ซีอีโอ เครือซีพี เปิดเวที CPG 2030 Sustainability Strategy Workshop ระดมสมองคณะกรรมการบริหาร เครือฯ และผู้นำด้านความยั่งยืนจากทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนเครือฯ 2030
หากเกาะติดการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี : CP Group Sustainability Goals 2020” ต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพีและสื่อมวลชนกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม
นั่นเป็นครั้งแรกในการปักหมุดความยั่งยืนต่อสาธารณะของเครือซีพี ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน ขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนต่อไป
ล่าสุดวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่เป้าหมาย 2030 โดยได้จัดให้มีการประชุม CPG 2030 Sustainability Strategy Workshop มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือฯ และคณะกรรมการบริหาร เครือฯ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงด้านความยั่งยืน จากทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลกรวม 95 คน เพื่อร่วมพิจารณาและรับรองยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนเครือฯ สู่ปี 2030 ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ได้จัดขึ้นที่ co-working space ชั้น 28 อาคารทรู ทาวเวอร์ และออนไลน์ไปยังประเทศต่างๆ โดยมีบริษัท PwC ประเทศไทย เป็นที่ปรึกษา
ในการนี้ นายศุภชัย กล่าวมอบนโยบายด้านความยั่งยืนและตอกย้ำผู้นำของเครือเจริญโภคภัณฑ์ทุกคน ให้ตระหนักในบทบาทของภาคเอกชนที่ต้องช่วยนำการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของโลกในยุคปัจจุบัน โดยระบุว่าเครือซีพีเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 3 แสนคน ทำธุรกิจครอบคลุม 20 ประเทศทั่วโลก จึงมีบทบาทและศักยภาพสูงที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งที่โลกต้องการ เครือฯต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ lead the change
พร้อมกันนี้ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ ได้กล่าวว่าเครือฯ กำลังก้าวสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 ซึ่งมีภารกิจสำคัญ 2 ประการที่ทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อน คือ
-
1. การเป็นองค์กร carbon neutral หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
2. การเป็นองค์กร zero food waste ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของเครือฯ ที่จะต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ
ในการนี้ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ ได้กล่าวว่า ทุกกลุ่มธุรกิจต้องร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน และต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ โดยเพิ่มมิติของความยั่งยืนควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในทุกด้าน ตามวิสัยทัศน์และค่านิยมองค์กรเครือฯ โดยเฉพาะหลักการ 3 ประโยชน์คือการคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ สังคมและองค์กร สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือฯ
บรรยากาศในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เต็มไปความมุ่งมั่นและกระตือรือร้น เห็นถึงพลังของผู้นำทุกคนที่พร้อมจะก้าวไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยถึง 7 กลุ่มเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯ ซึ่งกลุ่มธุรกิจต่างๆ จะต้องนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้นายศุภชัยได้กล่าวปลุกพลังผู้นำซีพี ในช่วงหนึ่งว่า…
“เราไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของโลกได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากกรอบความคิดเดิม เพื่อรองรับโอกาส และความท้าทาย เราสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้”