ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6) : ทวงเงินคิงเพาเวอร์ 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick up Counter”จาก 15% เก็บแค่ 3%?

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6) : ทวงเงินคิงเพาเวอร์ 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick up Counter”จาก 15% เก็บแค่ 3%?

16 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน โดย ทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย

วันที่ 10 มิถุนายน 2562 ทอท.ประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดของผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คือบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของ ทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างว่าความไม่สงบทางการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • ต่อจากตอนที่แล้ว “คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 5): นโยบายยึดรายได้เป็นสำคัญ แต่ TOR กลับหัวกลับหาง คะแนนเทคนิค 80-รายได้ 20” ยังอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคือกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.”

    ในตอนนี้จะกล่าวถึงประเด็นกรณีการตั้งคำถามว่า ทอท.จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าปลอดอากร หรือ “Pick up Counter” ในสนามบินสุวรรณภูมิ ครบถ้วนหรือไม่?

    ประเด็นนี้เป็นคดีตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ไปปรากฎอยู่ในคำพิพากษาถึง 3 ศาล คือ คำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1567/2560 และ คดีหมายเลขแดงที่ อ.2683/2561 และ คำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ พ. 545/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ พ. 428/2562 ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนำผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ ฯ สปท.มาแถลงข่าว

    และยังไปปรากฎอยู่ในประเด็นฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอีกด้วย โดยคดีนี้นายชาญชัย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับพวกรวม 18 คน เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหา ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ จึงขอให้ศาลฯลงโทษผู้กระทำความผิด และนำเงินที่ยังจ่ายไม่ครบ 14,290 ล้านบาท ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ตามที่ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอข่าวนี้ในช่วงปลายปี 2560

    นายชาญชัยได้นำข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาประเด็นนี้ แต่ปรากฏว่าทางฝ่ายจำเลยคือทอท. ได้ขอให้ศาลพิจารณาว่านายชาญชัยมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในขณะเกิดเหตุ ศาลคดีทุจริตฯ ตัดสินยกฟ้อง “บอร์ดทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุว่า “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

  • ศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “บอร์ดทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุ “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ป.ป.ช.สานต่อคดี
  • คดีนี้ศาลฯพิพากษาประเด็น“มีอำนาจฟ้องหรือไม่”เท่านั้น

    แต่ประเด็นสำคัญก็คือทั้ง 3 คดีข้างต้น ศาลฯได้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนคู่ความ บรรยายไว้ในคำพิพากษา ซึ่งเป็นรายละเอียดของ “หลักฐาน” ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

    คำบรรยาย “ข้อเท็จจริง” ในคำพิพากษา

    ที่มาของประเด็นนี้ เกิดขึ้นภายหลังบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นผู้ชนะการประมูลสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่ม คิง เพาเวอร์ มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (KPS) เข้าทำสัญญาสัมปทานพื้นที่ดังกล่าวกับทอท.แทน KPI

    ส่วน KPI ไปยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง (dawntown duty shop) ช่วงปลายปี 2549 KPI ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากร ให้เปิดกิจการดังกล่าวที่ซอยรางน้ำและพัทยา มีจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรตั้งอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สัมปทานเชิงพาณิชย์ของ KPS โดย KPI ได้ว่าจ้างบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) เป็นตัวแทนนำสินค้าปลอดอากรมาส่งที่จุดส่งมอบสินค้า (Pick up Counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีรายได้จากค่าบริการขนส่งสินค้าปลอดอากรจาก KPI ประมาณ 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่มาส่งมอบ

    ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ KPDC เข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรกับ KPS ซึ่งตามสัญญา ฯ KPS จะได้รับค่าส่วนแบ่งรายได้จาก KPDC ประมาณ 20% ของรายได้จากค่าบริการขนส่งสินค้าทุกเดือน โดย KPS ได้จัดเก็บและนำส่งค่าผลประโยชน์ตอบแทน จากการจำหหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองของ KPI ให้กับทอท.ในอัตรา 15% ของรายได้จากค่าขนส่งสินค้า 3% คิดเป็นเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ทอท.ได้รับจริง 0.45% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่มาส่งมอบเท่านั้น

    วันที่ 17 พฤษภาคม 2555 บอร์ด ทอท.ที่มีพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธานฯ ได้มีมติแต่งตั้งนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาสัมปทานของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กรรมการประกอบด้วย พล.ต.ต.พีรพันธ์ุ เปรมภูติ,นายสมชาย พูลสวัสดิ์,นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ,นายธานินทร์ อังสุวรังษี,น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางและกรรมการ ทอท.),กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.,นายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ,พ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ,พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ,ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเลขานุการ ส่วนพล.อ.อ.สุเมธ และเรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ นั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบ ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการแต่งตั้งนายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

    คณะทำงาน ฯ ตรวจสอบพบการประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่สัมปทานเชิงพาณิชย์ของ KPS อาจไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ข้อ 1.4 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่รวมถึงการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร” โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า การที่ KPS ให้ KPDC เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร อาจถือได้ว่า KPS ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา คณะทำงาน ฯ จึงส่งสรุปผลการตรวจสอบส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ

    วันที่ 29 มิถุนายน 2555 ทอท.จึงทำหนังสือบอกกล่าว KPS ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา และยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่จุดส่งมอบสินค้ากับ KPDC ภายใน 90 วัน

    วันที่ 7 กันยายน 2555 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำหนังสือถึง ทอท. ขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว พร้อมยื่นข้อเสนอ 2 ทางเลือก คือ 1. ขอให้ KPS และ KPDC เปิดให้บริการต่อไป โดย KPS ยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้ด้วย และ 2. กรณีทอท.ประสงค์จะให้ KPI มาทำสัญญาส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยตรงกับทอท. ควรเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนไม่เกิน 3%

    วันที่ 4 ตุลาคม 2555 ทอท.ทำหนังสือแจ้ง KPS อนุญาตให้ทำธุรกิจส่งมอบสินค้าได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างนี้ให้ KPS จ่ายค่าผลประโยชน์จอบแทนแก่ทอท. 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป จนกว่าทอท.จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

    วันที่ 18 ตุลาคม 2555 KPS ทำหนังหนังสือถึง ทอท. ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

    ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ทอท.ทำหนังสือแจ้ง KPS โดยขอให้ KPI มาทำสัญญาบริการส่งมอบสินค้า ฯ กับทอท.โดยตรง และให้ KPS ยกเลิกสัญญากับ KPDC โดยทอท.จะเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากร ปรากฎว่ากลุ่ม บริษัทคิง เพาเวอร์ ไม่ตอบรับเงื่อนไขดังกล่าว วันที่ 9 เมษายน 2556 จึงทำหนังสือแจ้งทอท. ขอให้พิจารณามาตรการชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นมาตรการถาวร แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

    จนกระทั่งมาถึงช่วงที่นายประสงค์ พูนธเนศ (อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น และปลัดกระทรวงการคลังในปัจจุบัน) เป็นประธานคณะกรรมการทอท. ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ได้มีมติแต่งตั้งนายนิรันดร์ ธีรนาทสิน เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารายได้ของทอท.

    วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ มีมติให้ทอท.เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก KPS ในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดการที่มาส่งมอบ ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังวินิจฉัยว่าการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรของ KPDC ไม่ถือเป็นการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร แต่เป็นการให้บริการขนส่งสินค้าถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายในสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ KPS

    วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 นายนิรันดร์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้ลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของทอท.ให้ KPS รับทราบ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำหนังสือตอบรับเงื่อนไขของทอท.

    การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณารายได้ครั้งนั้น จึงเป็นผลทำให้ ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าที่มาส่งมอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 มาจนถึงปัจจจุบัน

    เหตุของการฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต ฯ

    ก่อนที่นายชาญชัยจะนำประเด็นนี้ไปฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีทอท.ทำหนังสือแจ้ง KPS ว่าบริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้นอยู่ภายใต้สิทธิในสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในสัญญากำหนดให้จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากการขายสินค้า และบริการก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่คณะกรรมการพิจารณารายได้มีมติ ให้จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากบริการประเภทนี้แค่ 3% มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นมา ถือเป็นการปรับลดค่าสัมปทาน และอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการพิจารณารายได้หรือไม่ อย่างไร

    หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้วินิจฉัยนายชาญชัยมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปรากฎว่าประเด็นนี้ ศาล ฯ มีความเห็นว่า หากบอร์ด ทอท. กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของโจทก์ (นายชาญชัย) ถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น และเป็นความผิดในฐานเป็นพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นที่เกิดขึ้น และเป็นความผิดสำเร็จลงแล้ว ผลของการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดทันที นับจากที่มีการพิจารณาและมีมติอนุมัติให้เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรดังกล่าวแล้ว และได้แจ้งให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ทราบและทำตามเงื่อนไข

    ขณะที่นายชาญชัยได้เข้ามาซื้อหุ้น ทอท.เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยได้ร่วมกระทำความผิด ซึ่งตอนนั้นนายชาญชัยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น การกระทำดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือ กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของนายชาญชัยแต่ประการใด จึงยังไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ถึงแม้ต่อมานายชาญชัยจะเป็นผู้ถือหุ้น ทอท. และ ทอท. ยังคงเสียประโยชน์ต่อการกระทำความผิด ก็ถือเป็นเพียงผลของการกระทำผิด ไม่ได้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่ และไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จนถึงวันที่คณะกรรมการ ทอท. รับทราบมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ นายชาญชัย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ พิพากษา “ยกฟ้องคดี” นายชาญชัย จึงใช้สิทธิยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดี

    ส่วนคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ภายหลังศาลใต้วินิจฉัยประเด็นอื่นที่โจทก์ (กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์) ฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว จึงพิพากษาว่า ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือ ได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

    อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    “การกระทำของจำเลย จึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือ ข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา “ยกฟ้อง” ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาล”

    สำหรับศาลแพ่ง วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า ข้อความที่นายชาญชัยนำมาแถลงข่าวนั้น เป็นการแถลงตามความจริงที่ปรากฏตามข้อมูลในเอกสารที่ได้มาจากหลายหน่วยงาน ทั้งเอกสาร ทอท., เอกสารในสัญญา, เอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนวนที่มีการฟ้องร้องในศาล สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช., คณะกรรมาธิการ สปท., สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การแถลงข่าวของนายชาญชัย เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมาธิการฯ แถลงข่าวให้สาธารณชนทราบโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของชาติ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ผู้ถือหุ้นรายย่อย และประชาชนทั่วไปให้ทราบและเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นมา ข้อความที่นายชาญชัยแถลง จึงไม่ฝ่าฝืนความจริง จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

    สุดท้ายเมื่อศาลแพ่งได้วินิจฉัยประเด็นฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว จึงพิพากษา “ยกคำฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ” ความคืบหน้าของคดีนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน

    “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ฟังแต่ไม่ได้ยิน

    นอกจากนี้ กรณีที่ สปท. เคยทำข้อเสนอแนะถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้ปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี และต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ว่า “ปลดเรื่องอะไร การสอบสวนและกฎหมายว่าอย่างไร แจ้งความกันหรือยัง ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาเรื่องที่มีกระแสมาทำโดยไม่มีที่มา หลักฐานการทุจริต ผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไร”

    อย่างไรก็ตามเพื่อให้เอกสารเรื่องราวทั้งหมดนี้ถึงมือนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาคดี นายชาญชัย จึงดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเคยมีดำริไว้ โดยส่งสำเนาคำพิพากษาศาล พร้อมหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้

    ปรากฏว่ามีนายกรัฐมนตรีเพียงรายเดียวที่ทำหนังสือแจ้งกลับนายชาญชัยว่าได้รับเอกสารที่จัดส่งให้แล้ว แต่ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แต่อย่างใด

    เช่นเดียวกับคณะกรรมการทอท.ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ(นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)และเป็นกรรมการ(นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร

    จึงเป็นคำถามต่อไปยังผู้ถือหุ้นของทอท.ทุกรายที่ต้องถามหาความโปร่งใสจากคณะผู้บริหารทอท. โดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่มีบทบาททั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะผู้จัดเก็บรายได้เข้ารัฐ โดยมีตัวแทนนั่งเป็นกรรมการถึง 3 คน ได้สอดส่องและทำหน้าที่ในฐานะกรรมการทวงถามหรือยัง

    รวมทั้งคณะกรรมการทอท.และผู้บริหาร ได้มีการสะสางข้อเท็จจริงข้างต้น มีคำตอบและดำเนินการกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

    เพราะทอท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดล่าสุด(14 มิถุนายน 2562) 953,570.48 ล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มปตท. จะตอบคำถามธรรมาภิบาลกับนักลงทุนอย่างไร