ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak
ต่อจากตอนที่1ปัญหามา… ปัญญามี (1): ต่อลมหายใจ
ถึงตอนนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มแต่จะมากขึ้น และจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าเราจะควบคุมการระบาดได้
ซึ่งหากดูจากตัวเลขของประเทศไทย เทียบกับตัวเลขของประเทศฝั่งตะวันตก ดูจะมีแนวโน้มคล้ายๆ กัน คือ ยังอยู่ในช่วงไต่ขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่มีวี่แววของกราฟที่จะปรับตัวแบนระนาบขึ้น (flattened graph)
นั่นหมายความว่า มาตรการรับมือของทางรัฐบาล ก็จะเข้มงวดขึ้น เป็นลำดับ
ธุรกิจถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวปรับแผนตัวเองเข้าสู่ survival mode อย่างเต็มตัว
แผนการในช่วง survival mode มีอะไรบ้าง
1. ธุรกิจถูกบังคับให้ลดขนาดลงแบบทันที เราต้องหาขนาดใหม่ที่เหมาะสมของเราให้เจอ ขนาดธุรกิจใหม่นี้มีอยู่ 2 นัย
- กระแสเงินสดของธุรกิจในแต่ละเดือนต้องปรับเข้าสู่สถานะเป็นบวก หรือไม่ทะลุเกินทุนสำรองกรณีฉุกเฉินให้ได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้
- ขนาดของธุรกิจใหม่ ต้องมีทรัพยากร ทีมงาน ที่พอจะรองรับกับการฟื้นตัวแบบช้าๆ ไปจนสิ้นปีนี้
2. ผลกระทบของ survival mode มีกับใครบ้าง ต้องเดินหน้าเข้าเจรจาอย่างเร่งด่วน
- คู่ค้า ยืดเทอมได้มั้ย ขยับอะไรได้บ้าง
- เจ้าหนี้ธนาคาร มาตรการช่วยเหลือของธนาคารที่เราใช้อยู่เพียงพอมั้ย หากไม่เพียงพอ ต้องรีบเจรจา ระหว่างเจรจาต้องอย่าเป็น NPL เพราะถ้าเป็น NPL เมื่อไร ออปชันเราจะหดหาย มีทางเลือกน้อยมาก
- พนักงาน จะดูแลกันยังไง ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ทุกธุรกิจกำลังเผชิญ ต้องจัดการส่วนนี้ให้เร็วที่สุด เสมือนการหยุดการไหลออกของเลือด ถ้าห้ามเลือดได้เร็ว จะได้มีเวลาหาแนวทางรักษา ประคับประคองธุรกิจต่อไป
3. เมื่อสามารถหยุดเลือดได้แล้ว หรือสามารถ stabilize ขนาดธุรกิจใหม่ได้แล้ว มาเตรียมการหาแหล่งรายได้ใหม่เพิ่ม โดยดูจาก core competency หรือจุดแข็งของทีมงานที่มี ว่าสามารถแตกแขนงไปทำอะไรที่ยังมีโอกาสในช่วงนี้
ธุรกิจแบบ B2C นั้นชัดเจนหน่อย สามารถเปลี่ยนช่องทางไปเพิ่มออนไลน์ได้เลย สามารถทุ่มทรัพยากรเพิ่มไปในส่วนออนไลน์ได้
ธุรกิจ B2B อาจจะหนักหน่อย หากคู่ค้าของเราเขาไม่สามารถแตกหน่อไปทำออนไลน์ได้ ต้องเสาะแสวงหาไอเดียใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกของธุรกิจในระยะยาวได้เลย
สิ่งสำคัญตอนนี้คือ หาขนาดใหม่ที่เหมาะสมของเราให้เร็วที่สุด และลดขนาดลงในทันที เพื่อหยุดการไหลของเงินสดในธุรกิจ และเดินหน้าจากจุดนั้น
อย่ารีรอ ลังเล จนไม่สามารถควบคุมได้ เสียเวลาแก้ปัญหาเก่ารายวัน ไม่มีเวลาเตรียมตัวกับการสร้างสรรค์ใหม่ๆ
โอกาสในอนาคตมีแน่ จะเป็นของเราหรือไม่
ขึ้นอยู่กับเราว่า สามารถพาตัวเองไปสู่โอกาสใหม่ได้หรือไม่
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กล้มยักษ์/Lom Yak วันที่ 23 มีนาคม 2563