ThaiPublica > เกาะกระแส > “บ.บูรพา” โต้ กฟภ.กลับลำ เสนอปลัดคลังสั่งลงโทษบริษัท “ทิ้งงาน” ราชการ

“บ.บูรพา” โต้ กฟภ.กลับลำ เสนอปลัดคลังสั่งลงโทษบริษัท “ทิ้งงาน” ราชการ

6 กันยายน 2021


นายไรวินท์ เลขวรนันท์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

“บ.บูรพาฯ” แจงที่มา กฟภ. กลับลำ ชงกระทรวงการคลังตัดสินลงโทษบริษัทเป็น “ผู้ทิ้งงาน” ส่งมอบโครงการ “ปักเสาพาดสาย” จ.ปัตตานี ล่าช้า-ไม่เป็นไปตามสัญญา เหตุเกิดจากความไม่สงบในพื้นที่ 3 จว.ภาคใต้-มีปัญหากับชุมชน เผยก่อนหน้านี้เคยตัดสินให้บริษัท “ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน” เตรียมยื่นอุทธรณ์ปลัดคลังทบทวนคำสั่ง

หลังจากที่ปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทฯ เป็น “ผู้ทิ้งงาน” อยู่ในระบบจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุของภาครัฐ เนื่องจากบริษัทบูรพาฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างระบบสายส่ง 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สายบุรี จังหวัดปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาทให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ตกลงกันไว้ กฟภ. จึงทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับบริษัทบูรพาฯ รวมทั้งให้บริษัทจ่ายค่าปรับและค่าเสียหายจนถึงวันที่ กฟภ. บอกเลิกสัญญา จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษบริษัทให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ทาง กฟภ. ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ต่อมา กฟภ. ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทบูรพาฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ว่าบริษัทบูรพาฯ “ไม่ได้เป็นผู้ทิ้งงาน” หลวง

ปรากฏอีก 2 ปีต่อมา ทางบริษัทบูรพาฯ ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า กฟภ. กลับลำ ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ลงโทษบริษัทให้เป็น “ผู้ทิ้งงาน” ราชการ ซึ่งจะมีผลทำให้บริษัทไม่สามารถเข้ารับงานของราชการได้ นายไรวินท์ เลขวรนันท์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยรับเหมางานกับ กฟภ. มูลค่ากว่า 9,791 ล้านบาท ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา บริษัทบูรพาฯ เคยเป็นคู่สัญญากับ กฟภ. มาหลายโครงการ ไม่เคยมีปัญหาส่งมอบงานล่าช้า ไม่ทันตามที่กำหนดเวลา แต่ที่เป็นปัญหา คือ โครงการก่อสร้างระบบสายส่ง 115 เควี หรือ “ปักเสาพาดสายไฟฟ้า” ที่จังหวัดปัตตานี มูลค่างาน 125 ล้านบาท ทางบริษัทบูรพาฯ ได้ลงนามกับ กฟภ. ในสัญญาจ้างเลขที่ จ.ป. 218/2558 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ตามสัญญาบริษัทบูรพาฯ ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 720 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา

หลังจากลงนามในสัญญากันเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าช่วง 3-4 เดือนแรกมีปัญหา กฟภ. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทได้ แม้หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทบูรพาฯ แต่ก็ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะมีปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งขอให้บริษัทบูรพาฯ จ้างแรงงานและเครื่องจักรของคนในท้องถิ่น ทางบริษัทได้ขอให้ กฟภ. ช่วยเจรจากับชาวบ้าน แต่สุดท้ายบริษัทบูรพาฯ แก้ปัญหาด้วยการจ้างแรงงานในท้องถิ่นเข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานของบริษัทฯ จากนั้นก็ทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ปรากฏผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ขอให้บริษัทบูรพาฯ จ้างพนักงานและใช้เครื่องจักรในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ ก็ไม่สามารถใช้เครื่องจักรในท้องถิ่นได้ เพราะเป็นเครื่องจักรเก่าประสิทธิภาพต่ำ ทางบริษัทบูรพาฯ นำเครื่องจักรของบริษัทไปลงในพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่ให้เข้าพื้นที่ นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินการก็มีปัญหาเรื่องความไม่สงบและปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนครบสัญญา 720 วัน ทาง กฟภ. ขยายเวลาให้บริษัทอีก 120 วัน ตามมติ ครม. เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย แต่ กฟภ. ไม่ได้ขยายสัญญาฯ กรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ตามที่บริษัทร้องขอ

ครบกำหนด 120 วัน ตามสัญญากำหนดไว้ว่า หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนดเวลา และมีการจ่ายค่าปรับเกินกว่า 10% ของมูลค่างาน กฟภ. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทบูรพาฯ ได้ชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้ กฟภ. กว่า 20% ของมูลค่างาน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 กฟภ. ทำหนังสือถึงบริษัท แจ้งบอกเลิกสัญญา ทางบริษัทบูรพาฯ ก็สอบถาม กฟภ. ว่าหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วทางบริษัทจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ทาง กฟภ. ก็แจ้งให้บริษัทฯ สำรวจทรัพย์สินของโครงการ ส่วนไหนที่ กฟภ. ไม่ตรวจรับงาน ก็เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ

นายไรวินท์ เลขวรนันท์

“ช่วงปลายปี 2561 กฟภ. บอกเลิกสัญญาฯ และแบ่งแยกทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อย เดือนเมษายน 2561 เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ของเราไปขนย้ายทรัพย์สินของบริษัทออกจากพื้นที่ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของเราถูกลอบยิงด้วยปืน M-16 บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ปัจจุบันพนักงานคนนี้ก็ยังทำงานที่บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบในลักษณะนี้เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ทำหนังสือแจ้ง กฟภ. ทุกครั้ง แต่ กฟภ. ก็ไม่ได้ดำเนินการช่วยเหลือแต่อย่างใด” นายไรวินท์กล่าว

นายไรวิทน์กล่าวต่อว่า จากนั้น กฟภ. ก็มีหนังสือมาถึงบริษัทบูรพาฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ขอให้บริษัทบูรพาฯ ชี้แจงเหตุผลกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาว่าบริษัทบูรพาฯ มีเจตนาละทิ้งงานราชการหรือไม่

วันที่ 7 ตุลาคม 2562 กฟภ. แจ้งให้บริษัทบูรพาฯ ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบงานให้ กฟภ. ได้ภายใน 15 วัน ทางบริษัทบูรพาฯ ก็ทำหนังสือชี้แจงเหตุผล พร้อมแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ส่งให้ กฟภ. พิจารณาภายในกำหนดเวลา

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 กฟภ. ก็ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมเป็นผู้ทิ้งงานราชการ โดยหนังสือจาก กฟภ.ระบุว่า “แม้บริษัทบูรพาฯ จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ถือเป็นไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามมาตรา 109 (2) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 แต่เนื่องจากบริษัทบูรพาฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แม้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับ กฟภ. ขอยกเลิกสัญญา บริษัทฯ ก็ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ และยินยอมจ่ายค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น กฟภ. จึงเห็นควรไม่ลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน”

กฟภ.แจ้งผลการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

นายไรวินท์กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น บริษัทบูรพาฯ ก็ไม่ได้รับการติดต่อจาก กฟภ. ในกรณีดังกล่าวอีกเลยเป็นเวลาเกือบ 2 ปี จนกระทั่งมาถึงช่วงเดือนมีนาคม 2564 มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเชิงตั้งคำถามถึงผู้ว่า กฟภ. เหตุใดไม่ลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานทั้งๆ ที่ส่งมอบงานไม่ได้ตามสัญญาฯ จากนั้นก็มีการนำเสนอข่าวเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งทางบริษัทบูรพาฯ ก็ไม่ได้รับการติดต่อให้ไปชี้แจ้งข้อเท็จจริงแต่ประการใด และเห็นว่ากระบวนการพิจารณาตัดสินให้บริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานหลวงได้ข้อยุติ และตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นที่สุดแล้วนับตั้งแต่บริษัทบูรพาฯ ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาจาก กฟภ. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ว่าไม่ได้เป็นผู้ทิ้งงานราชการ จนกระทั่งมาถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า กฟภ. กลับลำ ลงโทษบริษัทบูรพาฯ ให้เป็นผู้ทิ้งงานราชการ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทบูรพาฯ ไม่เคยได้รับการติดต่อจาก กฟภ. ให้เข้าไปชี้แจงเหตุผลแต่ประการใด ทั้งหมดนี้ทราบจากข่าวที่นำเสนอ ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทบูรพาฯ ก็ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาจาก กฟภ. หรือกรมบัญชีกลางที่ตัดสินให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานเลย

นายไรวินท์จึงไปสอบถามผู้บริหารของ กฟภ. และกรมบัญชีกลาง เพื่อขอข้อมูลและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ส่งให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทตรวจสอบเอกสารที่ได้มา พบว่า กระบวนการพิจารณาลงโทษให้บริษัทบูรพาฯ เป็น “ผู้ทิ้งงาน” ครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 นายสมพงษ์ ปรีเปรม อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขณะนั้น ทำหนังสือไปสอบถามอธิบดีกรมบัญชีกลางว่า “กรณีที่ กฟภ. เคยมีความเห็นว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมที่จะเป็นผู้ทิ้งงาน หรือจงใจทำให้ กฟภ. เสียหายนั้น สอดคล้องกับมาตรา 109 (2) หรือไม่ กฟภ. ควรดำเนินการอย่างไร”

วันที่ 21 เมษายน 2564 นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการ กฟภ. สายงานก่อสร้างและบริหารโครงการ ทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงการคลังว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่มีเจตนาทิ้งงานราชการ ตามมาตรา 109 (2) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ทาง กฟภ. จึงเห็นควรไม่ลงโทษบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายนุกูลทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง ขอยกเลิกการจัดส่งหนังสือการพิจารณาไม่ลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำหนังสือตอบข้อหารือส่งถึงผู้ว่าการ กฟภ. สรุปใจความสำคัญว่า “เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง บริษัทบูรพาฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามแผนงานที่กำหนด กฟภ. จึงบอกเลิกสัญญา และได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงกลับมา จึงเป็นดุลยพินิจของ กฟภ. ในการพิจารณาว่าบริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะทิ้งงานตามมาตรา 109 หรือไม่ เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้วก็ให้เสนอปลัดกระทรวงการคลัง หากปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็ให้ดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทราบ แต่ถ้าหากปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่าบริษัทฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน จะแจ้งผลการพิจารณาไปให้ กฟภ. ทราบต่อไป”

หลังจากผู้ว่า กฟภ. ได้รับหนังสือตอบข้อหารือจากอธิบดีกรมบัญชีกลางแล้ว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ก็แทงเรื่องลงไปถามผู้อำนวยการกองนิติกรรมของ กฟภ. ขอให้กองนิติกรรม พิจารณากรณีที่ กฟภ. เคยให้ความเห็นว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน ตามหนังสือเลขที่ กจค.2 (คพ) 1975/2562 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2562

ปรากฏกองนิติกรรมให้ความเห็นต่อกรณีที่ กฟภ. เคยวินิจฉัยว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อปลายปี 2562 ว่า “ยังไม่มีความเห็นของกองนิติกรรม ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ครบถ้วนด้านกฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณา และนำเสนอผู้ว่าการ กฟภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ” จากนั้นตนก็ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า กฟภ. ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปถึงปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เห็นควรให้ลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กฟภ. ไม่เคยเรียกบริษัทบูรพาฯ เข้าไปชี้แจงเหตุผลอีกเลย เข้าใจว่าจะใช้ข้อมูลเดิมจากการที่บริษัทเคยทำหนังสือชี้แจงเหตุผลไปเมื่อปี 2562 โดยมีข้อสังเกตว่า กระบวนการพิจารณาลงโทษบริษัท เป็นผู้ทิ้งงานเกิดขึ้นภายใน 3 วัน ไม่นับวันหยุดราชการ เริ่มจากวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีการแทงเรื่องลงไปถามกองนิติกรรรม วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 กองนิติกรรมทำความเห็นส่งให้ผู้ว่าการ กฟภ. ลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาลงโทษบริษัทฯ ให้เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งให้ปลัดกระทรวงการคลังสั่งลงโทษบริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน” นายไรวินท์กล่าว

ผลการพิจารณาลงโทษบริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน 12 ก.ค.2564

นายไรวินท์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางฝ่ายกฎหมายของบริษัทได้ตรวจสอบกรณีที่กองนิติกรรมมีความเห็นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ว่าการที่ กฟภ. เคยตัดสินไม่ลงโทษบริษัทเมื่อปี 2562 นั้น ยังไม่เคยมีความเห็นจากนิติกรรมให้เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ซึ่งย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารการประชุมพิจารณาผู้ทิ้งงานของ กฟภ. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ ชั้น 4 อาคาร 2 กฟภ. (ดูรายงานการประชุมฯ ประกอบด้านล่าง) โดยมีนางสาวสมสิริ เศรษฐพูธ์ นิติกร 4 สังกัดกองนิติกรรม เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในวาระที่ 5 กองนิติกรรมได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนตามกฎหมาย หลังจากที่ประชุมมีมติให้บริษัทบูรพาฯ ได้รับการยกเว้นไม่เป็นผู้ทิ้งงาน

รายงานการประชุมพิจารณาผู้ทิ้งงาน

แนวปฏิบัติในการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอ หรือ คู่สัญญา เป็นผู้ทิ้งงาน

นายไรวินท์กล่าวต่อว่า หากไปดู “แนวปฏิบัติกรณีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือ คู่สัญญาของ กฟภ. กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน” ของ กฟภ. ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 ข้อ 6.5.4 “กรณีที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาฯ มีเหตุผลรับฟังได้ และไม่สมควรพิจารณาให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน ก็ให้ปิดเรื่อง ไม่ต้องแจ้งปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาอีกแต่อย่างใด” กระบวนการพิจารณาบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานเมื่อปี 2562 โดยหลักของกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นที่สุดแล้ว ยกเว้น กฟภ. มีความเห็นว่าบริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน จึงจะนำความเห็นเสนอกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทบูรพาฯ ก็ได้รับแจ้งจาก กฟภ. ว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้ทิ้งงานมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จาก กฟภ. จนกระทั่งมาทราบจากข่าวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 กฟภ. ทำเรื่องเสนอปลัดกระทรวงการคลังลงโทษให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน

“ล่าสุดนี้ บริษัทบูรพาฯ ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมบัญชีกลาง พร้อมข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนคำสั่งให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ กฟภ. เคยทำหนังสือแจ้งบริษัทบูรพาฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะทิ้งงานราชการ” นายไรวินท์กล่าว