ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯลุย EEC พร้อมพัฒนา 6,500 ไร่อู่ตะเภา “เมืองการบินตะวันออก” เชื่อม 3 สนามบิน กนอ.- เอกชนขานรับ ระบุนโยบายต้องชัดต่อเนื่อง

นายกฯลุย EEC พร้อมพัฒนา 6,500 ไร่อู่ตะเภา “เมืองการบินตะวันออก” เชื่อม 3 สนามบิน กนอ.- เอกชนขานรับ ระบุนโยบายต้องชัดต่อเนื่อง

7 เมษายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ครั้งที่ 1

พล.อ. ประยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมว่ามีการหารือถึงแผนอีอีซี  การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล  และการสร้างเมืองใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น ซึ่งอีอีซีจะเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ให้ประเทศ สร้างรายได้ให้พร้อมรับที่จะดูแลสังคมสูงวัย และเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับต้องสร้างความเข้มแข็งให้รับกับสังคมไทย 4.0 และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องเดินตามแนวทางนี้

สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ดังกล่าว และทั้งหมดได้ถูกบรรจุไว้ในแผนงบประมาณแล้ว  วันนี้แนวโน้มและท่าทีของต่างชาติเขาพอใจมาก แต่การพัฒนาที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ยังไม่สอดรับกับมาตรฐานก็ต้องปรับ โดยการพัฒนาอีอีซีจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ

“พื้นที่อู่ตะเภาจะถูกใช้ประโยชน์ทั้ง 2 ส่วนทั้งเชิงพาณิชย์และด้านความมั่นคง พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของกองทัพเรือเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ถูกเก็บแต่ไม่เคยเอามาใช้ประโยชน์ วันนี้มีการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ซึ่งการที่กองทัพเรือเข้ามามีส่วนไม่ได้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์แต่อย่างใดขอให้เข้าใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อู่ตะเภาสู่ “เมืองการบินตะวันออก” – เชื่อม 3 สนามบินไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ตามผลการประชุมคณะกรรมการอีอีซี ประการแรก คือ เห็นชอบตามข้อเสนอกองทัพเรือ ให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” โดยจะมีการดมทุนใน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1) เพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก 1 ทางวิ่ง (รันเวย์ที่ 2)
2) ลงทุนในกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มธุรกิจการขนส่งทางอากาศ กลุ่มธุรกิจเครื่องบิน และกลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน
3) ในอนาคตจะมีอีก 3 กิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีปกป้องประเทศ

อาคารท่าอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่
เที่ยวบินที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานแห่งชาติอู่ตะเภา

ประการที่สอง โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) อย่างไร้รอยต่อ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางสู่ทั้ง 3 สนามบินโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงคมนาคม ในการปรับปรุงระบบขนส่งทางรางให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชัวโมง สามารถวิ่งเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินโดยให้บริการเส้นทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) และแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนขยาย (พญาไท-ดอนเมือง) ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ-ระยอง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณในการเร่งศึกษาความเหมาสมต่อไป

ประการที่สาม เห็นชอบแนวทางการพัฒนาของเขตเทคโนโลยีระดับโลกของประเทศไทย 2 แห่ง  คือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกพื้นที่ 350 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง และเขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออกพื้นที่ 800 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเร่งรัดขบวนการร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญในอีอีซี ซึ่งสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 8-10 เดือน โดยการลดขั้นตอนไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการรักษาความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากรฉบับใหม่ที่ช่วยให้เขตปลอดอากรปลอดเอกสาร และมีความสะดวกรวดเร็วในระดับนานาชาติ และการชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยได้ปรับปรุงการทำงานให้มีผู้รับผิดชอบดูแลผู้ลงทุนรายสำคัญแต่ละรายเป็นการเฉพาะ

สำหรับความคืบหน้าของ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ระบุว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยรัฐบาลยืนยันจะเร่งดำเนินการเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ปัจจุบันใช้อำนาจตามมาตรา 44 การดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีอยู่

ภายในอาคารของท่าอากาศยานแห่งชาติอู่ตะเภาแห่งเก่า
นักท่องเที่ยวที่ล้นออกมานอกอาคารโดยสารเก่า
ภายในอาคารของท่าอากาศยานแห่งชาติอู่ตะเภาแห่งใหม่ ที่มาภาพ: การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

“หลังจากประชุมครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า โครงการอีอีซีได้เดินหน้าแล้ว และตอนนี้ก็มีนักลงทุนหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งเดิมทางคณะกรรมการฯ ประเมินไว้ว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 5 ปี จะมีวงเงินลงทุนจากทั้งของรัฐและเอกชนรวมกันกว่า 500,000 ล้านบาท ก็อาจเพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบเดิมที่ตั้งไว้ เพราะแค่ของ ปตท. เพียงบริษัทเดียวที่จะลงทุนเทคโนโลยีชีวภาพ ก็เป็นเงินกว่า 120,000 ล้านบาทแล้ว และยังมีของบริษัทแอร์บัส ที่จะลงทุนศูนย์ซ่อมเครื่องบินอีก ดังนั้นจึงขอรอดูการตอบรับการลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนจะไปทบทวนวงเงินอีกทีว่า จะเพิ่มขึ้นเท่าใด” นายคณิศกล่าว

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในโครงการที่ กนอ. ดูแล ว่าได้ตั้งงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีรวม 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย  โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3  บนพื้นที่ 10,000 ไร่ งบลงทุน 10,000 ล้านบาทโครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในอีอีซี (Digital Park Thailand: อีอีซีดี) บนพื้นที่ 700 ไร่ งบลงทุน 1,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปิโตรเคมี ศูนย์ซ่อมอากาศยาน แอร์บัส คาดการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2564 และโครงการเตรียมพื้นที่ใหม่รองรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจำนวน 10,000 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท

“สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ระหว่างนี้จะดำเนินการควบคู่กับการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดพีพีพี ตั้งเป้าจะให้เสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2562 เสร็จปีใน 2564 ตามแผนจะช่วยขยายการรองรับสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีละ 25 ล้านตัน เป็น 35 ล้านตัน” นายวีรพงศ์กล่าว

ด้านโครงการเตรียมพื้นที่ใหม่ฯ นายวีรพงศ์กล่าวว่า วงเงินเบื้องต้น 15,000 ล้านบาทที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ถูกคำนวณไว้ในกรณีที่ กนอ. ต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่หลักการจะเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยได้กำหนดเป็นนิคมร่วมพัฒนาระหว่าง กนอ. กับเอกชน ในสัดส่วน 50-70%

อนึ่งโครงการเตรียมพื้นที่ใหม่ฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนในอีอีซี จำนวน 50,000 ไร่ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 40,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาแล้ว 15,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 15,000 ไร่ และพัฒนาในรูปแบบสวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม 10,000 ไร่

นักลงทุนชี้ นโยบายชัดเจนพร้อมลงทุน

นอกจากการประชุมคณะกรรมการอีอีซี พล.อ. ประยุทธ์ ได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 20 ราย เช่น บีเอ็มดับเบิลยู, ลาซาด้า, โตโยต้า, ไมโครซอฟต์, กูเกิล, พีทีที โกลบอล เคมิคอล ซึ่งแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนของบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนของรัฐบาลในวันนี้ก็สร้างความมั่นใจให้กับพวกเขามากขึ้น

นายไซมอน เชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับด้านอุตสหกรรมการบินในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยอมรับว่านโยบายที่เปิดกว้างของรัฐบาลสร้างความกังวลในเรื่องคู่แข่งทางการค้าของบริษัท ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญ ซึ่งบริษัทจะให้ความช่วยเหลือไทยในการอบรมองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอากาศยาน และสนับสนุนการศึกษาด้านอากาศยานแก่บุคลากรชาวไทยด้วย

นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)(ที่ 2 จากซ้าย), นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน, นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. และนายไซมอน เชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ประเทศไทย) (ภาพซ้ายไปขวา)

ด้านนายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุว่า จากการพบปะกับรัฐบาล และเห็นนโยบายที่มีความชัดเจนในวันนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของญี่ปุ่นต่อก่านดำเนินนโยบายของไทยได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการลงทุนจริงในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อใด โดยมีข้อเสนอแนะว่าให้ใช้แนวทางการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนแบบเดียวกับญี่ปุ่น เช่น การให้สิทธิประโยชน์เฉพาะรายบริการที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งควรปรับข้อกฎหมายสัดส่วนแรงงานต่างชาติต่อแรงงานไทย 4:1 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในบริษัทไทยที่มีความต้องการโดยตรง

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวว่า วันนี้มีความมั่นใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล ต้องการให้รัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนในการผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (เมดิคัลฮับ) เนื่องจากธุรกิจด้านการแพทย์สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 14% จาก 100% ที่เป็นรายได้ด้านการท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางเข้ามาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ในไทยจะต้องมีผู้ติดอย่างน้อย 2-3 คน และความพร้อมด้านการแพทย์จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะมาลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งบริษัทพร้อมลงทุนทันทีที่รัฐบาลมีความชัดเจนในแผนด้านเมดิคัลฮับ

สำหรับนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปตท. มีแผนลงทุนในโครงการอีอีซี รวมวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า และปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนการสร้างสาธารณูปโภคไว้รองรับพื้นที่บริเวณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อที่จะดึงเป็นศูนย์รวมการสร้างนวัตกรรม และพร้อมดึงนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามารวมอยู่ในพื้นที่

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า อมตะได้เตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ 10,000 ไร่ เพื่อเชื่อมโยงกับอีอีซีรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ตามเมืองโยโกฮามา ของญี่ปุ่นที่พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นสมาร์ทซิตี้ มีแหล่งเรียนรู้ และการจัดการที่รักษาสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ พร้อมให้ข้อเสนอแนะในทิศทางเดียวกับนักลงทุนอีกหลายท่านคือเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้พร้อม และเพิ่มเติมด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถนำบุคลากรต่างชาติเข้ามาเพื่อพัฒนาแรงงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น

เอ็มโอยูระห่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ จำนวน  3 ฉบับ ประกอบด้วยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 ระหว่างกองทัพเรือกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ระยะที่ 1 ระหว่างกองทัพเรือ และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ระหว่างกองทัพเรือและสถาบันการบินพลเรือน

และเอ็มโอยูระห่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน

แนวทางการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา 6,500 ไร่ของกองทัพเรือ ที่มาภาพ : การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

กรอบลงทุน 1.5 ล้านล้านในอีอีซี

สำหรับโครงการอีอีซี รัฐบาลมีแผนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น ภายใต้กรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน 1.5 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชน 7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ เป็นต้น ประกอบด้วย

ข้อมูลจาก: คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
  • การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท
  • การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 1.015 หมื่นล้านบาท
  • การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท
  • ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง) วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท
  • การก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) วงเงิน 6.43 หมื่นล้านบาท
  • การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี/พัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท
  • การลงทุนภาคอุตสาหกรรม วงเงิน 5 แสนล้านบาท
  • การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วงเงิน 2 แสนล้านบาท
  • การพัฒนาเมืองใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา พัทยา อู่ตะเภา และระยอง วงเงิน 4 แสนล้านบาท