ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดเงื่อนไข สู่ภาวะ “สุญญากาศ” เลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง ปิดประตู “เพื่อไทย” แกนนำตั้งรัฐบาล

เปิดเงื่อนไข สู่ภาวะ “สุญญากาศ” เลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง ปิดประตู “เพื่อไทย” แกนนำตั้งรัฐบาล

15 ตุลาคม 2018


“ฆ่าไม่ตาย ทำลายล้างไม่ได้” กลายเป็นคำนิยามของพรรคเพื่อไทย ที่บรรดา “บิ๊กเนม” ของพรรคระบุเอาไว้

หลังถูกยุบพรรคมา 2 ครั้ง จากไทยรักไทย สู่พลังประชาชน ถึงเพื่อไทย กระทั่งในวันนี้ยังมีคดีของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะส่งผลให้พรรคถูกยุบอีกครั้ง ในข้อกล่าวหา “นายใหญ่” เข้าครอบงำพรรค และกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช.”

ขณะเดียวกัน ศึกสนามเลือกตั้งได้กระชั้นเข้ามา ภายใต้ “กลไก” การเลือกตั้งด้วยระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่หวังทำหมันระบอบ “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งกำหนดเพดานจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง โดยยึดคะแนนรวมของ ส.ส.เขตทั่วประเทศที่พรรคนั้นๆ ได้รับมาคำนวณเป็นจำนวนที่นั่งของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้รับ

นักวิเคราะห์การเมืองคาดการณ์กันว่าสุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคที่ไม่ได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเลย หรือเพิ่มเพียงแค่หลักหน่วยเท่านั้น เพราะจำนวนของ ส.ส.เขตเต็มเพดานของจำนวน ส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยพึงมีแล้ว

เมื่อเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อส่อว่าจะหายไปกว่าครึ่งร้อย พรรคเพื่อไทยจึงปรับกลยุทธ์ตั้ง “พรรคพวกพ้อง” ที่จะเป็นเครือข่ายเดียวกันในการจัดตั้งรัฐบาล เช่น “พรรคเพื่อธรรม” นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ “พรรคเพื่อชาติ” นำโดยยงยุทธ ติยะไพรัช และจตุพร พรหมพันธุ์ และ “พรรคประชาชาติ” ที่นำทีมโดยกลุ่มวาดะห์ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นแกนนำ

หน้าที่ของ “พรรคพวกพ้อง” คือการเก็บคะแนนเสียงจากประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะคะแนนจะถูกนำไปเพิ่มเป็นจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เห็นการเลือกตั้ง ที่ในเขตเลือกตั้งจะมี ส.ส.เบอร์หนึ่งหรือเจ้าของพื้นที่เดิมซึ่งได้ครอบครองเก้าอี้ ส.ส.เขตนั้นไป ในขณะที่ผู้สมัครเบอร์รอง ถึงแม้ว่าจะ “สอบตก” แต่ก็สามารถเก็บคะแนนไปบวกในบัญชีของพรรคเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

ที่ผ่านมาจึงมีนักวิชาการออกมากางสูตรคำนวน ส.ส. โดยตั้งสมมติฐานจากข้อมูลการเลือกตั้งปี 2554 โดยมีความเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคพวกพ้องเครือข่ายทั้งหลาย จะได้ ส.ส.รวมกันถึง 250 เสียง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (อ่านต่อล้อมกอรบ)

นั่นหมายความว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงของพรรคการเมืองอื่นได้อีก 126 เสียง พรรคเพื่อไทยจะนั่งแท่นการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในทันที

แต่นี่ยังไม่ใช่ตอนจบบริบูรณ์ของการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะยังมีหลายปัจจัย ทั้ง “ผู้เข้าแข่งขัน” หน้าใหม่ที่ใกล้ชิดขั้วอำนาจอย่างพรรคพลังประชารัฐ แต่ที่สำคัญคือ “เงื่อนปม” ในกฎหมายหลายประการที่จะนำไปสู่ “สุญญากาศ” ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

250 ส.ว. จับมือ 126 ส.ส. โนโหวต

เงื่อนปมที่ 1 ที่มีปัจจัยมาจากเสียงของ ส.ว. 250 เสียงที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี

นัยทางการเมือง!! กับที่มา ส.ว.ชุดเฉพาะกาล- ส.ว.ชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 “เลือกนายกฯ – ปลดล็อกนายกฯ คนนอก”

บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดให้การให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หรือ ส.ส. 500 คน รวมกับ ส.ว. 250 รวม 750 คน โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ดังนั้น หาก ส.ว. ทั้ง 250 เสียง รวมกับ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 126 เสียง ไม่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ชัดในมาตรา 264 ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรี จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

เท่ากับรัฐบาลที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะแล้วเสร็จและตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยปริยาย เช่นเดียวกันกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่

เปิดสภาฯ ใช้ ส.ส. 95 เปอร์เซ็นต์

เงื่อนปมที่ 2 กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ก่อนถึงจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้

บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 84 กำหนดว่า จะเปิดประชุมรัฐสภาได้จะต้องจะต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด

ขณะที่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผล ส.ส. ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง

แต่ยังมี “ปัจจัย” แทรกซ้อนอื่นที่อาจทำให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผล ส.ส. ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ใน 60 วันได้ ดังนี้

1. กรณีที่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หากพบว่าการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริต หรือมีการแจก “ใบเหลือง” ขึ้น ซึ่งหากมีการจัดการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นแม้แต่เขตเดียว การประกาศผลเลือกตั้งของ กกต. ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์จะนับเวลาตามกรอบเวลาใหม่ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่ ตามข้อความในมาตรา 127 วรรคสี่ ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่”

เช่นเดียวกับกรณีการ “แจกใบส้ม” ที่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. พบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทำ หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ที่ทำให้การเลือกตั้งทุจริต ให้ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกของผู้สมัครนั้นไม่เกิน 1 ปี พร้อมให้มีการเลือกตั้งใหม่

นอกจากนี้อำนาจของ กกต. ตามกฎหมายใหม่นี้ ได้กำหนดให้ กกต. สามารถสั่งระงับหรือยับยั้งการดําเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งได้ หากพบการกระทําที่อาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

2. กรณีที่ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ “Vote No” มีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ให้ กกต. จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยจะต้องเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด จะทำให้ผู้สมัครรายเดิมไม่สามารถเข้าแข่งขันได้อีก ตามบทบัญญัติในมาตรา 126 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในหลายหน่วยเลือกตั้ง ย่อมมีความเสี่ยงที่ กกต. จะไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ใน 60 วันเช่นกัน

บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่กำหนด “เงื่อนเวลา” การเปิดประชุมรัฐสภาและการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน โดย มาตรา 127 กำหนดให้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก และในมาตรา 172 ยังให้ ส.ส. พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกด้วย

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงไม่สามารถการันตีได้ว่า พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ตามใจหวัง

เปิดสูตรคำนวน ส.ส.เพื่อไทยและเครือข่าย สู้ศึกเลือกตั้ง ย้อนระบบจัดสรรปันส่วนผสม

“สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ผู้เชี่ยวชาญระบบเลือกตั้ง ได้คำนวณจำนวน ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคแนวร่วม โดยตั้งสมมติฐานจากผลการเลือกตั้งในปี 2554 ผ่านเฟซบุ๊ก “Stithorn Thananithichot” ดังนี้

พรรคเพื่อไทยได้คะแนนรวมในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในปี 2554 ประมาณ 14 ล้านเสียง ได้ ส.ส.เขตจำนวน 204 คน

หากนำคะแนนนี้ไปคำนวณตามสูตรการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่คิดจากสมมติฐานว่าจะมีคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ประมาณ 35 ล้านเสียง โดยนำจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. 500 คน จะพบว่า คะแนนเสียง 70,000 คะแนนจะเท่ากับ ส.ส. 1 คน ดังนั้น ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย มี 14 ล้านคะแนน จะทำให้พรรคเพื่อไทย มี ส.ส.พึงมี ที่ 200 ที่นั่ง

หมายความว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาเขตเลือกตั้งที่เคยชนะเดิมไว้ได้ทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีจำนวนน้อยลงตามจำนวนเขตเลือกตั้งที่ลดลงจาก 375 เขต ในปี 2554 เป็น 350 เขต ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยอาจจะได้จำนวน ส.ส.เขตถึง 195-200 ที่นั่ง

เมื่อนำจำนวนที่พึงได้ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตที่เพื่อไทยได้รับ เท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เกิน 5 คน

จึงเป็นที่มาของการแตกหน่อ ตั้งพรรคลูกพรรคหลาน ไปตามเก็บคะแนนเพื่อนำมาคิดคำนวณเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และพรรคอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาอีกจึงเผยโฉมขึ้นมา โดยที่พรรคต่างๆ เหล่านี้จะไม่แย่งคะแนนกันเอง เพราะพรรคเพื่อไทยมี “คะแนนเหลือ”

คะแนนเหลืออยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ และจะแปรเปลี่ยนไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้กี่ที่นั่ง?

“สติธร” ตั้งสมมติฐานว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าเดิม คือ 14 ล้านเสียง ในขณะที่ปี 2554 ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยใน 204 เขต ปรากฏว่า คะแนนแต่ละเขตที่ชนะมาไม่จำเป็นต้องได้คะแนนสูงถึง 70,000 เสียงตามค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส. หนึ่งที่นั่งของระบบจัดสรรปันส่วนผสมก็ได้

นั่นหมายความว่า จาก 204 เขตที่เพื่อไทยเคยชนะมานั้น คะแนนเสียงเฉลี่ยที่ผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทยได้ อยู่ที่ประมาณ 51,000 คะแนนเท่านั้น ซึ่งการรักษาเขตเดิมที่เคยชนะเอาไว้ (195-200 เขต) เพื่อไทยต้องการคะแนนเสียงประมาณ 10.5 ล้านเสียง (204 เขต x 51,000 คะแนนต่อเขต) ก็เกินพอ

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมีคะแนนเหลือเท่ากับ 14 ล้าน ลบด้วย 10.5 ล้าน ซึ่งก็คือประมาณ 3.5 ล้านคะแนน

“หากพรรคเพื่อไทยคิดที่จะเก็บคะแนนที่เหลือนี้ไว้กับตัวเองก็จะสูญเปล่าภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะมันไม่มีผลทำให้พรรคได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่ม หรือถ้าจะได้เพิ่มก็ในจำนวนที่น้อยมาก จนไม่สามารถรองรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเดิมซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นบิ๊กเนมของพรรค ซึ่งคราวที่แล้วมีถึง 61 คนได้ ครั้นจะส่งผู้หลักผู้ใหญ่หรือบรรดาบิ๊กเนมทั้งหลายไปลงแข่งขันในระบบเขตแทนทั้งหมดก็จะมีปัญหาการจัดสรรวางตำแหน่งผู้สมัครที่ไม่ลงตัวง่ายๆ อยู่ดี” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าระบุ

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ การตั้งพรรคลูกพรรคหลาน เพื่อไปช่วยกันเก็บคะแนนเหลือๆ ที่มีอยู่มากกว่า 3.5 ล้านเสียงซึ่งมีค่าเท่ากับ ส.ส. อย่างน้อย 50 ที่นั่ง

การเกิดขึ้นมาของพรรคเพื่อธรรม เพื่อชาติ จึงไม่ใช่การ “แย่งคะแนน” กันเอง แต่เป็นการ “ช่วยกันเก็บคะแนน” ที่เป็นของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ให้สามารถนำไปใช้คิดคำนวณเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้โดยไม่เสียเปล่า