ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เครือซีพีจับมือ อบก. “We Grow…ปลูกเพื่อความยั่งยืน” สู่องค์กร Carbon Neutral

เครือซีพีจับมือ อบก. “We Grow…ปลูกเพื่อความยั่งยืน” สู่องค์กร Carbon Neutral

1 กุมภาพันธ์ 2020


นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนาวยการ อบก. และ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมลงนาม

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นรุนแรงขึ้นอย่างมากจากความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ ล้วนตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นและพยายามหาทางแก้ไขวิกฤตินี้ ซึ่งการปลูกไม้ยืนต้นเป็นหนึ่งในทางออกของการลดความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศลง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยนางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนาวยการ อบก. และเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร ได้ร่วมลงนามในโครงการ “We Grow…ปลูกเพื่อความยั่งยืน”

ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนิน โครงการ We Grow…ปลูกเพื่อความยั่งยืน โดยรณรงค์ให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ร่วมกันปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยดูดซับแก๊สเรือนกระจก สนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกป่าอย่างยั่งยืน ให้บริษัทในเครือทำรายงานผลการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทุกปี และสร้างแอปพลิเคชัน We Grow ที่สามารถคำนวณวิถีชีวิตได้ว่าปล่อยแก๊สเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าใดและต้องปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยเท่าใด โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral)

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายนพปฎลกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า “ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นวิกฤติของโลก ทั้งภาครัฐและธุรกิจทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ เครือเจริญโภคภัณฑ์ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างมาก ประกอบกับในปีนี้จะเป็นปีที่ครบรอบ 99 ปีของบริษัท จึงคิดโครงการขึ้นมาเพื่อสร้างให้คู่ค้าตระหนักถึงปัญหาและเพื่ออนาคตของลูกหลานอยู่ในสภาวะที่ดี”

ในงานลงนามความร่วมมือนี้มีการเสวนาเกี่ยวกับหัวข้อ “ทำไมต้องปลูก เพื่อโลกยั่งยืน” โดยนางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผศ. ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษรตศาสตร์ บางเขน, ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และนางพัชรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะทำงานโครงการปลูกไม้ยืนต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์

ทำไมต้องปลูกต้นไม้ให้โลกยั่งยืน

นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและความสำคัญของป่าไม้ว่า ในปัจจุบันการเรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นเปลี่ยนจากเริ่มแรกคือ Climate Change ไปสู่ Climate Crisis เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาและล่าสุดเรียกว่า Climate Emergency แล้ว และปัญหาปัจจุบันคือทำอย่างไรเพื่อที่จะนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ตรวจวัดได้จริงว่าทุกกิจกรรมนั้นสร้างแก๊สเรือนกระจกเท่าใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่โปร่งใส และทำให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจริง และผู้สร้างแก๊สเรือนกระจกเท่าใด ทั่วโลกพยายามนำข้อมูลวิทยาศาสตร์นี้มาใช้

ประเทศไทยปล่อยแก๊สเรือนกระจกจำนวน 0.9 เปอเซ็นต์ของทั้งโลก คิดเป็นอับดับที่ 21 หากนับเฉพาะอาเซียนเป็นรองเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น ตัวเลข 0.9 เปอร์เซ็นต์อาจดูเล็กน้อย ทว่าแก๊สเหล่านี้นั้นคงอยู่เป็นเวลาประมาณหนึ่งร้อยปีเป็นอย่างน้อย โดยแก๊สที่ถูกปล่อยมากที่สุดคือคาร์บอนไดออกไซด์อันมาจากการคมนาคมและอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้นทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอีกปัญหาที่ทำให้เกิดการสร้างแก๊สเรือนกระจกสูงคือการตัดไม้ทำลายป่า

นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ในเรื่องความสำคัญของป่าไม้นางประเสริฐสุขกล่าวว่า “ไม้ยืนต้นยิ่งมีมากเท่าใดจะยิ่งบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนลงได้ นักวิทยาศาตร์กล่าวเช่นกันว่าหากเราสามารถคงจำนวนป่าไม้ในโลกที่ตัวเลขปัจจุบันคือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ จะสามารถช่วยดูดซับแก๊สเรือนกระจกได้ 20 เปอร์เซ็นต์”

ในปัจจุบันอาจมีคำถามว่าเราควรทำตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการแก้ไขภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไม่เมื่อมีหลายประเทศไม่ทำตาม นางประเสริฐสุขตอบประเด็นนี้ว่า “ควรมองถึงภายในประเทศไทยเองมากกว่า และควรเคารพกติการสากลแม้ประเทศอื่นจะไม่ทำตามเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ปัญหาการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในประเทศไทยนั้นเกิดจากการพัฒนาประเทศซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดการปฏิบัติจริงขึ้น ซึ่งในองค์กรใหญ่ควรเริ่มต้นอย่างจริงจังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และจะทำให้ผู้อื่นบริษัทที่เล็กกว่าหรือพนักงานปฏิบัติตามเป็นการเผยแพร่การกระทำนี้ต่อไป”

ไม้ยืนต้นแหล่งฟอกอากาศชั้นดีและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

ผศ. ดร.นิคมกล่าวถึงสภาพป่าไม้ประเทศไทยในปัจจุบันไว้ว่า ทุกวันนี้ป่าไม้ทั่วโลกเหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ ประเทศไทยเหลือป่าไม้อยู่ 1 ใน 3 ของพื้นที่เช่นเดียวกัน แต่การที่เหลือพื้นที่เท่านี้มิใช่ปัญหาใหญ่เนื่องจากสามารถปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่เกษตรได้ เพราะต้นไม้เป็นเครื่องจักรที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดและยังปลดปล่อยออกซิเจนอีกทั้งดักจับอานุภาคในอากาศ เช่น ฝุ่น PM10, PM2.5 โครงสร้างคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจนที่อยู่ในรูปของชีวภาพ ที่ต้นไม้สังเคราะห์ด้วยแสงแล้วสร้างเป็นเนื้อไม้ ซึ่งเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งในรูปของวัสดุ ในรูปเคมีชีวภาพต่างๆ ทั้งในรูปของพลังงาน ซึ่งสามารถคิดเป็นมูลค่าได้

ผศ. ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษรตศาสตร์ บางเขน

ต้นไม้สามารถลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกได้จากกระบวนการ 3 ประการ

    1. คือการดูดซับจากอากาศดูดซับความเป็นเนื้อไม้ที่อยู่ในรูปของเซลลูโลส ลิกนิน
    2. เก็บกัก เมื่อนำไม้มาใช้จะสามารถเก็บกักไว้ใช้เป็นวัสดุได้มีความคงทนใช้ได้นานหลายปี
    3. เมื่อเลิกใช้ไม้สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานนับเป็นการลดปลดปล่อย และสามประการนี้เป็นหน้าที่ของไม้ยืนต้นทั้งหลายซึ่งสามารถคำนวณว่าสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าใดอีกด้วย

ต้นไม้หนึ่งต้นสามารถช่วยมนุษย์ในชีวิตประจำวันได้มากแค่ไหน หากต้นไม้อยู่รวมกันเป็นหมู่ไม้จะสามารถช่วยระบบนิเวศน์ได้ ซึ่งไม้เหล่านี้จะมีสารที่เรียกว่า phyto-chemical คือเคมีชีวภัณฑ์ที่ต้นไม้สร้างในรูปของสารทุติยภูมิ (secondary metabolized) มีหลายชนิดที่ใช้เป็นยา กล่าวได้ว่าต้นไม้หนึ่งต้นสามารถเป็นผู้ดูดซับและปลดปล่อยออกซิเจนให้มนุษยชาติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลซึ่งมีความไม่สมดุล 3 ประการ คือ 1. อาหาร 2. พลังงาน 3. สิ่งแวดล้อม และในประการที่สามสิ่งแวดล้อมนี้เป็นสิ่งที่ขึ้นมาเป็นปัญหาที่ชัดเจน โดยแสดงออกมาในรูปแบบของภัยพิบัติ

แม้ว่าประเทศไทยจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกไม่สูงมากนัก แต่ ดร.นิคมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถแสดงความสามารถด้านนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่จะแปรรูปเนื้อไม้เป็นผลิตภัณฑ์ เป็นพลังงาน เพื่อลดเชื้อเพลิงฟอสซิลลงและเปลี่ยนเป็นพลังงานที่มีพื้นฐานจากชีวภาพมากขึ้น ซึ่งหากปฏิบัติเช่นนี้จะสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาลในการทำเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

นอกจากไม้ยืนต้นช่วยเกี่ยวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้วยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอีกด้วย อีกทั้งประเทศไทยอยู่ในเขตภูมิศาสตร์แบบเขตร้อนที่ทำให้ไม้ยืนต้นนั้นเติบโตได้ดีกว่าเขตอื่นถึง 5-7 เท่า จึงเป็นโอกาสและจุดแข็งที่ดีที่ดีของประเทศไทย

ผศ. ดร.นิคมอธิบายถึงมูลค่าและโอกาสจากการแปรรูปเนื้อไม้ว่า “ทุกกิโลกรัมของเนื้อไม้สามารถคิดได้เป็นมูลค่ามหาศาล เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ใช่แค่ value added เท่านั้นแต่ต้องเป็น value creation การสร้างคุณค่าใหม่จากไม้ยืนต้น ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่ทำจากเนื้อไม้ เช่น สิ่งทอ เส้นใย นำมันเครื่องบิน และในอนาคตอาจสร้างนำมันจากเนื้อไม้ได้ และไม้ในฐานะวัตถุดิบทางชีวภาพสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกกว่า 50 รายการ”

ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

โครงการปลูกไม้ยืนต้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มโครงการปลูกป่ามากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งเริ่มจากโครงการดอยตุง ซึ่งมีพื้นที่ 100,000 ไร่ มีป่าไม้ 17,000 ไร่ จากนั้นจึงขยายโครงการไปในพื้นที่ใกล้เคียง และขยายโครงการไปยังน่าน ครอบคลุมสามอำเภอมีพื้นที่ 120,000 ไร่ และโครงการใหม่ล่าสุดที่ห้วยสร้างมีพื้นที่กว่า 170,000 ไร่ สิ่งที่สำคัญคือไม่เพียงปลูกป่าเท่านั้นแต่ยังต้องปลูกคนอีกด้วยเนื่องจากสิ่งที่ทำให้ต้นไม้หายไปคือมนุษย์นั่นเองจากความโลภ และยังมีกลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาส เช่น ชาวเขาที่สภาพแวดล้อมบีบบังคับให้ต้องตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย โดยเข้าถึงชาวบ้านด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ มีตัวแทนพัฒนาสังคมติดต่อกับชุมชนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของโครงการ ข้อมูลที่ตั้ง และขอความร่วมมือไม่ให้เข้าไปทำลายป่าที่เป็น carbon credit รวมถึงป่านอกพื้นที่ carbon credit อีกด้วย เมื่อโครงการตระหนักถึงปัญหานี้แล้วจึงเข้าแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มรายได้ สร้างความยั่งยืนเพื่อไม่ต้องพึ่งพาการตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป

ขั้นตอนการทำโครงการนี้เริ่มจากการศึกษาปัญหาอย่างจริงจังอย่าง “เข้าใจเข้าถึง” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากโดยใช้เวลา 4 ปีขึ้นไปในการค้นหาข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงจัดหาในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นระบบน้ำ การเกษตรไม่พอ อาจต้องสนับสนุนการทำปศุสัตว์ หรือการทำหัตถกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ และท้ายที่สุดต้องติดตามผลเพื่อตรวจสอบจำนวนป่าไม้ที่ยังคงอยู่

ดร.ธนพงศ์ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือกับ อบก.เพื่อลดแก๊สเรือนกระจกและติดตามผลของข้อมูลอีกด้วย เริ่มจากโครงการดอยตุงที่ลงทะเบียนนำร่องเมื่อ พ.ศ. 2560 จะมีการประเมินตัวเลข carbon credit ซึ่งสามารถซื้อได้ โดยเงินที่ได้รับนั้นจะใช้ในการดูแลป่าไม้ การเฝ้าระวัง การเพาะพันธุ์ป่าไม้ และการส่งเสริมอาชีพชุมชนให้มีความเข้มแข็งไม่กลับไปตัดไม้ทำลายป่าอีก สำหรับขั้นตอนการประเมินนั้นจะประเมินเมื่อต้นไม้โตมีอายุ 3 ปี โดยจะประเมินทุก 3-5 ปี มีจำนวนคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ดอยตุงประมาณ 100,000 ตัน รวมทุกโครงการประมาณ 300,000 ตันต่อปี

เบื้องหลังแรงบันดาลใจโครงการปลูกป่าซีพี

นางพัชรีกล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านการยั่งยืนทางทรัพยากรป่าไม้ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า โครงการนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการปลูกต้นไม้ แต่เครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นปลูกไม้ยืนต้นจำนวนมากทั้งในและนอกองค์กรมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ในปัจจุบันปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงนี้เข้าใกล้มนุษย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งล้มละลายซึ่งเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย และประเทศไทยเสียหายประมาณ 1 ล้านล้านถึง 1.5 ล้านล้านบาทแต่บริษัทประกันภัยนั้นสามารถชดเชยได้เพียง 800,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าเป็นกรณีที่รุนแรงที่สุดของโลกที่สูญเสียจากน้ำท่วมใหญ่ และภายหลังยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมสลับกับภาวะแล้งเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งในปีนี้ภัยแล้งอาจรุนแรงจนเกิดการขาดน้ำดื่มในอีก 6 เดือนข้างหน้า อีกทั้งเรื่องฝุ่น PM2.5

นางพัชรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะทำงานโครงการปลูกไม้ยืนต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์

นางพัชรีกล่าวถึงแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “เมื่อได้ศึกษาดูงานที่เมืองมิวนิคแล้วได้พบกับสวนหย่อมที่ช่วยลดมลพิษและให้อากาศที่สะอาด จึงคิดว่าจะดีแค่ไหนหากนำสิ่งนี้และสิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำแล้วขยายผลให้มากกว่านี้ได้ จึงรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานเมื่อ 15 ปีที่แล้วและทำได้สำเร็จในเวลา 15 เดือน แต่สิ่งนี้ไม่เพียงพอเนื่องจากปัจจุบันมีทั้งปัญหาฝุ่นและภัยธรรมชาติ ทำอย่างไรถึงจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ จึงปลูกต้นไม้ในสถานที่ทำงานมากขึ้นซึ่งเป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอีกด้วย”

เครือเจริญโภคภัณฑ์มีพื้นที่เฉพาะหน่วยงานหลักที่จะสามารถปลูกต้นไม้ได้จำนวน 1,500 แห่งทั่วโลกหากปลูกต้นไม้ 500 ต้นต่อหน่วยงานจะมีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 700,000 ต้น อีกทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานกว่า 300,000 หากปลูกคนละ 3-5 ต้นจะมีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งล้านต้น โดยการปลูก (ในเงื่อนไขของไม้ยืนต้นที่มีความหนาแน่น 25-30 ต้นต่อไร่) ดังนั้นการปลูกต้นไม้สองล้านต้นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องยาก

พร้อมกล่าวต่อว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนให้เกษตรกรที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอให้ปลูกไม้ยืนต้น และด้วยการแก้ไขมาตรา 7 สำเร็จส่งผลให้ต้นไม้ที่ปลูกในที่ของตนเองสามารถที่จะปลูกตัดและขายได้ ซึ่งไม้ยืนต้นนี้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันเนื้อไม้ที่มีคุณภาพสามารถขายได้ภายหลัง 10-30 ปี สามารถขายได้ไร่ละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถึงหลายล้านบาทขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ และในช่วงรอไม้ยืนต้นโตเครือเจริญโภคภัณฑ์มีรูปแบบธุรกิจให้เกษตรกรเหล่านี้คือการปลูกต้นกาแฟให้ True, 7-Eleven, CP All มะม่วงหิมพานต์ โกโก้ เห็ดโคน โดยมีผู้รับซื้อ เป็นพืชที่ปลูกในระยะสั้นและยาว กิ่งไม้ที่ตัดก็สามารถขายให้โรงงานอาหารสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือโรงงานอื่นๆ ในอนาคตเนื้อไม้เหล่านี้อาจใช้ในการค้ำประกันหรือการซื้อขายล่วงหน้า