ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “7 Game Changer” กับเหตุผล ทำไม ‘การศึกษา’ กับ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เรื่องเดียวกัน

“7 Game Changer” กับเหตุผล ทำไม ‘การศึกษา’ กับ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เรื่องเดียวกัน

8 มีนาคม 2022


เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ

กสศ. ชูแนวคิด All for Education สร้างระบบการศึกษาที่เสมอภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อม ‘7 Game Changer’ เปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในหัวข้อ “การศึกษากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่าประเด็น ‘การศึกษาที่มีคุณภาพ’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีทุกหน่วยงานซึ่งไม่ใช่แค่หน่วยงานด้านการศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการศึกษาที่มีคุณภาพได้จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนในเวลาต่อมา หรือแม้แต่การศึกษาที่ไปสร้างระบบสุขภาพที่ดี รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ และประเด็นอื่น ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มีคุณภาพ

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ส่งผลต่อ ‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่

ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 8 เรื่องงานที่มีคุณค่าและเศรษฐกิจที่เติบโต เพราะโควิด-19 ทำให้เกิดการสูญเสียงานประจำตำแหน่งไป 255 ล้านตำแหน่งทั่วโลก และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 16 เรื่องสันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง เนื่องจากจำนวนแรงงานเด็กเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษกว่า 160 ล้านคนในปี 2020

ด้านการศึกษา จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4 เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ พบว่าในปี 2020 เด็กอายุ 7-14 ปีทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 8% มีปัญหาการอ่านหนังสือในระดับต่ำ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 เรื่องหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพราะโควิด-19 ทำให้ประชากร 3.7 พันล้านคนทั่วโลก หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

ด้านสุขภาวะ จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 2 เรื่องขจัดความหิวโหย พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก มีภาวะแคระแกร็น 22% ภาวะผอมแห้ง 6.7% และภาวะน้ำหนักเกินอีก 5.7% ส่วนผลกระทบด้านสุขภาวะถัดมากระทบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 3 เรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เพราะโควิด-19 ทำให้ความก้าวหน้าด้านสุขภาพทั่วโลกหยุดชะงักหรือถดถอย รวมทั้งทำให้อายุขัยคาดการณ์เฉลี่ยของประชากรสั้นลง

“ในประเทศไทย กสศ.ได้เฝ้าระวังตัวเลขร่วมกับศบค. พบว่ามีเด็กและเยาวชนอายุ 0 ถึง 18 ปีติดโควิดเฉลี่ยวันละ 2,000 กว่าคน แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้หายจากโควิดแล้วก็จะมีภาวะ Long-Covid ที่เกี่ยวกับระบบประสาท ทางเดินหายใจ ระบบร่างกายต่าง ๆ ดังนั้นผลกระทบจากโควิด-19 เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาในระยะยาว”

ดร.ไกรยส ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564-2565 มีนักเรียนมากกว่า 1,900,000 คนในประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีความยากจนที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 430,000 คน เด็กพิการมากกว่า 240,000 คน โดยมีเด็กยากจนเพียง 5% ที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง ภาระพึ่งพิงในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนทำให้มีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 300,000 คน และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้หรือ Learning Loss เป็นผลกระทบสำคัญจากโควิด-19

“ตั้งแต่มีการก่อตั้งกสศ.เมื่อปี 2561 ตัวเลขแนวโน้มของรายได้ครัวเรือนรายได้น้อยที่มีเด็กอยู่ในระบบการศึกษาลดลงต่อเนื่อง สภาพัฒน์ฯ มีเส้นความยากจนที่ 2,700 บาทโดยเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน แต่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนที่มีเด็กในการศึกษา 1.1 ล้านคน มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนกว่าครึ่งหนึ่ง เราจึงเรียกเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ว่า ‘นักเรียนยากจนพิเศษ’ เด็กที่เคยศึกษาในเทอม 2/2563 เมื่อเปิดเทอม 1/2564 ไม่มีตัวตนในระบบการศึกษา”

“เด็กที่เรียนจบม.3 ถ้าจะไปเรียนต่อม.4 ถือว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายมากสำหรับครัวเรือน เพราะโรงเรียนมัธยมปลายหรือ ปวช. ปวส. อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาก อย่างน้อย 5 ถึง 10 กิโลเมตร ฉะนั้นเขาจะมีค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นเด็กม.3”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองจากเด็กม.3 คือกลุ่มป.6 เนื่องจากโรงเรียนในประเทศไทยหลายพื้นที่เปิดชั้นการศึกษาถึงป.6 เท่านั้น ทำให้เด็กป.6 ก็ต้องสูญเสียโอกาสในการศึกษาต่อระดับชั้นมัธยม

ดร.ไกรยส กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส โดยกสศ.เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,585 คนผ่านโทรศัพท์ พบว่าสาเหตุสำคัญคือปัญหารายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องสูงถึง 87.81% และภาระทางเศรษฐกิจ 38.33% และปัญหาการถูกเลิกจ้าง 15.24% และผู้ปกครองถูกพักงานอีก 11.87% ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือต้องพุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ อาหารเช้า-กลางวัน และค่าเดินทาง

“ทำไมเรามีงบเรียนฟรี 15 ปีแล้วยังไม่ครอบคลุมปัญหาเหล่านี้ เพราะค่าครองชีพ อาหาร ค่าเดินทาง เขาจะได้เมื่อเขาเดินทางไปถึงโรงเรียนสำเร็จ ถ้าเขายังออกจากบ้านไม่ได้ หรือเดินทางไม่ถึงโรงเรียน อาหารก็จะไม่ได้ทาน ค่าเดินทางก็ไม่ได้รับ อุปกรณ์เสื้อผ้าตำราเรียนก็ไม่ได้รับ”

ขณะเดียวกัน กสศ.ยังสำรวจความพร้อมในการเรียนออนไลน์พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ต่อเนื่อง ไม่มีอุปกรณ์รองรับ ไม่มีผู้ให้คำปรึกษาในการเรียน โดยสาเหตุหลักมาจากการไม่มีรายได้ในการเติมเงินอินเทอร์เน็ตเดือนละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยการเติมเงินอินเทอร์เน็ตของคนกลุ่มนี้

ดังนั้น การแก้ปัญหาการศึกษาจึงต้องใช้แนวคิด ‘7 Game Changer’ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้

(1) การพัฒนาครูและสถานศึกษา โดยสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี องค์ความรู้และทรัพยากรที่จำเป็น

(2) ระบบข้อมูลและสารสนเทศ โดยเฉพาะระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้

(3) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

(4) นวัตกรรมการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ

(5) การจัดการการศึกษาตามระบบพื้นที่ (Area-Based Education) สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นตัวอย่างการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดช่วงชีวิตตามบริบทพื้นที่

(6) ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง และความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น

(7) แนวคิด All for Education หมายถึงการศึกษาเป็นกิจของทุกคน โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกภาคการศึกษาซึ่งต้องร่วมมือกันเพื่อให้การศึกษาที่เสมอภาคเกิดขึ้นได้

ส่วนการแก้ปัญหาการศึกษาระดับประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียม ร่วมกับ 11 หน่วยงาน จัดทำแอปพลิเคชั่น “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นระบบที่ถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลในการติดตามช่วยเหลือพาเด็กที่หลุดจากระบบให้กลับเข้ามาในระบบ

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมีเมืองที่พัฒนาเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

ดร.ไกรยส กล่าวเสริมว่า กสศ.ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลชื่อ iSEE เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยฐานข้อมูลครอบคลุมประชากรและเยาวชนวัยเรียนมากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กสศ.ยังพัฒนาบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) เพื่อรวบรวมข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยจากทุกแหล่งที่มา ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายของภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคครัวเรือน ภาคเอกชนและภาคต่างประเทศ ครอบคลุมรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551-2561 โดยสามารถวิเคราะห์ความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายทรัพยากรด้านการศึกษาของแต่ละจังหวัด เชื่อมโยงกับคุณภาพด้านการศึกษาและเศรษฐกิจรายพื้นที่

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า กสศ.ยังได้ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จากแนวคิดของแสนสิริที่ต้องการแก้ไขปัญหาเด็กที่หลุดจากระบบ และต้องการนำร่องโครงการในพื้นที่ 1 จังหวัด งบประมาณ 100 ล้านบาทเป็นเวลา 3 ปี โดยแสนสิริจะระดมเงินโดยออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาทผ่านระบบออนไลน์ของ SCB ในรูปแบบ Education Bond อายุ 3 ปี และนำเงินเข้าบัญชีของกสศ.

โครงการความร่วมมือทั้งต้นกำหนดเป้าหมายอย่างน้อย 3 ด้าน คือ (1) เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ม.1-ม.3) ภายใน 3 ปี (2) เด็กที่ถึงเกณฑ์พร้อมเข้าเรียนป.1 100% ภายใน 3 ปี (3) กลไกจังหวัดสานต่อการทำงานในระดับพื้นที่ จากนั้นเป็นแผนระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567

“กสศ.ได้สนับสนุนงบประมาณไปที่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. อปท. ตชด. มากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศในทุกเทอม มีงบประมาณที่จัดสรรโดยตรงปีละเกือบ 4,000 ล้าน เด็กจะได้เงินคนละ 3,000 บาทตามระดับความยากจน ถ้ายากจนพิเศษจะได้งบจากส่วนอื่นๆ ด้วย และเด็กจะได้รับการสนับสนุนในส่วน ‘ค่าครองชีพทางการศึกษา’ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทาง ฯลฯ เราพยายามขยายขอบเขตงานในกลุ่มเป้าหมายสังกัดต่างๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด”

ขณะที่การแก้ปัญหาของต่างประเทศเองเน้นการกระจายอำนาจให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Unesco Learning City Network)โดยดร.ไกรยส ขยายความว่าการแก้ปัญหาจะต้องเริ่มจากมองว่าในเมืองมีปัญหาอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น

  • เมืองเมเดลลิน ประเทศโคลอมเบีย เป็นเมืองที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ต่อมาได้รับการแก้ปัญหาโดยพัฒนาคุณภาพครู และพัฒนาระบบนิเวศน์ของเมืองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายที่สุด ด้วยการสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ของครู ให้ทุนการศึกษา จัดหลักสูตรการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ รวมถึงกลไกการประเมินเพื่อพัฒนาเมืองที่ทุกคนสามารถเสนอแนะได้
  • เมืองซอนเดอร์บอร์ก ประเทศเดนมาร์ก มีปัญหาประชากรย้ายถิ่นฐานสูง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ รัฐบาลจึงออกนโยบายความยั่งยืน 4 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จากนั้นจึงเชื่อมโยงทุกเรื่องผ่านหลักสูตรการเรียนและสื่อสารสาธารณะ ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาเมือง
  • เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ประสบปัญหาจากการที่เมืองเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนเกิดช่องว่างการเรียนรู้สำหรับประชากรบางกลุ่ม รัฐบาลจีนแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาระบบนิเวศน์ของเมืองให้เหมาะกับการเรียนรู้ ทั้งการจัดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ หลักสูตรอาชีวศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนสามารถเดินไปหาได้

“เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นโจทย์ที่จะช่วยให้เมืองหรือเทศบาลสามารถมีโอกาสพัฒนาจากข้างใน นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน”