ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน เจาะลึกทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง

เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน เจาะลึกทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง

10 สิงหาคม 2020


เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน ทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง พบเกือบ 4 ล้านคน “ด้อยโอกาส-พิการ” เกินครึ่งในระบบการศึกษา อีก 4.5 พันคน “ตกสำรวจ” ไร้โรงเรียนในพื้นที่พักอาศัย

เปิดฐานข้อมูล “สถานการณ์การศึกษาไทย” ปีการศึกษา 2562 นักเรียนไทย 7.3 ล้านราย เกินครึ่งเข้าเกณฑ์กลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส-พิการ รายได้กลุ่มนักเรียนยากจนเฉลี่ย 1,268 บาทต่อครัวเรือน พบนักเรียนอีก 4.5 พันรายไม่มีโรงเรียนในตำบลที่พักอาศัย

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่การเข้าถึงสถานศึกษา คุณภาพของสถานศึกษา พื้นที่โรงเรียน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียน ตลอดจนความพร้อมในการเข้าศึกษาในโรงเรียนของครัวเรือนต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องกางความจริงให้ปรากฏ เพื่อแก้ไขที่ตรงเป้าหมายและทันเวลา

นี่เป็นที่มาของแพลตฟอร์ม “iSEE” เวอร์ชัน 2 ซึ่งจัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเปิดตัวในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดตีแผ่ฐานข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสื่อสารถึงผู้จัดทำนโยบาย เพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาในทุกมิติ

สำนักข่าวไทยพับลิก้ารวบรวมข้อมูลจาก iSEE ในประเด็นความเหลื่อมล้ำของนักเรียนกลุ่มเปราะบางในระบบการศึกษาไทยในปี 2562 เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์จริง และความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเชิงสถิติเป็นการเก็บรวบรวมจากเครือข่ายภาคีของ กสศ. ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเครือข่ายคุณครูตามพื้นที่ต่างๆ

นักเรียนไทย 7.3 ล้านคน กว่า 3 หมื่นโรงเรียน

จำนวนนักเรียนทั้งหมดที่ศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปีการศึกษา 2559–2562 ในโรงเรียนทุกสังกัด ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยมต้นและมัธยมปลาย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เว้นแต่ปี 2561 ที่ตัวเลขจำนวนนักเรียนลดลงจากปี 2560 ประมาณ 70,000 คน

ในปี 2559 มีนักเรียนทั้งสิ้น 6,817,361 คน, ปี 2560 มีนักเรียน 6,805,134 คน, ปี 2561 มีนักเรียน 6,735,124 คน และปี 2562 มีจำนวน 7,357,814 คน แบ่งเป็นเพศชาย 3,705,906 คน และเพศหญิง 3,651,908 คน

จากนักเรียนกว่า 7.3 ล้านคนในปี 2562 สามารถแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น ระดับอนุบาล 1,074,724 คน คิดเป็น 14.6% ประถมศึกษา 3,411,749 คิดเป็น 46.3% มัธยมต้น 1,856,763 คน คิดเป็น 25.2% และมัธยมปลาย 1,014,578 คน 14%

ในด้านพื้นที่แบ่งออกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,688,210 คน คิดเป็น 36.5% ภาคกลาง 2,229,199 คน คิดเป็น 30.3% ภาคเหนือ 1,306,578 คน คิดเป็น 18% และ ภาคใต้ 1,133,827 คน คิดเป็น 15.4% โดยภูมิภาคที่มีโรงเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา 1,443 แห่ง, จังหวัดอุบลราชธานี 1,193 แห่ง จังหวัดขอนแก่น 1,146 แห่ง ทั้ง 3 จังหวัดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีจำนวนโรงเรียนสูงสุดคือมากกว่า 1,081 แห่ง

ถัดมาเป็นจังหวัดที่มีจำนวนโรงเรียนตั้งแต่ 721–1,080 แห่งทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครศรีธรรมราช ส่วนจังหวัดที่มีโรงเรียน 361–720 แห่งมีทั้งสิ้น 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร เลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส

สุดท้ายจังหวัดที่มีโรงเรียนน้อยกว่า 360 แห่งมีทั้งสิ้น 46 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ ลำพูน ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร อุทัยธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา และปัตตานี

เมื่อรวมจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศจะมีจำนวน 31,766 แห่ง โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองมักจะมีโรงเรียนในสัดส่วนที่สูงกว่าจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดเชียงใหม่ มีโรงเรียน 807 แห่ง คิดเป็น 12% ของโรงเรียนในภาคเหนือ จังหวัดนครราชสีมามีโรงเรียน 1,443 แห่ง คิดเป็น 10% ของโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีโรงเรียน 788 แห่ง คิดเป็น 18% ของโรงเรียนในภาคใต้ ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนโรงเรียนเยอะสุดในภาคกลางคือกาญจนบุรี 466 แห่ง คิดเป็น 7% ของโรงเรียนในภาคกลาง ส่วนกรุงเทพฯ มีโรงเรียนทั้งหมด 167 แห่ง คิดเป็น 3% ของโรงเรียนในภาคกลาง และคิดเป็น 0.5% ของจำนวนโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ

นักเรียนเกือบ 5 พันคน ไร้โรงเรียนในตำบล

อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนอีก 4,580 คน คิดเป็น 0.06% ของนักเรียนทั้งหมดที่พักอาศัยในพื้นที่ (ตำบล) ที่ไม่มีโรงเรียน ขณะที่ตำบลที่ไม่มีโรงเรียนในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 78 ตำบล คิดเป็น 1.08% ของตำบลทั้งหมด 7,255 ตำบล

ตำบลที่ไม่มีโรงเรียน แต่ยังคงมีนักเรียน 10 ตำบล ได้แก่ (1) ตำบลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ 631 คน (2) ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ 583 คน (3) ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 407 คน (4) ตำบลจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช 267 คน (5) ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 241 คน (6) ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ 238 คน (7) ตำบลเมืองหมี อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 151 คน (8) ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 96 คน (9) ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร 90 คน และ (10) ตำบลกกแก้วบูรพา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 82 คน

ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ที่ไม่มีโรงเรียนและไม่มีนักเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่เลย เช่น ตำบลหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา ตำบลวังหงษ์ จังหวัดแพร่ ตำบลท่าแฝก จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลเทพา จังหวัดสงขลา ฯลฯ

กลุ่มด้อยโอกาส-พิการ เกือบ 4 ล้านคน เกินครึ่งในระบบการศึกษา

กสศ. จำแนกข้อมูลนักเรียนกลุ่ม “เปราะบาง” ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเด็กพิการ โดยได้จัดแสดงรายละเอียดของทั้งกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มพิการ เพื่อให้ผู้จัดทำนโยบายมองเห็นปัญหาที่แตกต่างกันของเด็กนักเรียนแต่ละกลุ่มและเพื่อให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด

ตัวเลขภาพรวมเด็กด้อยโอกาสทั้งประเทศมีจำนวน 3,625,048 คน แต่สัดส่วนกลุ่มที่มากที่สุดถึง 99.26% คือ “เด็กยากจน” ซึ่งมีจำนวนถึง 3,598,125 คน และในปี 2562 กลุ่มเด็กยากจนมีรายได้เฉลี่ย 1,368.97 บาทต่อครัวเรือนต่อสมาชิก 4 คนในครอบครัว โดยปัญหารองจากฐานะทางเศรษฐกิจ 4 อันดับ ได้แก่ ภาระพึ่งพิง ไม่มียานพาหนะ ไม่มีที่ดินทำกินและสภาพบ้านชำรุด

ทั้งนี้ กสศ. ยังได้จัดข้อมูล “กลุ่มยากจนพิเศษ” เพื่อออกแบบมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มยากจนพิเศษเป็นกลุ่มที่มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดย กสศ. จะพิจารณาจากเกณฑ์สถานะครัวเรือน 8 ข้อ คือ (1) สมาชิกครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง พิการ ผู้สูงอายุ หรือไม่มีรายได้ (2) การอยู่อาศัย (3) สภาพที่อยู่อาศัย (4) ที่ดินทำการเกษตร รวมกรณีเช่า (5) แหล่งน้ำดื่ม/ใช้ (6) แหล่งไฟฟ้าหลัก (7) ยานพาหนะในครัวเรือน และ (8) ของใช้ที่ใช้งานได้ในครัวเรือน โดยข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือนจะถูกนํามาคํานวณด้วยวิธีการทางสถิติแบบวัดรายได้ทางอ้อม แล้วสรุปออกมาเป็นค่าคะแนนความยากจนตั้งแต่ระดับน้อยถึงมากที่สุด

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กำพร้า 15,173 คน คิดเป็น 0.42% ชนกลุ่มน้อย 5,519 คน คิดเป็น 0.15% กลุ่มทำงานรับผิดชอบตนเองและครอบครัว 2,913 คน คิดเป็น 0.08% เด็กถูกทอดทิ้ง 1,625 คน คิดเป็น 0.04% และอื่นๆ ได้แก่ เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ 604 คน เด็กเร่ร่อน 264 คน เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน 256 คน เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด 235 คน เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเยาวชน 172 คน เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ 150 คน และเด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศ 12 คน

ในกลุ่มเปราะบางยังมีกลุ่มพิการทั้งหมด 246,651 คน แบ่งออกเป็น บกพร่องทางการเรียนรู้ 207,032 คน คิดเป็น 83.94% บกพร่องทางสติปัญญา 15,310 คน คิดเป็น 6.21% บกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ 5,762 คน คิดเป็น 2.34% ความพิการซ้อน 5,744 คน คิดเป็น 2.33% บกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ 4,070 คน คิดเป็น 1.65% ออทิสติก 3,933 คน คิดเป็น 1.59% บกพร่องทางการพูดและภาษา 2,096 คน คิดเป็น 0.85% บกพร่องทางการมองเห็น 1,712 คน คิดเป็น 0.69% และบกพร่องทางการได้ยิน 992 คน คิดเป็น 0.40%

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่านักเรียนกลุ่ม “ด้อยโอกาส” และ “พิการ” รวมกันเกือบ 4 ล้านราย ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขนักเรียนทั้งหมดในระบบการศึกษา สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาผ่านฐานะ–รายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนในพื้นที่ชนบทที่จะมีกลุ่มเปราะบางมากกว่าพื้นที่ในเมือง โดยเปรียบเทียบกับกรณีของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเด็กยากจน 40,268 คน หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนเด็กด้อยโอกาสทั้งหมด ขณะที่อีกอย่างน้อย 27 จังหวัดกลับมีจำนวนเด็กยากจนมากกว่าในกรุงเทพฯ ยิ่งกว่านั้นบางจังหวัดมีจำนวนเด็กยากจนทะลุ 1 แสนคน เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ

ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ของผู้จัดทำนโยบาย-ภาครัฐ รวมถึง กสศ. เองที่ต้องออกแบบและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้ได้มากที่สุด