ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ถอดบทเรียนคดีอู่ตะเภา กับ บรรทัดฐาน “เรื่องเวลา” ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ถอดบทเรียนคดีอู่ตะเภา กับ บรรทัดฐาน “เรื่องเวลา” ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

27 กุมภาพันธ์ 2020


แม้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะประกาศผลออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือกลุ่มที่นำโดยนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ตัวเลข 3.05 แสนล้าน เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐดีที่สุด โดยคาดว่ากระบวนการเจรจา จัดทำรายละเอียดร่างสัญญา และรายละเอียดด้านเทคนิค กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตาม คำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ยังคงมีประเด็นสำคัญเรื่อง “กำหนดเวลา” ที่ติดอยู่ในใจหลายคน และเป็นข้อโต้แย้งที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องอย่างคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกยกขึ้นต่อสู้ คือ

หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องรับซองข้อเสนอเจ้าปัญหา 2 กล่องไว้จะทำให้บรรทัดฐานการยื่นข้อเสนอและประมูลงานของภาครัฐเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลาเป็นสาระสำคัญ”

ชวนคิดและไขข้อสงสัยไปทีละเปลาะ ย้อนดูคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเพื่อเปรียบเทียบกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด รวมถึงการเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีอื่นๆ  ที่หลายคนยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับกรณีนี้

ทำความเข้าใจมูลเหตุแห่งคดี 9 นาที ปมปัญหา

เท้าความถึงคดียื่นซองประกวดราคาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หรือคดีอู่ตะเภา ซึ่งการประกวดราคาในโครงการดังกล่าวใช้หลักเกณฑ์ และวิธีการตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 โดยได้มีประกาศเชิญชวน เอกสารคัดเลือกเอกชน สัญญาร่วมลงทุนโครงการ เอกสารเพิ่มเติมของเอกสารคัดเลือกเอกชน รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำขึ้น

มูลเหตุแห่งคดีเกิดจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ที่เข้าร่วมการยื่นซองประกวดราคาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีกำหนดเวลาเปิดรับซองข้อเสนอ 9.00 น. ปิดรับซองฯ เวลา 15.00 น. โดยกลุ่มซีพีไปถึงรายแรกลงทะเบียนในเวลา 12.20 น. ก่อนที่กลุ่มผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสและกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียมจะทยอยเข้าลงทะเบียนตามลำดับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสอนทั้ง 3 ในวันดังกล่าวว่าให้แสดงตนเมื่อเอกสารมีความพร้อมเพื่อลงเวลาพร้อมยื่นข้อเสนอ ก่อนเข้าสู่กระบวนการยื่นข้อเสนอและตรวจเอกสารต่อไป

โดยทั้งกลุ่มบีบีเอสฯ และกลุ่มแกรนด์ฯ ได้ลงเวลาพร้อมยื่นเอกสาร เว้นแต่กลุ่มซีพีที่เอกสารยังไม่พร้อม ขาดอีก 2 กล่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แจ้งให้นำเอกสารมาในเวลา 15.00 น. ซึ่งเอกสารของกลุ่มซีพี 2 กล่องดังกล่าวได้ถูกลำเลียงมาถึงในเวลา 15.09 น.

กระบวนการยื่นข้อเสนอได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาก่อน 15.00 น. เล็กน้อย และเสร็จสิ้นภายหลังกลุ่มซีพีเข้ายื่นข้อเสนอเวลาประมาณ 18.00 น. และเข้าสู่กระบวนการตรวจเอกสารจนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 21.00 น. ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกต้องมีมติเลื่อนการเปิดซองที่ 1 ซึ่งตามข้อกำหนดฯ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันดังกล่าวออกไป ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ พบว่าเอกสารทั้ง 2 กล่องของกลุ่มซีพีถูกนำเข้ามาล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดคือ 15.00 น. ไป 9 นาที จึงมีคำสั่งตัดเอกสารดังกล่าวออก

แนวทางการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา 6,500 ไร่ของกองทัพเรือ ที่มาภาพ: การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ต่อมากลุ่มซีพีซึ่งเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกคำฟ้องของกลุ่มซีพี ซึ่งประเด็นหลักคือกำหนดเวลาตามเอกสารคัดเลือกเอกชนอันเป็นระเบียบที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้กำหนดกระบวนการและวิธีประกวดราคาในครั้งนี้ โดยพิจารณาที่กระบวนการยื่นข้อเสนอเป็นสำคัญประเด็นคำพิพากษาโดยสรุป มีดังนี้

  • มติไม่รับเอกสารทั้ง 2 กล่องของคณะกรรมการคัดเลือกฯ นั้นชอบแล้ว และไม่สามารถสามารถพิจารณายกเว้นให้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง

โดยเห็นว่า เอกสารทั้ง 2 กล่องของกลุ่มซีพี ไปถึงสถานที่รับซองข้อเสนอหลังกำหนดเวลาตามเอกสารคัดเลือกเอกชนที่ได้กำหนดเวลาเปิด-ปิดรับซองฯ ไว้ชัดเจนแล้วคือ 9.00-15.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2562 ตามลำดับ ซึ่งในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับเอกสารของกลุ่มซีพีไว้หมดแล้ว ก่อนตรวจทราบภายหลังว่าเอกสารดังกล่าวมาถึงห้องรับรองเวลา 15.09 น. เป็นเวลาหลัง 15.00 น. โดยผู้กลุ่มซีพีได้รับว่าเอกสารมาถึงช้าเนื่องจากการจราจรติดขัด

  • กระบวนการ “ยื่น” และ “ตรวจ” เอกสารนั้นแยกต่างหากออกจากกัน หมายความว่า การยื่นและรับซองข้อเสนอทั้งปิดผนึกและไม่ปิดผนึกต้องทำให้เสร็จในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2562 ตามที่กำหนดไว้ในคราวเดียว ส่วนการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารซองไม่ปิดผนึกไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้เสร็จในเวลา 15.00 น. เพราะเป็นขั้นตอนภายหลังในชั้นของการให้คะแนนเท่านั้น

ดังนั้น การยื่นเกินเวลาจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือแจ้งขยายเวลาตามข้อกำหนดฯ และการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เลื่อนเปิดซองไม่ปิดผนึก หรือซองที่ 1 ออกไปเป็นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้ การปฏิเสธไม่รับข้อเสนอไม่จำเป็นต้องทำภายในวันดังกล่าว หากมีข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าทำผิดก็สามารถปฏิเสธได้ ไม่ได้แปลว่ารับไว้แล้วจะสิ้นสิทธิปฏิเสธแต่อย่างใด

  • การที่กลุ่มซีพีมีหนังสือลงวันที่ 28 มีนาคม 2562 แจ้งข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกฟ้องคดีว่ากระบวนการไม่ได้เสร็จในเวลา 15.00 น. ถือว่ามีการขยายเวลาการปิดรับซองตามข้อ 38 (3) แล้ว เท่ากับว่าได้มีโอกาสชี้แจงแล้ว

ดังนั้น ข้ออ้างของกลุ่มซีพีที่ว่าไม่ได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและที่มาในการออกคำสั่ง และไม่ได้รับโอกาสให้เข้าชี้แจ้งนั้น ฟังไม่ขึ้น

  • การขยายเวลาดังกล่าวผู้ถูกฟ้องจะต้องแจ้งสงวนสิทธิ์ไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงไม่มีการแจ้งสงวนสิทธิ์แต่อย่างใด

ดังนั้น ข้ออ้างของกลุ่มซีพีที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้รับซองข้อเสนอทั้งหมดไว้โดยไม่อิดเอื้อน หรือปฏิเสธไม่รับ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ไม่ถือเวลาเป็นสาระสำคัญ และถือว่าได้ขยายเวลาโดยปริยายแล้ว ฟังไม่ขึ้น

  • การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องแจ้งความพร้อมในการยื่นซอง ณ จุดลงทะเบียนภายในเวลา 15.00 น. เป็นเพียงแนวปฏิบัติ เพื่อให้กระบวนการเป็นไปโดยเรียบร้อยจึงไม่ต้องแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบล่วงหน้า ไม่ขัดหลักเกณฑ์ตามเอกสารประกอบการคัดเลือกฯ แต่อย่างใด การมีมติไม่รับเอกสารทั้งสองกล่องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบแล้ว

ซึ่งเอกสารการคัดเลือกได้กำหนดเกณฑ์ สถานที่ วันเวลา เปิดและปิดรับซองไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เปิดรับซองในวันที่  21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 น. และปิดรับซองเวลา  15.00 น. ในวันเดียวกัน ผู้ยื่นข้อเสนองต้องมีความพร้อมสำหรับการยื่นข้อเสนอในวันดังกล่าวอยู่แล้ว ข้ออ้างของกลุ่มซีพีที่ว่าไม่มีการแจ้งเรื่องที่ต้องแจ้งความพร้อมของเอกสารให้ทราบล่วงหน้า และความเป็นจริงไม่มีการยื่นเอกสารในกำหนดเวลา นั้นฟังไม่ขึ้น

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นฉบับเต็ม

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังกลุ่มซีพีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการการคัดเลือก โดยพิจารณาเวลาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามกระบวนการจริง และการแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ประเด็นจากคำพิพากษาโดยสรุป มีดังนี้

  • การพิจารณาว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องจนไม่รับข้อเสนอ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงของกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาของเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่ใช่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้มาเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ หรือทำการใดที่แสดงว่าไม่ต้องการยื่นข้อเสนอ
  • แม้กำหนดเวลาเอาไว้ แต่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอตามที่ปฏิบัติ และเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ว่ากลุ่มผู้ฟ้องคดีฯ ได้ยื่นข้อเสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ผู้ถูกฟ้องปิดรับซองฯ แล้ว

ตามข้อเท็จจริง กระบวนการมีลำดับคือ 1) มาแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ 2) นำข้อเสนอทั้งหมดส่งมอบแก่รัฐ 3) รัฐนำเอาข้อเสนอไปพิจารณา 4) เปิดซองผู้เสนอฯ ทุกรายเวลาเดียวกัน (เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงกระบวนการเริ่มต้นที่การลงทะเบียนก่อนเข้ายื่นข้อเสนอและตรวจรับข้อเสนอทีละรายภายในห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งกลุ่มซีพีได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอและได้เข้าร่วมการยื่นข้อเสนอแล้วโดยลงทะเบียนภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับผู้เสนอรายอื่น และได้มีการรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายไว้แล้ว ซึ่งมีเอกสารรับรองชัดเจนว่า การเข้ายื่นข้อเสนอเริ่มเวลาประมาณ 15.00 น. และสิ้นสุดที่เวลาประมาณ 18.00 น. โดยระหว่างการยื่นของผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งๆ ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆ รออยู่ด้านนอก และตามข้อกำหนดฯ เวลาเปิดซองที่ 1 กำหนดไว้ในวันเดียวกัน เวลา 16.00 น. แต่ในข้อเท็จจริงก็มีการเลื่อนกำหนดออกไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่รายงานว่ามีเอกสารจำนวนมากต้องตรวจสอบ

  • ไม่มีน้ำหนักฟังว่าเอกสารทั้งสองกล่องที่ลำเลียงมาถึงจุดลงทะเบียนหลังเวลา 15.00 น. เกิดจากผู้ฟ้องคดีรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ฟ้องคดี หรือเอาเปรียบผู้อื่น เพราะสุดท้ายผู้ใดจะได้รับเลือกก็ขึ้นอยู่กับผู้ถูกฟ้องพิจารณา

โดยเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายอยู่ในความครอบครองของผู้เสนอรายนั้นๆ จนถึงเวลาตรวจรับซอง เอกสารของผู้เสนอแต่ละรายจึงมาอยู่ในความครอบครองของผู้ถูกฟ้องคดี และเอกสารทั้งสองกล่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่รับพิจารณาก็ไม่ได้มีกำหนดต้องเปิดซองทันทีแต่อย่างใด

  • สาระสำคัญของคดีนี้อยู่ที่การแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ การที่เอกสารสองกล่องผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องหรือปฏิบัติไม่ถูกถึงขนาดที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินการร่วมทุนฯ

(อ่านคำพิพากษาศาลปกครองฉบับเต็ม)

ย้อนรอย 5 คดีปกครอง “มาสาย” – “คดีอู่ตะเภา บรรทัดฐานการประกวดราคา?”

ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับเอกสารทั้ง 2 กล่องของซีพี คดีปกครองที่เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องเวลาในการประกวดราคา 5 คดี ได้ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับคดีนี้ โดยเฉพาะคดีเอกชนที่มายื่นซองประมูลกับกรมทวงหลวงไม่ทัน โดยมาช้าไปเพียง 39 วินาที ที่ พล.ร.ต. เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลด้วย

คดีปกครองทั้ง 5 คดี ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นแนวบรรทัดฐานเรื่องสาระสำคัญของเวลาในกระบวนการประกวดราคา โดยคดีทั้ง 5 มีจุดร่วมอยู่ที่

    1) การประกวดราคาทั้งหมดเป็นการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
    2) คดีมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยคือ ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิยึดประกันซองของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เพียงใด โดยต้องพิจารณาว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นการผิดสัญญา คือการมาลงทะเบียนฯ ช้าหรือไม่
    3) แต่ละกรณีไม่สามารถอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อยกเว้นเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประกวดราคาฯ ช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ แม้เพียง 38 วินาที โดยศาลเห็นว่าเกิดจากความบกพร่องของตัวผู้ฟ้องคดีเองทั้งสิ้น

ทั้งนี้ คดีทั้ง 5 มีจุดที่เหมือนกับคดีอู่ตะเภา คือ มีปมพิพาทเรื่องเวลาเช่นเดียวกัน เพราะประเด็นแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดต้องวินิจฉัยในคดีนี้ว่ามติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับเอกสารทั้ง 2 กล่องของกลุ่มซีพี ก็ต้องพิจารณาเรื่องเวลาในการยื่นข้อเสนอเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดจะพบว่า คดีทั้ง 5 และคดีอู่ตะเภานั้นมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

  • ในระบบการประกวดราคา ซึ่งส่งผลให้วิธีการและขั้นตอนในการประกวดราคาแตกต่างกัน

โดยคดีทั้ง 5 นั้นจุดตัดที่ศาลใช้พิจารณาเพื่อยกฟ้องโจทก์และให้อำนาจหน่วยงานที่ประกวดราคาริบหลักประกันซองได้ คือ ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถมา “ลงทะเบียนเสนอราคา” ได้ทันเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการแรกของการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีกำหนดลงทะเบียนอยู่ระหว่างครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ก่อนเข้าสู่กระบวนการทดสอบระบบ และเสนอราคาต่อไปตามลำดับ ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีการกำหนดเวลาชัดเจน

ขณะที่คดีอู่ตะเภานั้นกลุ่มซีพีผู้ฟ้องคดีเดินทางมาลงทะเบียนเวลา 12.20 น. ซึ่งอยู่ภายในเวลา เนื่องจากการประกวดราคาโครงการดังกล่าวมีกำหนดเวลาช่วงเดียว คือ เปิดรับซองข้อเสนอวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9:00 น และปิดรับซองฯ เวลา 15:00 น แต่สิ่งที่ล่าช้าคือ เอกสารสำหรับยื่นข้อเสนอ 2 กล่อง ถูกนำเข้ามาในเวลา 15.09 น. เลยเวลาปิดรับซองไป 9 นาที เป็นการล่าช้าในส่วนของกระบวนการ “ยื่นข้อเสนอ” ซึ่งกลุ่มซีพีก็ยอมรับในข้อนี้และอ้างเหตุล่าช้าจากการจราจรติดขัด

  • ประเด็นข้ออ้างของเหตุแห่งความล่าช้าที่ผู้ฟ้องคดียกขึ้นต่อสู้แตกต่างกัน

ในคดีทั้ง 5 ผู้ฟ้องคดีต่างอ้าง “เหตุสุดวิสัย” ด้วยการยกว่าพฤติการณ์ที่ทำให้ฝ่ายตนมาไม่ทันเวลาลงทะเบียนนั้นเป็นเหตุที่คาดหมายไม่ได้ โดยไม่ได้เกิดจากความประมาทของฝ่ายตนแต่อย่างใด

ขณะที่คดีอู่ตะเภากลุ่มซีพียกเรื่อง “เวลาไม่ใช่สาระสำคัญ” ขึ้นอ้าง โดยยกข้อเท็จจริงเรื่องเวลาว่า แม้กระบวนการปิดรับซองฯ จะเป็นเวลา 15.00 น. แต่กระบวนการยื่นข้อเสนอเริ่มก่อนเวลา 15.00 น. เล็กน้อย และสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. โดยระหว่างการยื่นข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งๆ ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆ รออยู่ด้านนอก และสิ้นสุดกระบวนการตรวจนับเอกสารทั้งหมดที่เวลา 21.00 น. หากตีความการคัดเลือกอย่างเคร่งครัดก็จะทำให้การรับซองข้อเสนอไม่ชอบทั้งหมด

ดังนั้น แม้เรื่องกำหนดเวลาจะเป็นสาระสำคัญแต่ด้วยวิธีการและกระบวนการที่แตกต่าง การมาลงทะเบียนช้าในการประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ กับการยื่นเอกสารล่าช้าในวิธีการคัดเลือกเอกชนของโครงการอู่ตะเภาฯ ที่มีระเบียบข้อบังคับเป็นของตนเองนั้นคงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้เสียทีเดียว

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ได้เป็นการทำให้บรรทัดฐานเรื่องสาระสำคัญของเวลาในการประกวดราคาเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เนื่องจากกรณีคดีอู่ตะเภาถือเป็นกรณีเฉพาะ การจะนำไปปรับใช้ในคดีอื่นๆ ต่อไปจะต้องมีพฤติการณ์ หรือข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันเท่านั้น

แหล่งที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ให้ความเห็นว่า กองทัพเรืออาจจะไม่คุ้นเคยกับการประมูลในลักษณะ International Bidding ซึ่งต้องมีเอกสารประกอบการยื่นซองมากมาย สำหรับการประมูลครั้งนี้ได้แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องรับรองกับห้องยื่นประมูล ในวันดังกล่าวผู้ยื่นประมูลทุกรายต่างมาถึงก่อนเวลา 15.00 น.ทั้งหมด และนั่งรอในห้องรับรอง เมื่อถึงเวลายื่นประมูล ต้องเดินมาอีกห้องเพื่อยื่นประมูล แต่มีเจ้าหน้าที่รับเพียงช่องเดียวในการรับเอกสาร ซึ่งแต่ละรายต้องใช้เวลาในการตรวจสอบตรวจรับค่อนข้างนาน

อย่างไรก็ตาม คดีนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญให้การออกข้อกำหนดในการประกวดราคาไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่ในอนาคต รัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องตีกรอบเวลาในแต่ละกระบวนการให้ชัดเจน ไม่ตีกรอบเพียงกว้างๆ ให้เกิดเป็นประเด็นพิพาทเช่นนี้อีก รวมทั้งความพร้อมในวันที่ยื่นซองประมูล

  • ศาลปกครองสูงสุด สั่งคืนสิทธิ “ซีพี” ประมูลสนามบินอู่ตะเภา
  • ประมูลสนามบินอู่ตะเภา “เสนอราคาสูงสุด ยังไม่ใช่ผู้ชนะ” รอPwC-กองทัพเรือชี้ขาดที่ “ไฟแนนเชียลโมเดล”