14 มีนาคม 2567 – ตามที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนโยบายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นำมาสู่การผนึกกำลังครั้งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดโลกร้อน โดยเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังเครือฯ ลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างโอกาสคาร์บอนเครดิต” เพื่อให้กลุ่มธุรกิจของเครือฯ ได้มาแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึงการสร้าง Carbon Business อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดโลกเดือดที่เป็นวิกฤตอยู่ในตอนนี้ โดยภายในงานมี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวเปิดงาน พร้อมผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มธุรกิจของเครือฯ เข้าร่วมแชร์ความเห็นกันอย่างคับคั่ง ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (เวสท์) กรุงเทพฯ
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยว่า ในตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการเกิดมาตรการ CBAM ภาษีคาร์บอนข้ามแดน ทำให้ทุกประเทศในโลกต้องให้ความสำคัญ ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เครือซีพีโดยการนำของซีอีโอ ศุภชัย เจียรวนนท์ จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนและแนวทางร่วมกันในการพาเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ให้ได้ การผนึกกำลังของกลุ่มธุรกิจของเครือฯในครั้งนี้จึงเป็น “การนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ” ในการลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างโอกาสคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยการลดการปล่อยคาร์บอนใน scope 1-3 ไม่ใช่แค่ภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมมือกับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าด้วย ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจึงสำคัญ
ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของเครือฯ ในการทรานส์ฟอร์มไปสู่ความยั่งยืนต้องขับเคลื่อนผ่านกรอบ 5 ด้านสำคัญคือ 1.Transparency ความโปร่งใส มีเป้าหมายและต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยเครือฯ ได้มีการวางยุทธศาสตร์ความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวม 15 ข้อที่ชัดเจน 2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและแบรนด์ที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน รวมไปถึงสร้างความร่วมมือกับ stakeholder โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะต้องแชร์ความร่วมมือร่วมกัน 3.Leadership & Talents แต่ละกลุ่มธุรกิจต้องสร้าง Tone at the top ให้ผู้นำสูงสุดของทุกองค์กรนำการขับเคลื่อนให้ความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจ และจะต้องมีการพัฒนา “ผู้นำความยั่งยืนรุ่นใหม่” ในระดับขององค์กร 4.Empowerment แต่ละกลุ่มธุรกิจต้องมีการผนึกกำลังและใช้ ecosystems เครือฯ ในการสร้าง impact และเป็น change leader ร่วมกันผ่านความร่วมมือในโครงการต่างๆ และ 5.Technology พัฒนาเทคโนโลยีในการสนับสนุนความยั่งยืนผ่านแพลตฟอร์มหลักที่เครือฯได้สร้างขึ้นมาส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจนำไปใช้
การผนึกกำลังในครั้งนี้เรามีความเชื่อที่สำคัญร่วมกันว่าจะเป็นการหาแนวทางอุณหภูมิของโลกให้ลดลง หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเครือซีพีและกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ในฐานะภาคเอกชนพร้อมที่จะนำความรู้ไปขยายผลให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่ลดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น ในขณะเดียวกันเครือฯจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการลดคาร์บอนและเพิ่มพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เช่น การใช้ไฮโดรเจน โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่อีวี ดังนั้นแต่ละกลุ่มธุรกิจต้องมีการผนึกกำลัง โดยในตอนนี้เครือซีพีกำลังดำเนินโครงการ SLP: Carbon credit business ถือว่าโครงการนำร่องที่ได้นำเป้าหมายและนโยบายลดคาร์บอนมาสู่การปฏิบัติติให้เกิดขึ้นจริง และโครงการ 5 ประสาน: ผนึกกำลังลดต้นทุนพลังงาน การใช้พลังงานสะอาดให้เกิดทั้งภายในและขยายผลไปสู่ภายนอกองค์กร
“การลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นเรื่องของทุกคนของทุกภาคส่วน การที่เครือซีพีผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนลดการปล่อยคาร์บอนสู่เป้าหมาย Net Zero จะเป็นแรงกระเพื่อมขยายวงกว้างออกไปในการร่วมมือกับทุกคนสร้างโลกที่ยั่งยืนร่วมกัน”
นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมาร์ ในฐานะหนึ่งในผู้ทำโครงการ SLP : Carbon Credit Business เปิดเผยว่า ผู้บริหารของทุกกลุ่มเครือฯ ได้ให้ความสำคัญในการนำเป้าหมายและนโยบายลดคาร์บอนมาสู่การปฏิบัติติให้เกิดขึ้นจริงให้เร็วที่สุด เพื่่อนำพาองค์กรมุ่งสู่ Net Zero 2050 ในการขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ จึงเป็นผนึกกำลังของผู้บริหารร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Business Model เพื่อลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจภาคเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของเครือซีพี เราได้ดำเนินการร่วมมือกับพาร์เนอร์ระดับโลกในการนำความเชี่ยวชาญทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาสนับสนุนเกษตรกรทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียนให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามหลักค่านิยมองค์กร 3 ประโยชน์ที่เครือซีพีและกลุ่มธุรกิจยึดมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ สังคม และท้ายที่สุดจึงเป็นองค์กร
ด้านศาสตราจารย์ ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในตอนนี้ประเทศไทยหลายภาคส่วนตื่นตัวกับเรื่องการลดคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาคเกษตรถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งให้องค์ความรู้และนำนวัตกรรมมาเสริม ซึ่งในส่วนนี้เห็นได้ชัดจากการวางแนวทางของเครือซีพี ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการมีแผนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวครอบคลุมตลอดทั้งองค์กร คู่ค้าและผู้บริโภค ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ เครือซีพี และบริษัทในเครือ ได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้รวมถึงการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop ที่ห้างค้าปลีกค้าส่งซึ่งในตอนนี้มีการติดตั้งไปแล้ว 4,950 แห่ง
นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งในหลังคาโรงงาน เช่น ที่ซีพีแรมได้ปรับเป็นโรงงานสีเขียวรวม 7 แห่งทั่วประเทศ สามารถลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 9 ล้านต่อปี ในขณะเดียวกันมีการใช้ไบโอแก๊สทดแทนการใช้ไฟฟ้าของฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ไข่ไปแล้ว 55% ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงกว่า 1.7 แสนตันคาร์บอน เช่น กรณีซีพีเอฟ ได้มีการจัดทำ GreenFarm ในฟาร์มสุกร 98 แห่ง เป็นต้นแบบฟาร์มรักษ์โลก มีการจัดการของเสียในฟาร์มด้วยไบโอแก๊สและการปลูกไม้ยืนต้นในฟาร์ม ทำให้ลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้มากถึง 80% ของไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้มีการผลิตภัณฑ์สีเขียวกว่า 818 รายการ ที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และกว่า 56 รายการได้รับรองฉลาดลดโลกร้อน
ทั้งนี้ เครือได้มีการวางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แบ่งเป็น Scope 1 และ 2 เน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โซลาร์พีวี ก๊าซชีวภาพ รวมไปถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20% และลดขยะของเสียสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ทั้งในเรื่องของการผลิตปุ๋ย การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และในส่วนของ Scope 3 เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่เครือต้องทำให้สำเร็จ ด้วยการร่วมมือกับคู่ค้าในการลดคาร์บอน 25% ลดคาร์บอนจากเกษตรกรรม 30% และการลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้รถยนต์ EV ในการขนส่งสินค้า และการบริหารจัดการ Logistics เป็นต้น