ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ศุภชัย เจียรวนนท์” ชวนธุรกิจจับมือเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ชี้ “ทุกคนสามารถเปลี่ยนได้”

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ชวนธุรกิจจับมือเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ชี้ “ทุกคนสามารถเปลี่ยนได้”

7 กรกฎาคม 2019


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวปาฐกถาในเวทีการประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 ที่ Yunus Center และภาคีเครือข่ายชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมจัดขึ้นที่ประเทศไทย ว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่วิทยาศาสตร์ ข้อมูล เทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนแปลงโลก และสร้างโอกาสใหม่ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่เราทุกคนสามารถที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนดอนาคตที่เราต้องการ

บทบาทที่สำคัญของซีพีมีอยู่ 3 ประการ ประการแรก ด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง” มาจาก “จากภายในสู่ภายนอก” (Inside Out) เริ่มต้นจากการดูแลพนักงาน 350,000 คน ใน 21 ประเทศที่เข้าไปลงทุน ให้เหมือนกับดูแลคนในครอบครัว ตลอดจนดูแลพันธมิตรธุรกิจและคู่ค้านับหมื่นรายที่เป็นตัวแทนครอบครัวซีพี

ประการที่สอง บทบาทและความรับผิดชอบของซีพีที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากซีพีเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีเครือข่ายที่กว้างขวาง จึงมีโอกาสมากพอที่จะช่วยนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่โลก

ประการสุดท้าย บทบาทด้านส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนรวมถึงการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในประเด็นนี้นายศุภชัยได้กล่าวถึงบทบาทของซีพีในการเป็นผู้นำสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) ว่าสมาคมฯ มีนโยบายขับเคลื่อน 4 เสาหลัก คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน, มาตรฐานแรงงาน, และการต่อต้านการทุจริต ซึ่ง GCNT เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในระดับโลกอย่างแท้จริง ปัจจุบันในประเทศไทยมีองค์กรต่าง ๆ ร่วมเป็นสมาชิกถึง 40 องค์กร ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและผลักดันหลักปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ด้วยการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ โดยขับเคลื่อนกลยุทธ์ผ่านการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน การประชุมสัมมนา การอภิปราย และการฝึกอบรม ฯลฯ นอกจากนี้ยังสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ เช่น One Young World เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำที่มี “กรอบความคิด” ที่ถูกต้อง ซึ่งผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้จะช่วยนำเสนอ “นวัตกรรม” ที่เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก

ขยะและมลพิษ วิกฤตโลกที่น่าห่วง

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า หนึ่งในวิกฤตการณ์โลกที่น่าเป็นห่วงคือ ขยะและมลพิษ ซึ่งกำลังคุกคามสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืน โดยพบว่าปีที่แล้ว มีขยะมากกว่า 2,000 ล้านตันจากประชากร 7,000 ล้านคน ถ้าเรายังไม่รีบแก้ปัญหา ภายในปี 2593 ปริมาณขยะบนโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 70% หรือเท่ากับ 3,400 ล้านตัน ซึ่งขยะที่มีปริมาณมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร (44%) กระดาษและลัง (17%) พลาสติก (12%) และ 60% ของขยะทั้งหมดบนโลกมาจากทวีปเอเชียกับยุโรป

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่าในแต่ละปีมีประชากรโลกประมาณ 7 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยโรคร้ายอย่างมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคปอด ซึ่งเกิดจากมลพิษทางอากาศ โดย 90% ของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง และเป็นประเทศที่มีการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และเกษตรกรรมในอัตราที่สูง และมลพิษทางอากาศยังเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่และรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ในส่วนของเครือซีพีมี “นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมให้ทุกหน่วยธุรกิจคิดและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ “5Rs” ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค หรือ Re-educate เพื่อลดการก่อให้เกิดของเสีย 2. การลดการใช้พลาสติก หรือ Reduce 3. การรีไซเคิลพลาสติก หรือ Recycle 4. การใช้วัสดุทดแทน หรือ Replace และ 5. การค้นคว้าวิจัยนวัตกรรม หรือ Reinvent

พร้อมกันนี้ได้ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำฟาร์มแบบยั่งยืนที่ไม่มีของเสียหรือไม่ก่อให้เกิดขยะ เช่น การใช้ก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการทำฟาร์มสุกร การใช้พลังความร้อนจากใต้ดิน ในขณะที่น้ำเสียจะได้รับการบำบัดก่อนนำไปใช้เพื่อการชลประทาน รวมถึงยังมีการออกแบบฟาร์มกุ้งระบบปิดแบบบูรณาการในสหรัฐอเมริกา โดยเครือซีพีมีเป้าหมายที่ท้าทายว่าเราจะเป็นองค์กรปลอดคาร์บอน ซึ่งในปัจจุบันหลากหลายธุรกิจทั่วโลกต่างมองหาหนทางที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกในทุกขั้นตอนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์และสะสมคาร์บอนเครดิต

ในขณะเดียวกันจะผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ระบบดาวเทียมที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถระบุพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยจัดโซน และลดอัตราความล้มเหลวให้เหลือน้อยที่สุดได้ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีก่อให้เกิดทางเลือกในการแก้ปัญหาแต่ละประเภทได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เอื้อประโยชน์และสร้างโอกาสแก่ผู้คนคนรอบตัว

3 วงกลม หลักการเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

นายศุภชัยได้กล่าวถึงการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรที่ดี (Good Corporate Citizens) ที่มีส่วนร่วมในการสร้างแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ดีที่สุดในระดับโลก ไม่ใช่แค่ทำตามกฎและข้อบังคับเท่านั้น

“ในมุมมองของผม ความรับผิดชอบต่อสังคมและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ควรเป็นรากฐานสำคัญของทุกสิ่งที่เราลงมือทำหรือตั้งใจจะทำในอนาคต ซึ่งต้องเริ่มจากตัวเราในระดับบุคคลก่อนจะแผ่ขยายไปยังผู้คนรอบตัว ตามที่ศาสตราจารย์ยูนุสได้พิสูจน์และเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วหลายต่อหลายครั้ง”

โดยเน้นว่า“คน” หรือ “บุคลากร” เป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าที่สุด เครือซีพีจึงจำเป็นต้องฝึกฝนบุคลากรให้มีความสามารถ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Ecosystem) เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของค่านิยมองค์กรและความยั่งยืน โดยเครือซีพีได้ก่อตั้งสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Leadership Institute) เพื่อฝึกอบรมผู้นำและผู้บริหารรุ่นใหม่ปีละกว่า 4,000 คน โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบต่อสังคม หลักธรรมาภิบาล และจริยธรรม

นายศุภชัยได้กล่าวถึง “หลักการ 3 วงกลม” (The Three – circle Principle) ประกอบด้วยวงกลม 3 กลม ได้แก่ วงสังคม วงเศรษฐกิจ และ วงสิ่งแวดล้อม

วงแรก ด้านสังคม เราทุกคนต่างแสวงหาความฝัน ความมั่นคง และความสุข โดยมีความรัก(Love) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) เป็นรากฐานในการสร้างคุณค่าทางสังคมและการแบ่งปัน รวมถึงเป็นสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อสร้างโมเดลในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

“เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นอกเห็นใจจะทำให้เราเกิดความเข้าใจและรู้สึกมีส่วนร่วมต่อกันและกันอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่แนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมอย่างยั่งยืนในที่สุด ซึ่งหมายความว่าพวกเราทุกคนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของเราที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น” นายศุภชัย กล่าว

วงที่ 2 ด้านเศรษฐกิจ หมายถึงองค์กรต้องแน่ใจว่าธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่นั้นมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงพอที่จะเป็นกำลังในการทำความดีได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะยิ่งใหญ่ได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่ความสามารถและความเป็นผู้นำที่ดี องค์กรจำเป็นต้องดึงดูดและแสวงหาการลงทุน รวมถึงรักษาผู้คนในองค์กรไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มี Passion และมีความเป็นผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ความรัก(Love)และความเห็นอกเห็นใจ(Compassion)จะก่อให้เกิดผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งบริษัทต้องการผู้นำเหล่านี้เพื่อสร้างความสำเร็จในระยะยาวแก่องค์กร

วงที่ 3 ด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรต้องขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แม้ว่านวัตกรรมจำนวนมากจะถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่สามารถที่จะหยุดฝัน หรือ หยุดทำงานหนัก เพื่อที่จะสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ความสำเร็จไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่ความรักและความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เราเดินตามความฝันได้ต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะเกิดความร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต เพราะความร่วมมือจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“การบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึง ขยะและมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราอาจได้ใช้ชีวิตอยู่ทันเห็นท้องฟ้าเป็นสีดำ มหาสมุทรเป็นพิษ อากาศที่ใช้หายใจไม่ได้ รวมไปถึงความแตกต่างและความขัดแย้งที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง เราต้องยอมรับความจริง ว่าตอนนี้พวกเรายังทำได้ไม่ดีพอ “เราต้องเปลี่ยน เราสามารถเปลี่ยนได้ และเราต้องเปลี่ยน” เพื่อตัวเองและลูกหลานในภายภาคหน้า” นายศุภชัย กล่าว