ThaiPublica > สู่อาเซียน > เจาะธุรกิจครอบครัวนายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา

เจาะธุรกิจครอบครัวนายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา

13 กุมภาพันธ์ 2021


พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmars-army-chief-challenges-biden-and-bets-big-on-china

วันที่ 31 มกราคม 2021 ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะยึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี JUSTICE FOR MYANMAR ได้เผยแพร่บทความเรื่อง WHO PROFITS FROM A COUP? THE POWER AND GREED OF SENIOR GENERAL MIN AUNG HLAING บนเว็บไซต์

Justice For Myanmar เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยตัว รณรงค์เพื่อความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งกำลังเรียกร้องเพื่อให้ยุติธุรกิจของทหาร และเพื่อประชาธิปไตยของรัฐบาลกลางและสันติภาพที่ยั่งยืน

การแสดงแสนยานุภาพของทหารเมียนมาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองคุกคามระบอบประชาธิปไตย “ไร้ระเบียบวินัย” ที่กองทัพได้สร้างขึ้นเอง การพูดถึงการรัฐประหารของกองทัพควบคู่ไปกับการสวนสนามของรถถังที่ออกมาวิ่งในเมืองใหญ่ๆ อย่างกะทันหัน ทำให้สาธารณชนเกิดความกลัวและความวิตกกังวล ในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจ

  • กองทัพเมียนมาคุมอำนาจ ประกาศฉุกเฉิน คุม “อองซานซูจี” พร้อมผู้นำอีกหลายคน
  • กองทัพเมียนมา ตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” รักษาการประธานาธิบดี ปกครองใต้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี
  • “อองซานซูจี” ปลุกประชาชนลุกขึ้นต้านรัฐประหาร
  • จากการกล่าวอ้างอย่างต่อเนื่องของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่เป็นตัวแทนของกองทัพเมียนมาว่า การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 มีการทุจริต พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติของการเลือกตั้งและพูดถึงการสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร รัฐธรรมนูญรับรองบทบาทของทหารในการเมืองโดยกำหนดที่นั่งในรัฐสภาให้ 25% และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายพลเรือน รวมทั้งยังควบคุมกระทรวงกิจการภายใน กระทรวงกิจการชายแดน และกระทรวงกลาโหม อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากวันเกษียณอายุของเขาใกล้จะมาถึงอย่างรวดเร็ว

    เดือนมิถุนายน 2021 ที่ใกล้จะมาถึงทุกขณะ เป็นเวลาที่นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต้องถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ ผลประโยชน์ทางการเงินของเขาจึงน่าจะเป็นแรงจูงใจในการขู่จะทำรัฐประหาร พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และครอบครัวจะสูญเสียทุกอย่างไป หลังจากได้สะสมความมั่งคั่งส่วนตัวมาด้วยการใช้ตำแหน่งสาธารณะในฐานะผู้บัญชาการทหารในทางมิชอบ

    บทบาทพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในธุรกิจทหาร

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีอำนาจสูงสุดในกลุ่มบริษัททหาร 2 แห่งของเมียนมา คือ Myanmar Economic Corporation (MEC) และ Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำกลุ่มที่ค้ำจุน MEHL และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจทั่วเมียนมา ธุรกิจเหล่านี้สร้างขึ้นจากการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของเผด็จการทหารและการยักยอกทรัพย์สินสาธารณะ และขยายตัวภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

    ที่มาภาพ: https://www.mecwebsite.com/

    ธุรกิจที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ดูแลรวมไปถึงทรัพย์สินด้านยุทธศาสตร์ ที่ผันไปให้กับพวกพ้องและธุรกิจระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง ผ่านข้อตกลงที่ทุจริตจากการที่เขาเป็นประธาน ตัวอย่างเช่นในปี 2013 MEHL เข้าควบคุมท่าเรือ โบ ออง จอว์ (Bo Aung Kyaw) ที่โอนมาจากการท่าเรือแห่งเมียนมา (Myanma Port Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอดีตเจ้าหน้าที่ทหารและผู้อำนวยการ ในปี 2016 ได้ให้กลุ่มบริษัท KT Group ของพวกพ้องเช่าท่าเรือนี้ ภายใต้สัปทานที่รัฐให้สิทธิในการจัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ ก่อสร้าง และดําเนินการ (build-operate-transfer) ระยะเวลา 50 ปี โดยรัฐได้มีรายได้จาก MEHL จำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งทบทวนได้ทุกๆ 5 ปีตามรายงานของสำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar Now) ในทำนองเดียวกัน MEC ควบคุมพื้นที่ริมแม่น้ำในเขตอาห์โลน (Ahlone Township) ซึ่งได้ให้เอเชียเวิลด์และอาดานี พอร์ต และเขตเศรษฐกิจเช่าเพื่อก่อสร้างและดำเนินการท่าเรือส่วนตัว

    รายงานของ Myanmar Extractive Industries Transparency Initiative เปิดเผยว่า ในภาคเหมืองแร่ ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย MEHL ได้ใบอนุญาตขุดหยกและทับทิมจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ที่ทำรายได้ได้ดี ซึ่งบางส่วนได้ให้แบ่งให้เช่าต่อกับบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจเหมืองของ KBZ ซึ่งเป็นบริษัทของพวกพ้องเช่นกัน ส่วนในภูมิภาคคามตินั้น MEHL ได้ให้ใบอนุญาตแก่บริษัทธุรกิจหยกในเครือ KBZ โดยมีการสกัดหยก 24,230 กิโลกรัมในปีงบประมาณ 2015-2016 เพียงปีเดียว และจ่ายค่าประทานบัตรให้รัฐบาลน้อยมาก

    กลุ่มเอเวอร์โฟลว์ริเวอร์ (Ever Flow River Group) ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ MEHL ในท่าเรือบกหล่าย(Hlaing Dry Port) และศูนย์กระจายสินค้า Inland Container Depot ที่ควบคุมโดย MEHL ในขณะที่กลุ่มเอเวอร์โฟลว์ริเวอร์สนับสนุนเงินลงทุน 100% สำหรับโครงการเชิงยุทธศาสตร์ MEHL ถือหุ้น 51% โดยมีพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับผลประโยชน์เข้าตัว

    วั่นเป่า ไมนิ่ง (Wanbao Mining) และเมียนมา แยง ซี (Myanmar Yang Tse) บริษัทในเครือธุรกิจ NORINCO ผู้ผลิตอาวุธของจีน ได้ทำธุรกิจเหมืองทองแดงในซะไกง์ ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนในท้องถิ่นทุกข์ทรมานอย่างมาก

    จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย MEHL การลงทุนทั้งหมดของเหมืองซาบา ตอง และเจย์ ซิน ตองมีมูลค่า 398.56 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัทเป็นผู้จัดหาทุน 100% ในเหมืองเลทปะด่อง การลงทุนมูลค่า 997 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 100% ในการจัดหาทุนมาจากวั่นเป่า วั่นเป่า และเมียนมา แยงซีรับผิดชอบพนักงานส่วนใหญ่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ตกลงที่จะแบ่งกำไรให้ MEHL ในสัดส่วน 51% จากทั้งสองเหมือง แม้ MEHL ไม่ได้ควักเงินลงทุน (ต่อมาส่วนแบ่งกำไรของ MEHL ลดลงหลังจากความไม่พอใจของชุมชน ทำให้สัดส่วนของรัฐเพิ่มขึ้น)

    การทุจริตเหล่านี้ทำผลกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และทำให้ความสัมพันธ์กับพวกพ้องซึ่งอาศัยใบบุญของเขาแนบแน่นขึ้น ในระบบที่ความมั่งคั่งยังกระจุกตัวภายในกลุ่มนายพลชั้นนำและพรรคพวกที่เหนียวแน่น ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ทำให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย สามารถได้ผลประโยชน์จากการที่กองทัพเข้าถึงทรัพย์สินของรัฐ การออกใบอนุญาต และการจัดซื้อจัดจ้าง‍

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมา
  • คลังสหรัฐฯเผยรายชื่อกลุ่มนายพลเมียนมาก่อรัฐประหารที่ถูกคว่ำบาตร
  • ธุรกิจของครอบครัวพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัว ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐและการได้รับการยกเว้นจากกองทัพ

    ออง แพ โซน (Aung Pyae Sone) ลูกชายของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ดำเนินธุรกิจที่เป็นที่รู้จักมากมาย A&M Mahar ซึ่งเป็นธุรกิจจัดหาเวชภัณฑ์ของเขา จำหน่ายใบอนุญาตและนายหน้านำเข้าของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนการค้าและการตลาดเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์

    ที่มาภาพ: https://www.justiceformyanmar.org/stories/dirty-secrets-2-sr-gen-min-aung-hlaings-family-selling-fda-and-customs-clearance-for-profit

    ในปี 2019 ออง แพ โซน ถูกสาธารณชนตรวจสอบ การเป็นเจ้าของร้านอาหารย่างกุ้ง และย่างกุ้งแกลเลอรี ในสวนสาธารณะ (People’s Park) ซึ่งอยู่ติดกับเจดีย์ชเวดากอง ในกรณีที่ได้เช่าที่ดินในราคาต่ำเกินจริงจากรัฐบาลภูมิภาคย่างกุ้ง และให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้ามของคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง

    ย่างกุ้งแกลเลอรีที่ลูกชายพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าของ ที่มาภาพ: https://www.myanmar-now.org/en/news/military-chiefs-son-paid-very-low-rent-for-his-upscale-restaurant-on-government-owned-land

    ออง แพ โซน ยังเป็นเจ้าของอาซูราบีชรีสอร์ต (Azura Beach Resort) ซึ่งโฆษณาว่าเป็น รีสอร์ทที่ใหญ่ที่สุดในชอง ทา (Chaung Tha) และหลังจากที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะในปี 2015 ได้ไม่นาน คณะกรรมการการลงทุนของเมียนมาภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรค USDP ได้อนุญาตให้สกาย วัน คอนสตรักชัน (Sky One Construction) สร้างรีสอร์ทบนพื้นที่ 22.22 เอเคอร์ที่เช่าจากรัฐบาล ท่ามกลางผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเป็นระบบ สกาย วัน คอนสตรักชันมีออง แพ โซน เป็นเจ้าของ

    ในปี 2016 วินนิง สตาร์ (Winning Star) ซึ่งเป็นบริษัทของหุ้นส่วนทางธุรกิจของออง แพ โซน ในสกาย วัน คอนสตรักชัน และก่อนหน้านี้ทำธุรกิจโดยใช้ที่อยู่เดียวกัน ได้รับสัญญาสัมปทานมูลค่า 250 ล้านจ๊าดจากกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาโรงแรมมรักอูในมรักอูหรือเมียวอู (Mrauk U) เมืองหลวงเก่าของรัฐยะไข่หรืออาระกัน ซึ่งมีการสู้รบกันอย่างดุเดือดในช่วงปีที่แล้วระหว่างทหารเมียนมาและกองทัพอาระกัน

    เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หม่อง ซาร์นี ผู้ประสานงาน @FreeRoCoalition ผู้ร่วมก่อตั้ง Gen-Sec แห่ง ForSea.co รวมทั้งเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ได้โพสต์คลิปผ่านทวิตเตอร์ ที่แสดงให้เห็นถึงภาพบุตรชายของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า กำลังโปรยเงินแจกคนในโชว์รูมรถ ซึ่งคาดว่าน่าจะฉลองชัยชนะการยึดอำนาจของพ่อ

    ที่มาภาพ: https://twitter.com/drzarni

    เมี๊ย ยาดานาร์ ไท่ ภรรยาของ ออง แพ โซน อยู่ในแวดวงธุรกิจเช่นกัน รวมทั้งเป็นกรรมการใน เญน ชาน แพ โซน แมนูแฟกเจอริ่งแอนด์เทรด(Nyein Chan Pyae Sone Manufacturing & Trading Company) ร่วมกับสามีของเธอ เมื่อไม่นานมานี้เธอดำรงตำแหน่งกรรมการของ เอพาวเวอร์( Apower) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของ อองมิน ธุ กรุ๊ป(Aung Myin Thu Group) ที่พัฒนาอสังหาริม ทรัพย์ในเขตมิงกะลาดลของย่างกุ้ง

    คิ่น ทิริ เท็ต มอน บุตรสาวของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าของ Seventh Sense ธุรกิจผลิตสื่อที่สร้างภาพยนตร์ซึ่งใช้เงินจำนวนมากและมีสัญญาพิเศษกับเน โท ทั้งนี้เน โท มีบทบาทในด้านการตลาดของ Mytel ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อตั้งร่วมกับ MEC โดยได้รับอนุญาตให้ร่วมลงทุนในส่วนของรัฐบาล คิ่น ทิริ เท็ต มอน ยังเป็นเจ้าของ Everfit ฟิตเนสสุดหรู

    ผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัวนี้น่าจะเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ตราบใดที่ทหารยังคงอยู่นอกการกำกับดูแลตามระบอบประชาธิปไตย และนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังสามารถใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวต่อไป ก็ไม่สามารถวัดความมั่งคั่งและทรัพย์สินที่แท้จริงของครอบครัวนี้ได้

    Khin Thiri Thet Mon ที่มาภาพ: https://www.myanmar-now.org/en/news/military-chiefs-family-members-spend-big-on-blockbuster-movies-beauty-pageants

    ใครได้ประโยชน์จากรัฐประหาร

    ขณะที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ขู่ว่าจะทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของกระบวนการเลือกตั้งของเมียนมา สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขาในฐานะผู้นำกลุ่มธุรกิจของกองทัพและผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัวของเขา กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงสำหรับพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศของกองทัพ เช่น คิรินโฮลดิงส์ และแพน-แปซิฟิก

    ตั้งแต่ปี 2019 การตรวจสอบข้อเท็จจริงของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพเมียนมา มีมากขึ้นหลังจากที่ UN Fact-Search Mission เผยแพร่รายงานในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่บ่งชี้ถึงธุรกิจที่ทหารเป็นเจ้าของ นอกจากนี้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยังเป็นศูนย์กลางที่นานาประเทศพยายามดำเนินการให้มีการรับผิดชอบต่ออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

  • ประธานอาเซียน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเมียนมาให้เจรจาปรองดอง
  • “ใคร” ในกองทัพเมียนมาคุมบริหารประเทศ
  • ประชาชนเมียนมาลุกฮือ เดินขบวนต้านรัฐประหาร
  • “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” แถลงครั้งแรกปกป้องรัฐประหาร หลังประท้วงขยายวงลุกลาม
  • ประชาชนในเมียนมาและทหารของกองทัพยังคงได้รับผลกระทบจากการทุจริตที่ขยายวง และผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเป็นระบบ ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย หากความเป็นประชาธิปไตยในเมียนมีความคืบหน้าและการกระทำผิดทางอาญาของเขามีการรับผิดชอบ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และครอบครัวก็ต้องสูญเสียแหล่งรายได้

    ทรัพย์สินสาธารณะที่ยักยอกไปโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และครอบครัวจะต้องถูกส่งคืนให้กับประชาชน หากไม่มีการดำเนินการจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็มีความเสี่ยงสูงที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะพยายามยึดอำนาจในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและใช้อำนาจเพื่อสะสมความมั่งคั่งต่อไป ผ่านกลุ่มธุรกิจกองทัพและธุรกิจครอบครัว ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประชาชนในเมียนมาและทหารของกองทัพตกอยู่ในความยากจน