ThaiPublica > เกาะกระแส > อีอีซีกางความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก

อีอีซีกางความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก

21 พฤษภาคม 2020


วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุม ฯ ได้พิจารณา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. สาระสำคัญของโครงการ

มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ

    1)อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3)
    2)ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre)
    3)ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)
    4)เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)
    5)ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex)
    6)ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)

การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท (จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ)รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ

  • ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท (เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี)
  • ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 62,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก)
  • เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
  • เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง
  • สิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของรัฐ

2. ความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก

อีอีซี วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ

    1)เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
    2)เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC
    3)เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

3.สรุปการดำเนินงานที่สำคัญ

การทำงานคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน และมีผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้แทนผู้สังเกตการณ์อิสระจากองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) อีก 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดทุกกระบวนการ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งสิ้น 31 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯ และคณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิคฯ ทั้งหมด 19 ครั้ง โดยมีการดำเนินงานสำคัญดังนี้

30 ตุลาคม 2561 ครม. อนุมัติหลักการโครงการ

12 พฤศจิกายน 2561 ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน มีเอกชนมาซื้อเอกสาร 42 บริษัท โดยเอกชนมาจากประเทศจีน 6 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย เยอรมัน 2 ราย อินเดีย 1 ราย ญี่ปุ่น 5 ราย มาเลเซีย 1 ราย ตุรกี 1 ราย และไทย 24 ราย

21มีนาคม 2562 มีเอกชนยื่นข้อเสนอจำนวน 3 กลุ่ม (รวม 14 บริษัท) ได้แก่

  • ผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มที่ 1: กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
  • ผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มที่ 2: กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
  • ผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มที่ 3: กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ) ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (Lead Firm) บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดยเสนอ Fraport AG เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

11 เมษายน 2562 – 30 มกราคม 2563 การประเมินข้อเสนอของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ

  • พิจารณาซองที่ 1 : คุณสมบัติทั่วไป
  • ผลการพิจารณา: เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 โดยมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน

  • พิจารณาซองที่ 2 : ด้านเทคนิค
  • การประเมินผลข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามข้อกำหนดเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ที่ได้ระบุให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอซองที่ 2 แยกรายละเอียดออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดข้อเสนอด้านเทคนิคและหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ โดยมีรายละเอียด 8 หัวข้อย่อย โดยการประเมินในแต่ละหัวข้อย่อยเป็นแบบให้คะแนน (Scoring) ซึ่งคะแนนของแต่ละหัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และรวมคะแนนทั้ง 8 หัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์ประเมิน
    ผลการพิจารณา: เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม ผ่านการประเมินซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) โดยมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

  • พิจารณาซองที่ 3 : ด้านราคา
  • ผลการพิจารณา : คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านราคา) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม และมีมติเห็นชอบลำดับผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐที่ดีที่สุด โดยลำดับที่ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ลำดับที่ 2 กลุ่มธนโฮลดิ้งฯ ลำดับที่ 3 กลุ่ม Grand Consortium

    กล่าวคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี

12 กุมภาพันธ์ 2563 – 13 เมษายน 2563 การเจรจากับเอกชนร่วมลงทุน

  • สกพอ. ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด ได้แก่ (1) คณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค และ (2) คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคณะทำงานเจรจาฯ ทั้ง 2 คณะ ได้มีการประชุมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ทางด้านเทคนิค การเงิน และข้อกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแล้วเสร็จ
  • ผลการเจรจา : บรรลุข้อตกลงการเจรจากับเอกชนร่วมลงทุน โดยรับทราบข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการคัดเลือก และดำเนินการจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา

    13 พฤษภาคม 2563 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จ

    14 พฤษภาคม 2563พิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อร่างสัญญาฯ ผลการดำเนินการ : กลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส ยอมรับผลการเจรจาและร่างสัญญาที่อัยการเห็นชอบแล้ว

    21 พฤษภาคม 2563นำเสนอเข้า ประชุมคณะกรรมการนโยบาย (กพอ.)

    4. โครงการร่วมที่สร้างประโยชน์ให้กันและกัน

    ตั้งแต่เริ่มต้นคณะกรรมการนโยบายฯ วางยุทธศาสตร์ทั้ง 2 โครงการ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” เป็น “โครงการร่วมที่สร้างประโยชน์ให้กันและกัน” ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาโครงการ และการให้บริการทั้ง 2 โครงการเป็นไปอย่างสอดคล้องเชื่อมโยง จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้

    • สนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และสร้างความต้องการทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น
    • รถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินจากกรุงเทพมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน

    หากปราศจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่