ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เครือซีพี-กระทรวงทรัพยากร-อบก. ขับเคลื่อน Climate Change ชูตัวชี้วัดใหม่ “GDS” วิถีใหม่ที่ยั่งยืน

เครือซีพี-กระทรวงทรัพยากร-อบก. ขับเคลื่อน Climate Change ชูตัวชี้วัดใหม่ “GDS” วิถีใหม่ที่ยั่งยืน

10 ตุลาคม 2020


ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า”

ซีอีโอ ซีพี จับมือกระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯอบก.ปลุกพลังภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การบริโภค การผลิตที่คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ พร้อมชูตัวชี้วัดใหม่ “GDS” หรือ Gross Domestic Sustainability แทน GDP เพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานในอนาคต

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ “การปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า” กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าบกและป่าชายเลน ระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่รวม 26,000 ไร่ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน

สำหรับการลงนามในวันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ผู้บริหาร อบก.โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นสักขีพยานการลงนาม ร่วมกันระหว่าง นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ นายธัญญา เนติธรรมกุลอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการอบก. และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2568 พื้นที่ 7,000 ไร่ และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่อ่าวไทย ตัวก. จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างปี พ. ศ. 2562 – 2566 พื้นที่ 14,000 ไร่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เขียวในสถานประกอบการของซีพีเอฟ อีก 5,000 ไร่ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นที่พักพิงของสัตว์ทะเล การฟื้นฟูป่าทั้งสองแห่ง สามารถขยายผลและเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ป่าอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ กล่าวว่าการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว ในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการระหว่างประเทศที่มุ่งสู่การเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและภาคประชาชนให้ตระหนักรู้ต่อผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกและเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

“ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใกล้ตัวกว่าที่คิด การแก้ไขปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ” นายวราวุธกล่าว

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสัญญาณที่ธรรมชาติกำลังเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ เครือซีพี เป็นตัวอย่างของภาคเอกชนไทยที่เห็นความสำคัญและผลักดันนโยบายต่างๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมไทยและประชาชนเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อคืนความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พร้อมเป็นแรงผลักดันทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธกล่าวต่อว่า อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือปัญหาภัยแล้งที่เจอกันอยู่ทุกวันนี้เมื่อต้นปี และอีกไม่นานในต้นปีหน้า จะเจอภัยแล้งใหม่เช่นกัน เพราะว่าสภาพน้ำในเขื่อนที่ลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี โดยพบว่า ปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วเกือบ 20-30% แม้แต่เขื่อนที่มีน้ำสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นเขื่อนที่มีความจุปริมาณน้ำมากที่สุด แต่ขณะนี้มีเพียงแค่ 67% เท่านั้น

“สาเหตุที่เขื่อนศรีนครินทร์มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เพราะปริมาณพื้นที่ป่าในภาคตะวันตก เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด เมื่อป่ามี น้ำก็มา เมื่อป่าหด น้ำก็หมดไม่มีใช้ ยกตัวอย่างไม่ไกล สุพรรณบุรีบ้านตนเอง ตอนเหนือมีอ่างเก็บน้ำ แต่วันนี้แทบเปลี่ยนสภาพจากอ่างเก็บน้ำเป็นทุ่งไปแล้ว เพราะว่าป่าไม้หายไป น้ำไม่อยู่ในอ่าง เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ เมื่อไม่มีน้ำ หลายสิ่งหลายอย่างก็จะเป็นปัญหาตามมา ดังนั้นต้นไม้หนึ่งต้น จะช่วยแก้ปัญหา Climate Change ที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์กัน ที่ทั่วโลกโดนผลกระทบกันที่ทั่วโลกประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวไทย แก้ปัญหานี้ได้ง่ายมากแค่ปลูกต้นไม้คนละต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าบนบก หรือป่าชายเลน ซึ่งต้องขอบคุณเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ช่วยฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นมา 20,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 2 แสนกว่าไร่ ที่ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น “ นายวราวุธ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยเป็นป่าชายเลนคงสภาพที่สมบูรณ์ 2.8 ล้านกว่าไร่ แต่เป็นป่าที่เสื่อมโทรมไปแล้วเปลี่ยนสภาพไปแล้ว 1.3 ล้านกว่าไร่ ล่าสุดมีข้อมูลออกมาว่าพื้นที่ป่าชายเลนประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านไร่แล้ว เป็น 1.7 ล้านไร่ และป่าเสื่อมโทรมลดจาก 1.3 ล้านไร่ เหลือ 1.1 ล้านไร่ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่ทำให้ไทยมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากขึ้น

นายวราวุธกล่าวถึงความสำคัญของต้นไม้ไม่ว่าอยู่บนบก ทะเล ล้วนมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเหมือนโรงงานผลิตน้ำ โรงงานฟอกอากาศ โรงงานยึดผิวดินไม่ให้น้ำท่วม และอีกหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง ดังนั้นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทำไม่ง่าย พูดง่าย แต่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น การที่หน่วยงานต่างๆรวมตัวกันในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาใดก็แล้วแต่จะยากอย่างไร แต่หากได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน พี่น้องเกษตรกรทุกชีวิตและภาครัฐนั้นไม่มีอะไรที่ประเทศไทยทำไม่ได้ โดยเฉพาะวันนี้มีเครือที่มีศักยภาพมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้นในโลกใบนี้ด้วย ซึ่งเครือซีพีเป็นหนึ่งในแรงสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปลูกต้นไม้ สภาพสิ่งแวดล้อมสภาพป่าของไทยปัจจุบันมี 31.5% จะกลับมาเป็น 40% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในอนาคต เพราะฉะนั้นต้นไม้ที่ช่วยกันปลูกนั้น จะมาฟื้นฟูและช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมและหลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่ผ่านมาได้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพี ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภาคเอกชนมีหน้าที่ที่จะต้องมีความตระหนักรู้ และควรมีการวางเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัดในการก้าวสู่ยุคที่มีความรับผิดชอบต่อระบบของสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม ระบบความยั่งยืนในภาพรวมเครือซีพีจึงตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายใน พ.ศ. 2573

หากมีการผนึกกำลังและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้มองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น โดยมีภาครัฐเป็นแกนนำเป็นตัวอย่างและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคเอกชน ซึ่งเครือซีพีพร้อมปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐในด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ในเบื้องต้นการที่เราจะเป็น Carbon Neutral หรือว่า เป็นสุทธิคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ เราคำนวนแล้วว่าต้องปลูกต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 20ล้านต้น ซึ่งกระบวนการตรงนี้ ต้องถือว่าต้องทำกับกระทรวงทรัพย์ฯ ที่เป็นผู้ที่เข้ามาส่งเสริม ผมคิดว่าเราก็เป็นเอกชนรายหนึ่ง ถ้ามีเอกชน 10 รายใช้พื้นที่คนละแสนสองแสนไร่ เราก็จะได้มาเป็นล้านไร่ ก็เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สอดคล้องกับเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้บริษัททุกบริษัทในเครือ รวมกันแล้วให้สุทธิคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2573 “

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เครือซีพีดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นโปและยังต้องทำอีกหลายโปรเจค จะต้องดูว่าพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ป่าชายเลน รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงาน ผู้บริหารตลอดจนสมาชิกคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ช่วยกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองตลอดจนฟาร์มตลอดจนโรงงาน เหล่านี้จะต้องร่วมมือทำไปพร้อมๆกัน

“เครือซีพีในฐานะที่เรามีความตระหนักในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงตั้งเป้าให้ปี 2573 การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานของเครือฯปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และลดขยะของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของความพยายามทั้งหมด” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวต่อว่าถึงการประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรแห่ง Carbon Neutral ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในเรื่องความไม่ยั่งยืน ด้วยเพราะในวิถีของระบบเศรษฐกิจโลก วิถีของระบบการบริโภค วิถีการผลิต ได้สร้างมลพิษ สร้างภาวะเรือนกระจก หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ อีกทั้งยังสร้าง Waste หรือ ขยะต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงในอากาศ กล่าวได้ว่านับตั้งแต่เราเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเราให้ความสำคัญกับเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ซึ่งมี GDP(Gross Domestic Product) เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ในอนาคตอันใกล้หรือในปัจจุบันวิถีในการดำเนินเศรษฐกิจ การบริโภค และการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะต้องมีให้ความสำคัญกับ Gross Domestic Sustainability (GDS) หรือ ความยั่งยืนขั้นต้นในประเทศ

  • “ศุภชัย เจียรวนนท์” ผนึกกำลังประชาคมโลก เวที UNFCCC ร่วมเจตนารมณ์ “Race to Zero” ในปี 2573
  • โดยตั้งเป้าหมายปี 2030 ที่จะให้การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการผลิตคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ รวมทั้งขยะของเสียให้เป็นศูนย์เช่นกัน ซึ่งในการจะทำให้สำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีความตระหนักรู้ แต่สิ่งสำคัญต้องมีศรัทธา และมีพันธมิตรที่มีความเชื่อและมีเป้าหมายร่วมกัน ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังร่วมกันทำงานด้านความยั่งยืนด้วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นแบบที่เรียกว่า PPP : Public Private Partnership โดยมีภาครัฐเป็นแก่นกลางและสร้างแรงบันดาลใจ เมื่อนั้นภาคเอกชนจะสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

    บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องตระหนักรู้ วางเป้าหมาย วางตัวชี้วัด เพื่อก้าวสู่ยุคที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน เช่น การตั้งเป้าหมาย Neutral Carbon Footprint คือการผลิตที่สร้างคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือลดก๊าซเรือนกระจกให้หายไป เพื่อกลับมารักษาสมดุลของชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิโลก ตลอดจนรักษาสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่านานาชนิดเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ทั้งหมดก็เพื่อลูกหลานเราในอนาคต

    สำหรับการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดสุทธิเป็นศูนย์(Carbon Neutral)ภายในปี 2573 พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต ส่งเสริมให้ธุรกิจในเครือดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในองค์กร ลดการเกิดของเสียนำมาสู่การเพิ่มมูลค่า การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึง สนับสนุนให้พนักงานร่วมกันปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อช่วยดูดซับก๊าซกระจก ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรเพื่อหาวิธีลดก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูก