ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เด็กไทยไร้ข้อมูลในระบบการศึกษา 1.1 ล้านคน ฐานะยากจน-พิษเศรษฐกิจตัดโอกาสเรียนหนังสือ (ตอน3)

เด็กไทยไร้ข้อมูลในระบบการศึกษา 1.1 ล้านคน ฐานะยากจน-พิษเศรษฐกิจตัดโอกาสเรียนหนังสือ (ตอน3)

3 ตุลาคม 2020


สถานการณ์ “เด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา” กว่า 1.1 ล้านคนกระจายทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งมีเด็กไร้ข้อมูลถึง 34% หรือมากกว่า 3 แสนราย เช่นเดียวกับหลายๆ หัวเมืองใหญ่ที่มีเด็กถึงหลักหมื่น โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาสถานะทางเศรษฐกิจและครอบครัว

ฐานข้อมูลของ iSEE 2.0 ซึ่งจัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานปัญหานักเรียนไทยที่ไร้ข้อมูลในระบบการศึกษา พบว่า จากภาพรวมเด็กนักเรียนทั่วประเทศกว่า 7.3 ล้านคน ในจำนวนนี้อาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3.6 ล้านคน (50%) เป็นเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเด็กฐานะยากจน เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือเด็กพิการ อีก 35% เป็นเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษา และอีก 15% หรือ 1.1 ล้านคนเป็นเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาไทย

สาเหตุที่การศึกษาไทยเหลื่อมล้ำสูงเพราะมีเด็กอย่างน้อย 65% (ลบเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาออก) หรือประมาณ 4.7 ล้านคนซึ่งไม่ได้โอกาสที่เท่าเทียมกับเด็กอีก 35%

เมื่อเจาะตัวเลขเด็กกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับโอกาส จะพบว่ากลุ่มที่ลำบากซ้ำซ้อนคือกลุ่มเด็กนักเรียน 1.1 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา และอาจหมายความว่าเด็กบางคนไม่อาจ ‘เข้าถึง’ ระบบการศึกษาได้เช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข้อมูลไปแล้ว 2 ตอน

ตอนที่ 1 เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน เจาะลึกทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง

ตอนที่ 2 iSEE เวอร์ชัน 2.0 สแกนชีวิต-ความเป็นอยู่ “นักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน” สภาวะลำบากซ้ำซ้อน (ตอน 2)

จำนวนเด็กไม่มีข้อมูล กรุงเทพฯ หลักแสน หัวเมืองใหญ่หลักหมื่น

ปี 2562 มีเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาทั้งสิ้น 1,189,846 คน แบ่งตามภูมิภาคได้เป็นภาคเหนือ 7% ภาคกลาง 43% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23% ภาคตะวันออก 7% ภาคตะวันตก 5% และภาคใต้ 15%

กรุงเทพฯ นับเป็นพื้นที่ที่มีเด็กไม่มีข้อมูลในระบบมากที่สุดที่ 306,273 คน ตามด้วยชลบุรี 37,455 คน นครราชสีมา 35,897 คน เชียงใหม่ 33,275 คน สมุทรปราการ 29,341 คน สงขลา 29,191 คน ขอนแก่น 27,221 คน อุบลราชธานี 27,068 คน นนทบุรี 25,945 คน และนครศรีธรรมราช 24,279 คน และเมื่อนำจำนวนเด็กของ 10 พื้นที่แรกมารวมกันจะได้ 575,945 คน คิดเป็น 48% ของจำนวนเด็กไม่มีข้อมูลทั้งหมดกว่า 1.1 ล้านคน

สังเกตได้ว่าหัวเมืองใหญ่เป็นพื้นที่ที่เด็กไม่มีข้อมูลกระจุกตัวกันมากที่สุด

ขณะเดียวกัน จังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ที่แม้ว่าจะไม่ได้ติดทอป 10 ของจังหวัดที่มีเด็กไม่มีข้อมูลมากที่สุด แต่ก็พบว่าจังหวัดใหญ่ๆ ก็มีเด็กถึง ‘หลักหมื่น’ เช่น อุดรธานี 21,544 คน สุราษฎ์ธานี 18,726 คน หรือนครสวรรค์ 13,101 คน

ปัญหาเศรษฐกิจ

จากการสำรวจของ กสศ. พบว่าสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เด็กไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาคือ “เศรษฐกิจ” ซึ่งทำให้เด็กไม่มีโอกาส ‘เข้าถึง’ การศึกษาได้

3 ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาคือ สมาชิกครัวเรือน (ภาระพึ่งพิง) รายได้ผู้ปกครอง (รวมถึงอาชีพ) และหนี้สิน

สมาชิกครัวเรือนแบ่งออกเป็น อาศัยอยู่คนเดียว 1.5% (เด็กตัวคนเดียว) อาศัยอยู่สองคน 6.7% อยู่สามคน 16.6% อยู่สี่คน 29.8% อยู่ห้าคน 22.7% และมากกว่าห้าคน 22.7%

ที่สำคัญคือรายได้ของผู้ปกครอง โดย กสศ. พบว่าไม่มีครัวเรือนใดเลยที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 0% ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน 48% ไม่มีรายได้เลย 2.6% รายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท 11.0% รายได้ 3,001-10,000 บาท 27.1% และรายได้ 10,001-20,000 บาท 11.3% และผู้ปกครองส่วนใหญ่ถึง 38% มีอาชีพเป็นเกษตรกร

เมื่อรายได้น้อยย่อมส่งผลกระทบเป็นปัญหาลูกโซ่คือ ‘หนี้’ ทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ โดยข้อมูลจากการสำรวจของ กสศ. พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบตั้งแต่ 10,001-100,000 บาท จำนวน 7,046 คน ขณะเดียวกันเมื่อรวมจำนวนผู้ปกครองที่หนี้ในระบบทั้งหมดจะมีจำนวน 11,892 คน และหนี้นอกระบบรวม 4,579 คน

นอกจากนี้ มีคนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 8,539 คน

ปัญหาสังคม

กสศ. ยังได้สำรวจประเด็นปัญหาสังคมของแต่ละครัวเรือน พบว่ามีเด็กนักเรียน 9,604 คนที่มีปัญหาภายในครอบครัว เช่น ผู้ปกครองดื่มเหล้าเบียร์, สูบบุหรี่, บางคนเป็นเด็กกำพร้า รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรมอีก 5,969 คน และปัญหาด้านสุขภาพอีก 1,111 คน

ส่วนความต้องการความช่วยเหลือของนักเรียน 10 อันดับแรกตามลำดับ ได้แก่ ทุนการศึกษา เงินค่าใช้จ่ายในการครองชีพ อุปกรณ์การศึกษา อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปโรงเรียน หอพัก/โรงเรียนประจำ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน ความปลอดภัยในโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน คนดูแลภาระพึ่งพิงภายในบ้าน และโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับเด็กพิการ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภาระพึ่งพิงยังคงเป็นผลกระทบหลักของเด็ก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าเด็กกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวน 1.1 ล้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์ม iSEE โดย กสศ. เพื่อให้ผู้จัดทำนโยบายมองเห็นสภาพปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา