ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวกับการเดินหน้าสร้าง Land Link ทางด่วนเส้นใหม่ “เวียงจันทน์-ไซสมบูน-เชียงขวาง-หัวพัน” สู่เวียดนาม

ลาวกับการเดินหน้าสร้าง Land Link ทางด่วนเส้นใหม่ “เวียงจันทน์-ไซสมบูน-เชียงขวาง-หัวพัน” สู่เวียดนาม

13 สิงหาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ขณะที่ประเทศรอบข้าง กำลังรอดูสถานะของลาวว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หลังเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคมที่จะถึงนี้

แต่ลาวเอง ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ เป็นพัฒนาการบนสายสัมพันธ์ที่มีกับประเทศเพื่อนมิตรอย่างเวียดนาม เพื่อผลักดันลาว ให้เปลี่ยนจากพื้นที่ซึ่งเคยเป็น Land Lock มาเป็น Land Link ได้เป็นผลสำเร็จ

……

แนวทางด่วนเส้นใหม่“เวียงจันทน์-ไซสมบูน-เชียงขวาง-หัวพัน” สู่ชายแดนเวียดนาม

11 สิงหาคม 2564 The Laotian Times รายงานว่ารัฐบาลลาวกำลังพิจารณาสร้างทางด่วนใหม่อีก 1 เส้น ตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านแขวงไซสมบูน เชียงขวาง ไปสิ้นสุดที่ด่านน้ำโสย-นาแม้ว ชายแดนลาว-เวียดนาม ในแขวงหัวพัน (ดูแผนที่ประกอบ)

The Laotian Times อ้างจากเอกสารที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีลาว เผยแพร่ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ระบุว่าทางด่วนเส้นนี้จะใช้เชื่อมเมืองหลวงของ 2 ประเทศ ลาว-เวียดนาม คือนครหลวงเวียงจันทน์กับกรุงฮานอย ชื่อทางด่วนถูกตั้งตามชื่อแขวงที่ผ่านคือ ทางด่วน “เวียงจันทน์-ไซสมบูน-เชียงขวาง-หัวพัน”

จากปลายทางด่วนที่ด่านชายแดนน้ำโสย ซึ่งเป็นปลายทางของทางหลวงหมายเลข 6 ของลาวด้วยนั้น เมื่อข้ามไปยังฝั่งเมืองนาแม้วของเวียดนาม จะเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 217 จากนั้นมีจุดตัดกับถนนที่วิ่งขึ้นไปถึงเมืองฮหว่าบิญ จังหวัดฮหว่าบิญ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยเพียง 76 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ในข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดขั้นตอนการก่อสร้าง แต่คาดว่าหลังข่าวถูกเผยแพร่ข่าวออกมาแล้ว ในอีกไม่นาน รัฐบาลลาวจะเดินหน้าสรรหาผู้รับสัมปทานทางด่วนสายนี้ ที่จะสร้างในลักษณะ build-operate-transfer (BOT)

……

ข่าวทางด่วน “เวียงจันทน์-หัวพัน” ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงที่ประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม เดินทางมาเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2564

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน 2564 ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว เพิ่งเดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเช่นกัน

เป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในตำแหน่งประมุขสูงสุดของประเทศ หลังจากทั้งคู่เพิ่งขยับขึ้นมาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาใกล้เคียงกัน

ทั้งประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด และประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก มีเส้นทางเดินทางการเมืองคล้ายๆ กัน

ทองลุน สีสุลิด เข้ารับตำแหน่งประธานประเทศลาวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ส่วนเหวียน ซวน ฟุก ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวียดนามในวันที่ 5 เมษายน 2564

ก่อนหน้านั้น 5 ปี วันที่ 23 มกราคม 2559 ทองลุนถูกเลือกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของลาว ขณะที่เหวียน ซวน ฟุก เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในวันที่ 7 เมษายน 2559

ประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด เป็นชาวแขวงหัวพัน ปลายทางของทางด่วนเส้นใหม่ที่กำลังจะสร้าง

หลังเรียนจบจากวิทยาลัยครูแนวลาวสร้างชาติในแขวงหัวพันเมื่อปี 2512 ประธานประเทศ ทองลุนได้ไปเรียนต่อทั้งในสหภาพโซเวียตและเวียดนาม ทำให้เขาสามารถพูดทั้งภาษารัสเซีย และเวียดนามได้อย่างคล่องแคล่ว

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ…

ทองลุน สีสุลิด(ซ้าย) และเหวียน ซวน ฟุก ในวันเปิดใช้อาคารสภาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่เวียดนามสร้างให้เป็นของขวัญแก่ลาว ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว
อาคารสภาแห่งชาติลาวหลังใหม่ ของขวัญจากเวียดนาม ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

10 สิงหาคม 2564 วันที่ 2 ของการเดินทางมาเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติลาว ในโอกาสที่ได้มาร่วมพิธีเปิดใช้อาคารสภาแห่งชาติหลังใหม่ ที่เวียดนามมาช่วยสร้างไว้ให้เป็นของขวัญแก่ลาว

ถือเป็นประมุขสูงสุดของต่างประเทศคนแรก ที่ได้มากล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่นี้

สุนทรพจน์ค่อนข้างยาว ขอตัดตอนเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนซึ่งถูกแปลเป็นภาษาลาวแล้ว มานำเสนอไว้ดังนี้…

    …ในโลกใบนี้ เป็นเรื่องที่หาได้ยากที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของสองประเทศ ที่ได้ผ่านการทดสอบและได้รับการยืนยันผ่านหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในยามหิว ยามอิ่ม ยามสุข หรือยามทุกข์ ก็ยังมีกันและกัน จับมือกันแน่น สู้รบและสละชีวิตเคียงข้างกัน เหมือนสายสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและลาว

    ไม่เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ที่สูงกว่านั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อตั้งประเทศ ผู้นำการปฏิวัติของทั้งสองประเทศ ของสหายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเรา จึงเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์พิเศษ…

    …ใน 30 ปี ของศตวรรษที่ผ่านมา พวกเราได้ร่วมกันภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในปัจจุบัน สองประเทศได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคและสิ่งท้าทายนานาประการ

    ข้าพเจ้ายังจำเรื่องที่สหายพลเอกสีสะหวาด แก้วบุนพัน ผู้ที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยตนเองว่า หลายครั้งที่อยู่ในสนามรบและกำลังพบกับความยุ่งยาก เพียงแต่โทรศัพท์หาสหายพลเอก หวอ เหวียน ย๊าป (คนไทยรู้จักกันในนามวอ เหวียน เกี๊ยบ) เพียงครั้งเดียว ก็จะมีกำลังทหารเวียดนามเข้ามาในลาวอย่างทันการ และร่วมกันรบจนได้ชัยชนะ

    เหวียน ซวน ฟุก แขกต่างประเทศ ระดับผู้นำประเทศคนแรก ที่ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติลาว ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

    สามารถกล่าวได้ว่า เลือด เนื้อ ของทหาร นักรบเวียดนามและลาว ได้ซึมเข้าไปในสายภูหลวง ผสมกับสายแม่น้ำโขง น้ำตาของผู้เป็นแม่ทั้งคนเวียดและคนลาวที่มีลูกเสียสละชีวิต ก็มีความรู้สึกอันขมขื่น เจ็บปวด และทุกข์ทรมานต่อการสูญเสียเหมือนกัน

    แต่ภายใต้การนำของสองพรรค “พันธมิตรสามัคคีต่อสู้พิเศษเวียด-ลาว” ที่องอาจ กล้าหาญ นำพาภารกิจปฏิวัติจนทั้งสองประเทศได้รับเอกราช ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในปี 2518 เรื่องนี้ทำให้พวกเราได้พากภูมิใจ และฝังลึกในใจถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ วีรชนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นรากฐานอันแน่นหนาของสายสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง พิเศษ เวียด-ลาว ลาว-เวียด ในศักราชใหม่แห่งการสร้างสรรค์และปกปักษ์รักษาประเทศชาติ ภายใต้แสงไฟนำทางของลัทธิมากซ์-เลนิน และแนวคิดโฮจิมินห์ ของเวียดนาม กับลัทธิมากซ์-เลนิน และแนวคิดไกสอน พมวิหาน ของลาว…

    …จากประสพการณ์ บทเรียนตลอด 35 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม พวกข้าพเจ้าเห็นว่าสองประเทศต้องมีแนวคิดการร่วมมือแบบใหม่ มาตรการที่เข้มแข็ง และมีลักษณะบุกทะลุ “พิเศษ” เพื่อปลดล๊อคแหล่งกำลังให้แก่การร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า การลงทุน การดำเนินธุรกิจ เวียดนามยินดีเปิดตลาด 100 ล้านคน เพื่อต้อนรับสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรของลาว

เหวียน ซวน ฟุก (ซ้าย) ประธานาธิบดีเวียดนาม และไซสมพอน พมวิหาน (ขวา) ประธานสภาแห่งชาติลาว ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ใน 6 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าสองฝ่ายได้บรรลุกว่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 37% ในนั้น ลาวส่งออก 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 40% เวียดนามกำลังซื้อไฟฟ้าจากลาวในปริมาณมาก และจะบรรลุถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573…

(อ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มที่ https://www.facebook.com/lnrlao/posts/2866635123647030)

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 9 สิงหาคม วันแรกในภารกิจเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก และประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือ 14 ฉบับ แบ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ 7 ฉบับ และภาคเอกชนอีก 7 ฉบับ

เอกสารความร่วมมือภาครัฐ ประกอบด้วย…

  • บทบันทึกว่าด้วยโครงการก่อสร้างโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่ากองทัพ
  • หนังสือเจตจำนงว่าด้วยการกู้ภัยระหว่างกระทรวงป้องกันประเทศ ของลาวและเวียดนาม
  • บทบันทึกเพิ่มเติม แผนการร่วมมือประจำปี 2563 ระหว่างกระทรวงป้องกันความสงบของลาวและเวียดนาม
  • บทบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักว่าการประธานประเทศ ระหว่างปี 2564-2568
  • แผนการร่วมมือปี 2565 ระหว่างกระทรวงยุติธรรมสองประเทศ ในขอบเขตกฏหมายและยุติธรรม
  • บทบันทึกช่วยจำว่าด้วยความร่วมมือสกัดกั้นและต่อต้านยาเสพติด ของกระทรวงป้องกันความสงบของสองประเทศ
  • ข้อตกลงร่วมมือระหว่างแขวงไซสมบูนของลาว และจังหวัดบั๊กยางของเวียดนาม
พิธีลงนามในเอกสารความร่วมมือระหว่างลาว-เวียดนาม จำนวน 14 ฉบับ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

เอกสารความร่วมมือภาคเอกชน ได้แก่…

  • สัญญาสัมปทานพัฒนาเหมืองแร่ในเมืองบอลิคัน แขวงบ่ลิคำไซ
  • สัญญาการสำรวจแหล่งแร่ตะกั่วและแร่เกี่ยวเนื่อง ในเขตบ้านน้ำสาง เมืองปากกะดิง แขวงบ่ลิคำไซ
  • บทบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษา สำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กั้นแม่น้ำม้า แขวงหัวพัน
  • บทบันทึกความร่วมมือศึกษาการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอู และเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 4
  • บทบันทึกความร่วมมือศึกษาการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำเจียน
  • บทบันทึกความร่วมมือศึกษาการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำเซกอง 5 น้ำง่อน 1 และน้ำง่อน 2
  • บทบันทึกความร่วมมือ สำรวจ ขุดค้น และแปรรูปแร่ธาตุ

เทียบกับครั้งที่ประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีการลงนามในเอกสารความร่วมมือของสองประเทศเพียง 7 ฉบับ เป็นเอกสารความร่วมมือภาครัฐ 6 ฉบับ ประกอบด้วย…

1. ข้อตกลงว่าด้วยยุทธศาสตร์ร่วมมือลาว-เวียดนาม ระหว่งปี 2564-2573

2. ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างห้องว่าการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และห้องว่าการศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระหว่างปี 2564-2568

3. ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ และคณะขวนขวายประชาชนศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระหว่างปี 2564-2568

4. ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงแผนการและการลงทุนลาว และกระทรวงแผนการและการลงทุนเวียดนาม ระหว่างปี 2564-2566

5. บทบันทึกความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงแถลงข่าวลาวและเวียดนาม ระหว่างปี 2564-2568

6. แผนการร่วมมือวัฒนธรรม ศิลปะ และท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ลาว และกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และท่องเที่ยว เวียดนาม ระหว่างปี 2564-2568

อีกฉบับเป็นความร่วมมือทางธุรกิจของเอกชน ได้แก่ สัญญาระหว่าง Vingroup จากเวียดนามกับกลุ่มบริษัทพงซับทะวีของลาว เพื่อให้กลุ่มบริษัทพงซับทะวี เป็นผู้เปิดตลาด และทำตลาดให้กับรถยนต์ยี่ห้อ VinFast ที่ผลิตโดย Vingroup ในลาว

อ่านเพิ่มเติม

  • VinFast จากเวียดนาม อีกสีสันหนึ่งในตลาดรถยนต์ลาว
  • ……

    ขณะที่หลายคนกำลังรอดูสถานะของลาว หลังทางรถไฟลาว-จีน จะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564

    แต่พัฒนาการบนสายสัมพันธ์ระหว่างลาวกับเวียดนาม ก็มีนัยสำคัญต่อบทบาท land link ของลาว ในฐานะพื้นที่เชื่อมต่อให้กับประเทศรอบข้าง ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศใหม่ๆ ในยุคของประธานประเทศ ไกสอน พมวิหาน

    ตลอด 2 เดือนเศษมานี้ ผู้บริหารประเทศของลาวหลายคน ต่างพาทีมงานเดินทางไปดูความคืบหน้าของโครงการท่าบก (dry port) ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์

    เริ่มจากคณะของสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564

    คณะของสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564

    ล่าสุด คณะของคำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564

    ท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง เป็นพื้นที่กึ่งกลางและชุมทางที่เชื่อมเส้นทางรถไฟลาว-ไทย, ลาว-จีน และลาว-เวียดนาม เข้าหากัน

    ทั้งสองโครงการกำหนดเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2564

    3 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวสารประเทศลาวได้เผยแพร่ข้อมูลของโครงการนี้ไว้ ดังนี้…

    “…โครงการพัฒนาท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล และถูกจัดความสำคัญไว้ในยุทธศาสตร์พัฒนาเขตโลจิสติกส์แห่งชาติ ปี 2559-2568 ที่ผันขยายดำรัสของรัฐบาลว่าด้วยการรับรองและประกาศใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าของลาว เปลี่ยนประเทศลาวจากพื้นที่ซึ่งไม่มีชายแดนติดกับทะเล ให้กลายเป็นประเทศเชื่อมต่อ และศูนย์บริการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย รองรับการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางบกที่มีแผนเชื่อมต่อกับทะเล สนามบิน และทางรถไฟ

    นอกนั้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริม อำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะมีการเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม โดยเส้นทางรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง เป็นอีกประตูหนึ่งที่เชื่อมต่อลาวกับภาคพื้นสากล

    แนวเส้นทางรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์-ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

    ทั้งท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง และโครงการทางรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม…”

    ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1642285165975257&id=421087478095038

    ท่าบก ท่านาแล้ง ได้รับการอนุมัติให้เป็นท่าบกที่มีความสำคัญระดับสากล (a dry port of international importance) โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ สำหรับเอเซียและแปซิฟิค (UNESCAP) ในสัญญาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยท่าบก เลขที่ 69/7 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่กรุงเทพ ประเทศไทย

    ที่ประชุมความคืบหน้าของโครงการท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 รายงานต่อบุนทอง จิดมะนี รองนายกรัฐมนตรี ไว้ว่า กระทรวงแผนการและการลงทุนได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างทั้งสองโครงการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562

    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลลาวเห็นชอบกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ และมอบสัมปทานให้บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค (Vientiane Logistic Park: VLP) เป็นผู้พัฒนาทั้งสองโครงการในรูปแบบ BOT โดยมีอายุสัมปทาน 50 ปี

    คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นำคณะมาดูงานท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจหนังสือพิมพ์ประชาชน

    บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค เซ็นสัญญารับสัมปทานจากกระทรวงแผนการและการลงทุน และจัดพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ พร้อมกันในวันเดียว เมื่อ 3 กรกฎาคม 2563

    ท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 382 เฮกตาร์ (2,387.5 ไร่) ใช้เงินลงทุนรวม 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ

    ระยะที่ 1 รับโอนถ่ายบริการลานวางตู้คอนเทนเนอร์ จากรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน (ลลบส.) เดิม ให้มาเป็นของท่าบก ท่านาแล้ง รวมถึงถ่ายโอนข้อมูลลูกค้าและบริการทั้งหมดของ ลลบส. มาสู่ระบบ terminal operating system (TOS) ของท่าบก ท่านาแล้ง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

    ระยะที่ 2 เปิดใช้ท่าบก ท่านาแล้ง แบบเต็มรูปแบบภายในเดือนสิงหาคม 2564

    ระยะที่ 3 สำหรับเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ จะเปิดใช้ในไตรมาสแรกของปี 2565

    คณะของสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ที่มาดูงานท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจหนังสือพิมพ์ประชาชน

    หลังโครงการเหล่านี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ ลาวจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ครบวงจร สำหรับเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งหลายรูปแบบระดับสากล คือทางบก ทางรถไฟ และทางทะเล และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในแขนงการโลจิสติกส์ ในท่าบก ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ ได้รวมองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วนไว้ในพื้นที่เดียว ได้แก่

    1. ท่าบก ท่านาแล้ง เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้า ขาเข้า-ขาออก ผ่านชายแดน โดยมีการวางระบบคลังสินค้า ระบบชำระภาษีศุลกากรครบวงจร

    2. มีคลังน้ำมันและคลังเก็บสินค้าของเหลว โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากประเทศไทย เป็นศูนย์ขนถ่ายน้ำมัน ทั้งจากรถบรรทุกน้ำมันและท่อส่งน้ำมัน และกระจายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงออกไปทั่วประเทศ

    3. เขตโลจิสติกส์ครบวงจร มีบริการหลัก ได้แก่ การเก็บรักษาสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น คลังสินค้า ระบบจัดเก็บ รวบรวม และกระจายสินค้า

    4. มีเขตพาณิชย์และอาคารสำนักงาน เปิดให้กิจการขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก เข้ามาตั้งสำนักงานหรือสาขา และเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการ เช่น Halal Hub หรือศูนย์จำหน่ายอาหารที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล ศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีฯลฯ

    5. ในนี้ยังมีพื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

    จันทอน สิดทิไซ (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค กำลังอธิบายรายละเอียดโครงการให้กับคณะของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว ที่มาภาพ: เพจหนังสือพิมพ์ประชาชน
    ……

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค คือบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เดิม ที่ได้เปลี่ยนชื่อมา

    สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เคยเป็นแผนกหนึ่งของบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังสถานีบริการน้ำมัน PLUS ทั่วประเทศ ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งเป็นอีกหนึ่งบริษัทเมื่อปี 2556

    ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันครบวงจรภายใต้เครื่องหมายการค้า PLUS และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557

    วันที่ 15 ตุลาคม 2562 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็น MOU ให้ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน ศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบและพัฒนา เส้นทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เวียดนาม

    ทั้งเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค และปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน เป็นบริษัทในกลุ่ม“พงสะหวัน”…

    อ่านประกอบ

  • ทางออกสู่ทะเล “ลาว” (1)

  • ทางออกสู่ทะเล “ลาว” (2)

  • เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า