ThaiPublica > เกาะกระแส > บพ.รอFAA ตรวจ”สอบซ่อม”รอบสอง – ไม่กังวล EASA ตรวจการบินไทย ตั้งศูนย์แก้ปัญหาการบิน ใช้ ม.44 สางปม ICAO

บพ.รอFAA ตรวจ”สอบซ่อม”รอบสอง – ไม่กังวล EASA ตรวจการบินไทย ตั้งศูนย์แก้ปัญหาการบิน ใช้ ม.44 สางปม ICAO

23 กันยายน 2015


ปลายปี 2558 นี้อาจเรียกว่าเป็นการ “ตรวจข้อสอบซ่อม” ของไทยก็ว่าได้ ทั้งเรื่องปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ประมงไอยูยู) และในเรื่องของการบินที่ถูกทั้ง องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และ องค์กรการบินพลเรือนของสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration: FAA) ปรับซ่อม เนื่องจากข้อที่มีนัยสำคัญในมาตรฐานการบินของไทยไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน

เป็นเวลา 3 เดือนได้แล้วที่ประเทศไทยมี “ธงแดง” ปักอยู่หน้าประเทศในเว็บไซต์ของ ICAO ในการแก้ไขข้อบกพร่อง การแก้ไขข้อบกพร่องกรณีของ ICAO อาจมีการชะงักงันไปชั่วคราวหลังจากที่ FAA เข้าตรวจสอบการบินของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และพบข้อบกพร่องเพิ่มเติมให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) ต้องเร่งแก้ไข จำนวน 35 ข้อ ภายในระยะเวลา 65 วัน

ที่มาภาพ: blog.eiqnetworks.com
ที่มาภาพ: blog.eiqnetworks.com

สำหรับ “ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย” (Significant Safety Concerns: SSC) ซึ่งเป็นจุดตายสำคัญของไทยนั้น มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ด้านการขนส่งสินค้าอันตราย (Transportation of Dangerous Goods by Air และด้านการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certifications: AOC)ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการแก้ไขดังนี้

ออกกฎหมาย – อบรมเจ้าหน้าที่ แก้ SSC เรื่องสินค้าอันตราย

ในการแก้ไขด้านการขนส่งสินค้าอันตรายนั้น แม้จะไม่ได้มีกฎหมายสำหรับควบคุมการขนส่งสินค้าอันตรายออกมา โดยเฉพาะควบคุมด้านการขนส่งสินค้าอันตรายทุกภาคการขนส่ง แต่ บพ. ก็ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเฉพาะภายใน บพ. ทำการออกข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 91 ฉบับที่ 92 และฉบับที่ 93 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตราย ออกคำสั่งกระทรวงคมนาคม เรื่อง การอนุญาตให้ส่งหรือพาวัตถุอันตราย หรือสัตว์ไปกับอากาศยาน ภายใต้มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2558 ได้ดำเนินการอบรมด้านการขนส่งสินค้าอันตรายทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และได้จัดทำคู่มือ Dangerous Goods Manual และ Dangerous Goods Inspector Manual รวมถึงรายการตรวจสอบแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558

ขีดเส้นตายสิ้น ต.ค. 2558 ไม่ยื่นทำ AOC ใหม่ ตัดสิทธิ์การบิน

ส่วนปัญหาด้านการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certifications: AOC) การแก้ไขโดยเริ่มจากการจัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาข้อบกพร่อง SSC ตามผลตรวจของ ICAO โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่ม 13 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งวัตถุอันตราย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบการปฏิบัติการบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษายานอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านจราจรทางอากาศและออกแบบวิธีปฏิบัติการบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการข่าวสารการเดินอากาศ

สำหรับผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และพนักงานราชการและทั่วไป จำนวน 48 อัตรา มีการคัดเลือก ได้บุคลากรมาปฏิบัติงานแล้ว ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน 2 อัตรา เจ้าหน้าที่เทคนิคด้านช่างภาคพื้น 2 อัตรา เจ้าหน้าที่เทคนิคด้านความสามารถทางภาษา 2 อัตรา กำลังคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบปฏิบัติการบิน 16 อัตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านบำรุงรักษา 6 อัตรา และผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมการบิน 3 อัตรา โดยยื่นหยุ่นให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปี เข้าสมัครได้ จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558

ในการเตรียมการด้านกฎระเบียบเพื่อการรับรองผู้ดำเนินการอากาศใหม่ (AOC Recertification) บพ. ได้ออกประกาศแจ้งถึงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการให้สายการบินทราบถึงการเข้าขอทำใบรับรองการเดินอากาศใหม่ ให้แก่สายการบินทั้ง 28 สายทราบแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558

ทั้งนี้ บพ. ได้ดำเนินการประสานขอสนับสนุนผู้ตรวจสอบ และผู้เชี่ยวชาญในการออกใบรับรองใหม่ จากหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งจาก Civil Aviation Safety Authority (CASA) จากออสเตรเลีย และจากประเทศญี่ปุ่น ที่มี 2 องค์กรหลักในการให้ความช่วยเหลือ คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น คือ (Japan International Cooperation Agency: JICA) และองค์กรการบินพลเรือนประเทศญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau: JCAB) โดยในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2558 JCAB เข้ามาให้การสนับสนุนด้านเทคนิค ส่วน JICA จะเข้ามาให้การสนับสนุนด้านเทคนิคในเดือนมกราคม 2559

ICAO-2

นอกจากนี้ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ตรวจสอบ โดยเฉพาะส่วนของ SSC อีกจำนวน 8 ครั้ง บพ. ได้เริ่มดำเนินการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ในขั้นเตรียมการเบื้องต้น 3 สายการบิน ได้แก่ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 สำหรับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 17 สิงหาคม 2558 สำหรับ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด และวันที่ 19 สิงหาคม 2558 สำหรับ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด

แหล่งข่าวจาก บพ. ระบุว่า ในกระบวนการออกใบรับรองการเดินอากาศใหม่นั้นมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นการเตรียมการเบื้องต้น ขั้นการยื่นคำขออย่างเป็นทางการ ขั้นการตรวจสอบเอกสาร ขั้นการตรวจสอบการปฏิบัติการ และขั้นการออกใบรับรอง

“ขณะนี้ส่วนของการบินไทยดำเนินการถึงขั้นตอนที่ 3 แล้ว ส่วนของนกสกู๊ตและไทยแอร์เอเชียนั้นอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งทาง บพ. จะทยอยดำเนินการให้ครบทั้ง 28 สายการบิน โดยทุกสายการบินจะต้องดำเนินการยื่นคำขอให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2558 ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารทำการบินได้ และในเดือนเดียวกันนี้องค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) จะเข้ามาตรวจสอบประเทศไทย กรมก็ตั้งใจให้ EASA เห็นว่ากรมได้ดำเนินการตรวจสอบ และให้ใบรับรองแก่สายการบินใหม่ทั้งหมดตามมาตรฐานของ ICAO” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมี 20 สายการบินได้ยื่นเอกสารเข้ามาแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนของการส่งเอกสาร และจะเริ่มทำการตรวจสอบแต่ละสายการบินตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป ดังนั้น แผนดำเนินการจากเดิมจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2559 คาดว่าจะเร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน 2559 จากนั้นใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ที่ ICAO จะตรวจสอบและประกาศผลได้

รื้อร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศทั้งฉบับ จ่อใช้ ม.44 ผ่านร่างกฎหมาย

ในการปรับปรุงด้านกฎหมาย วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ได้มีการพิจารณาแล้วว่าจะทำการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. … ทั้งฉบับ และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. … (คณะที่ 1-4) โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละส่วนงาน พิจารณาในแต่ละหมวดที่เกี่ยวข้อกับหน้าที่ของตน

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปเมื่อวันที่ 11–21 สิงหาคม 2558 แล้วรวบรวมความเห็นและนำเสนอต่อคณะกรรมการ รวมทั้งทำการนัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 27–28 สิงหาคม 2558 ซึ่งคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2558 จากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการดำเนินการ

เล็งใช้ ศบปพ. สานต่อปรับโครงสร้าง บพ. หลัง FAA ตรวจการบ้าน

ด้านการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของ บพ. นั้นเป็นส่วนที่ต้องชะงักไป แรกเริ่มมีการตั้งเป้าว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โครงสร้างใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบ โดยจะใช้อำนาจตามกฎหมายมาตรา 44 ให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ได้มีการหารือเพิ่มเติมในประเด็นของการต้ังหน่วยงานด้านการสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุ (Investigator) และการค้นหาช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Search and Rescue) ที่ต้องดำเนินแยกออกมาจากการดูแลของกระทรวงคมนาคม โดยจัดตั้งเป็น สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์รุนแรงของอากาศยาน และสำนักงานคณะกรรมการการค้นหาช่วยเหลืออากาศยาน และเรือประสบภัยแห่งชาติ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทาง ICAO ระบุว่าหน่วยงานทั้ง 2 ข้างต้นไม่สามารถสังกัดกระทรวงคมนาคมหรือกระทรวงยุติธรรมได้ เนื่องจากจะทำให้ส่งผลต่อรูปคดีและการสืบสวนสอบสวน เพราะหน่วยงานคมนาคมเองเป็นผู้ดูการออกนโยบายและกำกับดูแลด้านการคมนาคม และกระทรวงยุติธรรมเองก็เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านตุลาการต่างๆ การรวม 2 หน่วยงานมาไว้กับ 2 กระทรวงนี้จะทำให้ตัวกระทรวงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไป

“ก็หารือว่าตรงไหนเหมาะสมระหว่างมหาดไทย คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือไปที่กระทรวงกลาโหมดี เพราะโดยอำนาจหน้าที่เหมาะกับกระทรวงมหาดไทย แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการจะมีหน่วยงานเช่นนี้ได้ต้องมีเรือและเครื่องบิน หากจะครบวงจรศักยภาพของมหาดไทยจะเพียงพอหรือไม่ ฉะนั้นก็ต้องหารือร่วมกันต่อไปสำหรับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านนายกฯ เร่งรัดว่าต้องดำเนินการโดยเร็ว” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติ ร่างพระราชกำหนด (พรก.) 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. …. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. …. และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ….. (อ่านสาระสำคัญของ พรก. 3 ฉบับเพิ่มเติม)

ทั้งนี้ก็เพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านการบินเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรายละเอียดในกฎหมายทั้ง 3 ฉบับเป็นส่วนที่ทาง ICAO เสนอรายละเอียดมาให้ทั้งหมด จึงลัดขั้นตอนโดยการตรากฎหมายดังกล่าวโดยฝ่ายบริหาร

ICAO

ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศใช้กฎหมายมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการบิน เพิ่งจะมีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (ศบปพ.) หรือ Command Center for Resolving Civil Aviation Issues (CRAC) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ประกอบด้วยบุคคลที่ ผอ.ศบปพ. แต่งตั้ง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐบาล และให้กองทัพอากาศและ บพ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน

ศูนย์มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาการบินพลเรือน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งกำหนดแนวทางในการทำความเข้าใจกับ ICAO และหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศสมาชิก ICAO มีหน้าที่สั่งการ กำกับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในกำกับส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นของรัฐบาล ให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายของ ศบปพ. สำหรับงบประมาณในการปฏิบัติงานของ ศบปพ. สำนักงบประมาณจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรอีกครั้งหนึ่ง

บพ. พร้อมรับการตรวจจาก FAA – ไม่กังวล EASA ตรวจการบินไทย

สำหรับการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องตามที่ FAA ตรวจพบนั้น ในข้อสำคัญคือส่วนของผู้ออกใบรับรองให้แก่นักบิน ที่มีไม่ตรงตามแบบ ต้องมีการอบรมหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพิ่ม แหล่งข่าวจาก บพ. ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจาก บพ. ได้ดำเนินการฝึกอบรมผู้ออกใบรับรองในแบบเครื่องบินที่ขาดไปได้เรียบร้อยแล้ว เหลือการแก้ไขในข้ออื่นๆ อีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคาดว่าสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่ FAA จะเข้ามาประเมินผลอีกครั้ง

ด้านการเข้าตรวจของ EASA นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นกรณีปกติที่เมื่อประเทศใดถูกลดจาก ICAO มาอยู่ใน Category 2 ทาง EASA จะขอดำเนินการตรวจสอบสายการบินที่ทำการขออนุญาตบินเข้ายุโรป ซึ่งสายการบินของไทยที่มีการยื่นขอบินเข้ายุโรปนั้น เบื้องต้นมีประมาณ 4 สายการบิน ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด บริษัท บิสซิเนสแอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และสายการบิน เจ็ทสตาร์

ICAO

“การบินไทยเป็นสายการบินที่แน่นอนว่าต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งการบินไทยเองก็ได้เตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้แล้ว ส่วนสายการบินอื่นๆ เนื่องจากเตรียมการไม่ทันจึงอาจมีการขอยกเลิกการขออนุญาตบินเข้ายุโรปไปก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายอาคมระบุว่า EASA จะเข้ามาตรวจสอบในส่วนมาตรฐานของสายการบินที่บินเส้นทางยุโรปเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้มีเพียงสายการบินของบริษัทการบินไทยฯ เพียงแห่งเดียว และบริษัทการบินไทยได้มีมาตรฐานการบินที่ดีอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะรับมือกับการตรวจสอบได้

บพ. เจอร้องเรียน กระบวนการสรรหาเจ้าหน้าที่ไม่โปรงใส

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการแก้ปัญหาโดยการรับสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามานั้น ได้มีการร้องเรียนถึงความไม่ชอบธรรมในกระบวนการคัดเลือก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน ที่คำร้องเรียนระบุว่าตำแหน่งดังกล่าวต้องอาศัยผู้มีคุณวุฒิด้านอุตุนิยมวิทยา หรือนักอุตุนิยมวิทยาเข้ามาดำเนินงาน ตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด

แต่ บพ. ได้โอนภารกิจดังกล่าวให้กับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จํากัด ที่อยู่ในฐานะผู้ใช้ข้อมูล เป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาต้องทำการสรรหาผู้เชี่ยวชาญใหม่ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการจ้างผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในกลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

ทั้งนี้ ในข้อการสรรหาไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาการบินจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติเฉพาะทาง โดยตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญนั้นตามระเบียบแล้วจะต้องมีประสบการณ์ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น แต่เมื่อไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจริงๆ แล้วไม่เข้าคุณสมบัติที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามระเบียบนั้นกลับไม่ได้รับคัดเลือกเข้าปฏิบัติงาน

และในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยาเองก็มีปัญหาเรื่องการติดตั้งเครื่องมือไม่สอดคล้องกับภารกิจ มีการจัดซื้อเครื่องมือราคาแพง และใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ระบบไม่มีความทันสมัย มีการทุจริตงบประมาณการบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อ่านรายละเอียดคำร้องเรียน
ร้องเรียนICAO 1
ร้องเรียนICAO 2
ร้องเรียนICAO 3
ร้องเรียนICAO 4