ThaiPublica > คนในข่าว > “ไกรยส ภัทราวาท” กสศ. ขอการแก้ความเหลื่อมล้ำการศึกษาด้วย “สะพานบุญ-ผีเสื้อ” ที่เข้าไปอยู่ในใจคน

“ไกรยส ภัทราวาท” กสศ. ขอการแก้ความเหลื่อมล้ำการศึกษาด้วย “สะพานบุญ-ผีเสื้อ” ที่เข้าไปอยู่ในใจคน

20 ตุลาคม 2020


ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

แม้กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นหัวเรือใหญ่คุมทิศทางของระบบการศึกษาไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาทแทบไม่เคยถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

14 พฤษภาคม 2561 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

กสศ. อาจเปรียบได้กับสตาร์ทอัปทางการศึกษา เพราะด้วยความเป็นอิสระ ความคล่องตัว และไม่ได้มีระเบียบราชการ ทำให้ผู้บริหารสามารถคิดและตัดสินใจลงมือทำได้ทันที สะท้อนให้เห็นจากนวัตกรรม iSEE ซึ่งรวบรวมเด็กทั้งหมดมาไว้ในฐานข้อมูลแบบที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ทำ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล่าถึงการทำงานของ กสศ. ภายใต้ 5 เสาหลักในการสร้าง “ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” (social protection in education system) ซึ่งแบ่งออกเป็น

  1. ความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็น “วิกฤติที่รอวันปะทุ” ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น จากที่เด็กนักเรียนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านพร้อมกับปัญหาความยากจน
  2. ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ พ่อแม่แยกทางกัน และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยทางสังคม
  3. ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะเรื่องการเดินทาง
  4. ความปลอดภัยในโรงเรียน ทั้งทางกายภาพและจิตใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีคุณค่ากับระบบการศึกษา และมองไม่เห็นอนาคต
  5. ความมั่นคงของชุมชน จากการประกอบกันของพื้นที่และคนในการพัฒนาชุมชนที่สมบูรณ์

ทว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาใดปัญหาหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการบูรณาการวิธีแก้ปัญหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน

เป้าหมายในการทำงานของ กสศ. คือการทำให้ “ผีเสื้อ” เข้าไปอยู่ในใจคน เปรียบเสมือนภาพของตัวแทน กสศ. กระจายตัวอยู่ทุกหนแห่ง และผีเสื้อทุกคนจะมีเป้าหมายคือการช่วยเหลือเด็กให้หลุดพ้นวงจรการศึกษาไทยที่เหลื่อมล้ำสูง

“ใจเราอยากช่วยคนเป็นล้าน แต่ไม่สามารถช่วยได้ เพราะด้วยกำลังเงิน กำลังคน ต่อให้ใช้เทคโนโลยีก็จะมีกลุ่มยากลำบากที่สุดอยู่ดี ถ้าเราทำด้วยตัวเองไม่ได้โดยตรง มันจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

iSEE สะพานแก้ความเหลื่อมล้ำ

หลังจากที่ กสศ. เปิดตัวระบบสารสนเทศชื่อ iSEE เวอร์ชัน 1 และ 2 เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับคนที่สนใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน ทำให้ในเวลาต่อมามีผู้ที่สนใจจำนวนมากดึงข้อมูลจาก iSEE ไปใช้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีทุน มีกำลังคน และมีเป้าหมายเพื่ออยากคืนกำไรสู่สังคมในด้านการศึกษา

“แต่ก่อนเอกชนมาแบบไม่มีข้อมูล บอกอยากทำ CSR อยากแก้ปัญหาเด็กยากจน ไม่มีข้อมูลมาก แต่ตอนนี้ภาคเอกชนบอกดู iSEE มาแล้ว จิ้มได้เลยว่าอยากทำกับเด็กกลุ่มนี้ พื้นที่นี้ เราก็เห็นสังคมภาคส่วนต่างๆ เขามีความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น เขาเข้าใจโจทย์ของตัวเองมากขึ้นว่าถ้าอยากทำเพื่อสังคมอยากทำกลุ่มไหน โจทย์ธุรกิจ โจทย์องค์กรว่าควรทำเรื่องอะไรในความเสมอภาคทางการศึกษา”

ในที่นี้ กสศ. จึงเป็นสะพานเชื่อมให้กับภาคเอกชนที่มีทุน มีแรง แต่ไม่มีข้อมูลอย่างลึกซึ้ง โดยมี กสศ. เป็นที่ปรึกษาและพันธมิตรที่ทำงานด้วยกัน

“ภาคเอกชนบางเจ้าไม่รู้ว่าจะทำได้ถึงไหน เอกชนบางเจ้ารู้สึกว่าผู้บริหารอยากทำเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่บางโครงการอาจไม่ได้แตะเรื่องความเหลื่อมล้ำได้อย่างเข้มข้น เขาก็ขยับเข้ามาหาเราว่าอยากทำมากขึ้น แล้ว กสศ. จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง”

ตัวอย่างหนึ่งที่ ดร.ไกรยสอธิบายคือ การแก้ปัญหา “เด็กขาดสารอาหาร” ก็มีเอกชนค้าปลีกรายหนึ่งอยากแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (food waste) โดยเอาขนมปังและอาหารสดที่ขายไม่หมดในช่วงกลางคืนนำไปเข้ากระบวนการผลิตต่อ เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กยากจนพิเศษไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน

ดร.ไกรยส ยกตัวอย่างของแบรนด์ Greyhound (เกรย์ฮาวด์) กับแคมเปญที่ร้านเกรย์ฮาวด์ หรืออนาเธอร์ฮาวด์ (Another Hound) โดยให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสามารถซื้อข้าวให้เด็กในโครงการอิ่มด้วยกันได้ โดยอาศัยข้อมูลจาก iSEE

“อย่าง Grab เขาก็เอาข้อมูลไปเชื่อมกับ ‘ระบบการรับส่ง’ กลายเป็นว่า กสศ. ไปเปิดร้านอาหารที่คนที่สั่งแกร็บอยากสั่งข้าวให้น้องให้สั่งกับ กสศ. จะเลี้ยงน้องกี่มื้อ สมมติมื้อละยี่สิบบาทก็คูณไป พอกดแล้วก็เป็นรูปในแอปเป็นรถมอเตอร์ไซค์วิ่งไปให้น้องๆ”

ถัดมาเป็นตัวอย่างที่ กสศ. จัดเวิร์กชอปร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธปท. ให้ความช่วยเหลือโดยไปหารือกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เด็กสามารถเปิดบัญชีได้โดยใช้ข้อมูลแค่เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน 12 หลัก จนต่อมาทั้งสองธนาคารจึงให้เด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไปสามารถเดินไปทางไปเปิดบัญชีด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้โดยไม่ต้องมีเงินขั้นต่ำ และไม่ต้องมีเงินเพื่อรักษาบัญชี อีกทั้ง กสศ. ยังสามารถโอนเงินอุดหนุนเข้าผ่านข้อมูลเลขบัตร 13 หลักได้โดยตรง

สุดท้ายเป็นอย่างอย่างของ “มูลนิธิก้าว” โดยพี่ตูน ซึ่งใช้ข้อมูล iSEE ไปลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ ของทุกภูมิภาคและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา

แนวร่วม กสศ.

ดร.ไกรยสให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2563) กสศ. มีพันธมิตรมากกว่า 200 องค์กร และมี local brand มากกว่า 20 แบรนด์ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของภาคเอกชนที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างจริงจัง

“ตั้งแต่ต้นปีมีคนบริจาคให้ กสศ. กว่า 16,000 คน ยอดบริจาคประมาณ 20 ล้าน แต่เวลารายงานไปที่บอร์ด บอร์ดเราไม่สนใจตัวเลขเท่าไร เพราะว่าบอร์ดสนใจเรื่องจำนวนคนว่าบริจาคได้กี่คน มีคนลงมาเท่าไรเขาอยากรู้การเข้าถึง คนบริจาค 1 บาทก็มี ใช้บัตรเครดิตรูดด้วย แต่เขามาเรื่อยๆ บางทีคนบริจาค 10 บาทบ่อยๆ ก็มี เราวิเคราะห์ว่าในหมื่นกว่าคนมีกี่คนที่เป็นแบบขาประจำ กี่คนมาครั้งเดียวแสนนึง อย่างพี่ตูนมาครั้งเดียวเงินสด 1 ล้าน คนบริจาคมีความหลากหลายมาก”

ฝังรากแก้ว 20 จังหวัด

ดร.ไกรยสเล่าวว่า กสศ. เคยส่งจดหมายเรื่อง “ข้อเสนอการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 76 จังหวัด และผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทำงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้โมเดลเดียวกันกับทั้งประเทศได้

“เราไม่มีปัญญาทำ 7,000 เทศบาล มันใหญ่เกินไป เราทำพื้นที่ที่ตบมือสองข้าง นายกเทศบาลก็เอากับเราด้วย”

จากการส่งจดหมายข้อเสนอฯ ดร.ไกรยสบอกว่าตอนแรกวางงบประมาณสำหรับโครงกาารนี้เพียงพอกับ 10 จังหวัดเท่านั้น แต่เมื่อมี 20 จังหวัดให้การตอบรับจึงต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่ม

โจทย์ของการทำงานเชิงพื้นที่คือให้พื้นที่ส่งข้อเสนอการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง โจทย์การแก้ปัญหาเด็กนอกระบบและเด็กปฐมวัย โดยเปิดรับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อบจ. สมัชชาต่างๆ กระทั่งเอ็นจีโอ เพราะการให้คนในพื้นที่เป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเองจะทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าคนนอก และยังทำให้คนในพื้นที่มองเป้าหมายเดียวกับ กสศ. คือ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เพราะเมื่อพระเอกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นคนในพื้นที่เอง คนในพื้นที่จะติดตามผลเองโดยปริยาย ทำให้ ดร.ไกรยสเรียกวิธีการนี้ว่าฝัง ‘รากแก้ว’

“ถ้าเราไม่ใช้หลักการยึดพื้นที่เป็นหลักมันจะอยู่ชั่วคราว ไม่ใช่ยั่งยืน แล้วมันจะไม่มีราก ทำงานอะไรเราต้องการให้เกิด ‘รากแก้ว’ ไม่ใช่รากฝอย รากฝอยทำง่ายมาก ก็ให้ทุนเหมือนหลายหน่วยงานที่ทำ พอหมดสัญญา ทุนก็จบ แต่เราต้องการให้เกิดรากแก้วในพื้นที่”

“บางจังหวัดอยากทำสมัชชาการศึกษา เราก็ไปช่วยเขาทำให้เกิดสมัชชา เป็นรากแก้วที่ยั่งยืน แล้วเราไปโน้มน้าวให้เขามีวาระเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นวาระหลักในการทำงาน ถ้าเขาซื้อมันก็เกิดรากแก้วแล้ว จากนั้นเราค่อยไปสนับสนุนเขาให้เขาทำงานเกิดขึ้นได้ เมื่อจุดติดแล้วประชาคมมาช่วยเอง”

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “ภูเก็ต” กสศ. ชวนคนภูเก็ตและนายกเทศมนตรีมาสร้าง ‘พิมพ์เขียวทางการศึกษา’ จนทำให้เทศบาลนครภูเก็ตได้รับเลือกเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) และเป็นจังหวัดหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าหลังทำงานร่วมกับ กสศ. แล้วตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเกษียณจากข้าราชการครู เป็นกำลังที่เราชวนมาทำเยอะมาก เพราะความเป็นครูไม่ได้หยุด มันอยากช่วยเด็ก เราก็รับสมัครคนเหล่านี้เป็นภาคีเครือข่ายในพื้นที่ แล้วทำให้เขาเห็นว่าได้ช่วยเด็ก 1 คน เขามีความสุข กลับบ้านสบายใจ วันรุ่งขึ้นก็อยากทำเพิ่ม”

ระบบที่ทิ้งนักเรียนไว้ข้างหลัง กับปัญหา “เส้นผมบังภูเขา”

ระหว่างปัญหาเด็กยากจนกับเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ดร.ไกรยสมองว่า เด็กยากจนเป็นปัญหาที่ยังพอควบคุมได้ เพราะเด็กยังอยู่ในโรงเรียน แต่ปัญหาเด็กนอกระบบเป็นปัญหาที่ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง

“เด็กยากจนอยู่ในโรงเรียน ซนยังไงโรงเรียนก็ดูแล แต่ก่อนหน้านี้เราแทบไม่รู้ว่าเด็กนอกระบบมีปัญหาอะไรบ้าง ไปวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่อยู่ที่เดิมแล้ว บางบ้านไปเคาะประตู เขาไม่เปิดประตูหาเรา ผมก็พูดภาษาใต้ไม่ได้ บางทีลงพื้นที่เจอปัญหาแล้วมันเส้นผมบังภูเขามาก”

ดร.ไกรยสเล่าตัวอย่างปัญหาที่พบเจอ เช่น “เด็ก ป.6 ไปเรียน ม.1 ไม่ได้ เพราะตอนประถมต้นพ่อแม่ส่งให้เรียนเอกชน พ่อแม่แยกทางกัน ฐานะจน เลยย้ายไปเรียนโรงเรียนของรัฐ แต่พ่อแม่ไม่ยอมจ่ายค่าเทอมเอกชนให้ตอน ป.3 โรงเรียนไม่ออกใบสุทธิให้ ทำให้ไปสมัคร ม.1 ไม่ได้ โรงเรียนของรัฐก็ไม่สามารถรับเข้าเรียนได้ จนเจ้าของโรงเรียนเอกชนบอกเอามา 10,000 บาทถึงจะให้ใบสุทธิ โถ เด็กยากจนเอามาหมื่นเป็นไปไม่ได้ ผู้ใหญ่ที่ลงพื้นที่กับผมเขารู้จัก ผอ.โรงเรียน เขายกหูเลย โทรครั้งแรกเหลือ 5,000 ต่อรองหน่อยเหลือ 2,500 แกบอกเดี๋ยวไปควักจ่ายให้เลย นัดกันเมื่อไร เรื่องมันแค่นี้จริงๆ ค่าโทรศัพท์ 3 บาทลดจาก 10,000 เหลือ 2,000 ผมคิดว่าถ้าแกชวนไปกินข้าวต่อก็คงให้ฟรี”

อีกตัวอย่างเป็นเด็กหญิงที่ใช้ชีวิตอยู่กับยาย หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน เด็กคนนี้เรียนจบชั้นประถมศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยเกือบ 4.00 แต่ไม่สามารถเรียนต่อระดับมัธยมได้เพราะไม่มีโรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้าน ทำให้ยายไม่อยากให้เด็กไปเรียน

“ที่ผมเจอคือ เด็กผู้หญิง เกรดเกือบ 4.00 ออกนอกระบบมาสองปี สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการให้เรียนโรงเรียนประจำ แต่ที่เรียนมันไกลมากต้องนั่งเรือหางยาว มันเป็นเกาะ ป่าชายเลน จึงต้องพายายไปดูโรงเรียน ให้รู้ว่ามีหอพัก และให้ยายรู้ว่าสามารถโทรหายายทุกวันได้ กลับบ้านมาหายายได้ทุกเดือน ทุกปิดเทอม จนยายก็ยอม หลานอยากเรียนจะตายแต่ไม่กล้าบอก”

ดร.ไกรยสกล่าวเสริมว่า

“นี่ยังไม่พูดถึงเด็กที่อยู่โรงเรียนมาเก้าปีอ่านออกเขียนได้หรือยัง แต่ความพร้อมของโรงเรียนในการจัดการศึกษาที่เสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เด็กซน อยู่ไม่นิ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การแก้ปัญหาแบบกดทับ โดยเฉพาะการบีบให้เด็กยากจนและด้อยโอกาสออกไปนอกรั้วโรงเรียน ให้คนได้เกรดเกิน 2.00 ได้ไปต่อ คนที่ไม่เก่งก็ตกไป ระบบการประเมินเราก็ไปดูโอเน็ต แต่เด็กที่ตกออกไปไม่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของระบบการศึกษา”

ดร.ไกรยสกล่าวอีกว่าว่า หลายปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยไม่ได้มาจากปัจจัยตัวบุคลเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของระบบงานที่ไม่เชื่อมต่อกัน รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ไม่เกิดการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นถ้าใช้พื้นที่เข้าใจหลักคิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายคนในพื้นที่จะค่อยๆ แก้ปัญหาให้กันและกัน

“พอ กสศ. ลงไปปะติดปะต่อให้มันเชื่อมถึงกัน มันก็คือการแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมและขยายผลได้ แก้พลังของเครือข่าย พลังของพื้นที่ มันถึงต้องมีองค์กรแบบเราที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง วันหนึ่งผมทำงานกับครูในโรงเรียนที่ห่างไกลที่สุด อีกวันผมก็เข้าไปคุยกับรัฐมนตรี เอาเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่า พอเก็ตก็สั่งงาน นั่นคือลักษณะงานที่เราทำได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง”

เมื่อระบบการศึกษาดี ความเหลื่อมล้ำลดลง จะเกิดผลที่ตามมามากมาย โดยเฉพาะเด็กที่จะกลับไปพัฒนาชุมชน ทำธุรกิจ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน แต่เมื่อเด็กไม่มีความหวงแหนกับพื้นที่ เมื่อเติบโตเด็กเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะไม่หวนคืนกลับมาพัฒนาชุมชน

ไปให้ไกลกว่าบทบาทการศึกษา

เมื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่การให้เงินแล้วจบ เพราะสุดท้ายปัญหาไม่ได้ถูกแก้ที่โครงสร้าง อีกทั้งปัญความความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ ดังนั้น ลำพังการแก้ปัญหาเพียงปลายทางจึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

“เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามันเกี่ยวพันกับการเงิน ไอที โภชนาการ ความมั่นคงของครอบครัว เด็กยากจนส่วนใหญ่พ่อแม่ก็แยกทางกัน เงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เราไม่อยากเป็นกองทุนที่จ่ายครบจบแน่ คือถ้าจ่ายครบภารกิจจบแน่ แต่เมื่อไรความเหลื่อมล้ำจะได้รับการแก้ไข”

ในช่วงแรก กสศ. เริ่มภารกิจจากการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กที่อยู่ล่างที่สุด 15% ของประเทศไทย ทั้งวิธีการอุดหนุนเงินรายหัวและติดตามผลโดยให้คุณครูในโรงเรียนส่งอัตราการมาเรียนของเด็กโดยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 รวมถึงมีการประเมินกลุ่มเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งฐานะ น้ำหนัก และส่วนสูง ทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์ไม่ให้เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา

ดร.ไกรยสกล่าวอีกว่า เป้าหมายของ กสศ. คือทำให้เด็กอนุบาล 1 ที่ได้รับทุนเรียน ม.3 และ ม.6 ประกอบกับการช่วยเหลือเชิงป้องกัน (ไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบ) และแก้ไขปัญหา (ให้เด็กที่หลุดไปแล้วกลับเข้ามาเรียนใหม่)

“หลายคนเข้าใจว่าเราเป็นกองทุนสงเคราะห์ ผมยอมรับว่าเรื่องนี้เข้าใจยาก เราก็พยายามบอกทีมสื่อสารว่ามันต้องมีวิธีการสื่อสารใหม่ ต่อให้เราลงหนังสือพิมพ์ไม่รู้กี่ฉบับ แต่พอไปสภา ส.ส. บอกว่าลงพื้นที่มาแล้วครูกับ ผอ. บอกไม่รู้จัก กสศ. พอผมดึงข้อมูลจาก iSEE ให้เขาดู บอกว่าโรงเรียนนี้ได้เงินไป 80 คน ผอ. เซ็นเองด้วย คือเขาก็เซ็นตามภารกิจหน้าที่ ไม่ได้ใส่ใจกับเจตนารมณ์ที่มาที่ไปของเงิน แต่ผมก็ยังหวังว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มองลึกไปกว่านั้น”

หลายๆ อย่างมันเกิดขึ้นได้เพราะเราไม่เคลม คนอื่นอาจบอกกันว่าเป็นผลงานของกระทรวงนั้น กระทรวงนี้ คนไม่ค่อยรู้จัก กสศ. แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นเกิดขึ้นแล้ว เพราะเราเอาความสำเร็จในการทำงานเป็นตัวตั้งมากกว่า

ดร.ไกรยสกล่าวอีกว่า บทบาทของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องมองถึงเรื่องความยั่งยืน โดยบูรณาการเข้ากับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นอกจากนี้ กสศ. จะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งมีโจทย์ของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

กระจายอำนาจ โจทย์ใหญ่ที่การศึกษาไทยไปไม่ถึง

“ข้อมูลของเราเห็นเลยว่า 1 ตำบล มีเด็ก 60 คนเอง หรือบางอำเภอมี 159 คน บางตำบล 11 คน ทำไมแค่หลักสิบคนเราจะไปเคาะประตูบ้านหาไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าซูมออกมาโจทย์ประเทศ เห็น 300,000 คน เยอะมาก ถ้าเราบอกเดี๋ยวทำเอง จบเลย ทำไม่ได้หรอก เราเลยต้องหาโมเดลธุรกิจในการทำงานกับเขา”

สิ่งที่ กสศ. สะท้อนให้เห็นคือการกระจายอำนาจ โดยให้อำนาจคนในชุมชนได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังอยู่ในระดับที่สูง เพราะด้วยกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ ยิ่งกว่านั้นการแก้ปัญหายังมาจาก ‘ส่วนกลาง’ ไม่ได้มาจากคนในพื้นที่ด้วยกันเอง ดังนั้นส่วนกลางจึงเน้นแต่การให้ ‘งบรายหัว’ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“การแก้ปัญหาคือการกระจายอำนาจ เราหวังอยากจะเห็นมานาน แต่มันไม่เกิดขึ้นสักที อำนาจกระจายไปก็วัดกันที่ค่านม ค่าอาหารกลางวัน ให้ อบต. จ่าย แต่นั่นใช่การกระจายอำนาจจริงหรือเปล่า เขาตัดสินใจอะไรไม่ได้มากไปกว่าให้หรือไม่ให้ ซึ่งมันก็ไม่ให้ไม่ได้ มันไม่เหมือนอำนาจผู้ว่า กทม. สั่งได้หมด จังหวัดอื่นเป็นผู้ว่าแต่งตั้ง บางคนอยู่ปีเดียว แต่งตั้งไปความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มันก็ลำบาก”

“ผมว่าผู้จัดการสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นยังตัดสินใจอะไรได้มากกว่า ผอ. ในบางเรื่อง เขาจะรู้ว่าป๊อกกี้รสนี้ขายได้ดีนะ ผมเคยได้ยินคนในเซเว่นเขารู้ทุกช่อง บางอย่างซื้อแล้วอร่อยจะกลับไปซื้ออีกที ไม่มีแล้วในสาขานั้น ถ้าเซเว่นทำได้มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะให้หน่วยงานราชการสามารถทำงานแบบกระจายอำนาจและใช้ข้อมูลตัดสินใจได้”

นอกจากนี้ ส่วนกลางยังจัดสรรครูลงไปในพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทและความเหมาะสม

ดร.ไกรยสยังเสนอให้มีการกระจายการคัดเลือกครูในพื้นที่ และให้รักษามาตรฐานในพื้นที่กันเอง ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาครูย้ายกันไปมา และครูหลายๆ คนพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้ บางครั้งสอนจนเด็กรัก แต่สุดท้ายก็ต้องจากพื้นที่ไป

“คีย์เวิร์ดของเราคือความยั่งยืนและรากแก้วในพื้นที่ เป็นตัวชี้วัดว่า ถ้าแต่ละปีเรามีเพื่อนมากขึ้น มีคนแชร์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น นั่นคือการเติบโตของ กสศ. แม้ว่าคนของเราจะไม่ได้เพิ่มแม้แต่คนเดียว”

“งานเราไม่มีอะไรซับซ้อน มันคืองานช่วยคน ช่วยเด็กที่ไม่มีการศึกษาให้มีการศึกษา ช่วยเด็กที่ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ไปโรงเรียนต่อเนื่อง”