ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 1) : เงินค่าแป๊ะเจี้ยะจากร้านค้าพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทวงคืนจาก “คิงเพาเวอร์” หรือยัง

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 1) : เงินค่าแป๊ะเจี้ยะจากร้านค้าพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทวงคืนจาก “คิงเพาเวอร์” หรือยัง

3 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทาน ดิวตี้ฟรีผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี โดยทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่า ที่ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ทอท.คาดหมาย

สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่ผ่านมามีเรื่องราวการฟ้องร้องระหว่างกลุ่มคิงเพาเวอร์และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลายคดีมีคำพิพากษาแล้ว และคดีมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ แม้คดีจะไม่ถึงที่สุดก็ตาม

สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เคยเป็นข่าวเรื่องอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิราคาแพง ซึ่งปัจจุบันบริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานอยู่ เมื่อเจาะลึกในข้อเท็จริง จากข่าวที่ “ไทยพับลิก้า” ได้นำเสนอข่าวเปิดคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้กรณี คิง เพาเวอร์ เก็บค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ร้านค้า – “ชาญชัย” จี้ AOT แก้ปมอาหารแพงในสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 จนถึงขณะนี้ต้องตั้งคำถามว่าทอท.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้เรียกเงินคืนจาก “คิงเพาเวอร์” นำส่งรัฐหรือยัง!!!

เรื่องของเรื่องนี้ จากคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 “ยกฟ้อง” คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1567/2560 และ คดีหมายเลขแดงที่ อ.2683/2561 ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นโจทก์ที่ 1, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) โจทก์ที่ 2 และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) โจทก์ที่ 3 ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในข้อหาหมิ่นประมาท

สาเหตุเนื่องจากนายชาญให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กล่าวหา “บริษัท คิง เพาเวอร์ เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการจากผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า“แป๊ะเจี๊ยะ” จากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย รายละ 100 ล้านบาท รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้าอื่นๆที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิราคาแพง เพราะเก็บค่าเช่าแพงกว่าสัญญา

คดีนี้นายชาญชัยสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในชั้นศาลได้ และยืนยันสิ่งที่ตนได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปนั้น เป็นเรื่องจริง ศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยแล้ว จึงตัดสิน “ยกฟ้องคดี” ซึ่งขณะนี้กลุ่มคิงเพาเวอร์อยู่ระหว่างการอุทธรณ์

  • เปิดคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้กรณี คิง เพาเวอร์ เก็บค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ร้านค้า – “ชาญชัย” จี้ AOT แก้ปมอาหารแพงในสนามบินสุวรรณภูมิ
  • “นายกฯแก้สนามบินสุวรรณภูมิขายอาหารแพง – ถาม TOR ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ยังเปิดช่องให้เก็บ “แป๊ะเจี๊ยะ” ได้อีกหรือไม่?”
  • โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ฟ้องครบทุกประเด็น สุดท้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ จึง พิพากษาว่า “ ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

    รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา ยกฟ้อง

    อย่างไรก็ตามจากข่าวที่ได้นำเสนอ นายชาญชัยได้เล่าถึงกระบวนการพิจารณาว่า “ก่อนที่ศาลฯพิพากษา ในระหว่างต่อสู้คดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ผมได้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 โดยนำหลักฐานเป็นสัญญาอนุญาตให้ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารทหารไทย เปิดสาขา ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และตู้เอทีเอ็มในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งในสัญญาอนุญาตดังกล่าว ระบุให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งจ่ายค่าสิทธิในการประกอบกิจการ ณ วันลงนามในสัญญา รายละ 100 ล้านบาท ซึ่งศาลฯ ได้มีคำสั่งรับบัญชีพยานเพิ่มเติมของผม โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเป็นเอกสารที่โจทก์มีอยู่แล้ว ปรากฏทนายโจทก์ไม่เห็นด้วยกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับบัญชีพยานเพิ่มเติมของผม จึงไปยื่นคัดค้านคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ต่อศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติม และเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ได้พิพากษาคดีแต่อย่างใด จนเป็นเหตุให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป 2 ครั้ง เนื่องจากทนายโจทก์อ้างขอให้รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทำให้ผมในฐานะจำเลยต้องรอไปจนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของทนายโจทก์กลุ่มคิง เพาเวอร์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงอ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 11 กันนายน 2561”

    ด้วยทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 70% และกำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าราคาตลาด 910,713.38 ล้านบาท (ณ 31 พฤษภาคม 2562) ใหญ่เป็นอัน 2 รองจากบริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)

    ดังนั้นหลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาคดีนี้ นายชาญชัยได้ส่งสำเนาคำพิพากษาศาล พร้อมหนังสือถึงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายหน่วยงาน ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.,นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ประกอบการร้านค้านั้น ได้รับอนุญาตจาก ทอท. หรือไม่ อย่างไร เงินจำนวนนี้เมื่อเก็บมาแล้วไปไหน นำส่ง ทอท. เป็นรายได้หรือไม่

    ปรากฎว่ามีนายกรัฐมนตรี เพียงรายเดียวที่ทำหนังสือแจ้งกลับนายชาญชัยว่าได้รับเอกสารที่จัดส่งให้แล้ว แต่ไม่ได้สั่งการใดๆเพื่อจัดการกับเรื่องนี้

    เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้ ลงทุนก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน 1.47 แสนล้านบาท แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเข้า-ออกประเทศไทยหลายสิบล้านคน

    การดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาสัมปทาน ยิ่งนี้ ยังถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การประมูลล่าสุดหรือไม่ และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดที่จะได้รับสัมปทานอีกครั้ง

    จนถึงขณะนี้จึงขอตั้งคำถามว่า AOT ได้ทวงเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ คืนหรือยัง และได้นำส่งรัฐหรือยัง!!!

    ที่สำคัญอย่างยิ่งคณะกรรมการ AOT ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ(นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)และเป็นกรรมการ(นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ช่วยกันทวงถามหรือยัง!!! และได้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติกันหรือยัง!!!

    เงื่อนไขการเรียกเก็บเงินของผู้ได้สัมปทาน

    บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ตาม TOR หน้า 18 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (KPS) มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนได้ 2 อย่างเท่านั้น คือ 1. เรียกเก็บเงินค่าส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าและบริการกับร้านค้าได้ไม่เกิน 20% ของรายได้รวม และ2. เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ตามอัตราที่ ทอท. กำหนด แต่ต้องไม่สูงเกินอัตราค่าเช่าพื่นที่ที่ผู้รับอนุญาตจ่ายให้ ทอท. โดย KPS มีหน้าที่จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. 15% ของรายได้จากยอดขาย ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษี หรือจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ วิธีใดคำนวณแล้วทำให้ ทอท. ได้รายได้มากกว่าให้ใช้วิธีนั้น ตามที่กำหนดในสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (ทสภ.1-01/2548) ข้อ 4.2 หากผู้รับอนุญาต หรือ KPS เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอนแทนอย่างอื่น นอกเหนือจากนี้ต้องได้รับอนุญาตจาก ทอท.เป็นหนังสือ

    สำหรับเหตุผลที่ ทอท. กำหนดให้เรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้ไม่เกิน 20% และเก็บค่าเช่าพื้นที่ได้ไม่เกินอัตราที่ผู้รับอนุญาตนำมาจ่าย ทอท. นั้น เพราะต้องการควบคุมราคาสินค้าและอัตราค่าบริการในสนามบิน ไม่ให้มีราคาแพงเกินกว่า 25% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการชนิดเดียวกันที่ขายห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเมือง หากผู้รับสัมปทานเก็บเงินค่าตอนแทนรูปแบบอื่น นอกเหนือจากที่ ทอท. กำหนด ก็จะทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องบวกเข้าไปในราคาอาหารและบริการ จึงเป็นที่มาของการกล่าวหาเรื่อง “เงินกินเปล่า” หรือ “แป๊ะเจี๊ยะ” จากร้านค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    อ่านซีรี่ย์เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย