ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เปิดประชุม “GASeP” ตอกย้ำไทยพร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค -“อาคม” คาด มี.ค. ’62 ไทยกลับสู่ CAT1

นายกฯ เปิดประชุม “GASeP” ตอกย้ำไทยพร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค -“อาคม” คาด มี.ค. ’62 ไทยกลับสู่ CAT1

21 ธันวาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก “Global Aviation Security Plan (GASeP)” ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก “Global Aviation Security Plan (GASeP)” โดยมี ดร.ฟ่าง หลิว เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (General Secretary, International Civil Aviation Organization – ICAO) นายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พร้อมคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (Civil Aviation Security) จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 26 ประเทศ รวมประมาณ 150 คน เข้าร่วมการประชุม

โดยการสัมมนา GASeP นี้จัดขึ้นเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน 2559 มีการประชุม The International Civil Aviation Organization (ICAO) Assembly ครั้งที่ 39 ณ สำนักงานใหญ่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เมืองมอนทริออล ประเทศแคนาดา ผู้เข้าประชุมในครั้งนั้นเห็นควรให้มีการเร่งรัดพัฒนาแผนงานด้านการรักษาความปลอดภัยระดับโลก Global Aviation Security Plan (GASeP) เพื่อให้เป็นโครงร่างนโยบายและแผนด้านการรักษาความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรมการบินฉบับใหม่ แทนที่แผนกลยุทธ์เดิมคือ ICAO Comprehensive Aviation Security Strategy (ICASS) หลังจาก GASeP ได้รับความเห็นชอบแล้ว ICAO ได้มีการสัมมนาเผยแพร่แผนงานเป็นรายภูมิภาค เพื่อให้แต่ละประเทศในภูมิภาคต่างๆ นำไปปรับใช้ให้ให้สอดคล้องกับบริบทของตน โดยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ

เลขาฯ ICAO แนะไทยต้องพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้ยั่งยืน

ดร.ฟ่าง หลิว ระบุว่า การจัดสัมนา GASeP ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ICAO’s No Country Left Behind โดยแผนงานฉบับใหม่ที่ได้นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จะเป็นรากฐานให้ภาครัฐ ผู้มีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมการบิน และ ICAO ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก รวมถึงยังจะได้มีการนำเสนอ Roadmap ที่ระบุหน้าที่และสิ่งที่ต้องปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ เพื่อที่แผนงานฉบับใหม่และ Roadmap จะได้นำพาไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการแรก คือ

  • ยกระดับความตระหนักรู้และการตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัย
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการรักษาความปลอดภัยและการตระหนักรู้ของมนุษย์
  • ปรับปรุงทรัพยากรทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ดีขึ้น
  • ปรับปรุงการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพ
  • เพิ่มการประสานงานและความสนับสนุน

โดย GASeP จะต้องได้รับการทบทวน แก้ไข ตามลักษณะภัยคุกคามทางด้านการรักษาความปลอดภัยการบินที่เกิดขึ้นใหม่ให้เหมาะสมที่สุด และจะต้องอาศัยการนำไปปฏิบัติในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในประเทศ ภูมิภาค และโลก รวมถึงการให้ความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนร่วมต่างๆ ในด้านการบินต่อไป เบื้องต้นคาดว่า การดำเนินการให้เห็นผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการแรกจะเกิดขึ้นก่อนการประชุม ICAO Assembly ครั้งที่ 40 ในปี 2562

นอกจากนี้ เลขาธิการ ICAO ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยภายหลังจากการปลดธงแดงได้แล้วว่า สถาบันการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะความเป็นมืออาชีพให้แก่บุคลากรด้านการบินพลเรือนมีความสำคัญและต้องดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดแผนหลักการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเล็งเห็นว่าไทยสามารถพัฒนาทักษะและฝึกอบรมบุคคลากรด้านการบินพลเรือนเพื่อเป็นบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทยและภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางอากาศมีความเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย

นายกฯ ชี้ไทยมุ่งมั่นยกระดับการบิน – “จุฬา” เผยความปลอดภัยไทยไปไกลมาตรฐาน

ดร.ฟ่าง หลิว เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ ICAO และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ มุ่งมั่นที่จะรักษาความสำเร็จนี้ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินไทยและยกระดับการบินพลเรือนไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากล ซึ่งการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (Significant Safety Concern: SSC) ได้สำเร็จทำให้ไทยถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (ปลดธงแดง) ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2560 นั้นถือเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นดังกล่าว

โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ซึ่งในภาวะที่มีภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ทำให้จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนงานการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก และในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะต้องนำแผนงานดังกล่าวมาดำเนินการปฏิบัติให้สอดคล้องและเกิดผลเป็นรูปธรรม โลกไร้พรมแดนของคนรุ่นใหม่ที่แม้จะใช้เวลาให้น้อย แต่ต้องปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

“ภัยคุกคามต่างๆ พร้อมจะเกิดตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องตื่นตระหนก ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดโดยทุกคนร่วมมือกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดีกว่าไปเน้นกฎหมายกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว การสร้างการเรียนรู้ ตระหนักถึงภัยต่างๆ จะทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้ โดยที่กฎหมายกฎระเบียบไม่เสียหายด้วย ดังนั้นจะต้องจัดแผนงานรักษาความปลอดภัยการบินระดับโลก โดยประเทศในโลกต้องร่วมมือกันภายใต้กฎกติกานำมาปฏิบัติให้สอดคล้องตามแผนงาน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า แผนงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก ถือเป็นกลยุทธ์ในการช่วยให้ประเทศสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศสร้างความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกัน และระหว่างประเทศสมาชิกกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยการบิน ทั้งยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมทางด้านการรักษาความปลอดภัยและศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตลอดจนปรับปรุงพัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GASeP ในระดับภูมิภาควันนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยจะได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศในการจัดเวทีระดับภูมิภาคเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและยกระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก ตลอดจนผู้แทนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้มีโอกาสพบปะและร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลกร่วมกัน

พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ ICAO ที่ได้มีการทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับไทยมาโดยตลอดในการแก้ไขปัญหาด้านการบิน ซึ่งรัฐบาลจะดูแลให้อุตสาหกรรมสายการบินทั้งสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ด้านนายจุฬากล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ที่ผ่านมาไทยมีการดำเนินการไปตามมาตรฐาน และบางกรณีที่เป็นเพียงข้อแนะนำของ ICAO ไทยก็รับมาดำเนินการแล้ว ซึ่งถือว่าตอนนี้ไทยดำเนินการไปเหนือจากมาตรฐานแล้ว เนื่องจากในส่วนของการรักษาความปลอดภัยมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกำลังคน

“เรื่องความปลอดภัยเราทำไปเกินมาตรฐานแล้ว เพราะเรามีคนเยอะ มีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ฉะนั้นอะไรที่เป็นลักษณะที่ควรทำก็เอาไปทำเลย ซึ่งอาจมีการกระทบต่อเรื่องการอำนวยความสะดวกไปบ้าง แต่เราคิดว่าเราต้องการสร้างความมั่นใจให้คนที่เข้ามาในประเทศไทยรู้ว่าระบบการรักษาความปลอดภัยเราดีเพียงพอ เพราะในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยนั้นมีคนพยายามที่จะเจาะอยู่ทุกวัน ในลักษณะนี้เป็นลักษณะของความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นและคนที่ประสงค์ก่อเหตุก็พัฒนาขึ้นทุกวัน ทำให้แนวโน้มของคนกลุ่มที่จะมาทำงานในด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินในไทยก็มีแนวโน้มที่จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตาม เพราะเนื่องจากงานมีความซับซ้อนและยากขึ้น คนต้องผ่านการอบรมมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ค่าตัวก็จะแพงขึ้นเหมือนกัน” นายจุฬากล่าว

ตอกย้ำไทยพร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก “Global Aviation Security Plan (GASeP)” ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยหนึ่งในแผนงานคือ การผลักดันให้ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) โดยจะดำเนินการเชื่อมโยงสนามบินสำคัญทั้งท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยในอนาคตรัฐบาลได้วางแผนให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภากลายเป็นท่าอากาศยานที่เชื่อมต่อการเดินทางสำคัญอีกแห่งของภูมิภาค

การพัฒนาดังกล่าวเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาฝั่งตะวันออกโดยตรง สนับสนุนการเดินทาง การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ และสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโต สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้

“ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอร์บัส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัย มีมาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยในปัจจุบันนั้นสอดรับกับข้อเสนอแนะของเลขาธิการ ICAO โดยเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลยังเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างอาคารเรียนของศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน พัฒนาคนไทย เยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ความสามารถ เพื่อให้บุคลากรไทยมีความพร้อมในการรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และมีความพร้อมและสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ด้านนายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการขยายโอกาสศักยภาพการบินของไทย จะสังเกตว่าหลังจากปลดธงแดงแล้ว การเจริญเติบโตของการบินระหว่างประเทศของไทยสูงขึ้น มีการขอเพิ่มเที่ยวบินจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ เช่น การบินไทยสามารถขยายเที่ยวบินไปยังยุโรป  ญี่ปุ่น และจีนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังต้องเป็นไปตามข้อตกลงร่วมทางด้านการบิน (Air Services Agreements) ว่าสนามบินแต่ละแห่งมีความหนาแน่นของเพียงพอที่จะรองรับการเพิ่มเที่ยวบินได้หรือไม่

“การปลดธงแดงถือเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ คือ เราต้องเอาธงแดงออกก่อน ขณะนี้เราเอาธงแดงออกแล้วก็หมายความว่าการเดินอากาศหรือการบินระหว่างประเทศของเรา สายการบินที่ Operate จากประเทศไทยไปมีความปลอดภัย ให้ความมั่นใจกับผู้โดยสารต่างชาติว่าสายการบินของเรามีความปลอดภัย” นายอาคมกล่าว

เมื่อมีความเติบโตทางด้านการบินแล้ว อันดับต่อมาที่ต้องพัฒนาคือบุคลากร โดยนักบินที่บอกว่าขาดแคลนกันนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นการขาดแคลนในส่วนของนักบินที่มีประสบการณ์ (นักบินระดับกัปตัน) โดยนายอาคมยืนยันว่าในแต่ละปีสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) มีการผลิตบุคลากร นักบิน และช่างซ่อมอากาศยาน เป็นจำนวนที่เพียงพออยู่แล้ว

“สายการบินย่อมต้องการคนที่มีประสบการณ์ บางคนก็ยังเป็นนักบินผู้ช่วย (Co-Pilot) ซึ่งต้องใช้เวลาในการอัปเกรดขึ้นไปเป็นนักบิน ดังนั้นพูดง่ายๆ คือว่า หลังจากปลดธงแดงนั้นเรายังมีเรื่องที่ต้องแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่อะไร เป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในระหว่างกระบวนการ นอกจากนี้ กพท. ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการที่จะพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยที่จะรับคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา รวมทั้งผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานอยู่แล้วเข้ามาทำงานร่วมกัน” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจากการสร้างบุคลากรคือ จะทำอย่างไรในการรักษาบุคลากรไว้ได้ ซึ่งวันนี้ในการปรับโครงสร้างของ กพท. ให้เป็นหน่วยงานในกำกับที่มีอัตราเงินเดือนของตัวเอง ทำให้ผู้ที่ทำงานใน กพท.ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกิจการการบินไม่ต้องขวนขวายไปหางานเสริมอื่นๆ

“ในอดีตที่ผ่านมานั้น เงินเดือนราชการไม่เพียงพอ บางคนที่เป็นนักบินก็ต้องไปบินกับสายการบินเพื่อหารายได้ แต่ตอนนี้เราตัดตรงนั้นออกไป ถามว่าบุคลากรยังจำเป็นต้องบินไหมก็ต้องบิน เพื่อให้รู้ เป็นการรู้เครื่องบินใหม่ๆ เพื่อใช้ประกอบในเรื่องการตรวจสอบเท่านั้นเอง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเรื่องการหารายได้ เพราะ กพท. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเพียงพอและมีกองทุนในการที่จะบริหารงานของตนเอง” นายอาคมกล่าว

คาดกลับสู่ CAT1 มี.ค.2562

นอกจากการปลดธงแดงแล้วไทยยังคงเหลืออีกภารกิจสำคัญ คือ การปรับอันดับของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (Federal Aviation Administration: FAA) จาก Category 2 ให้กลับคืนสู่ Category 1 ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถกลับคืนสถานะ Category 1 ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561

โดยนายอาคมระบุว่า “จริงๆ แล้วใน FAA นั้นปัจจัยสำคัญอยู่ที่คุณสมบัติของนักบิน ซึ่งเขาก็ตั้งคำถามไว้ว่า เนื่องจากระบบเก่าของเราบุคลากรไม่เพียงพอที่จะไปตรวจสอบนักบิน วันนี้เราก็ตั้งระบบใหม่ขึ้นมาว่า การตรวจสอบนักบินนั้นจะเป็น License ให้สายการบินตรวจสอบตัวเอง หมายความว่านักบินในระดับกัปตันจะสามารถตรวจสอบบุคลากรในรุ่นน้องๆ ได้ ก่อนที่จะมาขอใบอนุญาตจาก กพท. ซึ่งทาง ICAO ก็เห็นด้วย และทางหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ก็เห็นด้วย เราก็ต้องพูดคุยกับทาง FAA ว่าระบบนี้น่าจะเพียงพอ ในขณะที่เรากำลังสร้างบุคลากรขึ้นมาเพิ่มเติม”

สำหรับความคืบหน้าในการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Re-AOC) แก่สายการบินระหว่างประเทศนั้น ภายในปี 2560 นี้จะมีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่อีกหนึ่งรายคือ สายการบินเอเชีย แอตแลนติก

การบินไทย-แอร์บัส จับมือปู่ทางไทยสู่ฮับซ่อมบำรุงอากาศยาน

จากการประเมินของคณะทำงานบริษัทแอร์บัส ไทยถือเป็นที่มีความพร้อมในเรื่องของทำเลด้านภูมิศาสตร์ควบคู่ไปกับแรงงานที่มีฝีมือ และศักยภาพทางด้านการตลาดที่จะนำมาซึ่งประโยชน์อันมากมายในอนาคต จากการคาดการณ์ฝูงบินที่ให้บริการทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัวเพิ่มเป็นสองเท่าตัวภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จากจำนวนราว 6,100 ลำเป็นกว่า 17,000 ลำ ซึ่งประมาณการณ์มูลค่าของภาคส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO หรือ Maintenance, Repair and Overhaul)ในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 664 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับอากาศยานได้ทุกขนาด และยังมีโรงซ่อมบำรุงแบบครบครันที่ดำเนินการโดยการบินไทยอยู่แล้ว รวมทั้งมีแรงงานที่มีฝีมือที่ชำนาญการ และในปีหน้าการบินไทยจะเริ่มดำเนินการซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส A380 โดยการดูแลจากทีมแอร์บัส และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการสร้างโรงจอดเครื่องบิน (Hangar) แห่งใหม่ที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากเล็งเห็นว่าอู่ตะเภาจะเป็นท่าอากาศยานขนาด 2 ทางวิ่ง (Runway) ที่เติบโตและมีศักยภาพ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์ซ่อมที่สามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีขนาดลำตัวกว้างทุกประเภท จะมีการสร้างสถาบันด้านวิศวกรรมเครื่องกล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างการบินไทย แอร์บัส และ กพท. โดยแอร์บัสยังวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการบินและอวกาศในแนวตั้งของประเทศไทยต่อไป

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส, นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, มิสเตอร์ฌอง ฟร็องซัวส์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ฃแอร์บัส, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และมิสเตอร์เพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: การบินไทย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยฯ และมิสเตอร์ฌอง ฟร็องซัวส์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัทแอร์บัส ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอร์บัส

นางอุษณีย์เปิดเผยว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) และเป็นโครงการสำคัญยิ่งของประเทศไทย ซึ่งพิธีลงนามในครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความร่วมมืออันดีระหว่างบริษัทการบินไทยฯ และบริษัทแอร์บัส ที่มีความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ภายหลังจากที่มีการลงนามในบันทึกว่าด้วยความเข้าใจ [Memorandum Of Understanding (MOU)] เพื่อประเมินความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการดังกล่าว บริษัทการบินไทยฯ ได้นำส่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น จากนั้นจะได้จัดส่งให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป

ในส่วนของสัญญาว่าด้วยความร่วมมือที่บริษัทการบินไทยฯ และบริษัทแอร์บัสได้ร่วมลงนามในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในการประเมินโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อนำไปสู่การจัดทำสัญญาทางธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสังเขปของสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ ดังนี้

1. กำหนดขอบเขตในการหารือและวิเคราะห์เพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งในระยะแรก กำหนดโอกาสทางธุรกิจไว้ 7 กิจกรรม คือ

  • การจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งครอบคลุมถึงการซ่อมใหญ่อากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด และการพ่นสีอากาศยาน
  • การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดตั้งโรงซ่อมชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานแบบผสม หรือ Aircraft Composite Repair Shop
  • การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อให้เป็นโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hangar)
  • การจัดตั้งคลังอะไหล่และศูนย์โลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน
  • การออกแบบและก่อสร้างอาคารและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานให้เหมาะสม
  • การจัดตั้งโรงซ่อมบริภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด

2. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างบริษัทการบินไทยฯ และบริษัทแอร์บัส เพื่อเจรจา ศึกษา วิเคราะห์ ประเมิน และตัดสินใจในการทำธุรกิจร่วมกัน

3. สัญญานี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายใดๆ ระหว่างคู่สัญญาให้ต้องดำเนินการตามโอกาสทางธุรกิจใดๆ หรือต้องเข้าทำสัญญาทางธุรกิจใดๆ ระหว่างกัน เป็นเพียงการกำหนดกรอบความร่วมมือในการวิเคราะห์และประเมินโอกาสทางธุรกิจระหว่างคู่สัญญาเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากการประเมินโอกาสทางธุรกิจในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งข้างต้นบรรลุผลร่วมกันก็จะสามารถนำไปสู่การทำสัญญาการร่วมทุน (Joint Venture Agreement) ในแต่ละกิจกรรมต่อไป โดยมีเป้าหมายแรกคือกิจกรรมการจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2562