ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ซีอีโอเครือซีพีขึ้นเวที UN Global Compact Leaders Summit 2020 โชว์เคสก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

ซีอีโอเครือซีพีขึ้นเวที UN Global Compact Leaders Summit 2020 โชว์เคสก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

18 มิถุนายน 2020


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเวที “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020”

ซีอีโอเครือซีพีขึ้นเวที UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 โชว์เคสการนำซีพีก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 เป็นกรณีศึกษา ชี้วิกฤติโลกร้อนจะรุนแรงกว่าวิกฤติโควิด-19 หลายเท่าตัว ปลุกพลังภาคธุรกิจทั่วโลกเตรียมรับมือและรวมพลังสร้างความยั่งยืน

เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2563 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเวทีระดับโลกของสหประชาชาติ “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020” ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Recover Better, Recover Stronger, Recover Together” เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” (Reflections on Change & Roadmaps to Recovery) โดยหัวข้อนี้ผู้ร่วมอภิปรายที่เป็นผู้นำจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ คลาร่า อาภา อโซฟรา ซีอีโอแห่ง ARPA Equipos Móviles de Campaña ประเทศสเปน คาร์มานี เรดดี้ นักพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืนของบริษัท Distell ประเทศแอฟริกาใต้ และฟิลลิป เจนนิงส์ อดีตเลขาธิการ UNI Global Union และ เฟมิ โอคิ ผู้สื่อข่าวระดับนานาชาติ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

การสัมมนาขึ้นในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ UN Global Compact ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติที่ผนึกกำลังภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลกร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยครั้งนี้จัดประชุมสัมมนารูปแบบออนไลน์ Virtual Meeting มีผู้ร่วมประชุมกว่า 15,000 คน จาก 193 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ทาง UN Global Compact สนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการนำองค์กรธุรกิจก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยขอให้เครือเจริญโภคภัณฑ์แบ่งปันประสบการณ์บนเวทีครั้งนี้ ซึ่งนายศุภชัย ได้เปิดเผยถึงแนวการรับมือกับโควิด-19 ว่า เครือซีพีตระหนักเป็นอย่างมากในการให้ความสำคัญกับวิธีการที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในท่ามกลางวิกฤติ ซึ่งสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือนโยบายเพื่อดูแลพนักงาน โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเลิกจ้าง เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการรักษางานเพื่อสร้างความมั่นคงให้พนักงาน และเป็นการไม่เพิ่มภาระและปัญหาให้สังคม

นอกจากนี้เครือซีพีได้นำจุดแข็งขององค์กรคือการดำเนินธุรกิจด้านอาหารไปช่วยเหลือสังคมที่กำลังเดือดร้อน โดยมีการจัดส่งอาหารให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ผู้ป่วย COVID-19 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสมาชิกในครอบครัว และผู้ที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค รวมทั้งการสร้างโรงงานเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไปเพื่อบรรเทาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

นายศุภชัยได้กล่าวแนะนำภาคธุรกิจเอกชนด้วยว่า เรื่องสำคัญที่ควรวางแผนการเผชิญกับวิกฤติในอนาคต คือมุ่งเน้นการรักษางานของพนักงานในองค์กรเอาไว้ และต้องไม่หยุดลงทุน เพื่อนักลงทุนจะไม่ได้สูญเสียความมั่นใจ เพราะสิ่งที่จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือการที่ประชาชนทั่วไป ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น และนั่นจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น การดำเนินธุรกิจควรให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงต้องระมัดระวังว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงวิกฤติที่เกิดขึ้นชั่วคราวที่โลกสามารถจัดการรับมือได้แม้จะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าในที่สุดโควิด-19 ก็จะหายไป แต่ความท้าทายของโลกที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามคือปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาขยะ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนทั้งสิ้น ภาคธุรกิจเอกชนทั้งหลายเมื่อต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 และก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ จะต้องกลับมาผนึกกำลังความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และอื่น ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ที่จะนำมาสู่ความยั่งยืน

โดยซีอีโอเครือซีพีกล่าวให้กำลังใจภาคธุรกิจเอกชนพร้อมปลุกพลังด้วยว่า “ผมเชื่อว่าวิกฤติมาพร้อมกับโอกาสเสมอ การเปลี่ยนรูปแบบ (Reform) ธุรกิจขององค์กร จะผลักดันให้เรากลายเป็นนวัตกรรมมากขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคน สร้างภาวะผู้นำอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร เราต้องทำให้ดีที่สุดจากสถานการณ์ครั้งนี้”

พร้อมย้ำว่า…

“ผู้นำในวันนี้ต้องนำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) และมีจิตสำนึก (Mindset) ด้านความยั่งยืน เป็นตัวอย่างที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญ คือ ควรเห็นความสำคัญของการร่วมมือ เพราะเราไม่สามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนเพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยการสร้างพันธมิตร ความร่วมมือแบบประชารัฐ (Public Private Partnership) จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้นำองค์กรจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ สินค้า บริการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขององค์กร โดยจะต้องลงมือทำอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม”

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีซีอีโอจากบริษัทชั้นนำและผู้นำการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนระดับโลกทั้งจากสหประชาชาติและภาคธุรกิจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นายอันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นางแองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำในการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางลิเซ่ คิงโก้ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact นางเฮเลนา เฮลเมอรส์สัน ซีอีโอของ H&M รวมทั้งนายพอล โพลแมน อดีตซีอีโอของยูนิลีเวอร์ ที่มองว่า การจะฟื้นตัวและสร้างใหม่ให้ดีขึ้น หรือ Build Back Better นั้น สิ่งสำคัญคือบทบาทของผู้นำ โดยหวังว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ จะช่วยทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าโลกต้องการให้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นเป้าหมายสำคัญของโลก

ขณะที่ นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำในการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์มองข้ามและได้รับผลกระทบจากความประมาท ขณะที่ปัญหาเรื่อง Climate Change และ Carbon Asset ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มจะลดลงหากปราศจากการกระทำที่จริงจังและแพร่หลาย จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาคเอกชนและภาครัฐที่จะต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างการฟื้นฟู ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย