ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลสั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน กรณีให้สัมภาษณ์สื่อ – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท “คิงเพาเวอร์” 15 วัน

ศาลสั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน กรณีให้สัมภาษณ์สื่อ – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท “คิงเพาเวอร์” 15 วัน

1 กันยายน 2019


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดี “คิง เพาเวอร์” ฉบับเต็ม 15 วัน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 เวลา 9.00 น. ศาลอุทธรณ์ นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 192-193/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 7314-7315/2562 ระหว่างบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกล่าวหาโจทก์ทั้งสามได้รับสัญญาสัมปทานในสนามบินมาโดยมิชอบ หลีกเลี่ยงการนำส่งค่าผลประโยชน์ตอบแทนแก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทำให้โจทก์ทั้งสามเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดี ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ล่าสุดศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พิพากษากลับว่า “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งมีบทลงโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี แต่การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุก 16 เดือน และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มติชน เดอะเนชั่น สยามรัฐ และคมชัดลึก เป็นเวลา 15 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย” หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาเสร็จ นายชาญชัย ให้ทนายความนำหลักทรัพย์ประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

  • ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา ยกฟ้องคดี “คิง เพาเวอร์” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท
  • คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่างจากศาลชั้นต้น (ศาลอาญากรุงเทพใต้) กล่าวคือ กรณีนายชาญชัยให้สัมภาษณ์ทั้ง 2 ครั้ง ถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามได้รับสัมปทานในสนามบินมาโดยมิชอบ หลีกเหลี่ยงการส่งผลประโยชน์เข้ารัฐ ทำให้รัฐเสียหายได้ผลประโยชน์ตามสัญญาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้ข้อความตามคำสัมภาษณ์ของนายชาญชัยจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุและอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ข้อความต่อสาธารณชน ย่อมถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 393 แต่จะได้รับยกเว้นความผิด ตามมาตรา 329 หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทั้งในส่วนของคณะ กมธ.สามัญและวิสามัญ รวมทั้งข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558

    ผลการวินิจฉัยของศาลปรากฏว่า คณะ กมธ.เหล่านี้มีอำนาจเพียงแค่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนปฏิรูป ข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศ และมีอำนาจขอเอกสาร หรือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามเท่านั้น ประกอบกับข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 81 วรรคที่ 4 ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน การแถลงข่าวนั้นเป็นหน้าที่ของประธาน กมธ., โฆษก กมธ. หรือสมาชิก กมธ.ที่เกี่ยวข้องตามรายละเอียดในข้อบังคับ สปท. ข้อ 81 และ 83

    ส่วนประเด็นที่โจทก์ทั้งสาม (กลุ่มคิงเพาเวอร์) ได้รับสัมปทานในสนามบินโดยมิชอบ มีการทุจริต และกระทำผิดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า “เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หาใช่จำเลยไม่ และไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร, กรมศุลกากร, ทอท. ได้ดำเนินคดีต่อโจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติยกคำร้อง ซึ่งจำเลยก็ทราบว่ามติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมีผลบังคับอยู่ และจากการเบิกความ จำเลยก็ยอมรับว่าเมื่อปี 2550 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุ กมธ.ตรวจสอบสัญญาระหว่าง ทอท.กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ แสดงว่าจำเลยทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่จำเลยก็ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระตามที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งที่จำเลยมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ อีกทั้งระเบียบข้อบังคับของ สปท.ก็ห้ามไม่ให้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ตามที่กล่าวข้างต้น

    ดังนั้น การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ให้ร้ายโจทก์ทั้งสาม จึงไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตตาม (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือ ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (3) ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง กรณีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย คำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง

    อนึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยวินิจฉัยประเด็นที่นายชาญชัยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้หลายประเด็น เช่น สัญญาสัมปทานระหว่างกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์กับ ทอท.เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 หรือไม่, การติดตั้งระบบตรวจสอบยอดขายแบบเรียลไทม์ (Point OF Sale – POS) ล่าช้า, เรื่องการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนของ ทอท.จากบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นไปตามสัญญาหรือไม่, การเรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้พื้นที่

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 3): “ทอท.-คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? …ถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง คสช. ชี้มติ ป.ป.ช.ไม่ชอบ
  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8): POS สำคัญไฉน คู่สัญญา “คิงเพาเวอร์-AOT” ติดตั้งช้า 9 ปี ยอดขายเรียลไทม์ตรวจสอบอย่างไร ใครรับผิดชอบ?
  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6): ทวงเงินคิงเพาเวอร์ 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick-up Counter”จาก 15% เก็บแค่ 3%?
  • โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นว่า ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 70 จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นในอนาคต มิใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมา เพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม

    แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามมิให้อนุ กมธ.แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของ กมธ.ก็ตาม ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ประธาน กมธ.ในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1), (3) และมิใช่เป็นการดูหมิ่น ตามมาตรา 393 ศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา ยกฟ้อง