ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยแก้มลิงใต้ดินกทม.

ว่าด้วยแก้มลิงใต้ดินกทม.

24 กุมภาพันธ์ 2022


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

การเติบโตอย่างมากของกรุงเทพมหานครตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นดินคอยซับน้ำเวลาที่ฝนตก ได้เปลี่ยนเป็นถนน รถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม บ้านที่อยู่ศัย ฯลฯ ทำให้ความสามารถในการซับน้ำน้อยลงอย่างมาก

อย่างที่ทราบกันดีว่ากายภาพของกรุงเทพฯ นั้นเป็นแอ่งกระทะ น้ำไม่สามารถไหลตามธรรมชาติได้ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำลำเรียงน้ำออกสู่อ่าวไทยทางแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันขีดความสามารถในการระบายน้ำฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวม 1,081.30 ลบ.ม./วินาที แบ่งเป็น

  • ฝั่งพระนคร มีขีดความสามารถของการระบายน้ำ 743.62 ลบ.ม./วินาที
  • ฝั่งธนบุรี มีขีดความสามารถของการระบายน้ำ 337.68 ลบ.ม./วินาที

  • ด้วยประสิทธิภาพการระบายน้ำในขณะนี้นั้นสามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ด้วยสภาพการเกิดฝนในปัจจุบันนั้น จะเห็นว่าเหตุจากสภาวะโลกร้อนทำให้การเกิดฝนในหลาย ๆ ครั้งมีปริมาณฝนตกค่อยข้างสูง และหลายครั้งที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่าที่ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ จะรับได้ เป็นที่มาให้กรุงเทพฯ ต้องจัดหาบึงน้ำมาทำเป็นแก้มลิงเพื่อหน่วงน้ำ รอการระบายออก

    จากผลการศึกษาพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ต้องการแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้สามารถจัดหาได้เพียง 7.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องการเพิ่มเติมอีก 5.91 ล้านลูกบาศก์เมตร

    แก้มลิงใต้ดินในซอย

    แต่ด้วยกายภาพเมืองที่เปลี่ยนไปมาก การจะหาพื้นที่มาทำแก้มลิงนั้นทำได้ค่อยข้างยาก กรุงเทพมหานครได้มีการปรับการใช้ผังเมืองใหม่และประกาศในราชกิจจานุเษกษาเป็น พ.ร.บ.ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556

  • การจัดให้มีพื้นที่รับน้ำ จากวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงกำหนดมาตรการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวและรองรับน้ำตามธรรมชาติ โดยโครงการที่จัดให้มีที่รับน้ำในแปลงที่ดินที่ขออนุญาต จะได้สิทธิให้มีอัตราส่วนของพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR — floor to area ratio) เพิ่มขึ้นอย่างเป็นสัดส่วน หากสามารถกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่ 1 ลบ.ม. ต่อพื้นที่ดิน 50 ตร.ม. ให้มี FAR Bonus ได้ไม่เกินร้อยละ 5 จนถึงร้อยละ 20
  • แก้มลิงใต้ดินหรือบ่อหน่วงน้ำของโครงการเอกชน
  • ตั้งแต่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ประกาศใช้ ผู้ประกอบการอาคารขนาดใหญ่และอาคารสูงได้ยื่นขอก่อสร้างอาคารต่อคณะกรรมการพิจารณารายงาน EIA เพื่อขอใช้พื้นที่ทำบ่อหน่วงน้ำ เพื่อให้ได้ FAR สูงสุดตามที่ถูกกำหนดไว้ในผังเมืองฉบับ พ.ศ. 2556 ด้วยเหตุที่ที่ดินในเมืองเพื่อการลงทุนมีมูลค่าสูงมาก หากไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน ผู้ประกอบการมองเห็นประโยชน์ที่จะได้ FAR Bonus เพิ่มเติมเพื่อแลกกับการทำบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน ที่จะช่วยการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเกือบจะทุกโครงการที่พิจารณาโดยกรรมการ EIA ผู้ประกอบการจะทำแบบและการคำนวณบ่อหน่วงน้ำใต้ดินมาเพื่อขอพิจารณา FAR Bonus
  • มาถึงตอนนี้คงเข้าใจกันแล้วนะครับว่า แก้มลิงใต้ดิน บ่อหน่วงน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วแต่จะเรียก ไม่ใช่ของใหม่เลยสำหรับกรุงเทพมหานครที่ใช้กับอาคารที่ต้องขออนุญาตก่อสร้างเพื่อขอ FAR Bonus และในพื้นที่สาธารณะ ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลนั้นก็ได้ทำบ่อหน่วงน้ำจำนวน 4 จุดที่เปิดใช้งานไปแล้ว

    • 1. วงเวียนบางเขน
      2. ตลาดสุทธิพร
      3. กรุงเทพกีฑา
      4. สวนป่ารัชวิภา
    แก้มลิงใต้ดินหรือบ่อหน่วงน้ำ ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการ

    ขณะที่เกมการแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ยังคงเข้มข้น แต่ต้องไม่เป็นการเมืองที่เห็นประชาชนเป็นคนโง่ ถ้าจะให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนทำคนแรกและทำที่แรกของประเทศไทย #วัดเล่งเน่ยยี่แก้มลิงใต้ดินไม่ใช่ที่แรก

    ดังนั้นการให้ข้อมูลต้องครบถ้วน ไม่บิดเบือน สังคมจะได้ไม่บิดเบี้ยว