยบายของอเมริกาที่พยายามกดดันจีนทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม แต่อินเดียไม่ยอมออกมาประณามรัสเซีย และไม่เคยลงมติใดๆ ที่เป็นการต่อต้านรัสเซียแม้แต่ครั้งเดียว

เป็นที่ชัดเจนว่านโยบาย “หากท่านไม่อยู่ข้างเดียวกันกับเรา ท่านเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเรา” (If you are not with us, you are against us.) ใช้ไม่ได้กับอินเดีย

เหตุผลที่อินเดียเข้าร่วมกับกลุ่ม QUAD ย่อมมาจากเหตุเดียวเท่านั้นคือไม่พอใจที่จีนได้ขยายอิทธิพลโอบล้อมอินเดียในหลายด้าน เช่น เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพจีนและอินเดียในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย จีนไม่พอใจที่อินเดียสร้างถนนรุกเข้ามาในดินแดนของตน ซึ่งอินเดียก็ถือว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นของอินเดีย และอินเดียไม่พอใจที่จีนสร้างท่าเรือในปากีสถานและศรีลังกา ซึ่งท่าเรือเหล่านี้มิได้เป็นไปเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่เป็นท่าเรือให้เรือรบจีนเข้ามาประจำการได้อีกด้วย ความขัดแย้งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่อง “ร้อน” เป็นที่ระหองระแหงระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสองในเอเชีย

ส่วนความสัมพันธ์อินเดีย-รัสเซียในขณะนี้อยู่ในระดับ “ดีมาก” อินเดียซื้ออาวุธเกือบทั้งหมดจากรัสเซียกระทั่งจรวด S-400 ซึ่งเป็นจรวจยิงจากพื้นดินสู่อากาศที่มีความทันสมัยสูง และตุรกีได้ซื้อจรวดเหล่านี้มาก่อนหน้านี้แล้วและตุรกีก็ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร กระนั้น สหรัฐฯ ก็ไม่กล้าที่จะคว่ำบาตรอินเดียเหมือนที่ตนเองได้กระทำต่อตุรกี และเมื่อเกิดสงครามในยูเครน อเมริกาได้บอกให้ตุรกีบริจาคจรวด S-400 ให้ยูเครนเพื่อไปต่อสู้กับรัสเซีย

ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2022 นายโจ ไบเดน ได้จัดให้มีการประชุมทางไกลกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย พยายามอยู่นานเพื่อห้ามมิให้อินเดียซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่า “เงินที่ซื้อน้ำมันเหล่านั้นจะไปเป็นทุนให้รัสเซียฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน” แต่เหตุผลที่อินเดียตอบกลับมาคือ “สหรัฐฯ น่าจะไปสนใจกับยุโรปมากกว่า เพราะปริมาณน้ำมันที่อินเดียซื้อจากรัสเซียตลอดทั้งเดือนนั้นเท่ากับปริมาณน้ำมันที่ยุโรปซื้อไปเพียงวันเดียวเท่านั้น” แต่อินเดียมิได้ก้าวล่วงไปในรายละเอียดที่ แม้สหรัฐฯจะประกาศคว่ำบาตรสินค้าจากรัสเซียแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะสหรัฐฯ เองยังคงซื้อ “แร่ยูเรเนียม” จากรัสเซียอยู่

อันที่จริงในกรณีความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น อินเดียมีความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นกับรัสเซียมาตลอด หลายร้อยปีมาแล้วที่พ่อค้านักเดินทางชาวอินเดียรอนแรมไปค้าขายกับชาวรัสเซียตลอดมา และชาวรัสเซียก็ชอบมาค้าขายกับชาวภาระตะในอินเดีย

ยิ่งไปกว่านั้นในศตวรรษที่ 18 สมเด็จพระนางเจ้าแคเทอรีน (Catherine the Great) ได้โปรดให้มีการแปลคัมภีร์ภควัทคีตาเป็นภาษารัสเซีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่วรรณกรรมทางศาสนาฮินดูได้รับการเผยแพร่ในตะวันตก

พระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซียมีดำริที่จะส่งกองทัพรัสเซียไปปลดแอกอินเดียจากการปกครองของอังกฤษ แต่ต่อมาโครงการนี้ยกเลิกไปเพราะการปฏิวัติบอลเชวิก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความสัมพันธ์อินเดีย-รัสเซียยากลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้นำของรัสเซีย สตาลินได้ประกาศว่า “มหาตมะคานธีกับบัณฑิตเนรูนั้นเป็นเพียงตัวละครหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษเชิดชูขึ้นมา เพื่อแก้เกี้ยวที่จะให้อิสรภาพแก่ประเทศอินเดียเท่านั้นเอง” แต่เมื่อหมดยุคของสตาลินแล้ว สัมพันธมิตรได้จัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมา อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหภาพโซเวียดนั้นพัฒนาขึ้นมาโดยตลอด

ในยุคของสงครามเย็น อินเดียไม่ยอมเข้าไปเป็นพรรคพวกกับฝ่ายของอเมริกาหรือสหภาพโซเวียด แต่เป็นผู้นำกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด อินเดียไม่เคยส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม อิรัก อัฟกานิสถาน หรือในสมรภูมิใดๆ เลย และไม่เคยลงมติประณามหรือสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์ในองค์การสหประชาชาติ

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรต่างหากที่เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของอินเดียและให้การสนับสนุนทำให้เกิดความรุนแรงในคาบสมุทรอินเดียและเอเชียใต้มาตลอด โดยเฉพาะกรณีปากีสถานที่ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากอเมริกามาตลอด ซึ่งอาวุธเหล่านี้ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมได้นำมาเข่นฆ่าประหัตประหารชาวอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น “บัณฑิต” ในแคชเมียร์ ทำให้ชาวมุสลิมหัวรุนแรงเหล่านี้พยายามที่จะให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในแคว้นจัมมูแคชเมียร์จากอินเดียตลอดมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่ง คือ ตลอดปี พ.ศ. 2514 ภายหลังการเลือกตั้งที่ล้มเหลว ได้เกิดสงครามระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก ความรุนแรงที่ยาวนานครั้งนั้นทำให้เกิดผู้อพยพนับล้านคนหนีภัยสงครามเข้ามาในอินเดีย อินเดียเลยต้องแบกภาระในการให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพเล่านั้น ปากีสถานไม่พอใจการกระทำของอินเดียจึงส่งกองทัพอากาศเข้าถล่มท่าอากาศยานของอินเดียในหลายเมือง ทำให้อินเดียจำต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนั้นและส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยปากีสถานตะวันตกจากภัยคุกคามของปากีสถานตะวันออก จนในที่สุดทำให้เกิดประเทศบังกลาเทศขึ้น อเมริกาและอังกฤษส่งกองเรือในมหาสมุทรอินเดียเพื่อขัดขวางอินเดีย แต่รัสเซียกับส่งกองเรือขนาดใหญ่พร้อมเรือดำน้ำนิวเคลียร์เข้าขัดขวางกองทัพเรือสหรัฐฯ และอังกฤษ จนกระทั่งบังกลาเทศประกาศตัวเป็นอิสระได้สำเร็จไม่ขึ้นกับปากีสถานอีกต่อไป ความช่วยเหลือของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียกระชับแน่นยิ่งขึ้น หากไม่มีกองทัพเรือรัสเซียมาช่วยอินเดียคงต้องเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมาก และบังกลาเทศอาจประกาศเอกราชไม่สำเร็จ

ขีปนาวุธ Agni-IIของอินเดีย ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/

เหตุการณ์ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 อินเดียทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกในรัฐราชสถาน การทดลองครั้งนั้นเป็นโครงการลับสุดยอดของรัฐบาลอินเดียโดยใช้ชื่อว่า Smiling Buddha กองทัพบกของอินเดียต้องลำเลียงอุปกรณ์อย่างลับๆ เพื่อไปทดลองระเบิด และเมื่อโครงการนี้สำเร็จสหรัฐอเมริกายื่นมติให้สมัชชาความมั่นคงคว่ำบาตรอินเดีย ในครั้งนั้นรัสเซียเข้ามาวีโต้มิให้สหประชาชาติทำเช่นนั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ความเป็นมิตรระหว่างรัสเซียกับอินเดียได้พัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง

แม้ในยุคประธานาธิบดีโอบามา ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ดีขึ้นแม้ว่าดูภายนอกเหมือนจะดี และนายกรัฐมนตรีอินเดียได้เชิญโอบามามาเป็นแขกพิเศษของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมันโมหัน สิงห์ (Manmohan Singh) โอบามาได้หยอดคำหวานในการพูดต่อรัฐสภาอินเดียในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ว่า “จะผลักดันให้อินเดียเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ” ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องที่จีนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหตุผลลึก ๆ คือโอบามาต้องการให้บริษัทของอินเดียเข้าไปลงทุนสร้างงานในอเมริกาเพิ่มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจจากอินเดียเท่านั้นเอง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ชาวอินเดียไม่เคยลืม และตระหนักเสมอว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีความจริงใจใด ๆ กับอินเดีย

เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศมหาอำนาจอันได้แก่ แคนาดา สหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างได้สั่งจองวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น แคนาดาสั่งซื้อ 10 เท่าของจำนวนประชากรของตน สหรัฐฯ 9 เท่าของจำนวนประชากรของตน ทำให้เกิดการขาดแคลนวัคซีน โครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกที่จะกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงโดยเฉพาะประเทศที่ยากจนนั้นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ผลิตวัคซีนไว้ให้ประชากรของตนในจำนวนที่ไม่มากจนเกินไป และที่เหลือบริจาคแก่ประเทศที่ยากจนในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

กรณีการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS อินเดียได้ใช้สิทธิ CL (compulsory licensing) ผลิตยาต้านไวรัส HIV หลายชนิดราคาถูก อันเป็นสิทธิที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้ระบุไว้ โดยไม่คำนึงถึงการซื้อสิทธิบัตรยา เพื่อให้ยาต้านไวรัสเหล่านี้เป็นยาราคาถูก ไม่เช่นนั้นประเทศที่ยากจนในเอเชียและแอฟริกาจะมีผู้ป่วยอีกนับล้านคนที่เสียชีวิตจากโรคที่ร้ายแรงนี้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย และท้ายที่สุดเมื่อเกิดสงครามในยูเครน ราคาแป้งสาลีสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ผลิตแป้งสาลีแหล่งใหญ่ที่สุดและถูกที่สุดของโลก อินเดียเป็นประเทศเดียวที่บริจาคแป้งสาลีแก่ประเทศยากจนเหล่านั้นโดยไม่คิดมูลค่า

การเป็นประเทศที่เป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศเช่นอินเดียนั้น มิได้หมายความว่าจะต้องโอนเอนไปตามกระแสของสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะผูกกับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก หลายครั้งทำให้ถูกมองว่าโอนเอนไปเข้าข้างประเทศที่เป็น “ผู้ร้าย” แต่จำเป็นที่ต้องมีหลักการและสติปัญญาสามารถแยกแยะและวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์ตามความเป็นจริง มิใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

อินเดียยังคงยืนอยู่บนหลักการของมหาตมะคานธี “สตฺยครฺหะ” และ “อหิงฺสา” ตลอดมา พร้อมกับการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”