ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 2) : “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? … จากคมช. ถึง คสช.

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 2) : “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? … จากคมช. ถึง คสช.

4 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทาน ดิวตี้ฟรีผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี โดยทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่า ที่ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ทอท.คาดหมาย

ที่ผ่านมามีเรื่องราวการฟ้องร้องระหว่างกลุ่มคิงเพาเวอร์และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลายคดีมีคำพิพากษาแล้ว และคดีมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ แม้คดีจะไม่ถึงที่สุดก็ตาม

นอกจากประเด็นเรียกเก็บเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ตามที่ “ไทยพับลิก้า” นำเสนอไปแล้วนั้น คำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1567/2560 และ คดีหมายเลขแดงที่ อ.2683/2561 ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นโจทก์ที่ 1, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) โจทก์ที่ 2 และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) โจทก์ที่ 3 ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้วินิจฉัยกรณีที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงปี 2560 กล่าวหา “โครงการเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ มีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือ ดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535”

ขอต่อสัญญาอ้างเหตุย้ายสนามบินจากดอนเมืองมาสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบสัญญาระหว่างการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เมื่อครั้งที่จะมีการย้ายสนามบินจากดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 นั้น ปรากฏว่าได้มีการลงนามในสัญญาอนุญาตให้บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดยนายวิชัย รักศรีอักษร (ศรีวัฒนประภา) ประธานกรรมการบริหาร ได้รับอนุญาตให้เข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต เพียงรายเดียว เป็นการลงนามเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 โดยสัญญาใหม่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 จนถึง 31 ธันวาคม 2558

โดยในช่วงก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าว ได้มี หนังสือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 เรื่อง ขอต่ออายุสัญญาเพื่อเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยหนังสือดังกล่าวทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

ในบางส่วนของหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า

“บริษัทฯ ใคร่เรียนว่า จากการที่สนามสุวรรณภูมิจะเริ่มเปิดใช้งานนับตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ทำให้คงเหลือระยะเวลานับแต่นี้เพียง 1 ปี 9 เดือน และเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ ทอท. โปรดพิจารณาการขอต่อสัญญาในครั้งนี้แต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ จำเป็นต้องได้รับความมั่นใจว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานของบริษัทฯ นับจากนี้ไปสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งเพื่อให้ทางบริษัทฯ มีระยะเวลาเพียงพอในการเตรียมการด้านต่างๆ ในกรณีที่ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการเตียมการทางด่านการเงิน การจัดหาเงินลงทุนสำหรับตกแต่งร้านค้า และจัดหาอุปกรณ์การขายต่างๆ …เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันในเดือนกันยายน 2548” โดยบริษัทเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ในอัตราร้อยละ 15 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ สัญญา 10 ปี (2548-2558) รวมเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท”

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • ก่อนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 “ยกฟ้องคดี” โดยศาล ฯ ได้วินิจฉัยประเด็นที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อ กล่าวหาโครงการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอดีต หลีกเลี่ยง ไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2535 สัญญาถือเป็นโมฆะหรือไม่ และมีผลอย่างไรนั้น

    ในคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้บรรยายที่มาของประเด็นนี้ เกิดขึ้นในมกราคม 2546 ทอท. ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือในเรื่องของแนวทางการประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2548 ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 มีหลักการอย่างไร

    คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีคำวินิจฉัยว่า “การคำนวณมูลค่าวงเงินลงทุนนั้น ให้นำมูลค่าที่ดิน อาคาร หรือ ทรัพย์สินอื่นที่ใช้ดำเนินโครงการ ทั้งส่วนของรัฐ-เอกชน มาคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงทั้งหมดตลอดโครงการ โดยไม่แยกเป็นรายสัญญา หรือ เฉพาะคู่สัญญารายใดรายหนึ่ง และต้องนำมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าคงคลัง เพื่อรอจำหน่ายมาคำนวณด้วย หากโครงการมีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ก็ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2535”

    หลังจากได้คำตอบจากกฤษฎีกา ทอท.จึงไปจ้าง “สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มาประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโครงการดังกล่าว จนได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ว่า โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมีมูลค่าเงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จากนั้นทอท.ก็ทำสัญญาให้สิทธิในสัมปทานดิวตี้ฟรีกับ KPD และทำสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์กับ KPS

    ต่อมาในปี 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่งตั้งพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เข้ามาเป็นประธานบอร์ด ทอท. จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 บอร์ด ทอท.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินโครงการต่างๆในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานฯ เข้าตรวจสอบสัญญาต่าง ฯ ที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย

    คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ มีความเห็นว่า “การคำนวณมูลค่าการลงทุนไม่ได้คำนวณจากข้อมูลที่เป็นจริง โดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมูลค่าสินค้าคงคลังเพียง 1 เดือน มาคำนวณรวมกับทรัพย์สินอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่า 283 ล้านบาท ทั้งที่ ในรายงานของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬา ฯ ตั้งสมมติฐานระยะเวลาในการหมุนเวียนสินค้าเฉลี่ยที่ 100 วัน ซึ่งต้องสำรองไว้ในคลังก่อนจำหน่าย คิดเป็นมูลค่า 945 ล้านบาท หากรวมกับเงินลงทุนตบแต่งสถานที่ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ แล้ว มีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าเงินลงทุนในส่วนของ ทอท. แต่อย่างใด”

    จากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ ที่มีพล.ต.อ.ประทิน เป็นประธานฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ และประเมินมูลค่าโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬา ฯ พบว่ากลุ่มบริษัทที่ปรึกษานำอายุการใช้งานของอาคารระยะเวลา 30 ปี มาหักเป็นค่าเสื่อม ทั้งที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา วางแนววินิจฉัย ไม่ให้มีการหักค่าเสื่อมของตัวอาคาร คณะทำงานฯได้ตรวจสอบและประเมินมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท ส่วนสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬา ฯ ประเมินไว้ที่ 813 ล้านบาท

    พล.อ.สพรั่ง จึงให้ทอท. ทำหนังสือแจ้ง KPD และ KPS ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำสัญญาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2535 จึงไม่มีสัญญาผูกพันต่อกัน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ KPD และ KPS ในการใช้พื้นที่ของ ทอท.

  • เปิดผลสอบสัมปทานดิวตี้ฟรี สปท. เสนอ “บิ๊กตู่” ปลดบอร์ด AOT-ยกเลิกสัญญาคิง เพาเวอร์ฯ
  • วันที่ 4 มิถุนายน 2550 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (KPD และ KPS) จึงไปฟ้องศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก ทอท. กรณีที่ทำหนังสือบอกกล่าว สัญญาไม่มีผลผูกพัน โดยในเอกสารคำบรรยายฟ้องของ KPD ระบุว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวม 1,000 ล้าน และมีการสั่งซื้อสินค้าเก็บไว้ในสต๊อกอีก 3,000 ล้านบาท ส่วนคำบรรยายฟ้องของ KPS ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท และได้มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าอีก 390 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินลงทุนของแต่ละโครงการแล้วเกินกว่า 1,000 ล้านบาท สอดคล้องกับรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีพล.ต.อ.ประทิน เป็นประธาน ฯ

    นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์

    หลังศาลอาญากรุงเทพใต้ วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาว่า “ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือ ได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

    อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา ยกฟ้อง” ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาล

    ศาลแพ่ง”ยกฟ้อง” เรียกค่าเสียหาย “ชาญชัย” 720 ล้าน ชี้แถลงตามความจริง

    นอกจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้นำประเด็นข้อกล่าวหา หลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน ฯ ปี 2535 ไปฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายนายชาญชัย 720 ล้านบาท ล่าสุด ศาลแพ่ง ได้มีคำพิพากาษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 “ยกฟ้อง” คดีหมายเลขดำที่ พ 545/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ พ 428/2562 โดยศาลแพ่ง วินิจฉัยว่า “ข้อความที่นายชาญชัย นำมาแถลงนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นตามกรณีศึกษา และตรวจสอบ และแถลงตามความจริงที่ปรากฏในเอกสารที่ได้มาจากหน่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นเอกสารของทอท.เอง เช่น เอกสารการประชุมของคณะกรรมกาตรวจสอบ ฯ ที่ทอท.แต่งตั้งเอง เอกสารประกอบในสัญญา TOR ข้อมูลสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น การแถลงข่าวของนายชาญชัย เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการฯ แถลงให้สาธารณชนทราบโดยสุจริต เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของชาติ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทอท. ผู้ถือหุ้นรายย่อย และประชาชนทั่วไปให้ทราบ และเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นมา ข้อความที่นายชาญชัยแถลง จึงไม่ฝ่าฝืนความจริง ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จึงพิพากษายกคำฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ความคืบหน้าของคดีนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.
    ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th

    ชงคำพิพากษาเสนอ “บิ๊กตู่” แต่ไม่สั่งการ

    นอกจากนี้กรณีที่สปท.เคยทำข้อเสนอแนะถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้ปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี และต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ว่า “ปลดเรื่องอะไร การสอบสวนและกฎหมายว่าอย่างไร แจ้งความกันหรือยัง ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาเรื่องที่มีกระแสมาทำโดยไม่มีที่มา หลักฐานการทุจริต ผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไร”

    ดังนั้นภายหลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาคดี นายชาญชัย จึงดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเคยมีดำริไว้ โดยส่งสำเนาคำพิพากษาศาล พร้อมหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี , นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้

    ปรากฎว่ามีนายกรัฐมนตรี เพียงรายเดียวที่ทำหนังสือแจ้งกลับนายชาญชัยว่าได้รับเอกสารที่จัดส่งให้แล้ว แต่ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

    และด้วยทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 70% และกำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าราคาตลาด 910,713.38 ล้านบาท (ณ 31 พฤษภาคม 2562) ใหญ่เป็นอัน 2 รองจากบริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)

    จนถึงขณะนี้จึงขอตั้งคำถามว่าคณะกรรมการ ทอท.และผู้บริหารได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาทบทวนตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร ทั้งที่มีข้อเท็จจริงของ “คิงเพาเวอร์” ในคำบรรยายคำฟ้องดังกล่าวข้างต้นว่าได้ลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทจริง

    พร้อมตั้งคำถามย้ำไปยังคณะกรรมการทอท.ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ(นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)และเป็นกรรมการ(นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร