ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหามา… ปัญญามี​ (3): Liquidity

ปัญหามา… ปัญญามี​ (3): Liquidity

30 มีนาคม 2020


ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak

ต่อจากตอนที่ 2 ปัญหามา… ปัญญามี​ (2): Survival Mode

มาตรการต่างๆ​ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจได้ทยอยออกมาแล้ว

ล่าสุดเพิ่งประกาศเมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา​ เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้​มีเสถียรภาพ​ ไม่กระทบไปถึงนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ​ และยังคงให้บริษัทคุณภาพดี​ ยังมีช่องทางในการหาเงินกู้​ต่อไป

  • คลัง-ธปท.-ก.ล.ต. จับมือออก 3 กลไกพิเศษเสริมสภาพคล่อง
  • กนง.มีมติ 4:2 คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ออกมาตรการดูแลลูกหนี้เพิ่ม ชี้ “เสริมสภาพคล่อง” ให้ตรงจุด
  • คลังเตรียมพ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนล้าน จัดแพกเกจเยียวยา “โควิด-19” เฟส 3
  • ตอนนี้ที่น่าติดตามต่อก็คือ​ จะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อช่วยปรับสภาพธุรกิจของ​ SME​ กว่า​ 2 ล้านราย​ ให้สามารถประคองตัว​ ดำรงอยู่รอด​ ในช่วงวิกฤตินี้​ และ​เตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    มาตรการช่วยเหลือตอนนี้ที่เห็น​ มาจากธนาคารพาณิชย์​ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเวลา​เท่านั้น​ ได้แก่​ พักชำระเงินต้น​ จ่ายแต่ดอกเบี้ยเท่านั้น

    แต่… สิ่งที่กำลังเกิดคือ​ ธุรกิจส่วนใหญ่เกิดการหดตัว​ ลดขนาดลง​ อย่างกะทันหัน​ 70-80% อย่างต่ำ

    นั่นหมายความว่าเงินกู้ที่มีอยู่นั้น​ เมื่อ​ผ่าน​ 6 เดือนไปแล้ว​ จะต้องกลับมาชำระคืนต่อ​ แต่ขนาดของธุรกิจเขาไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับปกติในช่วง​ 6 เดือนจากนี้แน่นอน

    มาตรการที่ควรออกมารองรับ​ น่าจะประกอบไปด้วย

    1. การปรับโครงสร้างหนี้เก่า

    หนี้ที่พักไว้​ ภาระหนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่​ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่จะค่อยๆ​ เพิ่มขึ้น​ เมื่อธุรกิจกลับมา

    มาตรการการปรับโครงสร้างหนี้จะทำอย่างไร​ ต้องมีการปรับเกณฑ์อะไรชั่วคราวหรือไม่​ เพื่อให้ไม่กระทบสถานะการเงินของแบงก์พาณิชย์​ เพื่อที่จะสามารถเป็นแหล่งเงินในการปล่อยกู้รอบใหม่ให้​ SME

    2. สินเชื่อหมุนเวียนใหม่

    ผมเชื่อว่า​ ไม่เกิน​ 1-2​ เดือนข้างหน้านี้​ SME​ ที่มีวงเงินทุนเวียนกับธนาคาร​ คงใช้หมดไปแล้ว​ แล้วก็ต้องการการปรับโครงสร้างหนี้ตามข้างบน

    การจะฟื้นฟูธุรกิจกลับมา​ ต้องมีเงินใหม่ใส่เข้าไป​ แหล่งเงินที่ดีที่สุดก็คือ​ ธนาคารพาณิชย์

    แต่ในช่วงสุ่มเสี่ยงแบบนี้​ ธนาคารแต่ละแห่งจะปล่อยสินเชื่อให้​ SME​ หรือไม่

    ถ้าเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ชัดเจน​ ลูกหนี้ทุกคนสามารถลดภาระจากหนี้เก่าได้แล้ว

    เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อใหม่สามารถดำเนินต่อได้​ กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.​ (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมรายย่อย)​ เป็นตัวหลักที่สำคัญยิ่ง

    ระดับการค้ำประกัน​ต้องเพิ่มขึ้นไปจาก​ระดับปัจจุบัน 40% ถ้าสูงขึ้นไปถึง 70-80% แบบอังกฤษได้ยิ่งดี

    ตอนนี้เราต้องการให้แบงก์แย่งกันเข้ามาช่วย​ SME​ ถ้าค้ำประกันแค่​ 40% แบงก์จะลังเล​ แล้วก็จะเกิด​ NPL ที่ไม่อยากให้เกิด​ แล้วจะทำให้วงจรการปล่อยกู้รายย่อยหยุดชะงัก​ แล้วจะไปกันใหญ่

    ทำไมไม่ใช้กลไกแบงก์รัฐปล่อยแทน

    หนึ่ง แบงก์รัฐไม่ได้เป็นผู้นำตลาด​ SME​ แบงก์พาณิชย์รู้จักลูกค้าอยู่แล้ว​ มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว​ การปล่อยกู้ทำได้ดร็วกว่า

    สอง เม็ดเงินที่ใส่ไปกับการปล่อยกู้กับการค้ำประกันมีประสิทธิภาพต่างกัน​ 1 บาทของการปล่อยกู้​เอง​ จะเทียบเท่า​ 6-7 บาทของการปล่อยสินเชื่อผ่านการค้ำประกัน​ เนื่องจาก​ multiplier effect ของการค้ำประกัน

    ตอนนี้​ทำได้อย่างเดียวคือ​ รอดูมาตรการที่จะออกมา

    หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กล้มยักษ์/Lom Yak วันที่ 24 มีนาคม 2563