การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถือเป็นความท้าทายที่มีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูงเพราะธุรกิจเติบโตไปกับการใช้โทรศัพท์ ข้อมูล ตลอดจนการขยายเครือข่ายเสาสัญญาณใหม่ๆ โดยกลุ่มทรูได้ประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Carbon Neutral ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับ GCNT เรื่องวิกฤติโลกร้อนตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 หรืออย่างช้าสุดไม่เกินปี 2070
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) เล่าว่า “เป้าหมายด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรูจะคล้ายกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เนื่องจากกลุ่มทรูได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้านของความยั่งยืนพร้อมๆ กับอีกหลายบริษัทในเครือ มีเป้าหมายใหญ่ คือ Carbon Neutral ที่คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ในการร่วมประชุมเวทีคู่ขนาน COP26 ที่จะนำเครือซีพี ก้าวสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 หรือค.ศ. 2030”
ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ สิ่งแรกที่กลุ่มทรูต้องทำ คือ การสร้างการรับรู้ (awareness) ซึ่งปัจจุบันเมื่อพูดถึงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน หลายๆ คนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และยังมีคนอีกจำนวนมากไม่เชื่อว่าโลกจะร้อนขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นปกติทุกปี
“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โรคระบาดที่เกิดขึ้นหรืออีกหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นเริ่มทำให้คนเชื่อมากขึ้น แต่เวลาอธิบายเรื่องของ Carbon Neutral หรือการปล่อยก๊าซ CO2 เหมือนเป็นเรื่องเล่าวิชาการ คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าปล่อยนักวิชาการคุยกันไป ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขา แต่จริงๆ ถ้ามองว่า ณ วันนี้เป็นจุดเปลี่ยน (turning point) หมายความว่า ถ้าเกิดเราทำอะไรแล้วอุณหภูมิมันเพิ่มขึ้นอย่างที่ประมาณการณ์ไว้ 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส จริงๆ มันจะส่งผลค่อนข้างเยอะ เช่น ถ้าสมมติเราอยู่ในห้องที่เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ถ้าเราเปิดเพิ่มอีก 1- 2องศาเซลเซียส บางคนอาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกขึ้นเยอะเลย” ดร.ธีระพลกล่าว
ดร.ธีระพลอธิบายต่อว่า หากเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 กับบอลลูน จำนวน 1 ลูก ซึ่งข้างในเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะพบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกปล่อย CO2 เทียบเท่ากับการปล่อยบอลลูนมากกว่า 35,000 ล้านลูก เฉพาะประเทศไทยปล่อยบอลลูนทั้งหมดราว 300 ล้านลูกต่อปี หรือ 1 คนปล่อยบอลลูนคาร์บอน 4 ลูก ในปี 2563 และเพื่อชดเชย CO2 ใน 1 ปี คนไทยจะต้องปลูกต้นไม้ 4 ไร่ต่อคนเกิน 10 ปี
ฉะนั้น พอเปรียบเทียบบอลลูนที่ปล่อยออกไป 35,000 ล้านลูก จะเห็นได้ว่า โลกต้องรับมือกับปริมาณคาร์บอนจำนวนมาก และตัวของโลกก็พยายามที่จะสร้างสมดุลใหม่ด้วยตัวเอง พอสร้างสมดุลต่างๆ ขึ้นมันก็จะกระทบหลายๆ อย่าง เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำท่วม
วันนี้สิ่งที่คนทั่วโลก และ COP26 พยายามคุยกันกำหนดทิศทาง Net Zero ร่วมกัน จึงทำได้แค่การชะลอผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นกับคนในปัจจุบันแล้วก็คนรุ่นถัดไปเท่านั้น
“ถ้าถามความเชื่อของผมว่า เราจะสามารถ offset แล้วก็ทำได้ถึงขนาดลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยได้เลยไหม ถ้าเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมันแทบจะเทียบกันไม่ได้ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในองค์กร ทุกคนขับเคลื่อนด้วย KPI ด้านเศรษฐกิจในการเพิ่มยอดขายไปเทียบคู่แข่ง การทำกำไร การแข่งขัน แต่จะมีสักกี่คนที่เอาปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นต้นทุนของการบริหารองค์กรจริงๆ เพราะเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น ซึ่งเปรียบเทียบง่ายๆ กับเรื่องของการท่องเที่ยว บางคนบอกธรรมชาติให้มาเป็นของฟรีจากธรรมชาติ เราก็ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่จำกัด แต่ไม่เคยมองว่าการฟื้นฟูธรรมชาติมันเป็นต้นทุนมหาศาล ก็เหมือนกันกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มองว่าพวกนี้เป็นของที่ไม่ต้องไปรับผิดชอบ” ดร.ธีระพลกล่าว
ผลกระทบ 5 ด้านเมื่อโลกร้อนขึ้น
โลกจากวันนี้เป็นต้นไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้นจะกลับมาสู่ภาคธุรกิจ เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น พอเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่บอกว่า ฉันไม่สนใจ ฉันไม่เอาต้นทุนตรงนี้ไปเพิ่ม อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่เริ่มปรับตัวในการเอาไปคิด ต่อไปเมื่อมีกติกาของโลกมาบีบตรงนี้มากขึ้น ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวเข้าสู่ Carbon Neutral ก็จะเริ่มถูกกันออกไปจากวงจรของการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจไม่เติบโตในระยะยาว เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนแล้วมันใกล้ตัวกว่าที่คิด
เรื่องแรก พื้นที่เขตร้อนของโลกกำลังร้อนขึ้น ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร จะต้องเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า “คลื่นความร้อน” ซึ่งจริงๆ เรื่องคลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคเกษตร เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 0.5 ถึง 1 องศาเซลเซียส การเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร (productivity) การเพาะปลูกจะเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ 1 ใน 10 ของพื้นที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน เกษตรกรต่างๆ จะได้รับผลกระทบ มีการคาดหมายว่าในปี ค.ศ. 2050 ประเทศไทยจะเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,800-13,900 ล้านบาท และสูญเสียพืชไร่ไปกว่า 15%
เรื่องที่ 2 เรื่องของทะเล ผลกระทบของทะเล ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีทรัพยากรทางทะเลค่อนข้างสูง แต่เวลาที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีทะเล มหาสมุทร เป็นตัวดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 90% ของความร้อน ของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นเมื่อดูดซับความร้อนไปแล้ว มันก็จะทำให้ระบบนิเวศในทะเลเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะน้ำทะเลจะมีอุณหภูมิเปลี่ยนไป จะทำให้ปะการังถูกทำลายเปลี่ยนเป็นสีขาวหมด ที่เรียกว่าปะการังฟอกขาว กว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมหาศาล ต่อเป็นลูกโซ่
เรื่องที่ 3 เรื่องของน้ำท่วม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยพื้นที่หลายส่วนต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อปีประมาณ 3 มิลลิเมตร แต่ถ้าดูระหว่างปีน้ำทะเลไม่ได้ขึ้น 3 มิลลิเมตรตลอดทุกๆ ปี บางทีเกิดจากน้ำทะเลหนุนหลายจังหวัดหรือว่าในเขตกรุงเทพฯ ใน 4-5 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นว่า ใน 1 ปี ช่วงเวลาของน้ำท่วมมันจะถูกกระทบมากขึ้น และก็จะได้เห็นประเทศแบบไม่เคยมีน้ำท่วม แต่ก็ถูกน้ำท่วม หรือประเทศที่ห่างหายจากน้ำท่วมมานานก็กลับมาถูกน้ำท่วม เช่น อิตาลี ไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการบริหารจัดการปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ปัญหาแบบปีต่อปี จากการวิเคราะห์พบว่า กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 10 เมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลก และในอีก 10 ปีข้างหน้าคนกรุงเทพฯ 10.45 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ดังนั้น ในวันนี้อาจจะต้องเริ่มวางระบบคลอง ระบบการระบายน้ำแบบที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 5-10 ปีในการวางระบบชลประทาน ระบบการระบายน้ำ เพราะกรุงเทพฯ จะมีความเสี่ยงในการที่ไปอยู่ในระดับที่ใกล้ระดับน้ำทะเล หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และจะถูกกินพื้นที่เข้าไปเรื่อยๆ อย่างเช่น จ.สมุทรสาคร จะดูแลจัดการอย่างไรจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องที่ 4 กลุ่มทรูเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสัตว์ป่า ที่ผ่านมามีโครงการสัตว์มีค่าป่ามีคุณ ในการสร้างจิตสำนึกให้คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้น เนื่องจากสัตว์ป่าเป็นเครื่องชี้วัดเรื่องความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่า ปัญหาสัตว์สูญพันธุ์ เรื่องสายพันธุ์ต่างๆ สายพันธุ์พืชที่หายไป จากรายงานข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า มีสายพันธุ์พืชเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถึง 21% และสายพันธุ์สัตว์มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ถึง 25% ซึ่งจะค่อยๆ ลดหายไปด้วยจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ การที่สัตว์บางประเภทหายไป ความสมดุลต่างๆ ก็จะหายไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อสัตว์กินพืชหายไปก็จะลามไปยังพวกสัตว์กินเนื้อก็ต้องมากินสัตว์กินพืชต่อ มันจะกระทบต่อระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่ 5 การระบาดของเชื้อโรคร้าย เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว มีงานวิจัยที่ค้นพบไวรัสโบราณ 33 ชนิดในน้ำแข็งอายุ 15,000 ปี ในทิเบตมีอยู่ถึง 28 ชนิดไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่มันก็กลับมีชีวิตอีกทีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนเราไม่มีภูมิที่จะไปต่อสู้กับไวรัส 15,000 ปีก่อนที่ถูกฟรีซไว้ ด้านนาซ่าก็ค้นพบแบคทีเรียอายุประมาณ 8 ล้านปีที่อยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา เพราะฉะนั้นจะทำให้คนรุ่นต่อไปจะต้องใช้ชีวิตเหมือนกับที่เราสู้โควิดว่าจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ขณะที่เด็กชาวรัสเซีย เสียชีวิตจากเชื้อแอนแทร็กซ์ในซากกวางที่ถูกฝังในน้ำแข็งเมื่อ 75 ปีก่อน
ในส่วนของกลุ่มทรูและเครือซีพี ตอนนี้ก็เริ่มทำวิจัยหน้ากากอนามัยร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว ที่ผ่านมาเราอาจจะใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการระบาดของโควิด-19 หรือป้องกันฝุ่น PM2.5 แต่ขณะนี้ได้เริ่มดีไซน์หน้ากากอนามัยให้เข้ากับโครงสร้างกระดูกของคนไทยและเพื่อให้ใส่สบายมากขึ้น ควรจะมีลักษณะหน้ากากอนามัยยังไงที่เหมาะกับคนไทย และวิจัยต่อไปในอนาคตเมื่อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ มันเริ่มเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะต้องใช้ชีวิตคู่กับหน้ากากอนามัยในระยะยาวมากขึ้นก็ได้ รวมไปถึงการคิดค้นอะไรต่างๆ หรือการวิจัยด้านวัคซีนอะไรต่างๆ ที่ประเทศไทยก็ต้องเพิ่มมากขึ้น
ความท้าทาย “โลกร้อน” ของกลุ่มโทรคมนาคม
ดร.ธีระพลกล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อน และได้มีการปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และสื่อสารสร้างความเข้าใจตลอดทั้ง value chain ไม่ใช่แค่กลุ่มทรูอย่างเดียว แต่พยายามจะสื่อสารต่อไปถึงซัพพลายเออร์แล้วก็ผู้จำหน่าย (vendor) ด้วย
สิ่งที่มีความท้าทายในกลุ่มโทรคมนาคมเมื่อพูดถึงเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก คือ ลดการใช้ไฟฟ้า หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าอย่างไร เพราะธุรกิจกลุ่มโทรคมนาคมเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการลดการใช้ไฟฟ้ายากมาก ขณะที่ธุรกิจต้องเติบโตไปกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์และข้อมูล จะเห็นได้ว่าการสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ การสร้างขยายเครือข่ายสัญญาณใหม่ 3G, 4G, 5G การขยายไปในภูมิภาคต่างๆ เป็นการเชื่อมต่อ (connectivity) ที่ใช้ไฟมหาศาล โดยมาจากอุปกรณ์ไอทีเครือข่ายถึง 80% และที่เหลืออีก 20% จะมาจากอาคารสำนักงานแล้วก็ยานพาหนะต่างๆ
“ความท้าทายของกลุ่มโทรคมนาคม นอกจากจะต้องลดการใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว เราต้องมีนวัตกรรมในเชิงที่จะมาชดเชยได้ด้วย ต้องหาวิธีการไปดูดซับคาร์บอนด้วยวิธีอื่นแล้วก็กลับมาชดเชยกันให้ได้ ในวันนี้กลุ่มทรูมีการผลักดันการคิดต้นทุนของคาร์บอนเข้าไปอยู่ในโครงการต่างๆ ด้วย โดยการที่เราทำเป็นตัวชี้วัดและเป็นต้นทุนด้านคาร์บอนไดออกไซด์เลย แล้วทำเป็นต้นทุนของคาร์บอนใส่เข้าไปในโครงการด้วย เพราะฉะนั้นเวลาโครงการต่างๆ มาขออนุมัติ โครงการนั้นๆ ต้องมีการคิดต้นทุนด้านชดเชยคาร์บอนเข้าไปอยู่ในต้นทุนของการดำเนินงานของโครงการด้วย จึงเป็นมิติที่เราต้องใช้นวัตกรรมใช้การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อสร้าง awareness ให้ผู้บริหารแล้วก็พนักงานทั้งหมดรู้ว่าการทำกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.ธีระพลกล่าว
True Sustainability Frame Work
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ Carbon Neutral ยอมรับว่าไม่สามารถทำคนเดียวได้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ กลุ่มทรูจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับองค์กรระดับโลกลงมาจนถึงระดับขององค์กร โดยมีการศึกษาจาก United Nation Climate Change Conference (COP26) ที่มีการผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งในส่วนของเครือซีพีก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ด้วยเช่นเดียวกัน รวมไปถึงข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่างๆ ที่จะทำให้ได้
“ทั้งนี้กลุ่มทรู โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ก็ได้ประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรแห่ง Carbon Neutral ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 และร่วมกับ GCNT ประกาศเจตนารมณ์วิกฤติโลกร้อน ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 2070 โดยกลุ่มทรูได้ใส่เป้าหมายของตัว Carbon Neutral 2030 เข้าไปในแผนขององค์กรเรียบร้อยแล้ว”
“ถ้าจะดูเป้าหมายจริงๆ จะเห็นได้ว่า คุณศุภชัยประกาศองค์กร Carbon Neutral 2030 ค่อนข้างที่จะ challenge มาก ถ้าดูตัวปีที่ประกาศเพราะฉะนั้นถ้ามีเป้าหมายที่ชัด challenge แล้วเราเองก็ต้องมีนวัตกรรมและมีข้อตกลงที่จะทำให้ได้ ก็เป็นจุดเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีคิดของคนทั้งองค์กร นอกจากนี้กลุ่มทรูเองก็มีออกประกาศร่วมกับ GCNT ด้วยในการตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 หรือช้าสุดก็ไม่เกินปี ค.ศ. 2070 ก็ถือว่ากลุ่มทรูได้วางเป้าหมายสอดคล้องไปกับทิศทางนี้” ดร.ธีระพลกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มทรูยังมีอีกเป้าหมายหนึ่งที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็คือ เป้าหมายของ Zero Waste หรือ “ขยะเป็นศูนย์” ซึ่งสุดท้ายจะกลับมาส่งผลต่อเรื่องนี้อยู่ดี เป็น 2 เป้าหมายใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่นายศุภชัยประกาศ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีเป้าตรงนี้แล้วก็ต้องนำเข้ามาสู่การปฏิบัติ แต่จะมีอยู่ภาพหนึ่ง ที่เห็นเป็นภาพของ True Sustainability Frame Work ค่อนข้างใกล้เคียงกับภาพเฟรมเวิร์กของเครือซีพี แต่อาจจะมีบางข้อที่เป็นเฉพาะเจาะจงของกลุ่มเทลโก (telco หมายถึง กลุ่มบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคม) เพิ่มขึ้นมา
หลักการคือ กลุ่มทรูต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน กฎระเบียบพื้นฐานของทุกประเทศ เช่น ตอนนี้ทรูมีการนำ ISO14000 ไปใช้ในที่ต่างๆ มีการนำกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ เข้ามาใช้ มี CP Excellence เพื่อความเป็นเลิศ เป็นกระบวนการที่นำคนรุ่นใหม่ คนที่ทำงานอยู่แล้ว มาทำโครงการพัฒนาส่วนต่างๆ ให้เกิดความเป็นเลิศ ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่เป็นงานของหน่วยงานความยั่งยืนหรือ CSR หรือ HR แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนทั้งองค์กรจริงๆ คล้ายๆ กับ TQA TQM ประมาณนี้
“ส่วนเรื่องของการแอพพลายตัวหลัก 10 ข้อหลักการของ UNGC เทรนด์ Green Principles หรือตัวเป้าหมาย 17 SDGs Goal ก็อยู่ในแกนนี้ด้วย และสุดท้ายก็เป็นในเรื่องของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ นั่นคือการบริหารความเสี่ยง การดำเนินธุรกิจที่อยู่ในหลักทางสายกลาง ฉะนั้นในแกนของตัวชี้วัด True Sustainability Goals 2030 (พ.ศ. 2573) จะมีตัวชี้วัดทั้งหมด 14 ข้อ จากเดิมเมื่อ 5 ปีก่อนที่มีทั้งหมด 12 ข้อ แล้วเราก็สามารถบรรลุผลได้แล้ว จึงขยับมาเป็นเป้าที่ยาวขึ้นก็คือปี 2030”
“จะเห็นได้ว่าตัวที่เพิ่มขึ้นมา 2 ด้าน คือ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบันเพราะคนเน้นดิจิทัลมากขึ้น กับอีกด้านที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ครอบคลุมพวก e-Waste ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบ 3 H’s: Heart, Health, Home นำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ โดยกลุ่มทรูตั้งเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Carbon Neutral) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ทางตรงและทางอ้อม (Scope1 และ Scope2) สุทธิเป็นศูนย์” ดร.ธีระพลกล่าว
ดร.ธีระพลกล่าวต่อว่า ถ้าจะเน้นเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก จะพบว่าในด้านพลังงานกลุ่มทรูค่อนข้างใช้ไฟมหาศาลทั้งศูนย์ข้อมูลและเสา telco ที่ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทยในทุกย่านความถี่ ซึ่งหมายความว่าทุกเสาต้องใช้ไฟ จึงมีติดตั้งแผงโซลาเซลส์เฟส 1-4 ครอบคลุมไปจำนวน 3,500 ไซต์ ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 27,000 เมกะวัตต์ สามารถลดตัวก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 13,000 ตันคาร์บอน แต่ว่าถ้าเทียบกับปริมาณจริงยังห่างไกลเป้าหมายอย่างมาก เพราะฉะนั้นกลุ่มทรูจึงได้ส่งเสริมภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่เป้าหมายที่เรียกว่า Science-based Target (SBT) ด้วย เป็นการวัดโดยหลักสถิติออกมาเลย หากมีการดำเนินการตามปกติ ไม่มีทางที่วัดได้แน่ๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มทรูเท่านั้น บริษัทในเครือซีพีเองก็เหมือนกัน เนื่องจากปริมาณการผลิตคาร์บอนมีอยู่มาก
ดังนั้น ในเครือซีพีได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งบริษัทขึ้นมาโดยเฉพาะที่ชื่อว่า บริษัท Altervim ทำเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ซึ่งกลุ่มทรูเองก็ทำงานใกล้ชิดกับ Altervim ถือเป็นพันธมิตรในการจัดหาพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะติดตั้งได้ประมาณ 1,169 ไซต์ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น
และสิ่งสุดท้ายที่จะละทิ้งไม่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายเหมือนกัน ก็คือ การซื้อคาร์บอนเครดิต และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate sinv REC) ตามมาตรฐาน International REC (I-REC) ก็มีความสำคัญเพราะถ้าทำคนเดียวก็คงยากเหมือนกัน เป็นวิธีการโดยภาพรวมที่กลุ่มทรูใช้บริหารด้านของพลังงาน