ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหามา…ปัญญามี (8): มาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs ผ่านโครงการ Soft Loan ของธปท.

ปัญหามา…ปัญญามี (8): มาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs ผ่านโครงการ Soft Loan ของธปท.

11 พฤษภาคม 2020


ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak

จนถึงวันนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้นจะรุนแรงเพียงใด ความชัดเจนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการผลิตคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้วเท่านั้น ซึ่งหลายสำนักล้วนให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ การผลิตวัคซีนจะกระจายได้ทั่วถึงนั้น ก็ต้องรอไปจนถึงปลายปี 2564 นั่นทีเดียว ชีวิตของผู้คนจึงจะกลับไปเข้าสู่วิถีชีวิตที่เป็นปกติ ไม่ต้องกังวลเรื่องการสัญจรไปมา การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน รวมถึงการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องกังวล หวาดระแวง นอยด์ไปหมด กลัวจะติดโรคโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ธุรกิจทั้งหลายจึงต้องประคองตัวเองให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยไปอีกอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง จึงจะสามารถลุยการตลาด เดินหน้าเต็มตัว เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปได้ตามศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละธุรกิจ

มาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน (soft loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ระยะเวลา 2 ปี ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่สายป่านสั้น ได้มีเงินทุนหมุนเวียนต้นทุนถูก เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ SMEs ก็แบกรับภาระต้นทุนกันจนหลังแอ่น การไปขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง แล้วยังต้องจ่ายดอกราคาแพง เป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็น

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารที่ปล่อยกู้ผ่านโครงการนี้ จะได้รับการแชร์ความสูญเสียอันเกิดจาก NPL ที่ระดับ 70% ทีเดียว เพื่อเป็นการจูงใจให้ธนาคารเร่งปล่อยกู้ให้ SMEs โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง NPL มากจนเกินไป

โครงการซอฟต์โลนได้เปิดให้ธนาคารเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ มีการเบิกใช้ไปแล้ว 36,000 ล้านบาท คิดเป็น 7.2% ของงบประมาณทั้งหมด 500,000 ล้านบาท ดูออกจะน้อยไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับความต้องการที่ล้นหลามของ SMEs ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามตามติดธนาคารต่างๆ ให้มาใช้สินเชื่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ ธนาคารชี้แจงว่าต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการประเมินราคาสินทรัพย์ และจดจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันเพิ่ม เนื่องจากภาวะเช่นนี้ ลูกหนี้ SMEs มีความเสี่ยงสูงมาก ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยชดเชยความเสียหายของ NPL ในสัดส่วน 70% การปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้สำหรับ SMEs รายเล็ก ขณะที่ช่วยแบ่งเบาความสูญเสียให้ 60% สำหรับ SMEs รายกลาง ธนาคารยังต้องรับความเสี่ยงอีก 30-40% ของหนี้ที่จะเสีย ดังนั้น เพื่อลดการสูญเสีย บางธนาคารจึงต้องขอหลักประกันเพิ่ม

หากทุกธนาคารใช้หลักเกณฑ์นี้ เชื่อว่า SMEs ก็ยังคงเข้าไม่ถึงโปรแกรมนี้สักเท่าไร เนื่องจากในสภาวะเช่นนี้ คงยากที่ SMEs จะหาหลักประกันมาเพิ่มให้ได้ หากมี ก็คงเป็น SMEs รายใหญ่ขึ้นมาแล้ว รายเล็กๆ ก็จะอ่อนเปลี้ย ค่อยๆ หมดลมหายใจไปเรื่อยๆ

ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐมีสินเชื่อ SMEs 2 โครงการใหญ่ที่ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์

1. โครงการค้ำประกัน PGS 8 (Portfolio Guarantee Scheme Phase 8) มีวงเงิน 150,000 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี โดยธนาคารได้รับการชดเชยความสูญเสียจาก NPL ถึงระดับ 40% โดยที่ธนาคารไม่ต้องรับความสูญเสียใดๆ ทั้งสิ้นของ NPL ตั้งแต่ 0-40% (first loss) ธนาคารจะเริ่มรับความเสี่ยงเองทั้งหมดสำหรับ NPL ที่เกิน 40% ขึ้นไป (second loss)

2. โครงการซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย มีวงเงิน 500,000 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี โดยใน 2 ปีนี้ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ย SMEs เพียง 2% เท่านั้น ภายใต้โครงการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยแบ่งรับความสูญเสีย first loss จาก NPL ในสัดส่วน 70% ธนาคารพาณิชย์เริ่มรับความสูญเสียตั้งแต่ first loss แต่รับเพียงสัดส่วนที่เหลือ 30% หากเป็น SMEs รายใหญ่ขึ้นมาที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารเกิน 50 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยแชร์ส่วน first loss นี้ที่ 60%

ปัจจุบันนี้ ทั้ง 2 โครงการมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ หากธนาคารพาณิชย์กังวลเรื่องการรับความสูญเสีย first loss เนื่องจากกระทบกำไรของธนาคารทันที จะมองว่าโครงการซอฟต์โลนไม่น่าใช้ โครงการ PGS8 น่าใช้กว่า (เนื่องจากไม่ต้องรับ first loss ของ NPL 40% แรก) SMEs ไม่ต้องหาหลักประกันมาเพิ่ม แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพงกว่าตามต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ดอกเบี้ยภายใต้โครงการ PGS8 หากมีการเสนอให้ SMEs ในช่วงนี้ ดอกเบี้ยต่ำสุดที่จะได้รับไม่น่าจะต่ำกว่า 4%

หาก SMEs อยากได้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ของโครงการซอฟต์โลนธนาคารที่ต้องการจำกัด first loss ที่จะเกิดขึ้น จึงขอหลักประกันเพิ่มตามที่ผู้บริหารธนาคารให้ข่าว

ทำอย่างไรจะให้ SMEs สามารถได้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ขณะที่ธนาคารไม่ต้องขอหลักประกันเพิ่ม โดยที่ธนาคารคลายกังวลเรื่องความสูญเสีย first loss ในช่วง 2 ปีแรกไปได้

ข้อเสนอของผมคือ จับ 2 โครงการมารวมกัน โดยที่ให้ PGS8 รับความสูญเสีย first loss ที่ 40% ทั้งหมด ขณะที่ใช้โปรแกรมซอฟต์โลนเป็น second loss ให้ธนาคารพาณิชย์แบ่งรับความสูญเสียบางส่วน (ตามสัดส่วนของโปรแกรมซอฟต์โลน) ในส่วนของ NPL ที่เกิน 40% ขึ้นไป กำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกเป็น 2% หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยปกติ ทั้งนี้ต้องขยายวงเงิน PGS8 เพิ่มจาก 150,000 ล้านบาท เป็น 500,000 ล้านบาทให้สอดคล้องกับซอฟต์โลน

หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำเช่นนี้ต้องผลาญงบประมาณรัฐเพิ่มอีกกี่แสนล้านบาท

คำตอบคือ แทบไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มจากที่เตรียมอยู่ในปัจจุบันเลยครับ

ภายใต้โครงการปัจจุบัน รัฐตั้งงบประมาณรองรับทั้งสองโครงการสูงสุดที่ประมาณ 287,500 ล้านบาท ประกอบด้วย 60,000 ล้านบาท (40% ของ 150,000 ล้านบาท) ภายใต้โครงการ PGS8 และ 227,500 ล้านบาท (คิดค่าเฉลี่ยของการแชร์ความสูญเสียที่ 65% ของ NPL ที่ระดับ 70% ของ 500,000 ล้านบาท) ภายใต้โครงการซอฟต์โลน

ภายใต้ข้อเสนอของผม รัฐต้องเตรียมงบประมาณรองรับโครงการ PGS8 200,000 ล้านบาท (40% ของ 500,000 ล้านบาท) และ 97,5000 ล้านบาทรองรับโครงการซอฟต์โลน (65% ของความสูญเสีย second loss 150,000 ล้านบาท) รวมทั้งสิ้น 297,500 ล้านบาท

การคำนวณเปรียบเทียบข้างต้น เป็นการคำนวณคร่าวๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการรวม 2 โครงการเข้าด้วยกัน ความต่างของการใช้งบประมาณสูงสุดอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท นับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่สามารถกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยกู้ให้ SMEs เพื่อแก้ปัญหาให้เร็ว โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาขอหลักประกันเพิ่ม เปิดประตูการเข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำได้กว้างขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs