ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นัยทางการเมือง!! กับที่มา ส.ว.ชุดเฉพาะกาล- ส.ว.ชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 “เลือกนายกฯ – ปลดล็อกนายกฯ คนนอก”

นัยทางการเมือง!! กับที่มา ส.ว.ชุดเฉพาะกาล- ส.ว.ชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 “เลือกนายกฯ – ปลดล็อกนายกฯ คนนอก”

2 กรกฎาคม 2018


เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับชุมชนไทยในฝรั่งเศส (ในช่วงเดินทางเยือนฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย. 2561) ว่า ประเทศไทยกำลังปฏิรูปการเมือง ขอเวลาช่วง 5 ปีแรก คัดสรร ส.ว. 200 คน และอีก 50 คน ไปคัดสรรมาจากประชาชน ซึ่ง 200 คนนั้น ตนขอเลือกเอง ซึ่งไม่ใช่ไปเลือกคนเดียว 200 คน เพราะไม่รู้จัก จึงต้องตั้งคณะทำงานไปเลือกคนแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายมา ซึ่งมีทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการสอบทานถ่วงดุลกันในสภาผู้แทนราษฎร

“การมีสองสภาดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะมากันทางไหน ถ้ามาด้วยการเลือกตั้งทางเดียวจะเป็นแบบเดิมหรือไม่ ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน สามีอยู่สภานี้ ภรรยาอยู่สภาโน้น บางทีเลยไม่เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล”

สอดรับกับกระบวนการสรรหาวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เตรียมเดินหน้าอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาตรา 91, 92, 93, 94, 95, 96 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาส่วนที่ปรับแก้ไขนั้นถือว่าเป็นไปตามบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 107 เนื่องจากเนื้อหาในส่วนดังกล่าวเป็นเพียงบทเฉพาะกาล ใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ การพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย กรรมาธิการสามฝ่ายอันประกอบด้วยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ปรับที่มาของ ส.ว.ชุดเฉพาะกาล เหลือ 10 กลุ่ม จากเดิมที่ 1. กรธ. กำหนดไว้ 20 กลุ่ม 2. วิธีการสมัครที่เพิ่มเป็น 2 ประเภท คือ การสมัครอิสระและการสมัครตามคำแนะนำจากองค์กรจากเดิมที่มีประเภทอิสระอย่างเดียว และ 3. วิธีการเลือกตรงระหว่างกลุ่มในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ จากเดิมที่ให้เลือกตรงและไขว้ ส่วนที่มาของ ส.ว.ชุดปกตินั้นให้ปรับไปใช้ต่างร่างเดิมของ กรธ.

นำมาสู่คำถามว่าทำไมถึงต้องปรับที่มาให้แตกต่างกันระหว่าง ส.ว.ชุดเฉพาะกาล และ ส.ว.ชุดปกติ

หากจำได้ จุดกำเนิดของ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลนี้ มาจาก “ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่ง พล.อ. ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช. (ในขณะนั้น) ทำหนังสือส่งมายัง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. อ้างอิงถึงการประชุมหารือภายในระหว่าง คสช. นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช. และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557

  • วิวัฒนาการสกัดการเมืองครอบงำ ย้อน 86 ปีวุฒิสภาไทย…สภาเครือญาติ สู่ สภาพปลาสองน้ำ จากแต่งตั้ง เลือกตรง เลือกไขว้
  • หนึ่งในข้อเสนอนั้นระบุว่า “ระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นวาระแรกของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรมีบทบเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการคัดสรรหรือแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอย่างน้อยก็ในระยะแรกได้ว่า แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่ก็ช่วยประคับประคอง ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจาการเลือกตั้งได้”

    พร้อมกันนี้ยังได้เสนอในรายละเอียด ส.ว.เฉพาะกาล คือ 1. ควรมี 250 คน กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร 500 คนได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ 2. มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ดำเนินการโดยคณะกรรมการเป็นอิสระเป็นกลาง เป็นที่น่าเชื่อถือตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และควรเปิดให้ให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญซึ่งไม่ใช่สมาชิก คสช. เข้ามาทำหน้าที่ ไม่เกิน 6 คน

    จากข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ สุดท้ายกลายเป็นเนื้อหาที่ถูกบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญเกือบจะตรงตามความต้องการของ คสช. เกือบทั้งหมด ยกเว้นเรื่องให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากคำถามพ่วงที่ประชาชนลงประชามติเห็นชอบ จากเดิมที่ คสช. ตั้งใจจะให้มีอำนาจเพียงแค่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐเท่านั้น สุดท้ายรายละเอียด ที่มา ของ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลถูกบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก ส.ว. ที่มีการปรับไปปรับมาในขั้นตอนการพิจารณา

    ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองว่า ส.ว.ชุดเฉพาะกาล 250 คน ซึ่งมีบทบาท หน้าที่ ชัดเจน เสมือนเป็นตัวช่วยอันจะปูทางการกลับมาสู่อำนาจของ คสช. หลังเลือกตั้ง ในวันที่เริ่มเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวตั้งพรรคของ คนใน คสช. ชัดเจนขึ้นตามลำดับ

    หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า ส.ว.ชุดแรกหรือชุดเฉพาะกาลที่จะเกิดขึ้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้นมีความแตกต่างกับ ส.ว.ชุดปกติ อยู่หลายประเด็น ไล่มาตั้งแต่ จำนวน กระบวนการสรรหา โดยเฉพาะ อำนาจหน้าที่ จนเป็นที่จับตาว่า “สภาสูง” ชุดนี้อาจเป็นกลไกที่มีนัยยะสำคัญทางการเมืองในอนาคต

    เริ่มตั้งแต่ในแง่ “จำนวน” ส.ว.ชุดเฉพาะกาลถูกกำหนดให้มี 250 คน ขณะที่ ส.ว.ชุดปกติ มีเพียงแค่ 200 คน ในแง่จำนวนที่เพิ่มมาในส่วนของ ส.ว.เฉพาะกาลอีก 50 ตำแหน่งจากชุดปกตินั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าสอดรับกับอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 เสียง

    อันจะทำให้ ส.ว. 250 เสียงนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก

    ยิ่งหากพิจารณา “ที่มา” ของ ส.ว.ชุดเฉพาะกาล ทุกขั้นตอนสุดท้ายก็วนกลับมาชี้ขาดโดย คสช. ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้คัดสรร ส.ว. 250 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือก ส.ส. ซึ่ง ส.ว.ชุดเฉพาะกาลนี้มีที่มาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

    1. ส.ว. 200 คน มาจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน ทำหน้าที่เลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จำนวนไม่เกิน 400 คน เสนอ คสช.

    จาก 400 คน คสช. จะเลือกให้เหลือ 194 คน รวมกับอีก 6 คนที่จะมาทำหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

    2. ส.ว. 50 คนจะมาจากการเลือกกันระหว่างกลุ่มอาชีพ 10 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มแบ่งเป็นประเภท 2 คือ อิสระ และองค์กรเสนอชื่อ รวมแล้วจะได้ 200 คน ซึ่งจะส่งให้ คสช. เลือกเหลือ 50 คน

    สำหรับกระบวนการคัดเลือกให้ได้ 200 รายชื่อนั้นจะมาจาก 10 กลุ่มอาชีพ ได้แก่

      1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงอันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบการวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      3. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพ อิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      7. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจอาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      9. กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      10 กลุ่มอื่นๆ

    ทั้งนี้ ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มทั้ง 10 กลุ่ม สามารถสมัครได้ทั้งประเภท 1. อิสระ และ 2. ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กร ซึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครแต่ละคนจะมีสิทธิสมัครได้เพียงแค่กลุ่มเดียว และสมัครได้แค่แบบอิสระหรือได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงแค่อำเภอเดียว อีกทั้งเมื่อยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้ ที่สำคัญ ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่ม หรือหนึ่งประเภท หรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 5 ปี

    รูปแบบวิธีการเลือกจะเป็นการเลือกกันเองภายในกลุ่ม และประเภทเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ ซึ่งแต่ละคนจะเลือกได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้จากนั้นผู้อำนวยการเลือกตั้งจะนับคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม และแต่ละประเภทถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มและประเภทนั้น

    สำหรับการเลือกระดับจังหวัด ผู้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มและประเภทเดียวกันจะเลือกกันเองได้ไม่เกิน 2 คน คนที่ได้คะแนนสูงสุด 4 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มและแต่ละประเภทจะได้รับเลือกไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในการเลือกระดับประเทศ ผู้ได้รับเลือกจากระดับจังหวัดจะเลือกคนในกลุ่มและในประเภทของตัวเองไม่เกิน 2 คน จากนั้นให้จัดเรียงลำดับคนที่มีคะแนนสูงสุด 1-10 ในแต่ละกลุ่มและประเภท รวมเป็น 200 คนที่จะส่งให้ คสช. เลือกเหลือ 50 คนต่อไป

    ความแตกต่างในการเลือกระดับประเทศอยู่ตรงที่หากกลุ่มใดและประเภทใดมีผู้ไม่ได้รับเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศจัดการเลือกใหม่ โดยให้ผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก

    ขณะที่ ส.ว.ชุดปกติ จะมีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกันในแต่ละกลุ่ม 20 กลุ่ม ได้แก่

      1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการอัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      3. กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      4. กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรือ อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นในทำนองเดียวกัน
      8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัรพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม 9.
      11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนา นวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      14. กลุ่มสตรี
      15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่นหรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      19. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
      20. กลุ่มอื่นๆ

    ทั้งนี้ ขั้นตอนการคัดเลือกเริ่มจากระดับอำเภอ ในขั้นต้น ผู้สมัครแต่ละกลุ่มจะลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนไม่ได้ สำหรับ 5 คนแรก ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็น “ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น” ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งให้ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้จับฉลากแบ่งสายของกลุ่มนั้นๆ เพื่อจะได้กำหนดสายของกลุ่มตัวเองในการเลือกรอบต่อไป

    ขั้นตอนต่อไปให้แบ่งสาย ไม่เกิน 4 สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม ให้ “ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น” ของแต่ละกลุ่มเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละ 1 คน ในชั้นนี้จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตัวเองไม่ได้ โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกไปดำเนินการเลือกระดับอำเภอต่อไป

    ในส่วนของการเลือกระดับอำเภอขั้นต้น ให้บุคคลในแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ คนที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คนแรกของแต่ละกลุ่มได้เป็น “ผู้รับเลือกขั้นต้น” โดยตกลงกันว่าใครจะเป็นคนจับฉลากเพื่อแบ่งสายว่ากลุ่มของตัวเองอยู่สายใด ขั้นตอนต่อไปให้แบ่งกลุ่มออกเป็นสายไม่เกิน 4 สาย ประกอบด้วยจำนวนกลุ่มที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ให้ “ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น” ของแต่ละกลุ่มเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน 1 คน โดยคนที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนไปเลือกในระดับประเทศต่อไป

    การเลือกระดับประเทศ ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันไม่เกิน 10 คน จะเลือกตัวเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนไม่ได้ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ 40 คนแรก เป็น “ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น” ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะตกลงกันว่าใครเป็นผู้จับฉลากแบ่งสาย ขั้นตอนต่อไปแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย ประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ให้ “ผู้ได้รับคัดเลือกขั้นต้น” เลือก “ผู้ได้รับคัดเลือกขั้นต้น” ที่อยู่คนละกลุ่มในสายเดียวกันได้ไม่เกิน 5 คน โดยเลือกตัวเองและคนในกลุ่มตัวเองไม่ได้

    สุดท้าย คนที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1-10 ในแต่ละกลุ่ม จะเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. และให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริตเที่ยงธรรม ให้ประกาศผล ในราชกิจจานุเบกษา ส่วนลำดับที่ 11-15 ของ แต่ละกลุ่มให้อยู่ในบัญชีสำรอง

    เลือกนายกฯ – ปลดล็อกนายกฯ คนนอก หน้าที่สำคัญ ส.ว.เฉพาะกาล

    สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ส.ว.เฉพาะกาล มีหน้าที่ที่สำคัญซึ่งสืบเนื่องมาจากคำถามพ่วงประชามติคือ การมีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ระบุว่า การให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก ให้กระทำให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยจะต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งขอจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

    อีกทั้งในกรณี หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ทั้งนี้ รัฐสภาต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้

    นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 270 ยังกำหนดหน้าที่ ส.ว.เฉพาะกาล ให้มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน

    ส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของทั้ง ส.ว.เฉพาะกาลและ ส.ว.ชุดปกติ ที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ก่อนหน้านี้คือประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสองสภาเท่าที่มีอยู่ สามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดให้การลงคะแนนรับหลักการในวาระ 1 และวาระ 3 นอกจากจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ยังจะต้อง มี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

    นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้ความสำคัญกับการให้อำนาจ ส.ว. ตรวจสอบนักการเมืองเพิ่มเติมคือให้ ส.ว. 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพ ว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม รวมทั้ง ส.ว. 1 ใน 10 สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการเสนอ แปรญัตติ หรือการใดที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณของนักการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้ง อีกทั้งถ้า ครม. เป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นแต่มิได้ยับยั้ง ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ ครม. พ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะ