ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกา 5 ประเด็น “หลักฐาน ” ยกคดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย”

เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกา 5 ประเด็น “หลักฐาน ” ยกคดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย”

2 เมษายน 2021


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ชุดสีน้ำตาล)

ศาลฎีกาวินิจฉัยคำสัมภาษณ์ “ชาญชัย” ชี้ประเด็น “เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-ติดตั้ง POS ล่าช้า-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ-จ่ายค่าตอบแทนไม่ครบ” เน้นสอบเจ้าหน้าที่ ทอท.เป็นหลัก ไม่เจตนาทำให้ “คิง เพาเวอร์” เสียหาย

ต่อสู้คดีกันมาเกือบ 4 ปี ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีจำเลยไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจน ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และกระทบต่อธุรกิจของโจทก์

  • ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา ยกฟ้องคดี “คิง เพาเวอร์” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท
  • ศาลสั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน กรณีให้สัมภาษณ์สื่อ – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท “คิงเพาเวอร์” 15 วัน
  • คดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลย ผลัดกันแพ้ชนะ โดยศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 , 393 ตัดสินจำคุกจำเลย 16 เดือน รวมทั้งสั่งให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 7 ฉบับ เป็นเวลา 15 วัน จากนั้นทั้งโจทก์ และจำเลยได้ยื่นฎีกาต่อศาล ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

    แต่ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องคดี ได้หยิบยกประเด็นฟ้องของโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยที่สำคัญ ๆมีดังนี้

    ประเด็นแรก กรณีนายชาญชัยให้สัมภาษณ์ว่าโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และภูมิภาคมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือ ดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 แต่มีความพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไปว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาประเมินมูลค่าให้ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ต่อมา ทอท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ฯ พบว่ามูลค่าโครงการที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาฯประเมินไว้ ไม่ถูกต้องหลายประเด็น อาทิ นำมูลค่าของสินค้าคงคลังแค่ 1 เดือน มารวมคำนวณ ซึ่งในความเป็นจริงต้องใช้ 100 วัน , นำค่าเสื่อมของอาคารในระยะเวลา 30 ปี มารวมคำนวณ ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่านำมาคำนวณรวมด้วยไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร อยู่ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง

    ประเด็นนี้ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า “การให้สัมภาษณ์ของจำเลยในประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือ กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีหลักฐานยืนยัน จนในที่สุด ทอท.ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ สัญญาที่ทำกันไว้เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 ไม่มีผลผูกพัน โจทก์จึงไปฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจาก ทอท. ซึ่งในคำฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ระบุว่าได้มีการลงทุนในโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปนั้น เป็นเรื่องที่มีข้อมูลเกิดขึ้นจริงนั่นเอง”

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 2) : “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? … จากคมช. ถึง คสช.
  • ประเด็นที่ 2 จำเลยไปให้สัมภาษณ์ว่าโจทก์ติดตั้งติดตั้งระบบรับรู้ยอดขายแบบเรียลไทม์ หรือ Point of Sale (POS) ล่าช้า ซึ่งตามสัญญาฯ ระบุว่าผู้รับอนุญาตต้องนำส่งข้อมูล และรายได้ของโครงการให้กับ ทอท. ซึ่งทำสัญญากันไว้ตั้งแต่ปี 2548 ปรากฏว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจพบว่ายังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาฯ แต่อย่างใด ทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปอย่างถูกต้องได้ ซึ่งจำเลยมีเอกสารยืนยัน ทอท.เพิ่งจะเริ่มติดตั้งระบบ POS ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ทอท.มาแจ้งต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ฯว่าระบบ POS อยู่ระหว่างทดสอบระบบ และได้เริ่มออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559

    ประเด็นนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า “คำสัมภาษณ์ของจำเลยก็อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันชัดเจนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งขึ้นมา เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด”

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8): POS สำคัญไฉน คู่สัญญา “คิงเพาเวอร์-AOT” ติดตั้งช้า 9 ปี ยอดขายเรียลไทม์ตรวจสอบอย่างไร ใครรับผิดชอบ?
  • ประเด็นที่ 3 จำเลยให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (โจทก์) จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.อาจจะไม่ครบถ้วน ซึ่งตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากการขายสินค้า โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขออนุญาต ทอท.ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ดำเนินการแทน ซึ่งต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. 15% เช่นเดียวกัน

    แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ในอัตรา 15% ของค่าบริการ 3% ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ เรียกเก็บค่าบริการจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากการนำสินค้าจากถนนรางน้ำมาส่งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นการผิดสัญญา ซึ่งในประเด็นนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เคยแจ้งผลการตรวจสอบให้ ทอท.รับทราบว่า ทอท.ความได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากการขายสินค้า

    ประเด็นนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า “ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นข้อเท็จจริง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีพยานหลักฐานยืนยันชัดเจน โดยจำเลยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสัญญาฯของ ทอท. เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็มาแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย”

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6): ทวงเงินคิงเพาเวอร์ 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick-up Counter”จาก 15% เก็บแค่ 3%?
  • เปิดคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้กรณี คิง เพาเวอร์ เก็บค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ร้านค้า – “ชาญชัย” จี้ AOT แก้ปมอาหารแพงในสนามบินสุวรรณภูมิ
  • ประเด็นที่ 4 จำเลยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าของร้านค้า ซึ่งตามสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ทำไว้กับ ทอท. กำหนดให้เรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าได้ไม่เกิน 20% ของรายได้ ปรากฎว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจพบโจทก์เรียกเก็บเงินค่าสิทธิในการประกอบกิจการ (แป๊ะเจี๊ยะ) จากธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง แห่งละ 100 ล้านบาท ซึ่งค่าสิทธิดังกล่าวนี้ ตามสัญญาฯที่ทำไว้กับ ทอท.ไม่มีข้อตกลงให้เรียกเก็บแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญา

    ประเด็น 5 จำเลยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิของ ทอท.ได้มีการประชุมเป็นการภายใน แต่กลับไปเชิญตัวแทน บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มาร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ชนะการประมูล

    ทั้ง 2 ประเด็นหลังนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยให้สัมภาษณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาในการตรวจสอบ มุ่งหาข้อเท็จจริงไปที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท.ที่กระทำการโดยไม่สุจริต มากกว่าที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อาทิ การทำสัญญาสัมปทานฯต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 หรือไม่ เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ ทอท.ต้องพิจารณาดำเนินการเองเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของโจทก์โดยตรง รวมไปถึงกรณีการติดตั้งระบบ POS ล่าช้า และกรณีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอนแทนไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทานฯ กรณีที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของ ทอท.จะต้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญา หรือ ดำเนินการฟ้องศาล แต่ข้อเท็จจริง กลับปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว กลับปล่อยปละละเลย รวมถึงกรณี ทอท.เชิญกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เข้าร่วมประชุมเป็นการภายในของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จนทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น ทั้งหมดก็เป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ทอท.กระทำการโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนการทุจริตภายใน ทอท.แล้ว

  • “บิ๊กตู่” แจงเรื่องสปท. เสนอปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น สุดท้ายศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ประเด็นที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยโดยตรง (คณะอนุกรรมาธิการ ฯ) เป็นประโยชน์สาธารณะ ในฐานะที่ ทอท.เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมามีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าหน่วยงานของรัฐ หรือประเทศชาติ ได้รับความเสียหายไปด้วย การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ เป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่จำเลยเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมากลั่นแกล้งโจทก์ โดยที่ไม่มีมูลความจริง

    การให้สัมภาษณ์ของจำเลยจึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จำเลยยอมได้รับความคุ้มครอง การให้สัมภาษณ์ของจำเลย ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท สุดท้ายศาลฎีกา กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่สั่งลงโทษจำคุกจำเลย 16 เดือน พิพากษายกฟ้องคดี…

    อ่านรายละเอียด คำพิพากษาศาลฎีกา เพิ่มเติมที่นี่!