ThaiPublica > เกาะกระแส > 3 ผู้นำพรรค “อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-อนุทิน” วิพากษ์รัฐบาลทหาร – มองอนาคตการเลือกตั้ง

3 ผู้นำพรรค “อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-อนุทิน” วิพากษ์รัฐบาลทหาร – มองอนาคตการเลือกตั้ง

2 กันยายน 2018


การเสวนา ในหัวข้อ Political Roadmap The Election Ahead โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง (ที่ 3 จากขวา) ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล (ซ้าย) หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนา และมีฮัสลินดา อามิน (ขวา)
Chief International Correspondent for Southeast Asia จากบลูมเบิร์กทีวี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงาน Thailand Focus 2018: The Future is Now ซึ่งในช่วงสุดท้ายของงานได้มีการเสวนา ในหัวข้อ Political Roadmap: The Election Ahead โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนา และฮัสลินดา อามิน Chief International Correspondent for Southeast Asia จากบลูมเบิร์กทีวีเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผู้ดำเนินการเสวนานำเข้าสู่การเสวนาโดยเริ่มต้นว่า เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่มีรัฐบาลทหารยึดอำนาจบริหารประเทศ อนาคตการเมืองของประเทศมีความไม่แน่นอน การเลือกตั้งทั่วไปมีการเลื่อนมาครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ล่าสุดจะมีกำหนดการเลือกตั้งไว้ว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังมีคำถามว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้สรุปกรอบกฎหมายที่อาจจะทำให้อยู่ในอำนาจต่อไปอีก หลังจากเลือกตั้งประเทศไทยจะไปทางไหน โรดแมปการเมืองไทยจะมีหน้าตาอย่างไร สิ่งใดที่จะต้องทำเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงมีประชาธิปไตยในปีหน้า จากนั้นได้ส่งคำถามไปที่นายอภิสิทธิ์เป็นคนแรกว่า การเลือกตั้งที่กำหนดไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นแค่ไหน และคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไป

มองเลือกตั้งเลื่อนอีก

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่ควรจะตอบคำถามนี้ได้ไม่ได้อยู่ในวงเสวนานี้ บางทีงานวันนี้ควรจะเชิญคนคนนี้หรือตัวแทนมาตอบคำถามนี้ อย่างไรก็ตาม ขอตอบคำถามนี้ว่า จากการที่ได้พบปะกับคนในหลายวงการจำนวนมากทั้งตอนบนและตอนใต้ของประเทศ มีคนจำนวนน้อยมากที่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะกำหนดวันเลือกตั้งได้มีการเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว และขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่น่าจะมีความแน่นอน กำหนดเวลาได้เขียนในรัฐธรรมนูญ แต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นั้นมีการพูดกันว่า เป็นกำหนดการอย่างเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพราะต้องมีช่วงเวลากว่าที่กฎหมายลูกจะมีผล และหลังจากนั้น 5 เดือนก็จะมีการจัดการให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมีการพูดกันว่า ระหว่างกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

นายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“ในความรู้สึกของเรา จากการสังเกตก็พบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน (sense of urgency) สำหรับรัฐบาลทหารที่จะเดินหน้า ดังนั้น เราจะเตรียมพร้อมสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ แต่เราเชื่อว่าการเลือกตั้งน่าจะมีหลังเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของเราในช่วงที่มีการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น จะทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่กังวลนักต่อกลไกทุกอย่างที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง หรือกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถทำได้”

สำหรับเราแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเตรียมนโยบายสำหรับการบริหารประเทศไว้ เพราะประสบกับความท้าทายหลายอย่างที่กำลังประสบในขณะนี้ไม่ใช่ในอนาคต เช่น technology disruption การกลับไปมีความสัมพันธ์กับโลกอีกครั้งเมื่อเรามีการเลือกตั้ง และไทยยังทำหน้าที่ประธานอาเซียนปีหน้า ควรเริ่มคิดว่าจะกำหนดวาระอะไรที่จะมีประโยชน์ทั้งไทยและอาเซียนอย่างดีที่สุด และควรคิดว่าจะรับมือกับสังคมสูงวัยที่ไร้สวัสดิการที่กำลังก้าวสู่อย่างรวดเร็วอย่างไร เพราะจำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราคิดอยู่ และเตรียมตัวเรา เพราะเป็นสิ่งที่ประชาขนต้องการ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจัดการทันทีคือประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ และมีความหวังว่า การเลือกตั้งจะก่อให้เกิดให้มีการเปลี่ยนแปลงและจะมีผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

ผู้ดำเนินการเสวนาถามนายจาตุรนต์ว่า จากการที่นายอภิสิทธิ์มองว่าการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐบาล คิดไหมว่ารัฐบาลควรถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ เพราะเมื่อมองไปในด้านเศรษฐกิจแล้วมีเสถียรภาพเติบโตได้ดี 4.2% ในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ emerging อื่นแล้วนับว่าไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่า ค่าเงินบาทก็แข็ง ถือว่ามีเสถียรภาพในบางด้านการเลือกตั้งควรมีขึ้นหรือไม่

นายจาตุรนต์ให้ความเห็นว่า sense of urgency เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนมาแล้ว ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อประเทศเท่านั้น ประเทศนี้มีต้นทุนสูงแล้วในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงภายใต้การดูแลของทหาร และภายใต้ระบบเผด็จการที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ ความร่วมมือกับประชาคมโลกของไทยได้จางหายไป การค้าการลงทุนไม่มีมากเท่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญมากกว่านั้น ประชาชนคนไทยไม่สามารถที่จะเข้าร่วมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น เราอยู่ภายใต้ระบบที่พยายามกำหนดกรอบขอบเขตของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้าโดยบางกลุ่มบางคนที่ไม่เคยรับฟังความเห็นใครอื่น ไม่เคยฟังเสียงประชาชน

ในทางเป็นจริงแล้วเราได้รับผลเสียไม่เฉพาะในสิ่งสูญเสียเท่านั้น แต่ยังเสียโอกาสที่จะก้าวหน้า สูญเสียโอกาสการวางแนวทางที่จะจัดการกับปัญหาของประเทศในอนาคต ท่ามกลางโลกที่ที่มีพลวัต เนื่องจากมีแผนปฏิรูปและใช้ยุทธศาสตร์ที่ไม่ยืดหยุ่นที่จัดทำโดยคนบางกลุ่ม และไม่เคยนำมาให้สาธารณะชนมาทดสอบทดลอง ดังนั้นเราจึงสูญเสียในแง่นี้ ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานมากขึ้น คนไทยยิ่งสูญเสียมากขึ้น sense of urgency จึงออกมาในทางนี้

ผู้ดำเนินการเสวนาถามต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันนโยบายอะไรบ้างไหม และมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

นายจาตุรนต์ตอบว่า “มีบ้าง แต่ไม่มีอันไหนเลยที่สามารถพูดได้ว่าเป็นการปฏิรูป ทหารเข้ามายึดอำนาจและให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศ อย่างแรกบอกว่าจะปฏิรูปการเมือง ระบบการเมือง จากนั้นก็เลยเถิดไปถึงว่าจะปฏิรูปประเทศ และจนถึงทุกวันนี้ไม่มีใคร แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลเองก็ตามสามารถบอกได้ว่า ปฏิรูปตรงจุดไหน นโยบายบางอย่างเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่สามารถบอกได้แบบเฉพาะเจาะจงลงไปว่าอันไหนดีมาก”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย

“เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากระดับ 2% กว่าเป็น 3% กว่า และ 4% แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การกระจายรายได้ (distribution) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภาคการส่งออกเป็นหลัก ภาคบริการมีสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลดีมาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ลองไปถามคนทั่วไปที่เดินอยู่ข้างทาง ก็จะได้คำตอบว่า เศรษฐกิจไม่ดีเลย เพราะไม่มีรายได้ ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ รัฐบาลออกทีวีก็บอกอย่างภาคภูมิใจว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและเติบโตเร็วกว่าปีก่อน แต่เราต้องไปดูข้อมูลการกระจายรายได้ของประเทศด้วย เราต้องหาแนวทางที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหรือคนทั่วไปได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว แนวคิดนี้รัฐบาลละเลยไม่ใส่ใจ และเอาแต่พูดซ้ำอยู่ว่า เศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม แต่เป็นการพูดคนละภาษากับคนทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ”

คาดเลือกตั้งครึ่งปีหลังของปีหน้า

ผู้ดำเนินการเสวนาได้หันไปถามนายอนุทินว่า คิดว่าประเทศจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างจากการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไป

นายอนุทินกล่าวว่า อย่างแรก ไม่คิดว่าจะมีการเลือกตั้งจนกว่าจะผ่านครึ่งแรกของปีหน้าไปแล้ว และได้เตรียมตัวเองให้พร้อมกับกับสถานการณ์เลวร้ายสุดที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว และคาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเลื่อนไปจนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า อย่างน้อยทุกคนน่าจะสังหรณ์ใจก่อนและเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะหลังเดือนมิถุนายนปีหน้าไปแล้ว ส่วนผลที่จะตามมาในกรณีที่ไม่มีการเลือกตั้งนั้นจะเป็นผลที่ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวจะรับไหว เพราะไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาของ คสช. แต่เป็นปัญหาของคนไทยทุกคน

“ผมอาจจะมีมุมมองต่างจากผู้ร่วมเสวนาอีกสองท่าน ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีหน้า ผมจึงไม่ได้เตรียมตัวอะไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่พรรคจะต้องให้ความสำคัญเท่านั้น คนทั้งประเทศก็ต้องให้ความสำคัญ หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในปีหน้า”

นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวเสริมว่า เห็นด้วยกับนายอนุทิน เพราะได้บอกไว้แล้วไม่คิดว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ แต่จากกรอบระยะเวลาที่กำหนดมานั้นระบุว่าอย่างช้าสุดน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะไม่มีและเห็นด้วยอีกว่า หากไม่มีการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นภายในครึ่งแรกของปีหน้า ก็จะสร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของชาติเพราะความไม่พอใจความหงุดหงิดของประชาชนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ

ผู้ดำเนินการเสวนาได้ถามขึ้นว่าคุณกำลังจะบอกว่า จะมีประท้วงขึ้นอีกใช่ไหม

นายอภิสิทธ์ตอบว่า “ไม่ใช่ผมคนเดียว แต่ทุกคนกำลังจะบอกว่า เราเริ่มรู้สึกได้ถึงความหงุดหงิดของคน ความอดทนที่น้อยลง ซึ่งอาจจะแปรเปลี่ยนไปสู่ความโกรธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเอาเสียเลย”

และจากที่คุณพูดถึงความมีเสถียรภาพที่เราเห็นในขณะนี้นั้นเกิดขึ้นได้จากแนวทางที่ไม่ยั่งยืน เป็นเสถียรภาพกับความมั่นคงที่คนไทยได้สามารถรับได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ส่วนด้านเศรษฐกิจต้องมองในภาพรวมอย่ามองที่ตัวเลขจีดีพีอย่างเดียว สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจรายได้ครัวเรือนทุก 2 ปี การสำรวจใน 2 ครั้งหลังสุดมีแนวโน้มชัดเจนว่าในบางจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประชากรมีรายได้จากการทำการเกษตร ไม่เพียงตัวเลขจีดีพีชะลอตัว บางจังหวัดรายได้ครัวเรือนกลับลดลงมากกว่า 30% ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ และเมื่อมองไปที่ภาคใต้ราคายางตกต่ำเหลือ 1 ใน 3 จากที่เคยเป็น ราคาปาล์มน้ำมันก็ลดต่ำลง ขณะที่มูลค่าธุรกิจประมงลดลง 50% หลังจาก 4 ปีที่รัฐบาลพยายามที่จะปรับกฎเกณฑ์ให้ได้ตามอียูและสหรัฐฯ ตัวอย่างทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าประชากรกำลังเดือดร้อน คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจโต 1% 2% หรือ 3% แต่อยู่ที่รายได้ลดลง

ส่วนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังอยู่ในภาวะช็อกจากโครงการรับจำนำข้าว ก็ต้องได้รับการแก้ไข ต้องมีการกำหนดนโยบายที่เปิดช่องให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดกับรายได้ได้ ดังนั้น อย่ามองข้ามความไม่พอใจ ความหงุดหงิด และความคาดหวังของคนที่หวังว่า ต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อให้โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ในด้านความมั่นคงนั้น ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเลื่อนเลือกตั้งมาต่อเนื่อง แนวทางที่รัฐบาลเลือกใช้ที่ออกมาอยู่รูปของกฎกติกา อาจจะเป็นข้อได้เปรียบต่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว ในทางตรงข้าม การเมืองไทยจะถูกมองว่ามีความมั่นคงได้หากในขั้นตอนสำคัญอย่างแรก คือ ทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและเชื่อถือได้ และไม่ว่าด้วยเหตุผลใดที่การเลือกตั้งไม่เป็นธรรมเพราะผู้ที่อยู่ในอำนาจขณะนี้ที่เริ่มด้วยการเป็นผู้ตัดสิน ต้องการที่จะเป็นผู้เล่น เปลี่ยนกติกาตลอดเวลา ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง นี่คือองค์ประกอบของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต

ต้องเคารพในความตั้งใจของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง

“สำหรับผม งานสำคัญของ คสช. ในตอนนี้คือ ยึดตามสิ่งที่ได้พูดเอาไว้ ทำให้การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเกิดขึ้นให้ได้ และเคารพในความตั้งใจของประชาชนที่ได้แสดงออกในคูหาเลือกตั้ง เพราะเป็นแนวทางที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าและสร้างความเชื่อถือทางการเมือง ที่ไทยต้องจำเป็นต้องมี”

ผู้ดำเนินการเสวนาถามนายจาตุรนต์ว่า คิดว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมี แต่หวังว่าจะมี ขณะนี้ดูเหมือนกับว่าการเลือกตั้งจะไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เพราะมีหลายสาเหตุ และขอกลับไปที่คำถามแรกสักเล็กน้อย เพราะผมไม่ได้พูดเกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเลย คุณอนุทินบอกว่ามีมุมมองต่างจากผม แต่ผมยังไม่ได้พูดอะไรที่ต่างจากคุณอนุทินเลย

“ผมได้รับคำถามมากมายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและเป็นคำถามเดียวกันตลอดทั้ง 4 ปี ซึ่งคำถามนั้นได้แก่ เชื่อไหมว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นตามกำหนด ซึ่งผมตอบมาตลอดว่า ไม่เชื่อว่าจะจัดขึ้นได้ตามกำหนด และผมก็ตอบถูกเสมอทุกครั้งที่มีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้ง และครั้งนี้ความเป็นไปได้มีน้อยมากที่ คสช. จะเลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากว่าต้องทำตามรัฐธรรมนูญ หลังจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่าภายใน 90 วันหลังจากที่ประกาศใช้ จากนั้นมีเวลา 150 วันที่จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน”

หาก คสช. ต้องการจะเลือกการเลือกตั้ง ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องออกเป็นคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเราทุกคนก็จะไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและมีอำนาจเต็มตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการนี้อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับ คสช. ที่จะอธิบายต่อสาธารณชน เหตุผลที่ คสช. ใช้เลื่อนการเลื่อนตั้งหลายครั้งคือ ใช้วิธีการความชัดเจนในการจัดทำกฎหมายเป็นในการเลื่อน ซึ่งการที่ทำแบบนี้มีเหตุผล 2 เหตุผลด้วยกันคือ ข้อแรก เพื่อให้อยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้อสองเป็นการเตรียมตัวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง และผู้นำของเขาจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์ที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงด้วยการออกแบบกฎหมายลูก และแช่แข็งการทำกิจกรรมทุกประเภทของพรรคการเมืองโดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ พรรคการเมืองไม่สามารถเรียกประชุม ไม่สามารถแถลงข่าว พรรคการเมืองที่จัดแถลงข่าวจะถูกจับกุมตัวและถูกดำเนินคดี ระบบที่ออกแบบมานี้มีเป้าหมายที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง รวมทั้งยังไม่อนุญาตให้จัดทำนโยบาย ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน การมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ทั้งหมดหมายความไม่เพียงต้องการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอลงด้วย ทำให้การเลือกตั้งมีความหมายน้อยลง เพราะไม่มีการปฏิสัมพันธ์ของประชาชน เขตเลือกตั้งและพรรคการเมือง

คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 หลายคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง นั้นหมายถึงว่าสามารถที่จะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งได้ตามที่ต้องการ คสช. มีอำนาจเต็มไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งขึ้นละเริ่มทำหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าเราอยู่ภายใต้ระบบที่มีอำนาจเต็มของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งหรือคนคนเดียว และการเลือกตั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งแรกของไทยและอาจจะเป็นการเลือกตั้งแรกของโลกที่มีผู้สมัครลงรับเลือกตั้งภายใต้อำนาจเต็มของบุคคลที่พยายามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งจะเสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร

ผู้ดำเนินการเสวนากล่าวว่า ดูเหมือนว่าทั้ง 3 พรรคการเมืองจะมีความเห็นพ้องกันและมีคู่แข่งมีศัตรูคนเดียวกัน และมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ทั้งสามพรรคทำอะไรร่วมกันในการเลือกตั้ง และมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ามีจะความเห็นเหมือนกันมากพอจะเป็นเหตุผลที่ใช้ได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

นายอนุทินเป็นผู้ตอบคำถามนี้คนแรกโดยกล่าวว่า บางครั้งการเป็นตัวของตัวเองและมีความเชื่อของตัวเอง คำตอบอาจจะไม่เป็นพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สำหรับผมแล้วยังไม่ได้ตัดสินใจว่าใครคือคู่แข่งหรือศัตรู หลังจากการเลือกตั้ง การแข่งขันอย่างแรกของผมคือนำพาตัวเองและสมาชิกพรรคเข้าไปสู่สภาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งบอกและตัดสินทิศทางที่แต่ละพรรคจะเดินหน้าต่อไปและ หากพรรคไหนโชคดีชนะแบบถล่มทลาย ผมคิดว่าเราก็ไม่ต้องกลัวคู่แข่งหรือศัตรูอีก ยังมีหลักเกณฑ์กับมาตรฐานโลกที่ประชาชนยอมรับ

“ผมไม่รู้สึกว่าความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนตัวเลขและคนก็ตามเพื่อรักษาการเป็นเสียงส่วนใหญ่โดยไม่คำนึงถึงพรรคที่ประชาชนตัดสินใจเลือกมาเป็นตัวแทน พรรคที่มีตัวแทนมากที่สุดในสภา เราอาจจะพูดได้ในขณะนี้ว่าพรรคไหนที่มีเสียงส่วนใหญ่จะเป็นคนชนะ แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะยังมีกฎกติกาที่ผู้เล่นทุกคนเข้าใจดีว่าทำได้ดีที่สุดแค่ไหน การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา เช่น การให้ใบแดง ใบเหลือง และภายใต้กฎหมายใหม่มีใบสีส้มด้วย จะทำให้ผู้สมัครหมดคุณสมบัติไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งครั้งนั้น แต่เราก็เคารพผลในรอบแรก แม้ว่าจะมีคนได้ใบแดง สถิติที่ผ่านมาได้คะแนนมากกว่าคนที่ไม่มีคุณสมบัติเสียอีก”

ผมพยายามที่จะมองความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและมองโลกในแง่ดี สิ่งที่เราต้องการในประเทศนี้และการเลือกตั้ง แม้เราคาดเดาได้ว่าจะมีคนเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ของพรรคตัวเอง แต่ก็ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และหากว่าเรามีนโยบายที่ดี มีตัวแทนที่มีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง เราก็จะชนะได้ ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของประเทศ เราก็ไม่ต้องกังวลต่อคำมั่นที่ให้ในตอนแรก หรือพยายามที่จะรวมพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาเป็นกลุ่มก้อน ทุกคนต้องมีผลการสำรวจของตัวเองที่จะทำให้เราคาดได้เบื้องต้นว่าผลจะออกมาอย่างไรและใช้เป็นตัวอย่าง แต่สามารถปรับได้เมื่อผลจริงออกมา

“สำหรับผม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ผมขอบอกว่า เป็นไรก็เป็นกัน และก็เล่นตามนั้น เดินหน้าจากจุดนั้น ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว และผมก็เคยชินแล้วกับสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดๆ ที่ต้องดิ้นรนออกมา และดูว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นว่าจะดีแค่ไหน นี่เป็นความเชื่อของผม”

เสนอพรรคการเมืองร่วมผลักดัน 4 ด้าน

นายจาตุรนต์กล่าวว่า มีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยจะชักชวนให้พรรคการเมืองอื่นให้เห็นด้วยและร่วมกัน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศ โดยอย่างน้อยมี 4 ด้านด้วยกันที่คิดว่าพรรคการเมืองสามารถทำร่วมกันได้ และไม่ต้องลงนามร่วมกัน เพียงแค่นั่งลงพูดคุยหารือร่วมกัน โดย 4 ข้อที่จะพูดถึงนี้มี 4 ระยะด้วยกัน แต่ตรงข้ามแผนยุทธศาสตร์หลักของ คสช. ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. คือเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย วางแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดกรอบมาจากแนวคิดของ คสช. เอง และห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทุกประเภทและไม่สามารถทำอะไรแม้ในการสมัครลงรับเลือกตั้ง จากนั้นด้วยสมาชิกวุฒิสภา 250 คนก็จะจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศไปอีก 10-20 ปี โดยใช้ยุทธศาสตร์ประเทศและแผนปฏิรูป

”เพื่อที่จะไม่ให้ คสช. ดำเนินการตามแผนนี้ได้ ผมเสนอให้พรรคการเมืองร่วมมือกันใน 4 ข้อนี้ ข้อแรก ให้ คสช. ยกเลิกการห้ามหรือข้อห้ามทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ผ่อนปรน เพื่อที่พรรคการเมืองจะสามารถทำในสิ่งที่ควรจะทำได้ เช่นเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการจัดทำนโยบาย ข้อสอง พรรคการเมืองควรร่วมกันเรียกร้องการเลือกที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งหมายถึง การแทรกแซงน้อยที่สุดหรือไม่มีการแทรกแซงการเลือกตั้งเลย ข้อสาม ป้องกันไม่ให้ คสช. จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผมไม่ได้ร้องขอให้พรรคการเมืองมาร่วมกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลล่วงหน้า แต่ก็เป็นสิ่งชอบธรรมที่พรรคการเมืองจะบอกกับประชาชนว่า เราไม่สนับสนุนให้ผู้นำทางทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ข้อสี่ เมื่อถึงระยะหนึ่งในอนาคตเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หาก คสช. จัดตั้งรัฐบาลได้ แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และจะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาประเทศอย่างที่คนที่ส่วนใหญ่ต้องการ ดังนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถบอกประชาชนสัญญาล่วงหน้าได้เลย อย่าเพิ่งไปมองการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง 4 ข้อนี้สามารถตกลงร่วมกันได้เลย วันนี้หรือพรุ่งนี้ ยิ่งเร็วยิ่งดี”

นายอนุทินกล่าวว่า เราทุกคนก็ต้องทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศอยู่แล้ว และไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดลงไป แต่นายจาตุรนต์กล่าวว่า นั่นเป็นนามธรรมไป

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรามีความเห็นที่พ้องกันหลายเรื่อง แต่บางด้านมีรายละเอียดที่ทำให้มีความแตกต่างกัน และไม่คิดว่ามีพรรคการเมืองไหนไม่เห็นด้วยที่จะให้ คสช. ยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่มีเหตุผล แม้จะบอกว่าให้รอกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีหลายกิจกรรมที่พรรคการเมืองสามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งเลย มีหลายกิจกรรมที่อยู่ภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง หลายกิจกรรมเป็นการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ในการร่างนโยบาย การเข้าไปรับรู้ปัญหาของประชาชนและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“ผมไม่เชื่อว่าการยกเลิกการห้ามทำกิจกรรมจะเป็นการทำให้พรรคการเมืองสร้างความวุ่นวาย พรรคการเมืองจะสร้างความวุ่นวายขึ้นทำไมในเมื่อรู้ว่า หากเกิดความวุ่นวายขึ้น ก็จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก และผมมองไม่ออกว่าการยกเลิกการห้ามทำกิจกรรมนั้น จะเป็นการนำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงสร้างปัญหาตรงไหน คนที่ตั้งใจจะสร้างความวุ่นวายนั้นไม่สนใจหรอกว่าจะมีการห้ามหรือยกเลิกข้อห้ามหรือไม่แต่ยังคงเดินหน้าสร้างความวุ่นวายสร้างปัญหา และแนวทางนี้ไม่ใช้วิถีของพรรคการเมือง ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอแรกที่เราพรรคการเมืองตกลงร่วมกันได้”

ข้อสอง การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมนั้น ขณะนี้มี 2 ปัจจัยที่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา ได้แก่ อย่างแรก ผู้นำ คสช. มีมาตรา 44 ในมือและได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปแล้วในการปลดกรรมการเลือกตั้ง ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นองค์กรอิสระหรือไม่ เพราะเลขาธิการ กกต. ถูกปลด และผู้นำ คสช. ยังมีอำนาจในการปลดผู้บริหารองค์กรอิสระอื่นด้วย และเพื่อให้แก้ปัญหานี้ สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดคือขอคำมั่นจากผู้นำคสช. ว่า จะไม่ใช่อำนาจในการแทรกแซงองค์กรอิสระ เพื่อให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม และสุจริต

พรรคการเมืองสามารถลงนามในข้อตกลงได้หลายข้อ แต่หากว่าไม่มีคำมั่นจากผู้นำ คสช. ก็จะมีผลต่อความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือตลอดไป อย่างที่สอง เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นและผู้นำพรรคแสดงออกมาตลอดว่าจะให้การสนับสนุน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง ซึ่งผมคิดว่าผู้นำ คสช. จะต้องมีความชัดเจนว่าเป็น ผู้ตัดสินหรือจะเป็นผู้เล่น และหากว่าต้องการเป็นผู้เล่น ก็จะต้องแสดงออกถึงสปิริตว่าจะแข่งขันอย่างเสมอภาคอย่างเท่าเทียม แต่ก็เป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมของเรา ขึ้นอยู่กับผู้นำ คสช.

แต่หากว่าเลือกที่จะไม่เดินบนเส้นทางนี้ เราก็อาจจะได้เปรียบบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราให้ความสำคัญ สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ หากการเลือกตั้งไม่มีความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ในสายตาชาวโลก เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อประเทศและอนาคตเศรษฐกิจด้วย เราเรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ แต่ต้องเจาะจงลงไปที่การสร้างแรงกดดัน คสช. โดยตรง เพื่อให้หลักการนี้ไม่มีการฝ่าฝืน

ข้อสาม ผมเป็นคนแรกที่เสนอว่าหลังการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกทั้ง 250 คนนั้นต้องเคารพความต้องการของประชาชน หมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่สามารถได้เสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้ง ควรจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแนวทางข้อนี้ของผมอาจจะแตกต่างจากของคุณจาตุรนต์บ้าง แต่ไม่ใช่มีสาเหตุจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ใช่นายกฯ ประยุทธ์ แต่เป็นหลักการของประชาธิปไตย และผมคิดว่าหากเราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องตัวบุคคล แต่ยึดหลักการ ก็จะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าแทนที่จะมีความเสี่ยงที่จะถอยหลังกลับไปสู่สภาวะเผชิญหน้ากันอีกจากสาเหตุตัวบุคคล

ผลที่เกิดขึ้นอาจจะแตกต่างกัน แต่ประเด็นของผมคือ ต้องเคารพความต้องการของประชาชนที่จะสะท้อนออกมาในเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญนั้น ผมคิดว่าเราทุกคนก็เห็นด้วย เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางข้อที่ต้องแก้ไขในอนาคต ซึ่งก็รู้สึกดีที่คุณจาตุรนต์ใช้คำว่า “แก้ไข” เพราะบางคนบอกว่าเขียนใหม่ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะไปสภาวะการเผชิญหน้าทางการเมืองอีกได้ และก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ที่อย่างน้อยทุกพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ หรือให้อยู่ในรูปของคณะกรรมการหลังจากการเลือกตั้ง และตกลงในหลักการพื้นฐานว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้คือความเห็นที่พ้องกัน แต่ไม่ได้พูดว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แนวทางผลักดันนโยบาย

จากนั้นผู้ดำเนินการเสวนาถามว่า ทั้งสามผู้นำได้มีการพูดถึงหลายประเด็นในเชิงเศรษฐกิจ ปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่น ความเหลื่อมล้ำ เช่นนั้น แต่ละพรรคการเมืองต้องการผลักดันนโยบายในแนวทางไหน

นายอนุทินกล่าวว่า “พรรคการเมืองทุกพรรคมีนโยบายพื้นฐานอยู่แล้ว ปีนี้มีการคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.6% สำหรับผมแล้วแม้จะโตในระดับกว่า 4% แต่ไม่ส่งผ่านลงไปยังระดับฐานราก กลับไปจบที่ระดับกลาง สร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอะไร เมื่อประเทศลงทุนในบางสิ่งบางด้าน ก็บอกได้ว่ามีการเติบโตการใช้จ่าย จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่บอกได้ไหมว่าเราลงทุนถูกแล้ว เราลงทุนจากเงินกู้ เราคำนึงการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนหรือไม่ เราต้องการรถไฟความเร็วสูงไหมขณะนี้ ขณะที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังชอบที่จะใช้รถปิคอัพมากกว่ารถไฟความเร็วสูง ควรจะมีการสร้างมอเตอร์เวย์และปรับปรุงมอเตอร์เวย์เพื่อตอบสนองความต้องการพวกเขาหรือไม่”

เราต้องการเรือดำน้ำไหม เราต้องการจรวดโทมาฮอว์กไหม คำตอบคือไม่ เงินควรจะใช้ไปในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ หรืออย่างน้อยทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้น ให้เงินลงลึกไปที่ระดับฐานรากให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งต้องมีการลงทุนลงไปในสิ่งที่เราไม่ต้องก่อหนี้ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ เรามีหลายโครงการที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชนไทยโดยรวม แต่ผลจากตัวทวีคูณ (multiplier-effect) วัสดุหรือวัตถุดิบ สินค้าสามารถผลิตได้ในประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ แต่นี่คือสมมติฐาน หากว่าไทยต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีต่างชาติ ทำไมเราไม่เป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยีมา ทำให้ต้องให้เจ้าของเทคโนโลยีนั้นมาเป็นนักลงทุนเป็นนายจ้างในไทย

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน จากสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากสุดเป็นลำดับแรกจากนั้นค่อยเพิ่มการลงทุนขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าทำไมโครงการ EEC ต้องเร่งดำเนินการ ขณะที่ทั่วประเทศยังเดือดร้อนกับความยากจนที่เพิ่มขึ้น เพราะ EEC มีประโยชน์กับพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศเท่านั้น ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมี EEC แต่จำเป็นไหมที่จะต้องดำเนินการในขณะนี้ เราต้องทำให้ระดับฐานรากมีความเข้มแข็งก่อน จากนั้นค่อยขยายไปสู่การดำเนินการในสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมา อดีตผู้นำพรรคได้มีแนวทางว่า ในการเลือกตั้งเรามีแพลตฟอร์มนโยบายที่สามารถดำเนินการแบบเฉพาะได้ ทั้งในรูปโครงการ รูปโปรแกรม มีแพ็กเกจนโยบายหลากหลาย แต่ขณะนี้ไม่สามารถบอกถึงนโยบายได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงนโยบายหรือจัดทำนโยบาย แต่บอกว่าเมื่อถึงเวลาจัดทำนโยบายเราจะหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กับประชาชน รวมทั้งผู้มีสิทธิออกเสียงหน้าใหม่ ซึ่งมีจำนวน 7 ล้านคน เรายังไม่มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มนี้ เราต้องพูดคุยกับประชาชนก่อน อย่างไรก็ตาม เราพยายามที่จะร่างแนวคิดหลักของนโยบาย ซึ่งหวังว่าจะมีการนำมาทดสอบหากได้รับอนุญาตในอนาคตอันใกล้

ผมเชื่อว่านโยบายพรรคจะเน้น 2 ด้าน ด้านแรกเราจะยืนหยัดในประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้านที่สอง เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรืออื่นๆ แต่นโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น มีความสำคัญกับพรรค และเชื่อว่า นโยบายหรือพื้นที่ที่ประชาชนให้ความสนใจคือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ แน่นอนว่า คงไม่สูงถึง 7% เหมือนที่เคยเป็นเพราะในเวลา 2 ปี เศรษฐกิจไม่สามารถโตได้ขนาดนั้น แต่เศรษฐกิจที่เติบโตมีความสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกระจายรายได้ แต่สำหรับผมการกระจายรายได้นั้น จะไม่ใช่มาตรการทางภาษี ไม่ใช่การโยกความมั่งคั่งจากประชาชนกลุ่มหนึ่งนำไปให้ ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ควรให้ประชาชนในฐานรากและชนชั้นกลางมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจ

ผู้ดำเนินการเสวนาถามเพิ่มว่า อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรยังคงมีบทบาทในพรรคหรือไม่

นายจาตุรนต์กล่าวว่า อดีตนายกทักษิณยังเคลื่อนไหวในเชิงการหาแนวคิดเพื่อประเทศ ทั้งในเชิงนโยบาย แต่โดยที่รัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายอื่นกำหนดว่า บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่สามารถมีบทบาทหรือมีอิทธิพลในพรรคได้ และหากพรรคเราเปิดให้อดีตนายกทักษิณเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีอิทธิพลชักนำ พรรคก็จะถูกยุบและผู้บริหารพรรค สมาชิก จะถูกห้ามทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ดังนั้นเราจึงค่อนข้างระมัดระวัง แม้ว่าอดีตนายกทักษิณยังเป็นห่วงประเทศและคิดเพื่อประเทศ ไม่ให้อดีตนายกทักษิณมีอิทธิพลในพรรค ไม่ว่าในช่องทางไหนหรือวิธีการใด

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ใน 4 ปีกว่าที่ผ่านมา ผมไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ผมยังคงสร้างความสัมพันธ์มีการติดต่อกับทุกส่วน ดังนั้นจึงมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาของประชาชนมากขึ้น ทั้งเกษตรกร แรงงาน แวดวงการค้า และผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นครั้งแรก และเรายังคงยืนยันในบทสรุปว่า การบริหารเศรษฐกิจนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจ ข้อแรก ระบบเศรษฐกิจจากบนลงล่าง (trickle-down economic) ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และไม่แปลกใจ เศรษฐกิจโตขึ้นมาจากการที่รัฐบาลใช้เงินราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีผลมากพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจในชนบท เหตุผลก็คือ เงินทั้งหมดที่ใช้ไปในพื้นที่ชนบทนั้น ส่วนหนึ่งของเงินซึ่งเป็นส่วนใหญ่ถูกดึงกลับไปที่ภาคเทเลคอม ที่มี 4 บริษัทใหญ่ให้บริการอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อมีเงินก็จะใช้กับการสื่อสารเป็นหลัก นอกจากนี้เงินถูกดึงกลับไปที่ภาคการค้าปลีกที่มีบริษัทโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ทำกำไรจากเงินคนชนบท การใช้จ่ายเงินภาษีที่จัดเก็บได้จึงไม่ไม่ผลอีกต่อไป

แนวทางเดียวที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกคนคือ ปรับกระบวนทัศน์ การกำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ตั้งแต่เริ่ม เศรษฐกิจที่เติบโตสูงทุกคนก็ต้องการ แต่ก็ต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนคนยากจน พรรคเราต้องการปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารเศรษฐกิจ จีดีพี ที่ชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ตัววัดที่ดี เรากำลังพัฒนาตัวชี้วัดใหม่ที่บ่งชี้ความมั่งคั่งและวัดคุณภาพชีวิตของคน

ข้อสอง ต้องจัดการกับองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการผูกขาดในประเทศ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจบางรายใช้อำนาจผูกขาดในทางที่ไม่ถูกต้อง และมีผลต่อประชาชนผู้บริโภค ขณะที่บริษัทเอกชนหลายรายยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงและใช้อำนาจทางการตลาดอย่างไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจ SMEs ผู้ประกอบการขนาดย่อยในพื้นที่ห่างไกลและธุรกิจสตาร์ทอัป

นโยบายของพรรคเรา มุ่งไปที่การช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการเติบโต และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องมีการกระจายอำนาจ ต้องมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ

“ประชาธิปไตยมีความท้าทายอย่างมาก มีอุปสรรคที่ต้องแก้ไข ต้องก้าวผ่าน แต่ก็ไม่เพียงแค่นี้ เราต้องเรียนรู้บทเรียนจากอดีต แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ในแผน ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามความต้องการของประชาชน แต่ที่ท้าทายมากกว่านั้นคือ การรักษาประชาธิปไตย ซึ่งจะทำได้หากมี good governance การขจัดคอร์รัปชัน”