ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งสอบกรมปศุสัตว์กรณีโรค ASF-มติ ครม. ไฟเขียว กทม. ลงทุนเมกะโปรเจกต์ 1.8 หมื่นล้าน

นายกฯ สั่งสอบกรมปศุสัตว์กรณีโรค ASF-มติ ครม. ไฟเขียว กทม. ลงทุนเมกะโปรเจกต์ 1.8 หมื่นล้าน

11 มกราคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายกฯ สั่งสอบปมอธิบดีปศุสัตว์ ไม่ได้รับหนังสือเตือนโรค ASF – ห่วงอาหารสดขึ้นราคา สั่ง พณ. เร่งแก้หมูแพง – วอนพ่อค้า-แม่ค้าอย่าเอาเปรียบ-ลดปริมาณอาหาร – มติ ครม. ไฟเขียว กทม.ลงทุน 9 เมกะโปรเจกต์ 18,158 ล้าน-จัดงบกลาง 574 ล้าน แก้อหิวาต์แอฟริกาในหมู 56 จว.

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ห่วงอาหารสดขึ้นราคา สั่ง พณ. เร่งแก้หมูแพง

ดร.ธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเรื่อง ‘ราคาสินค้า’ โดยเฉพาะอาหารสดหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงกำชับให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาราคาหมูแพง

วอนพ่อค้า-แม่ค้าอย่าเอาเปรียบ-ลดปริมาณอาหาร

นอกจากนี้นายกฯ ยังเป็นห่วงประชาชน ขออย่าให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และอย่าให้มีการขายอาหารปริมาณลดลง โดยฝากส่วนราชการติดตามการดำเนินงานงบประมาณให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ กำชับให้รัฐมนตรีกำกับดูแลงานในสวนของตัวเอง และตอบปัญหาชี้แจงประชาชนให้เข้าใจในทุกเรื่อง

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังห่วงใยข้าราชการที่ทำงานในสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งด้านความมั่นคงที่ดูแลชายแดน ขอให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค

มอบเกษตร-พาณิชย์ หามาตรการแก้ปมหมูแพง

คำถามว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงอย่างไร ดร.ธนกร ชี้แจงว่า นายกฯ ให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง ขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วย

ดร.ธนกร กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงพาณิชย์และเกษตรฯ ว่า นายกฯ ให้หามาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและยาว ขอความร่วมมือช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีคำถามจากสื่อมวลชนว่าได้มีการวิเคราะห์ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเนื้อหมูแพง ‘หมูอาจจะล้มรัฐบาลได้’ นั้น ดร.ธนกร ตอบว่า “ใครวิเคราะห์ รัฐบาล ครม. หน่วยงาน ต้องวิเคราะห์หาหนทางในการแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาไปสร้างปัญหาเกี่ยวพันเรื่อยๆ”

สั่งสอบปมอธิบดีปศุสัตว์-ไม่ได้รับหนังสือเตือนโรค ASF

ดร.ธนกร ตอบคำถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถึงขั้นพิจารณาเก้าอี้ ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ หรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

ส่วนคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งตรวจสอบ กรณีสมาคมผู้เลี้ยงสุกร และคณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำหนังสือแจ้งเรื่อง ASF ไปที่กรมปศุสัตว์ แต่หนังสือไปไม่ถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธนกร ตอบว่า “ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และให้สอบถามอธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ”

คำถามสุดท้าย มีการกล่าวถึงบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ที่เงียบจนเหมือนเกียร์ว่าง ดร.ธนกร ตอบว่า “นายกฯ ก็เห็นทุกคนทำงานอย่างหนัก อาจจะพูดน้อยไปหน่อย ให้ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้มากขึ้นทุกหน่วยงาน”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบกลาง 574 ล้าน แก้อหิวาต์แอฟริกาในหมู 56 จว.

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 – 15 ตุลาคม 2564 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 แล้ว

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า การอนุมัติงบกลางในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณ เพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2564 – 15 ตุลาคม 2564 ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้

    ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และ สุพรรณบุรี
    ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว
    ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
    ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
    ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว

ดร.ธรกร กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังในการป้องกัน และควบคุมโรคระบาดในสัตว์และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) โดย ครม. ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งได้มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมทั้งชดเชย เยียวยาเกษตรกรรายย่อย เจ้าของฟาร์ม ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ดำเนินระบบการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง กำกับดูแล ให้เกษตรกร ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรค เช่น ให้มีรั้วรอบฟาร์ม ให้มีจุดพ่นน้ำนาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภค ในขณะนี้ให้มากที่สุด” ดร.ธนกร กล่าว

เตรียม 9 มาตรการ รับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง

ดร.ธนกร กล่าว่าที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เสนอ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย 9 มาตรการ ได้แก่

    มาตรการ 1 เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยการสูบทอยน้ำจากแหล่งน้ำมากไปสู่แหล่งน้ำน้อย ไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเก็บน้ำและปรับปรุงและพัฒนาระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

    มาตรการ 2 จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้ จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

    มาตรการ 3 ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม

    มาตรการ 4 กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้แก่ กำหนดแผนปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผนและมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงระดับน้ำในทางน้ำที่อาจจะลดต่ำกว่าปกติ

    มาตรการ 5 วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยจัดทำทะเบียนเกษตรกร ระบุพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจนเพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

    มาตรการ 6 เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)

    มาตรการ 7 เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหา เฝ้าระวัง ตรวจวัด และควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำและลำน้ำ

    มาตรการ 8 ติดตามและประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน โดยรายงานเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง [นารอบที่ 2 (นาปรัง)] ให้เป็นไปตามแผน

    มาตรการ 9 สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้ทันที

และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือเสี่ยงภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง โครงการการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และโครงการเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

ขยายเวลา “สินเชื่อเกษตรแปลงใหญ่” ถึงสิ้น มิ.ย. ปี ’75

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท กรอบวงเงินโครงการรวม 23,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ของโครงการแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (เงื่อนไขเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีขนาดพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และ/หรือมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 ราย ขึ้นอยู่กับพืชเกษตร) แต่ยังมีเกษตรกรที่ต้องการขอสินเชื่อและอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง และแปลงใหญ่บางแปลงมีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อมากกว่าวงเงินที่โครงการกำหนด

ดังนั้น ครม. จึงมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมที่เหลืออยู่ และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการออกไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2575 (จากเดิมที่สิ้นสุด 30 เมษายน 2570) มากไปกว่านั้น ครม. ยังได้อนุมัติปรับรายละเอียดโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จากเดิมที่สนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยปรับเป็น 1) สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร ไม่เกินวงเงินกู้ที่นายทะเบียนกำหนด ใช้เกณฑ์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแบ่งตามขนาด ประเภทธุรกิจชั้นคุณภาพของสหกรณ์การเกษตรกลุ่มเกษตรกร และศักยภาพความสามารถในการชำระหนี้คืน 2) วิสาหกิจชุมชนเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มแปลงใหญ่

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การขยายระยะเวลาโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร อันจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับเป็นเกษตรสมัยใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสินค้า และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย

เพิ่มวันลา ขรก. คลอดบุตร 188 วัน รับเงินเดือน 50%

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรี ให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) กลุ่มแรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 17,366,400 คน 2) กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,082 คน และ 3) กลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน

สำหรับมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ดังนี้

    1.จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่
    2.ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)
    3.ขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งระเบียบเดิมข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน และข้าราชการหญิงที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมาตรการใหม่นี้ ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุว่า ควรให้บุตรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้ คือ 1) ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้านการจ้างงาน ทำให้เกิดนโยบายที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้หญิง สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2) ส่งเสริมให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลบุตร 3) ปรับเปลี่ยนจำนวนวันลาคลอดของข้าราชการให้เท่ากับภาคเอกชน 4) สนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน

ดร.รัชดากล่าว กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นของมาตรการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคลลในส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการปรับแก้ระเบียบต่อไป

เห็นชอบ MOU ร่วมมือด้านพลังงานทุกมิติ “ไทย-ญี่ปุ่น”

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความร่วมมือฯ เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศในมิติต่างๆ ให้ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น ขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) น้ำมันและก๊าซ 2) ไฟฟ้า 3) พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 4) พลังงานนิวเคลียร์ 5) นวัตกรรม เทคโนโลยี และพลังงานอัจฉริยะ 6) เทคโนโลยีการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความร่วมมือด้านพลังงานอื่นๆ ตามที่ทั้งสองประเทศจะกำหนดร่วมกัน ซึ่งจะมีการดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล การฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ การส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน การจัดแผนที่นำทางด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2050

เพิ่มหลักเกณฑ์ขอสัญชาติ ต้องผ่านการทดสอบภาษาไทย

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ปประชุม ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แบบการขอสัญชาติไทย การแปลงสัญชาติเป็นไทย การสละสัญชาติไทย การกลับคืนสัญชาติไทย และค่าธรรมเนียม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวง พ.ศ. 2510 ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. กำหนดสถานที่ยื่นคำขอมีสัญชาติไทย การขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอกลับคืนสัญชาติไทย และการขอสละสัญชาติไทย ดังนี้ 1) ผู้มีชื่อตามทะเบียนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่กรมการปกครอง 2) ผู้มีชื่ออยู่ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่จังหวัด 3) ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ให้ยื่นคำขอที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่
    2. กำหนดเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ ดังนี้ 1) หญิงต่างด้าวขอมีสัญชาติไทยตามสามี ให้ยื่นคำตามแบบ สช.1 พร้อมหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัว ใบสำคัญการสมรส รูปถ่าย 2) คนต่างด้าวขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ให้ยื่นคำขอตามแบบ สช.2 พร้อมหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัว รูปถ่าย หลักฐานการประกอบอาชีพ หลักฐานการศึกษา 3) ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่คนต่างด้าวที่เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้เยาว์ หรือเป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอตามแบบ สช.3 พร้อมหลักฐาน เช่น สำเนาคำสั่งของศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล หลักฐานของคนไร้ความสามารถ
    3. กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน กรณีที่ยื่นต่างประเทศ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถขอขยายระยะเวลาได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง และต้องมีเหตุผลจำเป็นเท่านั้น จากเดิมที่ไม่กำหนดระยะเวลาการพิจารณาและการตรวจสอบคุณสมบัติ
    4. กำหนดให้คนต่างด้าวที่ขอแปลงสัญชาติเป็นไทย จะต้องมีความรู้ภาษาไทย ต้องพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ โดยต้องผ่านการทดสอบจากคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ หรือ มีหนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ แสดงว่าเป็นผู้การศึกษาเล่าเรียนสถานศึกษาในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษา จากเดิมที่กำหนดให้จะต้องมีความรู้ภาษาไทย พูดภาษาไทย และฟังไทยเข้าใจได้เท่านั้น
    5. กำหนดค่าธรรมเนียม เช่น 1)คำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ครั้งละ 10,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) 2)คำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้แปลงสัญชาติเป็นคนไทย ครั้งละ 5,000 บาท (เดิม 2,500 บาท) 3)หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย ฉบับละ 1,000 บาท (เดิม 500 บาท) 4)คำขอกลับคืนสัญชาติไทย ครั้งละ 2,000 บาท (เดิม 1,000 บาท)

ไฟเขียวงบผูกพัน 1,109 ล้าน สร้างสวนสัตว์ใหม่ปทุมธานี

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบ งบฯผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,109 ล้านบาท ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ บนที่ดินพระราชทานจำนวน 300 ไร่ ในพื้นที่คลองหก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ต่อสำนักงานประมาณต่อไป ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เป็นการดำเนินงานระยะยาวระหว่างปี พ.ศ.2566 – 2570

สวนสัตว์แห่งใหม่นี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ภายใต้แนวคิดจัดทำเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ครบถ้วนในระดับสากล ทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าในและนอกถิ่นอาศัย ระบบภูมินิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งนันทการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย 1) พื้นที่สวนสาธารณะ 2) พื้นที่ส่วนพาณิชย์ 3) พื้นที่ส่วนป้องกันน้ำท่วม 4) พื้นที่ส่วนวิจัย 5) พื้นที่ส่วนจอดรถ และ6) พื้นที่ส่วนจัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชีย โซนออสเตรเลีย โซนอเมริกาใต้ และสวนสัตว์เด็ก

ตั้งบอร์ด กฟน. “ชยาวุธ จันทร” นั่งประธานฯ

ดร.รัชดา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นางปาณิสรา ดวงสอดศรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามนัยมาตรา 14 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

4. เรื่อง ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้ง นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 190,000 บาท ค่าตอบแทนพิเศษประจำปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว

5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (แทนผู้ที่ขอถอนตัว)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้

    1. แต่งตั้งนายอนุสิษฐ คุณากร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ) ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แทนผู้ที่ขอถอนตัว
    2. ให้การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 รวม 9 คน และนายอนุสิษฐ คุณากร ซึ่งได้รับการเสนอแต่งตั้ง (ตามข้อ 1.) รวม 10 คน มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งในครั้งนี้เป็นต้นไป

6. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 คน (นับรวมประธานกรรมการและกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) และแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงแทนประธานกรรมการและกรรมการเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งสามปี ดังนี้

    1. นายชยาวุธ จันทร เป็นประธานกรรมการ
    2. พลอากาศเอก ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)
    3. นายสราวุธ เบญจกุล เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)
    4. ศาสตราจารย์บุญเสริม กิจศิริกุล เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)
    5. นายนิวัติ ลมุนพันธ์ เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ) (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ)
    6. นายเดชบุญ มาประเสริฐ เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ) (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ)
    7. พลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)
    8. พลตรี ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)
    9. พลตำรวจโท สัญชัย สุนทรบุระ เป็นกรรมการ
    10. นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ เป็นกรรมการ
    11. นายบุญยิ่ง เจริญฐิติวงศ์ เป็นกรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ)
    12. นายชูรัฐ เลาหพงศ์ชนะ เป็นกรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ)
    13. นายชัยยงค์ พัวพงศกร เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ) (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ)
    14. นางชลิดา พันธ์กระวี เป็นกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

8. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ด้านจิตวิทยาองค์การ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เสนอแต่งตั้ง นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ด้านจิตวิทยาองค์การ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

9. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง รวมจำนวน 3 ราย ดังนี้

    1. เลื่อน นางสาวอุไร เล็กน้อย รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการเด็กและเยาวชน ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    2. เลื่อน นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    3. เลื่อน นางอภิญญา ชมภูมาศ รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการผู้สูงอายุ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

เห็นชอบแผนใช้จ่ายเงิน กสศ.ปี’66 วงเงิน 7,590 ล้าน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 7,590.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,938.05 ล้านบาท เพื่อกสศ.จะได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เสนอสำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป

สำหรับรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ 2566 ของ กสศ. แบ่งเป็น 9 แผนงานประกอบด้วย นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วงเงิน 372 ล้านบาท, พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย-ภาคบังคับ วงเงิน 4,829.52 ล้านบาท, พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ วงเงิน 270 ล้านบาท, จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ วงเงิน 90 ล้านบาท

พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล วงเงิน 403.13 ล้านบาท, ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกกว่าภาคบังคับ วงเงิน 952.29 ล้านบาท, ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ วงเงิน 350 ล้านบาท, สื่อสารขับเคลื่อนนโยบายและระดมความร่วมมือ วงเงิน 56.32 ล้านบาท และ บริหารและพัฒนาระบบงาน เช่น พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 267.08 ล้านบาท

ขณะที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับประกอบด้วย เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นและเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้น และมีการพัฒนาตามศักยภาพจำนวน 3,017,081 คน/ครั้ง, เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับจำนวน 8,983 คน

เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสมจำนวน 25,000 คน, ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง โดยเป็นครูหรือนักศึกษาครูจำนวน 23,983 คน และโรงเรียน 750 แห่ง รวมทั้งการได้องค์ความรู้ นวัตกรรม และต้นแบบ สำหรับภาครัฐและสังคมใช้เป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ไฟเขียว กทม. ลงทุน 9 เมกะโปรเจกต์ 18,158 ล้าน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชม ครม. อนุมัติโครงการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 18,158 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมอนุมัติให้กรุงเทพมหานครนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ยื่นเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ต่อสำนักงบประมาณต่อไป สำหรับ 9 โครงการของ กทม. ที่ ครม. อนุมัติในครั้งนี้ประกอบด้วย

    1. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครจากแยกสะพานแดง ถึงถนนกำแพงเพชร วงเงิน 1,100 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 550 ล้านบาท
    2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 5 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครจากถนนกำแพงเพชรถึงถนนพหลโยธิน วงเงิน 1,025 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณอย่างละ 512.5 ล้านบาท
    3. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณอย่างละ 3,000 ล้านบาท
    4. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กสมอยึดด้านหลังคลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขต กทม. วงเงิน 1,028.30 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณทั้งหมด
    5. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799.90 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณทั้งหมด
    6. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางนาจากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ 1 จากคลองเคล็ดถึงคลองหลอด 2 วงเงิน 1,081.50 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 540.75 ล้านบาท
    7. โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว วงเงิน 1,700 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 850 ล้านบาท
    8. โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 วงเงิน 2,902 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ อย่างละ 1,451 ล้านบาท และ
    9. โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงิน 1,522 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 761 ล้านบาท

อนุมัติ กบข. เพิ่มสัดส่วนลงทุน ตปท.เป็น 60%

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศจากไม่เกินร้อยละ 40 เป็นไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เฉพาะในส่วนของแผนการลงทุนหลัก เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายในต่างประเทศ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเงินของ กบข. ให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุนและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากจะทำให้สมาชิกมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สมาชิกมีความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น กบข. จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กฎกระทรวงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ใช้ในปัจจุบัน ได้กำหนดขอบเขต ประเภทของหลักทรัพย์ และสัดส่วนในการนำเงินของ กบข. เฉพาะแผนการลงทุนหลัก ซึ่งไม่รวมเงินสำรอง และเงินทุนที่สมาชิกเลือกแผนการลงทุนอื่นที่ไม่ใช่แผนการลงทุนหลัก ไปลงทุนหาประโยชน์ 4 แนวทาง ได้แก่ ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และอาจลงทุนในหลักทรัพย์อื่นไม่เกินร้อยละ 40, ลงทุนในตราสารทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ซึ่งไม่รวมถึงพันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารอย่างอื่นที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่ออกโดยนิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 10 หรือไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้กึ่งทุน เมื่อรวมกันทุกนิติบุคคลแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 35, ลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 40 และ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 12

ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ตั้งแต่ 1 มี.ค. นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย สมัยหนึ่งให้มีกำหนดเวลา 120 วัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด โดยสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ดังนั้นจึงสมควรปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565

กำหนด 24 พ.ค. ของทุกปี เป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562

สำหรับการประกาศให้มีวันป่าชุมชนแห่งชาติ เป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์การจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าชุมชน ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้

ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มุ่งหมายให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน จะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน ซึ่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผืนป่า และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ได้ สอดคล้องกับหลักวิชาการ และเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยในปัจจุบันมีป่าชุมชนจำนวน 11,327 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 13,028 หมู่บ้าน เนื้อที่ 6.29 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศให้ได้จำนวน 15,000 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 10 ล้านไร่

ปรับเงื่อนไข-ขยายเวลาโครงการรักษาระดับจ้างงานอุ้ม SMEs

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขการลงทะเบียนและนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-service)

จากเดิมที่กำหนดว่า นายจ้างที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-service ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยให้มีในผลงวดสมทบให้ สปส. เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลการส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564) โดยปรับปรุงเงื่อนไขเป็น 1. นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีประวัติเคยนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-service ของ สปส. ก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และ 2. นายจ้างที่นำส่งข้อมูลเงินสมทบหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ต้องนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-service ภายในวันที่ 17 มกราคม 2565

ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มนายจ้างเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาที่กำหนดต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังได้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยขยายระยะเวลาดำเนินการจากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็น สิ้นสุดมีนาคม 2565 เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินตามโครงการ

รวมทั้งที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการของหลายโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้ใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม ได้แก่ อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขยายเวลาดำเนินโครงการภายใต้แผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนคนไทย จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสินสุดเดือนพฤษภาคม 2565 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุขระดับกระทรวง และระดับเขตสุขภาพ เป็น SmartEOC และโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นเดือนมีนาคม 2565

และมีมติให้กรมพัฒนาชุมชน ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จากเดิมสิ้นสุดธันวาคม 2564 เป็นเดือนมีนาคม 2565 พร้อมกับปรับลดกิจกรรมย่อยรวม 3 กิจกรรม และลดวงเงินดำเนินการลงรวม 25 ล้านบาท ทำให้วงเงินดำเนินการตามโครงการอยู่ที่ 4,762.91 ล้านบาท จากเดิม 4,787.91 ล้านบาท

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 11 มกราคม 2565เพิ่มเติม

ป้ายคำ :