ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงเศรษฐกิจเสียหาย 28 ล้านล้านดอลล์จาก Climate Change

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงเศรษฐกิจเสียหาย 28 ล้านล้านดอลล์จาก Climate Change

30 สิงหาคม 2021


เหตุการณ์น้ำท่วมในฟิลิปปินส์ จากไต้ฝุ่นปี 2020 ที่มาภาพ: https://mb.com.ph/2020/11/22/p125-7-m-aid-given-to-ulysses-victims/

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา รายงานฉบับใหม่จาก Deloitte Economics Institute เผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเริ่มดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจกว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ในอีก 50 ปีข้างหน้า

Philip Yuen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Deloitte ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลและประเทศต่างๆ ที่ต้องดำเนินการภายใน 10 ปีต่อจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ทำข้อตกลงอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีแนวทางด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกัน เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน เพื่อที่จะให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องคว้าโอกาสที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเปลี่ยนจากเรื่องของต้นทุนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและความสำเร็จ”

หากไม่มีการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้นภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ยากขึ้น เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ผลผลิตพืชลดลง โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย รวมถึงจากปัญหาอื่น ๆ

แต่หากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็หมายถึงโอกาสที่มีมูลค่าถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์

งานวิจัยของ Deloitte ยังเผยอีกว่า หากรัฐบาล ธุรกิจ และชุมชน ดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วและชัดเจนในทศวรรษหน้า จะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ที่ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 ซึ่งจะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และส่วนอื่นๆ ของโลก ในขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจัดหาสินค้าและบริการ รวมถึงจัดหาโซลูชันทางการเงินให้กับโลกที่จะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ

Marcus Ng หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ Deloitte ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 12.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 50 ปี ในปี 2070 เพียงปีเดียว จะได้รับผลประโยชน์เทียบเท่ากับ 80% ของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน”

Yvonne Zhang หัวหน้าที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของ Deloitte ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เราสามารถกำหนดเส้นทางไปสู่อนาคตที่มีการปล่อยมลพิษต่ำได้ โดยใช้ประโยชน์จากความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน การผลิตที่ยืดหยุ่น และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก”

นอกจากนี้รายงานของ Deloitte ยังเผยถึง 4 ระยะสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มด้วยธุรกิจและประเทศต่างๆ ตัดสินใจที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาหรือขยายกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตัดสินใจเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2030

ตั้งแต่ปี 2030-2040 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และประสานงานกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยจัดการกับวิธีการผลิตและวิธีการใช้พลังงาน

ตั้งแต่ปี 2040-2050 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ซึ่งภายในปี 2050 กระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงควรเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ต้นทุนของโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเริ่มลดลง และผลกำไรสุทธิทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็จะเริ่มปรากฏขึ้น

หลังปี 2050 เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงและการปล่อยมลพิษเกือบจะเป็นศูนย์ในขณะที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลกจะถูกจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้