หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 “ยกฟ้อง” คดีหมายเลขแดงที่ อ. 2683/2561 และ อ. 2684/2561 ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นโจทก์ที่ 1, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) โจทก์ที่ 2 และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) โจทก์ที่ 3 ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในข้อหาหมิ่นประมาท
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ได้นำคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้มาแถลงต่อสื่อมวลชน เฉพาะกรณีที่นายชาญชัย เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 กล่าวหา “บริษัท คิง เพาเวอร์ เรียกเก็บ “แป๊ะเจี๊ยะ” จากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย รายละ 100 ล้านบาท รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้าอื่นๆที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40,50 หรือ 100 บาท ขึ้นเป็น 250 บาท เพราะไปเก็บค่าเช่าแพงกว่าสัญญา ในสัญญาห้ามเก็บเกินไปจากนั้น” ซึ่งเรื่องนี้เป็น 1 ใน 8 ประเด็นข้อกล่าวหาที่นายชาญชัยสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในชั้นศาลได้ และยืนยันสิ่งที่ตนได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปนั้น เป็นเรื่องจริง ศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยแล้ว จึงตัดสิน “ยกฟ้องคดี”
โดยประเด็น เรื่อง “เงินกินเปล่า” ศาลอาญากรุงเทพใต้ วินิจฉัยว่า “ตามข้อกำหนดของโครงการ (TOR) หน้า 18 ระบุให้ผู้รับอนุญาตเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการไม่เกิน 20% ของยอดรายได้ของร้านค้า และมีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่าจากร้านค้าภายในพื้นที่ ตามอัตราที่ ทอท. อนุญาต แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ที่ผู้รับอนุญาตจะต้องชำระให้แก่ ทอท.
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ของคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานตามสัญญาของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ประชุมพบว่า โจทก์ที่ 3 (KPS) เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่ง ทอท. ไม่ได้เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการจากโจทก์ที่ 3 แต่อย่างใด ซึ่งตามเอกสารสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 3 กับธนาคารทหารไทย ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ข้อ 4.1 ระบุมีการชำระค่าสิทธิในการประกอบกิจการเป็นเงินรวม 100 ล้านบาท ทำนองเดียวกันกับสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 3 กับธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ข้อ 4.1 มีการเรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการเป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว ขัดกับข้อตกลงของผู้ว่าจ้าง TOR หน้า 18 จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์ของจำเลยถึงเรื่องเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ”
หลังศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว สุดท้าย ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึง พิพากษาว่า “ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา ยกฟ้อง”
นายชาญชัยกล่าวว่า การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ตาม TOR หน้า 18 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (KPS) มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนได้ 2 อย่างเท่านั้น คือ 1. เรียกเก็บเงินค่าส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าและบริการกับร้านค้าได้ไม่เกิน 20% ของรายได้รวม และ2. เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ตามอัตราที่ ทอท. กำหนด แต่ต้องไม่สูงเกินอัตราค่าเช่าพื่นที่ที่ผู้รับอนุญาตจ่ายให้ ทอท. โดย KPS มีหน้าที่จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. 15% ของรายได้จากยอดขาย ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษี หรือจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ วิธีใดคำนวณแล้วทำให้ ทอท. ได้รายได้มากกว่าให้ใช้วิธีนั้น ตามที่กำหนดในสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (ทสภ.1-01/2548) ข้อ 4.2 หากผู้รับอนุญาต หรือ KPS เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอนแทนอย่างอื่น นอกเหนือจากนี้ต้องได้รับอนุญาตจาก ทอท.เป็นหนังสือ
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุผลที่ ทอท. กำหนดให้เรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้ไม่เกิน 20% และเก็บค่าเช่าพื้นที่ได้ไม่เกินอัตราที่ผู้รับอนุญาตนำมาจ่าย ทอท. นั้น เพราะต้องการควบคุมราคาสินค้าและอัตราค่าบริการในสนามบิน ไม่ให้มีราคาแพงเกินกว่า 25% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการชนิดเดียวกันที่ขายห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเมือง หากผู้รับสัมปทานเก็บเงินค่าตอนแทนรูปแบบอื่น นอกเหนือจากที่ ทอท. กำหนด ก็จะทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องบวกเข้าไปในราคาอาหารและบริการ เช่น ก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารจานด่วน ขายจานละ 250 บาท จึงเป็นที่มาของการที่ตนไปให้สัมภาษณ์ว่ามีการเรียกเก็บ “เงินกินเปล่า” หรือ “แป๊ะเจี๊ยะ” จากร้านค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
“ก่อนที่ศาลฯพิพากษา ในระหว่างต่อสู้คดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ผมได้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 โดยนำหลักฐานเป็นสัญญาอนุญาตให้ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารทหารไทย เปิดสาขา ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และตู้เอทีเอ็มในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งในสัญญาอนุญาตดังกล่าว ระบุให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งจ่ายค่าสิทธิในการประกอบกิจการ ณ วันลงนามในสัญญา รายละ 100 ล้านบาท ซึ่งศาลฯ ได้มีคำสั่งรับบัญชีพยานเพิ่มเติมของผม โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเป็นเอกสารที่โจทก์มีอยู่แล้ว ปรากฏทนายโจทก์ไม่เห็นด้วยกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับบัญชีพยานเพิ่มเติมของผม จึงไปยื่นคัดค้านคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ต่อศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติม และเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ได้พิพากษาคดีแต่อย่างใด จนเป็นเหตุให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป 2 ครั้ง เนื่องจากทนายโจทก์อ้างขอให้รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทำให้ผมในฐานะจำเลยต้องรอไปจนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของทนายโจทก์กลุ่มคิง เพาเวอร์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงอ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดี” เมื่อวันที่ 11 กันนายน 2561 นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าตนไม่หมิ่นประมาท ไม่ได้ให้ข่าวเท็จ ขั้นตอนต่อไป ตนก็จะส่งสำเนาคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมหนังสือแจ้งคณะกรรมการ ทอท. หรือ บอร์ด ทอท. ให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ประกอบการร้านค้านั้น ได้รับอนุญาตจาก ทอท. หรือไม่ อย่างไร เงินจำนวนนี้เมื่อเก็บมาแล้วไปไหน นำส่ง ทอท. เป็นรายได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ตนฝากไปถึงบอร์ด ทอท.
“กรณีห้างสรรพสินค้าที่อยู่นอกสนามบิน เรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ประกอบการร้านค้า ผมไม่ติดใจอะไร เพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าลงทุนก่อสร้างอาคารสถานที่เอง แต่กรณีของท่าอากาศยาน ลงทุนก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน 1.47 แสนล้านบาท ไม่ควรจะทำแบบนี้ เพราะท่าอากาศยานถือเป็นภาพลักษณ์ และ หน้าตาของประเทศ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเข้า-ออกประเทศไทยหลายสิบล้านคน ระหว่างนั่งรอเครื่องบิน หิวก็ต้องกิน เข้ามาแล้ว เดินออกไปหาซื้อของกินด้านนอกไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ควบคุม” นายชาญชัย กล่าว