ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองสูงสุด สั่งคืนสิทธิ “ซีพี” ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

ศาลปกครองสูงสุด สั่งคืนสิทธิ “ซีพี” ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

10 มกราคม 2020


ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับศาลชั้นต้น – สั่งคืนสิทธิ “ซีพี” ร่วมประมูลสนามบินอู่ตะเภา ด้านกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรพร้อมเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เข้าร่วมประมูล ยืนยันความตั้งใจในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมประเทศไทยให้ก้าวไกล

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.381/ 2562 หมายเลขแดงที่ อ. 1/2563 ระหว่าง บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีมติจากการประชุม ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ไม่รับซองข้อเสนอฉบับจริงและสำเนากล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และซองข้อเสนอกล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา) ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ที่นำมายื่นข้อเสนอในโครงการดังกล่าวภายหลังเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดรับซองแล้ว

โดยในวันนี้ศาลปกครองสูงสุด “พิพากษากลับ คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ปฏิเสธไม่รับไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 ของผู้ฟ้องคดี และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้สิ้นผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากศาลเห็นว่าเอกสารซองข้อเสนอดังกล่าวมาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงปฏิเสธไม่รับกล่องซองข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่กลุ่มกิจการค้าร่วมฯ เป็นกรณีพิเศษได้ ไม่เช่นนั้น อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ต่อมา ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า หรือ “กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด” ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือ “ซีพี”, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีอยู่บ้าง แต่การเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอ เพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 รายอย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจ ตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารจำนวน 2 กล่อง คือกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 น. มาเป็นเหตุในการมีมติไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ด้านกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรได้เอกสารข่าวแจ้งว่าจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้กลับเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในการนี้กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง และพันธมิตร ซึ่งประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited ขอขอบพระคุณศาลปกครองสูงสุดที่ให้ความเป็นธรรม ทำให้กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง และพันธมิตรได้กลับเข้าสู่กระบวนการตามสิทธิที่พึงมีในการเข้าร่วมประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยพร้อมยอมรับผลการคัดเลือกและเคารพกฎกติกาการประมูลที่โปร่งใสเป็นธรรม และไม่ว่าผลการคัดเลือกจะออกมาเป็นเช่นไร กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรยินดีที่จะให้การสนับสนุนในทุกมิติเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากตระหนักดีว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทย

พร้อมกันนี้ต้องกราบขออภัยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกรวมไปถึงกองทัพเรือ ที่กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมีตามกฏหมาย แต่ทั้งนี้ขอยืนยันด้วยความจริงใจว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ เพราะต้องการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล ในการนี้ กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรจึงได้ผนึกกำลังนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรซึ่งล้วนเป็นบริษัทชั้นนำระดับสากล มาช่วยกันสร้างสรรค์และขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการรวมพลังครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

แก้ไขล่าสุด 10 มกราคม 2563 เวลา 14.35 น.