ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > iSEE เวอร์ชัน 2.0 สแกนชีวิต-ความเป็นอยู่ “นักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน” สภาวะลำบากซ้ำซ้อน (ตอน2)

iSEE เวอร์ชัน 2.0 สแกนชีวิต-ความเป็นอยู่ “นักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน” สภาวะลำบากซ้ำซ้อน (ตอน2)

2 กันยายน 2020


แพลตฟอร์ม “iSEE” เวอร์ชัน 2 ซึ่งจัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดตีแผ่ฐานข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสื่อสารถึงผู้จัดทำนโยบาย เพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาในทุกมิติ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ใช้แพลตฟอร์มนี้รวบรวมข้อมูลในมิติต่างๆมานำเสนอ

เจาะลึก “นักเรียนยากจน” 1.7 ล้านคน เผชิญสภาวะยากลำบากซ้ำซ้อน พบภาระพึ่งพิงปัญหาหลัก ไร้ที่ดินทำกิน-สภาพบ้านทรุดโทรม ซ้ำร้ายน้ำหนัก-ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

ต่อจากตอนที่ 1 เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน เจาะลึกทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง

จากตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศที่ 7.3 ล้านคนในปี 2562 มีกลุ่มด้อยโอกาสถึง 3.6 ล้าน นับว่าเกินครึ่งในระบบการศึกษา และในจำนวนเด็กด้อยโอกาสทั้งหมดมีถึง 3.5 ล้านคน คิดเป็น 99.3% ที่เป็น “นักเรียนยากจน”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พิจารณาเกณฑ์นักเรียนยากจนจำนวน 3,598,125 คน จากปัจจัยฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 1,298.64 บาทต่อครัวเรือนต่อสมาชิก 4 คน

อีกปัจจัยที่ กสศ. นำมาใช้พิจารณาด้วยคือสภาพความเป็นอยู่ในครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ (1) สมาชิกครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง พิการ ผู้สูงอายุ หรือไม่มีรายได้ (2) การอยู่อาศัย (3) สภาพที่อยู่อาศัย (4) ที่ดินทำการเกษตร รวมกรณีเช่า (5) แหล่งน้ำดื่ม/ใช้ (6) แหล่งไฟฟ้าหลัก (7) ยานพาหนะในครัวเรือน และ (8) ของใช้ที่ใช้งานได้ในครัวเรือน โดยข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือนจะถูกนํามาคํานวณด้วยวิธีการทางสถิติแบบวัดรายได้ทางอ้อม แล้วสรุปออกมาเป็นค่าคะแนนความยากจนตั้งแต่ระดับน้อยถึงมากที่สุด

กสศ. ได้เก็บข้อมูลนักเรียนฐานะยากจน 1,726,995 คน จากทั้งหมดกว่า 3.5 ล้านคน แบ่งเป็น เพศหญิง 837,731 คน คิดเป็น 48.5% และเพศชาย 889,264 คน คิดเป็น 51.5 % โดยแบ่งตามระดับชั้น ได้แก่ ก่อนประถมศึกษา 42,570 คน ประถมศึกษา 1,239,214 คน มัธยมต้น 445,037 คน มัธยมปลาย 174 คน

ส่วนจังหวัดที่มีนักเรียนยากจนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา 81,897 คน บุรีรัมย์ 74,116 คน อุบลราชธานี 72,602 คน เชียงใหม่ 70,801 คน ศรีสะเกษ 60,423 คน ขอนแก่น 57,778 คน สุรินทร์ 57,745 คน ร้อยเอ็ด 50,033 คน อุดรธานี 49.039 คน และนครศรีธรรมราช 46,107 คน โดยนักเรียนฐานะยากจนได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ

นักเรียนยากจนกับ “สภาวะยากลำบาก”

กสศ. ศึกษาและพบว่ารายได้ 1,298.64 บาทต่อครัวเรือนต่อสมาชิกสี่คนเป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณจากนักเรียนยากจนทั่วประเทศ ดังนั้นในความเป็นจริงอาจมีนักเรียนที่มีรายได้ต่อครอบครัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1,298.64 บาท และตกอยู่ใน “สภาวะยากลำบาก”

สภาวะยากลำบากประกอบด้วยปัญหา 4 ด้าน คือ มีภาระพึ่งพิง ไม่มียานพาหนะ ไม่มีที่ดินทำกินและสภาพบ้านชำรุด โดยทั้งหมดเป็นปัญหาที่นักเรียนอาจต้องเผชิญมากกว่า 1 ปัญหา กล่าวคือในคนที่มีภาระพึ่งพิงอาจเจอทั้งปัญหาซ้ำซ้อน อย่างไม่มียานพาหนะและไม่มีที่ดินทำกิน

ผลกระทบหลักของนักเรียนยากจนคือมีภาระพึ่งพิงมี 1,275,310 คน โดยปัญหาภาระพึ่งพิงสามารถแบ่งได้เป็น มีภาระพึ่งพิงให้คนอายุ 15–60 ปีที่ว่างงาน 652,952 คน มีภาระพึ่งพิงที่เป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี 595,774 คน เป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว 372,580 คน และภาระพึ่งพิงคนพิการ/เจ็บป่วยเรื้อรัง 128,663 คน

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอย่างน้อย 1,222,762 คนที่ไม่มียานพาหนะใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ถัดมาคือปัญหา ‘ความเป็นอยู่’ เนื่องจากมีนักเรียนที่มีสภาพบ้านชำรุด 850,465 คน ในจำนวนนี้เป็นสภาพบ้านที่ไม่ปลอดภัย 814,709 คน และเป็นบ้านที่ไม่มีห้องส้วมในที่อยู่อาศัยและบริเวณบ้าน 93,101 คน

ขณะที่แหล่งรายได้ของครัวเรือนในพื้นที่ชนบทอาจจะเป็นการ ‘รับจ้าง’ และ ‘เกษตรกร’ เป็นหลัก ทว่าในความเป็นจริงมีนักเรียนอย่างน้อย 893,212 คนที่ครัวเรือนไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องประกอบอาชีพรับจ้างและไม่มีแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้มีครัวเรือนที่มีที่ดินทำกิน 1 ไร่เพียง 459,002 คน และมีที่ดินทำกินตั้งแต่ 1–5 ไร่ จำนวน 36,422 คน

ผลกระทบด้านสาธารณูปโภค

สภาวะยากลำบากของนักเรียนยากจนยังสะท้อนออกมาผ่าน “สาธารณูปโภค” โดยเฉพาะแหล่งไฟฟ้าและแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต

กสศ. คัดกรองนักเรียนจำนวน 1,652,730 คน พบว่าแต่ละครัวเรือนจะมีแหล่งไฟฟ้าสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น ใช้เครื่องปั่นไฟ ใช้ไฟต่อพ่วง ใช้ไฟมิเตอร์และอื่นๆ ขณะเดียวกันบางครัวเรือนก็ไม่มีไฟฟ้าและไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน

จากสถิติการใช้แหล่งไฟฟ้าของนักเรียนฐานะยากจนจะเห็นได้ว่า มีกลุ่มที่เข้าถึงมิเตอร์ไฟฟ้าและแหล่งกำเนิดไฟฟ้าเพียง 4.7 แสนคน คิดเป็น 28.55% ถัดมาเป็นใช้ไฟต่อพ่วง 6.05% ไม่มีไฟฟ้าหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 1.20% และใช้เครื่องปั่นไฟ 0.24%

ทั้งนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่นักเรียนเข้าถึงมากที่สุดคือโทรทัศน์ 27.85% ตู้เย็น 16.53% เครื่องซักผ้า 3.05% เครื่องปรับอากาศ 0.03% และน้อยที่สุดคือคอมพิวเตอร์ 0.05%

ส่วนแหล่งน้ำที่ใช้ในแต่ละครัวเรือนมีที่มาของแหล่งน้ำที่แตกต่างกันไป โดยพบว่าแหล่งน้ำที่นักเรียนยากจนเข้าถึงมากที่สุดยังคงเป็นน้ำประปา 20.69% ตามมาด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำบ่อ/น้ำฝน/น้ำประปาภูเขา/แม่น้ำลำธาร 11.07% น้ำบาดาล 3.05% และแหล่งน้ำอื่นๆ 0.9%

ปัญหาขาดเรียน-น้ำหนัก-ส่วนสูง มากกว่านักเรียนปกติ

ปัญหาของนักเรียนยากจนทั้งทางสภาพแวดล้อมในบริบทเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มีโอกาสขาดเรียนมากกว่านักเรียนทั่วไป เนื่องจากปัญหาหลายๆ อย่างรวมเข้าด้วยกัน ทำให้อัตราการขาดเรียนต่อเทอมของนักเรียนยากจนอยู่ที่ 1.02% สูงกว่านักเรียนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 0.55%

นอกจากผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่และสาธารณูปโภคแล้ว กสศ. ได้ติดตามน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียนยากจน เพื่อประเมินเกณฑ์ชี้วัดภาวะโภชนาการ

เมื่อนำนักเรียนยากจนมาเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ยากจน พบว่าตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์” จากนักเรียนยากจนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 38,618 คน คิดเป็นสัดส่วน 2.24% ของนักเรียนยากจน ขณะที่นักเรียนไม่ยากจนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มีสัดส่วนน้อยกว่าคืออยู่ที่ 1.82% หรือ 102,400 คน เช่นเดียวกับส่วนสูงที่พบว่านักเรียนยากจนมี “ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์” มากกว่านักเรียนไม่ยากจน จากตัวเลขของนักเรียนยากจนที่ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 1.68% หรือ 28,936 คน ขณะที่สัดส่วนของนักเรียนไม่ยากจนอยู่ที่ 1.40% หรือ 79,044 คน

ตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือค่า BMI (น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง) ที่สะท้อนว่านักเรียนยากจนยังคงมีค่าเฉลี่ย BMI ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่านักเรียนที่ไม่ยากจน โดยนักเรียนยากจนที่มีค่า BMI ต่ำกว่าเกณฑ์มีถึง 6.10% หรือ 105,333 คน ส่วนนักเรียนไม่ยากจนอยู่ที่ 5.77% หรือ 324,832 คน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามีผลกระทบมากกว่าแค่การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นผลกระทบลูกโซ่ไปถึงชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนถึงปัญหาของปัจเจกบุคคลอย่างน้ำหนัก-ส่วนสูง ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาที่ผู้จัดทำนโยบายและภาครัฐต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน