ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action: “ทรู” มุ่งสู่องค์กร Carbon Neutral ความท้าทายทั้งเป้า “เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม” [2]

Climate Action: “ทรู” มุ่งสู่องค์กร Carbon Neutral ความท้าทายทั้งเป้า “เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม” [2]

13 ธันวาคม 2021


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถือเป็นความท้าทายที่มีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูงเพราะธุรกิจเติบโตไปกับการใช้โทรศัพท์ ข้อมูล ตลอดจนการขยายเครือข่ายเสาสัญญาณใหม่ๆ โดยกลุ่มทรูได้ประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Carbon Neutral ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับ GCNT เรื่องวิกฤติโลกร้อนตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 หรืออย่างช้าสุดไม่เกินปี 2070

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) เล่าว่า “เป้าหมายด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรูจะคล้ายกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เนื่องจากกลุ่มทรูได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้านของความยั่งยืนพร้อมๆ กับอีกหลายบริษัทในเครือ มีเป้าหมายใหญ่ คือ Carbon Neutral ที่คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ในการร่วมประชุมเวทีคู่ขนาน COP26 ที่จะนำเครือซีพี ก้าวสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 หรือค.ศ. 2030”

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ต่อจากตอนที่ 1

หนุนปลูกต้นไม้ดูดซับคาร์บอน ผุด RO Water Plant-พัฒนานวัตกรรม

กลุ่มทรูยังดำเนินการโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในการดูดซับปริมาณคาร์บอน แต่ว่าหลายคนที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน จะบอกว่าการปลูกต้นไม้จริงๆ เป็นต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับการดูดซับคาร์บอน แต่จริงๆ แล้วการปลูกต้น เป็นเรื่องของการรับรู้ (awareness) การปลูกฝังให้คนมีความใส่ใจด้านของสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีโครงการเพื่อปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อนแล้ว กลุ่มทรูยังมีแอปพลิเคชัน We Grow ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ 6 ล้านต้น โดยแอปฯ มีฟังก์ชันที่สามารถติดตามตรวจสอบกลับได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกไปเป็นอย่างไร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไร ต้นไม้เติบโตได้แค่ไหน ดูดซับต่อคาร์บอนไปแล้วกี่ตัน โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เข้ามาช่วยจัดทำเรื่องสูตรคำนวณให้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ RO Water Plant เพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก ที่ตึกทรู ทาวเวอร์ ประมาณ 4 แสนขวดต่อปี ซึ่งจะลดปริมาณคาร์บอนได้ด้วย และมีการขยายผลไปยังอาคารที่อื่นๆ ต่อไป โครงการทำน้ำ RO ในตึกเป็นโครงการที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์มากๆ ซึ่งจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ เพื่อให้พนักงานทุกคนเลิกใช้ขวดน้ำพลาสติก

แอปพลิเคชัน We Grow

ขณะเดียวกัน มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งเรามีหลายอาคารมาก ด้วยการปรับปรุงระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยี ทั้งสถานีชุมสายและสำนักงาน ปรับปรุงระบบลิฟต์ประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณ 11,172 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,374 ตันคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม อีกบทบาทหนึ่งของกลุ่มทรู คือ การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี (technology provider) ด้วย จึงพยายามจะหาโซลูชันและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับลูกค้าและพันธมิตรให้สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น มีโซลูชัน เรียกว่า ทรู 5G Intelligent Energy Tech พัฒนาร่วมกับ BCPG เป็นระบบที่บริหารพลังงานในองค์กรแบบครบวงจร เช่น ตั้งแต่การเปิดแอร์ เปิดไฟอย่างไร ระบบดิมไฟอย่างไรตอนที่ไม่ใช้ หรือระบบปิด-เปิดไฟอัตโนมัติเมื่อเข้าออกห้องน้ำ เป็นระบบโซลูชันที่ใช้ในตึกทรูอยู่แล้ว แล้วก็พัฒนาระบบเหล่านี้เป็นระบบอัจฉริยะวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน AI, IoT (Internet of Things) ให้กับลูกค้าองค์กรทราบข้อมูลการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยประหยัดและใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า

ดร.ธีระพลกล่าวต่อว่า กลุ่มทรูยังได้พัฒนาโซลูชันด้านต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน เช่น รถยนต์, ระบบ telemedicine (การรักษาทางไกล) ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและคนพิการ ก็จะมี True Health ในการหาแพทย์ต่างๆ ทางไกล ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับโรคบางประเภทที่ไม่กล้าไปพบแพทย์หรือไม่มีเวลาไปหาแพทย์ ซึ่ง True Health ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก มีคนเข้ามาจองคิวกับจิตแพทย์ จ่าย 500 บาทก็สามารถเลือกแพทย์เข้าไปคุยได้เลย

ส่วน True Robotics จะเป็นหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจและการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ หรือ Smart Farming, อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม (Industrial Internet) ต่างๆ โครงข่ายข้อมูลร้านสะดวกซื้อ ระบบโลจิสติกส์ และโรงงานบริหารการผลิตและการกระจายสินค้าต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะวิ่งไปกลับรถเปล่า ก็จะเป็นระบบที่มีการวางแผนการลดจำนวนรถยนต์ลงลดการใช้พลังงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่นวัตกรรมกลุ่มทรูที่ให้ความสำคัญ

คว้าแชมป์ที่ 1 DJSI กลุ่มสื่อสาร 4 ปีซ้อน แนะเอกชนปรับตัวสู้ Climate Change

สำหรับตัวชี้วัดที่จะทำให้กลุ่มทรูไปถึงเป้าหมายตามกรอบยุทธศาสตร์ที่วางไว้ที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเข้าร่วมประเมินความยั่งยืนกับ DJSI ซึ่งจากผลการประกาศของ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI (ดัชนีความยั่งยืนระดับสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก) ในปี 2564 กลุ่มทรู ยังคงได้คะแนนสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และคงสถานะสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ 5 ปีซ้อน ทำให้ครองแชมป์ยาวนานต่อเนื่องสูงสุดถึง 4 ปีซ้อน ในหมวดธุรกิจสื่อสารโลก เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มาพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค สร้างคุณค่าระยะยาว ตลอดจนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม บนพื้นฐานของบรรษัทภิบาลที่แข็งแกร่ง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตามยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบ 3 H’s: Heart, Health, Home อันนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

“DJSI จะเป็นเฟรมเวิร์กที่ค่อนข้างสำคัญ มีเช็คลิสต์ในการถามคำถาม เพราะฉะนั้น ดัชนีนี้เหมือนกับเป็นหมุดหมายที่สำคัญ ทำให้เรารู้ว่าในแต่ละปียังมีช่องว่างตรงไหน เรามีเกณฑ์เทียบกับคนอื่นที่ว่าเราต้องทำเพิ่มเติม ปีนี้เพิ่งประกาศผลไป ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เป็นที่ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอีกปีหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดระดับโลก พยายามที่จะปรับตัวพัฒนาตลอดเวลา ที่สำคัญในการที่ทรูเข้าร่วม DJSI ในทุกปี เกณฑ์ต่างๆ มีการปรับให้ทันสมัยเสมอๆ ทำให้เรารู้ว่าเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่สำคัญทำให้หันมาปรับตัวตามตั้งแต่ Chief Data Officer ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยตรง เรามีกระบวนการตรวจสอบ มีแผนจัดการความเสี่ยง มีการอัปเดตซอฟต์แวร์การให้ความรู้แก่พนักงาน ทำให้องค์กรทันสมัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา” ดร.ธีระพลกล่าว

Climate Action เรื่องใกล้ตัว 4 ด้านที่ต้องทำ

ดร.ธีระพลได้กล่าวถึงความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า จะส่งผลให้ภาคเอกชนจะต้องปรับตัว 4 ด้าน คือ

1. Go Green = Cost ที่ต้องใช้ทั้งเงินลงทุน และเทคโนโลยี ซึ่งการที่องค์กรจะเข้าสู่ Net Zero มีความท้าทายเรื่องของต้นทุน (cost) เข้ามา จากเดิมที่บริษัทคิดเพียงจะทำกำไรอย่างไร อาจจะต้องคำนึงถึงว่า จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรเพราะจะนำมาเรื่องของต้นทุน ซึ่งอาจจะสูงขึ้นในการลงทุน

แต่ในหลายๆ ครั้งก็นำมาซึ่งการลด cost ได้เหมือนกัน ซึ่งความท้าทายขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร เราจะเปลี่ยนวิธีการยังไง เราจะทำแบบเดิมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น องค์กรเองต้องมีความกล้าหาญตั้งแต่ผู้นำที่จะต้องมีแนวทางเรื่องนี้ที่ชัดเจน ซึ่งกลุ่มทรูโชคดี ที่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทั้ง 3 คนให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ทำให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้

2. Decarbonization คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การตั้งเป้าหมาย Net Zero มีความท้าทายเพราะ Core Business ของทรู เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟค่อนข้างมาก มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะเครือข่าย 5G ใช้ไฟเยอะกว่า 4G หลายเท่า แต่เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ต้องใช้ไฟลดลง บริษัทจึงพยายามที่จะเลือกใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ แบตเตอรีใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ตัวลูกค้าเองต้องการใช้เน็ตใช้ข้อมูลที่เร็วขึ้นเพิ่มขึ้นหลายเท่า ความต้องการดังกล่าวจะสร้างสมดุลได้อย่างไรถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการอย่างมาก และเป็นภาระหนักขององค์กรที่ต้องหาแหล่งพลังงานสะอาด

3. กระบวนการคำนวณ Carbon Valuation เนื่องจากปัจจุบันตลาดคาร์บอนยังไม่รองรับการซื้อขาย ประกอบกับบริษัทเอกชนหลายแห่งก็ยังไม่ได้มีโนว์ฮาวหรือเครื่องมือในการทำ Carbon Valuation หรือการคำนวณปริมาณคาร์บอนในองค์กร เพราะฉะนั้นการทำระบบดังกล่าวให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automate) เป็นความท้าทายเช่นกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากลุ่มทรูพยายามทำแอปพลิเคชันออกมาหลายตัว เช่น แอปพลิเคชัน We Grow เปลี่ยนการปลูกต้นไม้เป็นคาร์บอน และแอปพลิเคชัน C-RO ให้พนักงานทุกคนกรอกข้อมูลในการทำกิจกรรมแต่ละวัน เช่น การใช้พาหนะอะไรในการเดินทาง หรือวันนี้กินอะไร เปิดไฟดูทีวีตอนกี่โมงเพื่อวัดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ถ้าอยากจะชดเชยเป็นมิสเตอร์ซีโรคาร์บอนก็สามารถที่จะบริจาคไปทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมกับคนในองค์กร

4. Awareness in Young Generation การสร้างจิตสำนึกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นแบรนด์รักษ์โลกเพราะถ้าองค์กรยังไม่สามารถที่จะปรับตัวให้ผลิตภัณฑ์ (product) และบริการ (service) ไปตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้ว่า เราเป็นองค์กรที่รับผิดชอบได้ ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดกับองค์กรได้

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอีกหลายอย่าง ในฐานะที่ทรูอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถทำได้คล้ายๆ กับที่สหรัฐอเมริกาทำ คือ เรื่องของการแมปด้วยดาวเทียม เพื่อเห็นการปล่อยปริมาณคาร์บอนในประเทศ ถ้าหากทำเรื่องนี้ได้จะสามารถบริหารจัดการระบบโซนนิงต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยอาจจะมี Carbon Mapper ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องดาวเทียมที่จะทำได้อยู่แล้ว แต่เอกชนคงทำคนเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมาเครือทรูเคยทำแผนภาพดาวเทียมในลักษณะนี้มาแล้วเช่นกัน โดยใช้ชื่อแอปพลิเคชัน Crop Watch ในการใช้ดาวเทียมส่องในการเพาะปลูกของประเทศไทย เพื่อให้เห็นว่า ข้าวออกรวงแค่ไหน ข้าวตั้งท้องหรือยัง ควรเก็บเกี่ยวได้เมื่อไหร่ ซึ่งวิธีการไม่ต่างกันกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเราก็ทำได้ กับอีกอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยควรจะทำเลยก็คือ การใช้แผนภาพดาวเทียมในการส่องการตัดไม้ทำลายป่า

“จริงๆ เราเองไม่ต้องเอาตำรวจเข้าไปไล่จับคนตัดไม้ จริงๆ ภาพดาวเทียมสามารถที่จะเตือนได้อย่างเรียลไทม์ว่าต้นไม้ถูกตัดไปเท่าไร หรือเราไปปลูกต้นไม้ที่ไหน ต้นไม้มันยังอยู่ไหม ปล่อยปริมาณคาร์บอนเท่าไร วันนี้เรายังต้องใช้คนเข้าไปสำรวจ ต้องเอาเชือกไปวัด และต้นทุนการเอาเชือกไปวัดมันไม่คุ้มค่ากับการไปชดเชย หรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น การมีนวัตกรรมที่ต้องใช้แผนภาพดาวเทียมมาใช้ในการคำนวณเรื่องของการปลูกต้นไม้และการป้องกันคนตัดต้นไม้ก็สามารถทำได้”

อีกอันหนึ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งคาดว่าใน 4-5 ปีนี้ถ้าประเทศไทยปรับตัวไปใช้รถ EV ได้ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็จะเปลี่ยนวิธีคิดไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าถามว่าไปแน่นอนไหม เชื่อว่าไปแน่นอน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงรอยต่อจริงๆ และถ้าประเทศไทยปรับตัวได้ตามแนวทางอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปประกาศเป้าหมายและองค์กรรับมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ก็เชื่อว่าประเทศไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะถ้าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของก๊าซเรือนกระจก ต่อไปก็จะกลายเป็นโลกที่ใครก็ปรับตัวได้ สามารถอยู่ในวงจรแข่งขันได้ ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ เมื่อมีกฎระเบียบอะไรออกมาทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่ในธุรกิจได้ อันนี้เป็นภาพรวมที่กลุ่มทรูมองเรื่องนี้ และมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัว

ดร.ธีระพลขยายความต่อว่า ที่ผ่านการนำแผนภาพดาวเทียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ข้างต้นไม่ค่อยเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันผู้ที่เป็นเจ้าของดาวเทียมในประเทศไทยมีอยู่หลายแห่ง เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และยังมีดาวเทียมของต่างประเทศที่มีวงโคจรผ่านประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ผู้ให้บริการส่วนใหญ่คิดราคาเป็นตารางเมตร จึงควรมีโครงการระดับประเทศเข้ามาช่วยเหลือเพราะเป็นการนำไปใช้เพื่อสังคม หรืออาจดำเนินการในลักษณะของโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ก็ได้

ทั้งนี้หากทำได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้อีกหลายเรื่องไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคาร์บอนอย่างเดียว เช่น เรื่องการป้องกันการตัดไม้ การติดตามการปลูกต้นไม้ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบและการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ปลูกต้นไม้ทำได้โดยคุ้มทุน ลดต้นทุนโดยไม่ต้องลงไปสำรวจเพราะจะทำเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ให้ได้ เช่น การบุกรุกป่า บุกรุกที่ทำกิน และการวางแผนเรื่อง agri-map ได้ว่าควรจะเพาะปลูกอะไรที่ไหน เพราะคนไทยยังขาดข้อมูล

“ส่วนการซื้อข้อมูลจากดาวเทียมจากเมืองนอก สามารถดูได้ว่าดินตรงไหนเป็นยังไง จริงๆ มันมีเป็นเลเยอร์เลย มันมีตั้งแต่ดิน น้ำ คล้ายๆ กับ agri-map แล้วก็จะบอกได้เลยว่า พื้นที่ไหนควรปลูกทุเรียน ที่ไหนควรปลูกมะม่วง อะไรปลูกตรงไหนได้ น้ำมาในช่วงไหน อะไรยังไง สามารถเลื่อนไทม์ไลน์ได้ทั้งปี ถ้าเรายอมลงทุน มันเป็นเป้าหมายระดับประเทศจริงๆ ถ้าทำได้จะส่งผลดีมากต่อเกษตรกรในประเทศเพราะบางพื้นที่เราสามารถเพาะปลูกได้เยอะมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการในเรื่องนี้” ดร.ธีระพลกล่าว

ผู้นำต้องพร้อม Take Action-Transform Culture ขับเคลื่อนความยั่งยืน

ดร.ธีระพลกล่าวอีกว่า ในการพัฒนาเรื่องของความยั่งยืน (sustainability) บริษัทได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนมีเป้าหมายย่อยครบทั้ง 12 เป้าหมาย ซึ่งก็หมายความว่าการขับเคลื่อนความยั่งยืนไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการบูรณาการส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น เรื่องของการพัฒนาบุคลากร การมี Innovation การทำ Corporate Governance รวมไปถึงคณะกรรมการ เช่น ทักษะในการทำงานของกรรมการ กรรมการแต่ละคนเก่งเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งพอมีตัวชี้วัดแบบขึงเป็นใยแมงมุม ก็ทำให้เรื่องความยั่งยืนเปรียบเสมือนกระดานที่มีผู้เล่นเกือบทั้งองค์กรอยู่ในกระดานนี้

นอกจากนี้ การผลักดันหรือการขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่ Transform กระบวนการเท่านั้น แต่ต้องมีการ Transform Culture ด้วย ซึ่งกลุ่มทรูใช้เวลาเกือบ 30 ปีในการทำเรื่องดังกล่าว มีการสร้างเวทีของการมีส่วนร่วม เช่น โครงการปลูกต้นไม้ อย่าง We Grow เกือบ 10 ปีแล้วตอนนี้มีกระบวนการทำเรื่องรีไซเคิล เรื่อง e-Waste ขยะอิเล็กทรอนิกส์

“ไปคุยกับ Vendor ว่าคุณขายโทรศัพท์มาให้บริษัท คุณเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งมาที่บริษัท ซึ่งบริษัทก็ไปส่งต่อให้ลูกค้าอีก ดังนั้นกระบวนการรีไซเคิลจะต้องมีกระบวนการรองรับตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง”

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามเสาสัญญาณ ซึ่งในการหาพื้นที่ใหม่ในการสร้างเสาสัญญาณก็ต้องคำนึงถึงว่าพื้นที่ที่ติดตั้งเหมาะสมแค่ไหน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ใช้พลังงานอะไรดี ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สมัยก่อนไม่เคยอยู่ในตัวแปรสมการ แต่ปัจจุบันเรื่องเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสมการของการลงทุน ก็มีความยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะ Transform Culture ได้ ดร.ธีระพลมองว่า ผู้นำถือเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญ ซึ่งผู้นำต้อง take action จริง ก้าวที่สอง คือ การกำหนดเป้าหมาย โดยทีมส่วนกลางที่ทำต้องเป็น facilitator หมายความว่า เราไม่ใช่เป็นคนไปทำให้เขา แต่เราต้องเป็น facilitatorให้เขา เช่น การยกระดับซัพพลายเออร์ แล้วก้าวที่สาม คือ เรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของ rewarding incentive (แรงจูงใจที่คุ้มค่า) อะไรต่างๆ ด้วย บางทีไม่ได้เป็นเรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างทั้งองคาพยพให้ไปด้วยกันได้ แล้วก็เรื่องของ KPI ตัวชี้วัดต้องออกมาเป็นรายงานเพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา

“จำได้ในช่วงปีแรกๆ เวลาเราเชิญซัพพลายเออร์มาแล้วคุยเรื่องของ Human Rights คุยเรื่องของสิ่งแวดล้อม เขาจะรู้สึกว่า บริษัทจะกีดกันเขาหรือเปล่า กลายเป็นว่าเราจะเลือกเฉพาะรายที่ทำตามตรงนี้ รายที่ไม่ทำตามตรงนี้ เราจะไม่เลือก ซัพพลายเออร์เขาก็กลัว ต้องบอกว่ามาช่วยพัฒนาคุณ เอาไกด์ไลน์ ไปแชร์ให้เขาเข้าใจว่าเป็นการยกระดับเขาขึ้นมาเพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมเรื่องดังกล่าวมันยาก โดยเฉพาะเรื่องของ culture transformation”

“อีกอันหนึ่งที่คิดว่ามีความยาก คือ เรื่องของความกดดันในการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความเข้มข้นสูง ในขณะที่ความคาดหวังด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเพิ่มเข้ามา ซึ่งคนก็คิดว่าแค่เป้าหมายทางเศรษฐกิจเขาก็แย่อยู่แล้ว แต่วันนี้เราต้องเดินเท้าซ้ายเท้าขวา เป้าทางเศรษฐกิจกับเป้าทางสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรถึงจะทำให้เขาเห็นความสำคัญด้านนี้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่า ก็เป็นความท้าทายที่คิดว่าทุกองค์กรคงเจอเหมือนๆกัน กลุ่มทรูก็เจอเหมือนกัน แต่เราก็มีข้อดีเพราะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง lead reinforcement ก็ทำต่อเนื่อง พอมาดูอีกทีแต่ละปีเราปิดช่องว่างไปเป็น 100” ดร.ธีระพลกล่าวทิ้งท้าย