ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ.ชี้ Covid Slide ‘ปิดโรงเรียน’ พัฒนาการถดถอย-เหลื่อมล้ำยิ่งถ่างต้องเลี้ยงปากท้องให้รอด

กสศ.ชี้ Covid Slide ‘ปิดโรงเรียน’ พัฒนาการถดถอย-เหลื่อมล้ำยิ่งถ่างต้องเลี้ยงปากท้องให้รอด

28 มกราคม 2021


กสศ. เปิดข้อมูลนักเรียนได้รับผลกระทบมาตรการ ‘ปิดโรงเรียน’ พบนักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้ม 28 จังหวัด จำนวน 143,507 ราย จากสาเหตุต้องหาเลี้ยงครอบครัว เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี พร้อมเปิดตัว “Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21” เสริมการเรียนรู้ให้เด็กที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงผลการศึกษาปรากฏการณ์ Covid Slide ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดลงในหลายประเทศ หรือที่เรียกว่า “Summer Slide” ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่ามีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 1.2 พันล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ดร.ภูมิศรัณย์ ยกงานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่านักเรียนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% รวมถึงการอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่ไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอย ขาดประสบการณ์เข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่างๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัย

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก Covid Slide แต่กสศ.ได้ประเมินผลกระทบที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยพบ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

  • ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา
  • ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ

“ผมอนุมานได้ว่าในประเทศไทย เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กะเหรี่ยงหรือแถวชายแดนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักน่าจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกันที่พัฒนาการทางภาษาไทยมีผลกระทบจากการเรียนระยะไกล ไม่ได้มีโอกาสเจอครูจริงๆ” ดร.ภูมิศรัณย์กล่าว

นักเรียนเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาจาก ‘ปิดโรงเรียน’

ศ.ดร.สมพงศ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดโรงเรียน 3,000 – 5,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษา และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการช่วยเหลือของกสศ.ในสถานการณ์ปกติ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น เช่น สัดส่วนน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลง อัตราขาดเรียนลดลง แต่หลังจากโควิด-19 ระลอกใหม่ สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลงทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลของกสศ.พบว่า นักเรียนจำนวน 40% ของทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1/2563 และ 2/2563 และพบว่ามีเด็กยากจนพิเศษในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด มีจำนวน 143,507 ราย

ทั้งนี้ พื้นที่สีแดงเข้ม 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด และพื้นที่สีแดง 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรีและอ่างทอง

สาเหตุที่ทำให้เด็กยากจนพิเศษในพื้นที่สีแดง-แดงเข้ม ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมากขึ้นคือนักเรียนบางส่วนต้องออกไปทำงานหารายได้ บางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี

“โควิดทำให้เด็กบางกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมีปัญหามากขึ้น เราควรจะพลิกวิกฤติมาเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ดร.ไกรยสกล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ไกรยส วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในแต่ละกลุ่ม จากการเก็บข้อมูลของครูที่อาศัยในพื้นที่สีแดง เครือข่ายครูผู้ดูแลเด็ก และเอ็นจีโอ ดังนี้

  • เด็กและเยาวชนยากจนในเขตเมือง เกือบครึ่งต้องออกมาทำงานหาเงิน เช่น ชุมชนรถไฟ เด็กออกมาเก็บขยะขาย ผู้ปกครองตกงาน ฯลฯ รวมถึงมองว่า “เรื่องเรียนไว้ก่อน” เนื่องจากต้องการความอยู่รอดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
  • เด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่สีแดง ประสบปีญหาขาดอุปกรณ์ป้องกัน อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ บางพื้นที่ยังห้ามคนภายนอกเข้าชุมชนจนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงชุมชนของครู ดังนั้นกลไกอาสาสมัครในชุมชนจึงมีความสำคัญในการเชื่อมการเรียนรู้ต่างๆ
  • เด็กเยาวชนแรงงานต่างด้าว ตัวอย่างลูกแรงงานเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร ทางเครือข่ายแผนงานประชากรกลุ่มเฉพาะ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเมินว่าในสมุทรสาครมีลูกแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 10,000 คน ส่วนกลุ่มเด็กปฐมวัย แม่จะออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกในช่วงโควิด ทำให้ขาดรายได้ ตลอดจนการขาดสื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้
  • กลุ่มเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่การแพร่ระบาดสูง ซึ่งในกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากโรงเรียนยังจัดการเรียนการสอนตามปกติ

“มาตรการที่ควรตั้งรับคือ 1. เมื่อเปิดการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่ 2. การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอยก่อนการเลื่อนชั้น 3. การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ”

ส่ง Black Box บรรเทาปัญหาการศึกษา

นางอรอุมา แจ่มเจ็ดริ้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ผู้ปกครองหลายคนไม่สะดวกที่จะให้บุตรหลานเรียนผ่านออนไลน์ เพราะไม่ชำนาญเรื่องการใช้ระบบ ขาดแคลนอุปกรณ์ มีบุตรหลายคนไม่สามารถเรียนพร้อมกันได้ ข้อจำกัดของโรงเรียนในเวลานี้คือสื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนต้องการมากที่สุด เพราะโรงเรียนต้องปรับการสอนและใช้ทรัพยากรมากในเรื่องของการพิมพ์เอกสารใบงานประกอบการเรียน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สะดวกและไม่พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี

จากมาตรการปิดโรงเรียนที่ทำให้เด็กบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ทางกสศ.ร่วมมือกับ สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม และภาคเอกชน พัฒนา “Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21″ ให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีเทคโนโลยีในการเรียน

รศ.ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า Black Box ช่วยให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราว โดยชุดการเรียนรู้ในกล่องดำออกแบบเป็นบทเรียน ‘ออฟไลน์’ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

รศ.ดร. ธันยวิช กล่าวต่อว่า จุดเด่นของกล่องดำอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา

ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่ใน Black Box เช่น กล้องจุลทรรศน์ กระดาษ กาว ไหมพรม แว่นขยาย สก็อตเทป ไม้ไอติม สื่อการเรียนรู้จำนวน 3 วิชา ฯลฯ

โดยกสศ.ร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) ในการขนส่ง Black Box รอบที่หนึ่งจำนวนกว่า 100 กล่อง และรอบที่ 2 อีกมากกว่า 500 กล่อง ให้กับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มและกลุ่มยากจนพิเศษ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี อยุธยา เพชรบุรี และกาญจนบุรี

นอกจากนี้ยังมอบถุงยังชีพ “สู้วิกฤติให้น้องอิ่ม” จำนวน 15,000 ถุง ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์โควิดในระยะเวลา 15 วัน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า สำหรับเด็กเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา 28 จังหวัด ขณะที่บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุน “Memberry (เมมเบอร์รี่)” ผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากเบอร์รี่ จำนวน 75,000 กล่อง และบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียล koko krunch duo จำนวน 400 ลัง