ThaiPublica > เกาะกระแส > บ.บูรพาฯ ยื่น “ปลัดคลัง” ถอนคำสั่ง “ทิ้งงาน” ชี้กระบวนพิจารณาไม่เป็นไปตาม กม.

บ.บูรพาฯ ยื่น “ปลัดคลัง” ถอนคำสั่ง “ทิ้งงาน” ชี้กระบวนพิจารณาไม่เป็นไปตาม กม.

16 กันยายน 2021


นายไรวินท์ เลขวรนันท์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

บริษัทบูรพาฯ ยื่นอุทธรณ์ปลัดกระทรวงการคลัง เพิกถอนคำสั่ง “ทิ้งงานหลวง” ชี้กระบวนการพิจารณาตัดสินลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่มีอำนาจ-ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ กฟภ.

ต่อจากตอนที่แล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กลับลำแจ้งปลัดกระทรวงการคลังให้ลงโทษบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการปักเสาพาดสายไฟฟ้า จังหวัดปัตตานี ให้เป็นผู้ทิ้งงานหลวง เนื่องจากส่งมอบงานล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2562 กฟภ. เคยพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้จนเป็นที่ยุติแล้วครั้งหนึ่ง จึงทำหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยไปที่บริษัทบูรพาฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ระบุว่า “แม้ว่าบริษัทบูรพาฯ จะไม่สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 109 (2) แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แม้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับเมื่อ กฟภ. ขอยกเลิกสัญญา บริษัทฯ ก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น กฟภ. จึงเห็นควรไม่ลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน”

เวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี ปรากฏว่า กฟภ. หยิบยกเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่เป็นครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยอดีตผู้ว่าการ กฟภ. ในขณะนั้นได้ทำหนังสือถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง หลังจากอธิบดีกรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบข้อหารือกลับมาที่ กฟภ. ได้ไม่นานนัก ก็มีการแทงเรื่องที่ กฟภ. เคยพิจารณาวินิจฉัยว่าบริษัทบูรพาฯ “ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน” ลงไปถามความเห็นกองนิติกรรม (กนต.) ปรากฏว่า กองนิติกรรมเห็นต่างจากที่ กฟภ. เคยวินิจฉัยว่าบริษัทบูรพาฯ “ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน” ในหลายประเด็น จึงทำความเห็นเสนอให้ กองจัดการโครงการ 2 ฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ (กจค.2 (คพ.)) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง พิจารณาทบทวนว่าบริษัทบูรพาฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่อีกครั้ง ผลการพิจารณาวินิจฉัยครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 กฟภ. จึงทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงการคลังให้ลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ทางบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้บริษัทบูรพาฯ เป็น “ผู้ทิ้งงาน” ใหม่ ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ที่ระบุว่า “เมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ตามส่วนที่ 5 ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

    (1) มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
    (2) คู่กรณีที่แท้จริงมิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง หรือได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาครั้งก่อนแล้ว แต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
    (3) เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
    (4) ถ้าคำสั่งทางปกครองได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี

การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (3) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมาก่อน โดยไม่ใช่ความผิดของผู้นั้น

การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่ผู้นั้นได้รู้ถึงเหตุ ซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้”

ในหนังสือที่บริษัทบูรพาฯ ทำถึงปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรณีที่ กฟภ. พิจารณาและมีคำสั่งให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน และการทำเรื่องเสนอปลัดกระทรวงการคลังให้ลงโทษบริษัทบูรพาฯ ครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กฟภ. ไม่มีอำนาจพิจารณา และมีคำสั่งให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน (ครั้งที่ 2) และการพิจารณาตัดสินให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานนั้น ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 109 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อ 193 รวมทั้งไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการพิจารณากระทำการอันมีลักษณะเป็นผู้ทิ้งงาน เป็นเหตุให้บริษัทบูรพาฯ ได้รับความเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว

ดังนั้น บริษัทบูรพาฯ จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตาม มาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ขอให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนใหม่ พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

อนึ่ง ความเป็นมาของโครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 กฟภ. ลงนามในสัญญาจ้างบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี ปัตตานีวงเงิน 125 ล้านบาท กำหนดเวลา 720 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา โดย กฟภ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้ากว่าที่กำนดในสัญญา 3 เดือน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ก่อสร้างมีความซับซ้อน และยากแก่การเข้าถึงพื้นที่มากกว่าโครงการอื่น โดย กฟภ. เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัทบูรพาฯ ได้เพียงบางส่วนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สัญญาว่าจ้างก่อสร้างฯ จึงไปสิ้นสุดในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 (ครบ 720 วัน)

ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายน 2559 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 7 ครั้ง เช่น เกิดเหตุการณ์วางระเบิดและการลอบยิงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2559, การจลาจลในเรือนจำกลางปัตตานี มีการวางเพลิง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559, การวางระเบิดเสาไฟฟ้า และโจมตีฐานเจ้าหน้าที่และการวาระเบิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 และการวางระเบิดเสาไฟฟ้าช่วงเดือนเมษายน 2560 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนเสียขวัญ ไม่ออกมาดำเนินชีวิตตามปกติ เป็นเหตุให้บริษัทบูรพาฯ ต้องหยุดงานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีคนงานที่ชำนาญการไม่เพียงพอในการก่อสร้าง แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะอยู่นอกพื้นที่โครงการ แต่ก็มีผลกระทบกับการทำงานของบริษัทบูรพาฯ

ดังนั้น ทางบริษัทบูรพาฯ ทำหนังสือขอขยายเวลางานก่อสร้างไปทั้ง 7 ครั้ง ตามที่ ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ให้หน่วยงานเจ้าของของโครงการพิจารณาขยายเวลางานก่อสร้าง ไม่เกิน 50% ของระยะเวลางานก่อสร้างที่ได้ประมาณการไว้เดิม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่บริษัทบูรพาฯ ก็ไม่เคยได้รับการขยายสัญญาในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแต่อย่างใด

4 คนร้ายใช้ปืนเอ็ม-16 กราดยิงเข้าไปในร้านอาหารกระสุนถูกน้องสาวกรรมการบริษัทบูรพาฯ

นอกจากนี้ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 – พฤษภาคม 2561 เกิดเหตุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงมีน้ำท่วมขัง ดินอ่อน ฝนฟ้าคะนอง ทำให้บริษัทบูรพาฯ ไม่สามารถเข้าทำงานในพื้นที่ได้ จึงทำหนังสือขอขยายระยะเวลาไปหลายครั้ง แต่ได้รับการพิจารณาขยายเวลาให้ 120 วัน ทำให้สัญญางานก่อสร้างสิ้นสุดในวันที่ 15 มิถุนายน 2561

ต่อมาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2561 มีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนให้ กฟภ. ปรับแบบการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่ง กฟภ. ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแบบก่อสร้าง แต่ยังไม่ทันได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวก็ครบกำหนดสัญญา ทางบริษัทบูรพาฯ ไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 กฟภ. ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาถึงบริษัทบูรพาฯ พร้อมเรียกค่าเสียหายเบื้องต้น 6,856,407.80 บาท และค่าปรับอีก 20,125,000 บาท (หักค่าเนื้องานที่ทำไปแล้ว) ซึ่งบริษัทบูรพาฯ ได้ชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ กฟภ.

หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าคู่สัญญาของ กฟภ. กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 109 (2) หรือไม่ จากการที่บริษัทบูรพาฯ ไม่สามารปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ กฟภ. พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทบูรพาฯ มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงาน กฟภ. จึงทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ขอให้คำสั่งและออกประกาศให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งกลับมา กฟภ. ว่า ภายหลังที่ กฟภ. บอกเลิกสัญญาไปแล้ว กฟภ. ยังไม่ได้มีหนังสือเปิดโอกาสให้บริษัทบูรพาฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามมาชี้แจงเหตุผล ข้อเท็จจริง ก่อนการพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 30 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ดังนั้น กรมบัญชีกลางจึงส่งเรื่องคืน กฟภ. ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟภ. ทำหนังสือถึงบริษัทบูรพาฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริง ก่อนพิจารณาลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน หากบริษัทบูรพาฯ ชี้แจงกลับมาแล้ว ขอให้ กฟภ. พิจารณาว่าคำชี้แจงดังกล่าวสามารถรับฟังได้หรือไม่ หากไม่สามารถรับฟังได้ และเห็นควรพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ขอให้ส่งชื่อบริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งให้กรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาสั่งให้บริษัทบูรพาฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นผู้ทิ้งงาน”

จากนั้น กฟภ. ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 กันยายน 2562 แจ้งบริษัทบูรพาฯ ให้ชี้แจงเหตุผลและข้อเท็จจริง พร้อมยื่นเอกสาร ตามคำแนะนำของกรมบัญชีกลาง และวันที่ 7 ตุลาคม 2562 บริษัทบูรพาฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงที่ไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาฯ โดยให้เหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้น

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 กฟภ. นำข้อเท็จจริงที่บริษัทบูรพาฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาผู้ทิ้งงานของ กฟภ. มีผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ เป็นประธานที่ประชุม และมีตัวแทนจากกองนิติกรรม (กนต.) ร่วมพิจารณาด้วย โดยที่ประชุมพิจารณาผู้ทิ้งงานของ กฟภ. มีมติว่า “แม้ว่าบริษัทบูรพาฯ จะดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการ หรือ บริเวณใกล้เคียงมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นระยะตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้แรงงานให้การก่อสร้างมีการหยุดงาน และไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บริษัทฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ โดยเมื่อ กฟภ. ขอยกเลิกสัญญา บริษัทฯ ก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเจตนาของบริษัทฯ และพฤติการณ์ประกอบการกระทำดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมที่จะเป็นผู้ทิ้งงาน และจงใจทำให้ กฟภ. เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังการบอกเลิกสัญญาตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาจ้างต่อไป” ซึ่งในวันนั้น ตัวแทนจาก กนต. ได้ให้ความเห็นหลังจากที่ประชุมมีมติให้บริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน โดยให้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมที่เหตุผลการยกเว้นโทษให้กับบริษัทบูรพาฯ นำเสนอรองผู้ว่าการ กฟภ. ทุกสายงาน หรือผู้รักษาการแทนตำแหน่งดังกล่าว และให้ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปที่บริษัทบูรพาฯ การเป็นผู้ทิ้งงาน

จากนั้น กฟภ. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 แจ้งผลการพิจารณาไปที่บริษัทบูรพาฯ ระบุว่า “แม้ว่าบริษัทบูรพาฯ จะไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 109 (2) แต่เนื่องจากบริษัทบูรพาฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แม้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับเมื่อ กฟภ. ขอยกเลิกสัญญา บริษัทฯ ก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น กฟภ. จึงเห็นควรไม่ลงโทษบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน”

นายไรวินท์ เลขวรนันท์

อีก 2 ปีต่อมา อดีตผู้ว่าการ กฟภ. ทำหนังสือหารืออธิบดีกรมบัญชีกลางลงวันที่ 26 มีนาคม 2564 กรณีที่ กฟภ. เคยมีความเห็นบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานนั้นสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 109 (2) หรือไม่ หรือ กฟภ. ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร

ปรากฏว่ามีรองผู้ว่าการ กฟภ. ทำหนังสือ ลงวันที่ 21 เมษายน 2564 แจ้งปลัดกระทรวงการคลังว่า การกระทำของบริษัทฯ ยังไม่ถือเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามมาตรา 109 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ดังนั้น กฟภ. จึงเห็นควรพิจารณาไม่ลงโทษให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 รองผู้ว่าการ กฟภ. ท่านนี้ ได้ทำหนังสืออแจ้งปลัดกระทรวงการคลังว่า กฟภ. ขอยกเลิกการจัดส่งหนังสือฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2564

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 อธิบดีกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือตอบข้อหารือ กฟภ. ว่า “เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ กฟภ. จึงบอกเลิกสัญญา และได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อมาบริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจิรงกลับมา กรณีนี้จึงเป็นดุลพินิจของ กฟภ. ในการพิจารณาว่าบริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานตามความในมาตรา 109 หรือไม่ เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้ว ก็ให้เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง หากปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็จะดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทราบ แต่หากปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่าบริษัทฯ ไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงานจะแจ้งผลการพิจารณาไปให้ กฟภ. ทราบต่อไป

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ผู้อำนวยการกองจัดการโครงการ 2 ฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ จึงนำเรื่องที่ กฟภ. เคยวินิจฉัยว่าบริษัทบูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงานไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ส่งผู้อำนวยการกองนิติกรรม พิจารณาให้ความเห็นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ผู้อำนวยการ กนต. มีความเห็นต่างจากที่ประชุมพิจารณาผู้ทิ้งงานของ กฟภ. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 จึงนำความเห็นแย้งในประเด็นที่เห็นต่างเสนอให้ กจค.2 (คพ) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง นำความเห็นของ กนต. ไปใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ อีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นดุลยพินิจของ กจค.2 (คพ.) ในการพิจารณาว่า บริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 หรือไม่ ตามคำแนะนำของอธิบดีกรมบัญชีกลาง

หลังจากกองจัดการโครงการ 2 ฝ่ายบริหารโครงการพิเศษ พิจารณาความเห็นของกองนิติกรรมแล้ว จึงมีความเห็นสั่งให้ลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน จึงเสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 รองผู้ว่าการ กฟภ. ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการฯ ทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้สั่งลงโทษบริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงาน

อีก 1 เดือนต่อมา ปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1399/2564 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ประกาศให้บริษัทบูรพาฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เป็นผู้ทิ้งงาน ท้ายคำสั่งของคำสั่งดังกล่าวระบุว่า บริษัทบูรพาฯ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงการคลัง โดยให้ทำเป็นหนังสือโต้แย้ง พร้อมแนบหลักฐานข้อเท็จจริง หรือ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย และให้ส่งไปยังกรมบัญชีกลางภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้บริษัทบูรพาฯ ได้รับแจ้งคำสั่ง ตามาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539