นายพล มิน อ่อง หล่าย เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านคณะทหารเหล่าทัพหรือ ตะมะดอว์(Tatmadaw) ซึ่งเป็นกองทัพที่มีอำนาจอย่างมากของเมียนมา และในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดในทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีอิทธิพลทางการเมืองที่สำคัญก่อนการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์
นายพลมิน อ่อง หล่าย รักษาอำนาจของตะมะดอว์ไว้ได้สำเร็จ แม้เมียนมาเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ได้รับการประณามและการคว่ำบาตรจากนานาชาติ จากการที่มีบทบาทในการโจมตีชนกลุ่มน้อยของกองทัพ
ขณะที่เมียนมากลับคืนสู่การปกครองของทหาร ภายใต้การนำของเขา มิน อ่อง หล่ายก็ดูเหมือนจะพร้อมที่จะขยายอำนาจและกำหนดอนาคตอันใกล้ของประเทศ
ก้าวสู่อำนาจสูงสุด
นายพลวิน อ่อง หล่าย วัย 64 ปี มีเส้นทางอาชีพตลอดมาในกองทัพที่มีอำนาจอย่างมาก หลังจากที่ได้เข้าร่วมในฐานะนักเรียนนายร้อย
มิน อ่อง หล่าย อดีตนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อย(Defense Services Academy)ได้สำเร็จในปี 1974 หลังจากที่ใช้ความพยายามถึง 3 ครั้ง
นายทหารราบที่ค่อนข้างถ่อมตัว ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นประจำ และขยับขึ้นระดับสูงต่อเนื่อง และในที่สุดก็กลายเป็นผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ -2 ในปี 2009
ภายใต้ตำแหน่งนี้ มิน อ่อง หล่าย ดูแลการปฏิบัติการในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การอพยพของชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นคนที่หลบหนีจากทางตะวันออกของรัฐฉานและเขตโกกัั้งตามแนวชายแดนจีน
แม้จะมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฆาตกรรม ข่มขืนและวางเพลิง ต่อกองกำลังของเขา แต่มิน อ่อง หล่าย ก็ยังคงเติบโต และในเดือนสิงหาคม 2010 เขาได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการร่วม
ในเวลาไม่ถึง 1 ปีต่อมา ได้รับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ ข้ามหน้านายพลที่มีอาวุโสมากกว่าขึ้นเป็นผู้นำ แทน ตาน ฉ่วยที่กุมตำแหน่งนี้มายาวนาน ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเดือนมีนาคม 2011
เมื่อ มิน อ่อง หล่าย ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด บล็อกเกอร์และนักเขียน ลา อู ซึ่งเปิดเผยว่า พวกเขารู้จักกันในวัยเด็ก ได้เล่าว่าเขาเป็น “นักรบที่แข็งกร้าวในกองทัพเมียนมาที่โหดร้าย” แต่ยังให้ชื่อว่าเป็น “นักวิชาการและสุภาพบุรุษที่จริงจัง”
อิทธิพลทางการเมืองและ’การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
มิน อ่อง หล่าย เริ่มดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะที่เมียนมาเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2011 หลังจากการปกครองด้วยกองทัพมานานหลายทศวรรษ แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาอำนาจของตะมะดอว์ไว้
อิทธิพลทางการเมืองที่มากขึ้นและการพูดถึงมิน อ่อง หล่ายบนโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น เมื่่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร (USDP)เป็นผู้นำรัฐบาล
ในปี 2016 เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD)ของ ออง ซาน ซู จีเข้ามามีอำนาจดูเหมือนว่าเขาจะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยการทำงานและปรากฏตัวในงานสาธารณะร่วมกับเธอ
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่มิน อ่อง หล่ายยืนยันว่า กองทัพพม่ายังคงมีที่นั่งในรัฐสภา 25% และมีรัฐมนตรีในมือในกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงขณะเดียวกันก็ต่อต้านความพยายามของพรรค NLD ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและจำกัดอำนาจทางทหาร
ในปี 2016 และ 2017 กองทัพได้ปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ทางตอนเหนือหนักขึ้น ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากหลบหนีออกจากเมียนมา
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดถูกประณามจากนานาชาติ โดยกล่าวหาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และในเดือนสิงหาคม 2018 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า “นายพลทหารระดับสูงของเมียนมา รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิน อ่อง หล่ายจะต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ รวมถึงการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมทางสงครามในรัฐยะไข่ รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน
หลังจากการแถลงการณ์ของสภา เฟซบุ๊กได้ลบบัญชีของเขาพร้อมกับบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า “มีการกระทำหรือส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในประเทศ
สหรัฐฯได้คว่ำบาตรเขา 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2019 เมื่อถูกกล่าวหาว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเดือนกรกฎาคมปี 2020 สหราชอาณาจักรก็ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเขาเช่นกัน
ยึดอำนาจ
การเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่พรรค NLD ชนะแบบถล่มทลาย จากคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการ แต่ในเดือนต่อมา ตะมะดอว์และพรรค USDP ที่มีทหารหนุนหลัง โต้แย้งผลการเลือกตั้งหลายครั้ง
พรรค USDP กล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งในวงกว้าง แต่ข้อกล่าวหาถูกตีกลับจากคณะกรรรมการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่กำหนดไว้เพื่อเลือกรัฐบาลใหม่
การคาดเดาว่าจะมีการทำรัฐประหารมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองทัพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 มิน อ่อง หล่ายเตือนว่า “รัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิกหากไม่ปฏิบัติตาม” โดยยกตัวอย่างของการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้ในปี 1962 และ 1988
จากนั้นกองทัพดูเหมือนจะเปลี่ยนท่าที โดยในวันที่ 30 มกราคม 2564 ได้ระบุว่า สื่อตีความคำพูดของผู้นำกองทัพ เรื่องการยกเลิกรัฐธรรมนูญผิดพลาดไปเอง
อย่างไรก็ตามในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพได้ควบคุมตัว ออง ซาน ซู จีที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานาธิบดีวิน มินท์และผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ พร้อมกับประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
มิน อ่อง หล่ายได้คุมอำนาจประเทศแบบเบ็ดเสร็จในครั้งนี้ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่กล่าวหาว่ามีความผิดปกติในทันที
การประชุมกับสภากลาโหมและความมั่นคงที่มี มิน อ่อง หล่ายเป็นผู้นำ ได้ระบุว่า จะมีการสอบสวนการทุจริตการเลือกตั้งตามที่มีการกล่าวหา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้ชัยชนะของพรรค NLD ไม่มีผลอย่างเป็นทางการ
เดิมที มิน อ่อง หล่ายจะลงจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังจากที่อายุถึงวาระเกษียณในวัย 65 ปี ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ แต่ขณะนี้กลับอยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปีและมีความเป็นไปได้ว่าจะนานกว่านั้น เพราะเมียนมาได้กลับไปอยู่ภายใต้การปกครองระบอบทหารอีกครั้ง
ขณะที่เมียนมามีอนาคตที่ไม่แน่นอนด้วยการใช้ภาวะฉุกเฉิน แต่อำนาจของมิน อ่อง หล่ายแข็งแกร่งและเป็นผู้นำประเทศ
จาก
Myanmar coup: Min Aung Hlaing, the general who seized power