ศาลฎีกา พิพากษากลับ-ยกฟ้องคดี “คิง เพาเวอร์” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท กรณีให้สัมภาษณ์สื่อประเด็น “เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-ติดตั้ง POS ล่าช้า-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ-จ่ายค่าตอบแทนให้ ทอท.ไม่ครบ”
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีจำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยมีเจตนาให้ร้ายกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อธุรกิจโจทก์หลายประเด็น อาทิ กล่าวหาโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 , ติดตั้งระบบรับรู้ข้อมูลยอดขายสินค้าแบบ Realtime หรือที่เรียกว่า “Point Of Sale” ล่าช้า 9 ปี , เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการ หรือ “แป๊ะเจี๊ยะ” จากธนาคารพาณิชย์ โดยสัญญาที่ทำกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อตกลงให้เรียกเก็บ รวมทั้งกล่าวหา โจทก์จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ไม่ครบถ้วน ตามสัญญาอนุญาตบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์
ในวันนี้ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง และกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุกจำเลย 16 เดือน รวมทั้งให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลในหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ เป็นเวลา 15 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
สำหรับเหตุผลที่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และให้ยกฟ้องคดี มีประเด็นสำคัญ ๆที่ศาลได้วินิจฉัยเอาไว้ดังนี้
-
1.การให้สัมภาษณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริง และมีเอกสารหลักฐานยืนยัน ไม่ใช่ข้อมูลที่จำเลยเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา เพื่อกลั่นแกล้งใส่ หรือ ร้ายโจทก์ แต่อย่างใด
-
2.การให้สัมภาษณ์ของจำเลยเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อส่วนรวม และประเทศชาติ การร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีโดยทั่วไป
-
3.การให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อีกทั้งยังเป็นการติดชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคล หรือ สิ่งอื่นใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครอง
สุดท้ายศาลฎีกา วินิจฉัยว่า “การให้สัมภาษณ์ของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำเลยกระทำความผิด และลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลย รวมทั้งฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนัก จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง”
อ่านรายละเอียด คำพิพากษาศาลฎีกา เพิ่มเติมที่นี่!