ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลประเมิน ICAO ไทยผ่านมาตรฐานสากล “อาคม” หวังผลบวกหลังปรับผังองค์กรรอบ 2 ปลด CAT 2 ต่อปลายปี’62

ผลประเมิน ICAO ไทยผ่านมาตรฐานสากล “อาคม” หวังผลบวกหลังปรับผังองค์กรรอบ 2 ปลด CAT 2 ต่อปลายปี’62

28 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ : สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ภายหลังจากที่ไทยเผชิญปัญหาวิกฤตการบินในปี 2558 และสามารถปลดธงแดงได้ในปี 2560 และที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM) ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนที่เหลือรวม 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ, ด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล, ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่, ด้านการปฏิบัติการบิน, ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน, ด้านบริการการเดินอากาศ และด้านสนามบิน

จากผลการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary) พบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 65.07% ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือ 60% โดยจะได้รับรายงานฉบับสมบูรณ์จาก ICAO ในอีก 3 เดือน เพื่อทราบจำนวนข้อบกพร่องเล็กน้อยที่เหลือให้ต้องแก้ไข

โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ระดับประสิทธิผลของไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปี 2558 ที่ ICAO ติดธงแดงมาตรฐานการบินของไทย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34.20 ถัดมาเพียง 2 ปี คือ ปี 2560 ประเทศไทยสามารถปลดธงแดงได้สำเร็จ โดยมีระดับประสิทธิผลอยู่ที่ 41.46 และล่าสุดปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.07 ซึ่งทัดเทียมกับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก ICAO ทั้งหมด 193 ประเทศ

ที่มาภาพ : สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดถึงสาเหตุที่ผลการประเมินของแม้ผ่านมาตรฐานแต่ยังไม่สูงมาก ว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการบริการและความหลากหลายของอุตสาหกรรมการบินสูง ปัจจุบันไทยมีสายการบินระหว่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น 23 ราย มีสนามบิน 38 แห่ง ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์มีสายการบินระหว่างประเทศแค่ 3 ราย ของประเทศอื่น และมีสนามบิน 4 แห่ง

“ตัวอย่างการออกใบรับรองสนามบิน (ระหว่างประเทศ) ที่เรามีทั้งหมด 11 แห่ง ตอนนี้ออกไปได้เพียง 6 แห่ง เหลือสนามบินกระบี่ สุราษฎร์ธานี สมุย อู่ตะเภา และหัวหิน สังกัดกองทัพอากาศ ซึ่งก็เหมือนการออกใบอนุญาตให้สายการบิน จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับตัวผู้ขอใบอนุญาตด้วย พวกสเกลเหล่านี้เราต้องตามไปทำให้ได้มาตรฐานทั้งหมด ตราบใดที่เรามีรายละเอียดเยอะหากยังทำไม่ครบเขาก็ไม่เปลี่ยนให้ทั้งหมด นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ได้ 100% สักที ขณะที่ที่อื่นๆ ได้คะแนนเยอะเพราะสเกลเขาน้อยทำไม่นานก็เสร็จ แต่เราต้องใช้เวลานาน” นายจุฬากล่าว

ขณะที่การปรับปรุงกฎหมาย ล่าสุด คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14 ) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการออกกฎหมายระดับรอง กฎหมายลูกอีกทีเพื่อเข้ามากำกับดูแลเฉพาะจุด ในส่วนต้องค่อยๆ ทำ และต้องปรับเปลี่ยนไปตามที่สากลเขาเปลี่ยน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาเป็น 65% จากเดิมที่ได้คะแนนเพียง 28.57% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้มีการแจ้งให้คณะผู้ตรวจสอบรับทราบเพื่อที่จะขอปรับอันดับคะแนนรวมขึ้น

“เมื่อ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ระดับประสิทธิผลของไทยดีขึ้นไปอีก โดยความสำเร็จนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้คะแนนองค์กรปรับตัวสูงขึ้นมากภายหลังมีการปฏิรูปองค์กร คือ การแยกกรมการบินพลเรือนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน ที่ดูแลสนามบิน, กพท. ที่มีหน้าที่กำกับดูแล และสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือ กับคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับบทบาทของสำนักงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน ที่ ICAO ให้ความเห็นว่ามีการทำงานปะปนกันอยู่ เพราะในหน่วยงานเดียวเป็นทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ออกมาตรฐานด้วย

“และที่จะทำให้คะแนนเพิ่มขึ้น คือการโอนอำนาจบางส่วนที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือ ออกมาเป็นอำนาจหน้าที่ของ กพท. ส่วนสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือจะยังคงเป็นองค์กรที่จะต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทหารและตำรวจ เนื่องจากในการค้นหายังต้องอาศัยความร่วมมือต่างๆ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในสากล” นายอาคมกล่าว

ที่มาภาพ : สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) ปรับลดระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยลงจาก Category 1 มาที่ระดับ Category 2 ทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถทำการบินในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2558  นายจุฬา กล่าวว่า กทพ.อยู่ระหว่างหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (Inspector) ประมาณ 30 คน สำหรับตรวจนักบิน สำหรับเครื่องบินทุกรุ่น

“ขณะนี้ยังขาดผู้ตรวจสอบนักบิน สำหรับเครื่องบิน ATR ซึ่งหายาก เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ใช้เพียงสายการบินเดียวคือ บางกอกแอร์เวย์ส อาจจะจ้างนักบินต่างชาติเข้ามาช่วย หากจัดเตรียมบุคลากรด้านการตรวจสอบนักบินได้ครบและพร้อมในการตรวจรับรองการออกใบอนุญาตนักบินใหม่ประมาณ 3,000 คน จะแจ้ง FAA เข้ามาตรวจสอบ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะแก้ข้อบกพร่องเพื่อปรับระดับให้ประเทศไทยเป็น Category 1 ในปลายปี 2562 นี้ ซึ่งประเด็นของ FAA คาบเกี่ยวกับของ ICAO ไปประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อICAO ยืนยันและปิดข้อบกพร่องเรื่องนั้นไปแล้ว เชื่อว่า FAA ไม่น่ามีปัญหา” นายจุฬากล่าว

นายจุฬา กล่าวต่อไปว่า หาก FAA ปรับระดับให้ไทยขึ้น Category 1 จะทำให้สายการบินของไทยได้รับอนุญาตทำการบินเข้าประเทศสหรัฐฯได้ และจะทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี แต่คาดการณ์ว่า ปัญหาความแออัดของสนามบินและการขยายขีดความสามารถที่ล่าช้า อาจจะทำให้การเติบโตของผู้โดยสารมีการชะลอตัวได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้

ด้านพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจระดับผลการประเมินที่เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการประเมินครั้งนี้ไทยได้รับคำชื่นชมจาก ICAO ถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม จริงจัง และเป็นระบบของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่านับเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย พร้อมทั้งขอบคุณ ICAO กระทรวงคมนาคม และผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ร่วมมือกันจนทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ และยืนยันจะรักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้นายกฯ ได้ให้กำลังใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นและรักษาระดับมาตรฐานของประเทศไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะหลุดพ้นจาก “ธงแดง” และมีผลการะประเมินเบื้องต้นที่ผ่านมาตรฐานสากลแล้ว แต่กิจกกรรม และการบริหารในอุตสาหกรรมทางการบินของไทยที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจยังเป็นที่จับตาของทั้ง ICAO FAA และ EASA และอาจถูกเข้ามาประเมินมาตรฐานได้ทุกเมื่อ การรักษามาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทย

อ่านซีรีย์“วิกฤตอุสาหกรรมการบิน”เพิ่มเติม

ย้อนรอยปลด “ธงแดง” สู่มาตรฐาน EI 65.07%

ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขข้อบกพร่อง ICAO
ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขข้อบกพร่อง ICAO
  • ICAO เข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 โดยตรวจพบว่า มีข้อบกพร่อง จำนวน 572 ข้อ และมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) อยู่ 33 ข้อ ซึ่งขณะนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบินพลเรือน คือ กรมการบินพลเรือน
  • ICAO ได้ประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไทยยังไม่มีการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานของ ICAO
  • ประเทศไทยได้แก้ปัญหาโดยปรับโครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนใหม่ ซึ่งมีผลยุบเลิกกรมการบินพลเรือนและจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยและกิจการการบินพลเรือน โดยภารกิจด้านสนามบินได้โอนให้กรมท่าอากาศยาน และภารกิจด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการสอบสวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับอากาศยาน ให้เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
  • นอกจากนี้ได้ปรับปรุงทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการทำงาน คู่มือ Checklist รวมถึงจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสมให้กับพนักงานและผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนปรับปรุงระบบการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด
  • กพท. ยื่นขอให้ ICAO ให้เข้ามาตรวจสอบ Limited ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) เพื่อปลดธงแดง ในวันที่ 30 มิถุนายน 2560
  • ICAO ได้เข้ามาทำการตรวจสอบ ICVM เพื่อปลดธงแดงในระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน 2560 โดยมีกรอบการตรวจเฉพาะข้อบกพร่อง SSC 33 ข้อ รวมถึงข้อบกพร่องที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทำให้เหลือข้อบกพร่องที่ไม่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย 463 ข้อ ที่ยังต้องแก้ไขต่อไป
  • เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ICAO SSC Committee ได้พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) และด้วยผลจากมติดังกล่าว สถานภาพในเว็บไซต์ของ ICAO ในส่วนของ Safety Audit Results ซึ่งเคยมีรูปธงแดงอยู่ด้านหน้าชื่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้รับการถอดออก ทำให้ประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ
  • เมื่อวันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562 ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบ Full ICAO Coordinated Validation Mission โดยดำเนินการตรวจสอบ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล (LEG) ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ (PEL) ด้านการปฏิบัติการบิน (OPS) ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน (AIR) ด้านบริการการเดินอากาศ (ANS) และด้านสนามบิน (AGA) ทั้งนี้ ICAO ยังไม่ได้ตรวจสอบในด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน (AIG) เนื่องจากข้อจำกัดด้านผู้ตรวจสอบของ ICAO
  • ผลการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary) พบว่าระดับประสิทธิผลของการนํามาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.07 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือร้อยละ 60