เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยในช่วงเช้าก่อนมีการประชุม ครม. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นำคณะศิลปินดาราและนักแสดง พร้อมผู้จัดจากละคร “บุพเพสันนิวาส” เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เนื่องในกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมภาพยนตร์และละครไทย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมศิลปินดาราและนักแสดง ผู้สร้างและผู้จัด จากละครบุพเพสันนิวาสที่มีคุณภาพ พร้อมผลักดันสร้างตลาดและเผยแพร่สื่อคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
“บุพเพสันนิวาสเป็นเรื่องที่กระแสสังคมให้ความสนใจ วันนี้ก็ถือว่า ที่เขามาไม่ใช่ผมจะไปโหนกระแสเขา ผมต้องการให้กำลังใจเขาในการทำละครดังๆ แบบนี้ มีละครอิงประวัติศาสตร์มากมาย ส่วนใหญ่เป็นการสู้รบอะไรต่างๆ เสียเยอะ วันนี้ก็เป็นการสื่อสารประเพณีวัฒนธรรม ให้เห็นว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการแต่งกายอย่างไร และสร้างความสนใจให้ตรงกับคนไทย ก็แนะนำไปว่าควรจะต้องไปทำในเรื่องหัตถศิลป์ของไทย ซึ่งมีหลายประเภท ทำอย่างไรจะได้เห็นว่าพัฒนาการของสิ่งต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไรจากโบราณมา อาทิ เครื่องทอง ที่มีหลายแบบตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นต้องมีการสร้างสตอรี่เรื่องเหล่านี้ เพราะเรามีหลายเรื่องที่สามารถสร้างการรับรู้กับโลกได้ และมันจะเป็นการสร้างความสนใจ เพิ่มมูลค่า เชื่อมโยงการตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะทำให้รายได้กลับมาสู่ประชาชน สู่ผู้ทำงานหัตถศิลป์เป็นกำลังใจให้กับเขา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เตือน “มาร์ค” ระวังคำพูด ชี้ให้รอดูวันเลือกตั้ง
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หากใครสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนนอก ไม่ต้องมาที่พรรค ให้ไปที่อื่น ว่า การพูดจาอะไรขอให้ระมัดระวังไว้ อย่างไรก็ตาม ก็อยู่ที่ประชาชนว่าจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร
“ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมาสนับสนุนผม แต่กรุณาพูดจาให้มันดีๆ ใครจะสนับสนุนผมหรือไม่ก็แล้วแต่เขา การพูดแบบนี้ฟังดูดีหรือเปล่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือเปล่า บางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้วผมพูดไปมันก็เสียหายด้วยกันทั้งหมด ผมก็ไม่อยากจะมีอารมณ์ตรงนี้ ก็ประชาชนไปใคร่ครวญกันเอาเอง แล้วดูซิวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้ คอยดูวันหน้าแล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไรก็ไปดูเอาตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกทีแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมิน “แม้ว-ปู” เคลื่อนไหวต่างชาติ – ตอกกลับ “น่าอาย”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ตนไม่ทำอะไรหรอก
เมื่อถามว่าถือเป็นการเย้ยหรือไม่ว่ารัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายไทยดำเนินการอะไรได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมไม่ได้ถูกเย้ยอะไรเลย เพราะทางกฎหมายก็ได้ทำไปแล้ว กฎหมายไปบังคับต่างประเทศได้หรือไม่ แล้วเขาส่งตัวกลับมาหรือไม่ ถ้าต่างประเทศเขาไม่ส่งก็คือไม่ส่ง เข้าใจกันหรือไม่ พวกคุณจะเอากฎหมายในประเทศไปบังคับเขาได้อย่างไร ทั้งนี้ก็ได้มีการประสานไปทั้งหมดแล้ว แต่ก็ไม่มีการยืนยันหรือตอบรับอะไรมา แล้วการที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ที่รัฐบาลของประเทศปลายทางเขาอนุมัติเป็นครั้งคราว ไม่ได้อนุมัติให้ตลอดไป ครั้งนี้เขาอนุมัติให้ไปซื้อหนังสือ แล้วผมจะไปรู้สึกอะไรกับเขา เขาน่าจะอายผมมากกว่า ทำผิดกฎหมายแล้วยังเอาหน้าออกไปข้างนอกอีก”
เผย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ระหว่างยื่นศาล รธน.
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ต่อศาล ว่า เรื่องนี้ก็ได้มีการประสานหารือกันกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเพื่อให้มีความชัดเจน ให้เกิดความเรียบร้อยไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาภายหลัง อย่างที่ทุกคนเป็นห่วง เพราะหลายคนก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ ก็เพื่อความสบายใจ
“ขณะนี้ทาง สนช. ได้ส่งหนังสือมาแล้วว่า สนช. จะเข้าชื่อยื่นตีความ ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งเรื่องกลับคืนไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนที่จะนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายก็พยายามทำทุกอย่างไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งภายหลัง มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องการให้มีการกระทบโรดแมปใดๆ ก็ตาม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ลั่นไม่เลิก คำสั่ง คสช. ที่ 53
ต่อคำถามกรณีการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ตามที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้อง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ก็คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้หารือกับกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งในประเด็นข้อติดขัดต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการดำเนินการทางธุรการเสียเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดูตรงนี้ว่าจะแก้ไขประการได้ ซึ่งตนไม่ขอใช้คำว่า “ยกเลิก” แต่อาจจะแก้ไขในบางประเด็น เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงธุรการของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่
สั่งฝ่ายมั่นคงตรวจบ้านพักตุลาการ “ดอยสุเทพ” – ยันต้องคืนพื้นที่สภาพเดิม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ดอยสุเทพ ว่า วันนี้รัฐบาลกำลังหาทางออกในเรื่องนี้ ในเบื้องต้นได้ให้ฝ่ายมั่นคงไปพิจารณาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ สถานที่ทำงาน ซึ่งอยู่ทางด้านล่าง ส่วนที่สอง คือ บ้านพักที่อยู่ข้างบนนั้นจะต้องหาวิธีการอย่างไรที่เหมาะสมในการดำเนินการ
“แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรับพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้ได้ นี่คือหลักการของเรา เดี๋ยวจะไปหารือกับทางศาล คสช. และฝ่ายกฎหมายด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ชี้ “โรฮีนจา” ดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล (นรภ.) ทัพเรือเกาะลันตาน้อย กองทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกระบี่ และตำรวจ สภ.เกาะลันตา ควบคุมตัวชาวโรฮีนจา 56 คน ว่า อย่าให้เป็นประเด็นเลย ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องดูแลในเรื่องหลักมนุษยธรรม และมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่แล้ว ทั้งต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง และสนับสนุนให้ทุกประเทศที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินการ
แจง “ไทยนิยม” ไม่ใช่ “ประชานิยม”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลว่า เดิมเรามีการท่องเที่ยวอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ เชิงอัตลักษณ์ โบราณสถาน วันนี้ผมก็บอกว่าลองไปทำใหม่ดูว่าจะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร เพราะเรากำกลังทำช่องทางการท่องเที่ยวเมืองหลัก – เมืองรอง ให้ลองไปดูว่าจะทำเป็น “เส้นทาง” ได้หรือไม่ เช่น เส้นทางผ้าไทย เส้นทางผ้าไหมไทย เส้นทางประมงไทย เป็นต้น จะได้สอดคล้องกับนโยบายโครงการไทยนิยมที่ลงไป
“วันนี้โครงการไทยนิยม อยากจะอธิบายอย่างนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาบอกว่ามีคนรับรู้เพียงแค่ 40% เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยในปัจจุบัน คนไทยสนใจแต่เรื่องที่ตนเองเกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่ บางเรื่องจึงไม่รู้ ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าไปถามใคร โครงการไทยนิยมต้องไปถามคนในพื้นที่ดู วันนี้คนในพื้นที่รวบรวมมาแล้วกว่า 95,000 หมู่บ้าน มีคนเข้าร่วมแล้วประมาณ 10 ล้านคน ให้ถามคน 10 ล้านคนนี้ถึงจะตอบได้ว่าเห็นชอบกับโครงการไทยนิยมหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ ‘ประชานิยม’ เพราะเขาเข้ามานั่งโต๊ะคุยกัน ถอดออกมาแล้วในขั้นต้นว่าเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน 50% ที่เขาต้องการให้ปรับปรุงเพิ่มเติมให้ ซึ่งส่วนนี้จะใช้เงินของโครงการไทยนิยมลงไปอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องไปดูการใช้งบประมาณประจำปีด้วยเช่นกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสาธารณสุขประมาณ 8% เป็นเรื่องเกษตร 10% และเป็นเรื่องอื่นๆ อีกประมาณ 10% จะเห็นได้ว่าเขาเน้นน้ำหนักไปในเรื่องการสัญจรไปมา อันนี้เราต้องไปปรับแผนใหญ่ของเราอีกทีในเรื่องการบริหารจัดการน้ำต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนอยากฝากในเรื่องของแรงงานมีฝีมือ วันนี้ต้องเร่งดำเนินการ ให้คนที่เคยทำงานมาแล้วในระดับหัวหน้างานต้องไปพัฒนาฝีมือแรงงาน เขามีสถานที่ให้ทดสอบ จะได้มีค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งในวันหน้าไทยอาจจะส่งออกคนเหล่านี้ไปในตลาดแรงงานต่างชาติได้มากขึ้น เมื่อคนเหล่านี้มีเหลือเพียงพอที่จะส่งออก ไม่ใช่แค่ส่งคนไทยไปเป็นแรงงานก่อสร้าง เป็นแรงงานที่ใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว
มติ ครม.
ผ่านกฎหมาย PPP ใหม่ เน้นส่งเสริม-รวดเร็ว-ชัดเจน-โปร่งใส
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน มีสาระสำคัญสรุปได้เป็น 4 คำหลักดังนี้
1) “Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น
“อันนี้เป็นหัวใจของกฎหมายนี้ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งไปช่วยโครงการที่อาจจะมีผลตอบแทนทางการเงินน้อยแต่จำเป็น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ก็อาจจะใช้สิทธิประโยชน์ช่วยเหลือเอกชนให้เช้ามาร่วมทุนได้ ซึ่งจะช่วยประสิทธิภาพของการดำเนินการ ถ้าลองเทียบดูว่าโครงการที่เอกชนบริหารกับรัฐมันก็เห็นอยู่ทุกวันนี้ว่าแบบไหนจะดีกว่า” นายเอกนิติ กล่าว
2) “Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน
3) “Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้
“การยกร่างกฎหมายจะเพิ่มความชัดเจนของการดำเนินการร่วมทุนจากเดิม เช่น ที่ผ่านมา โครงการ Fast Track ซึ่งประสบความสำเร็จช่วยย่นระยะเวลาการดำเนินการด้วยการตั้งคณะกรรมการของคนที่เกี่ยวข้องมาดูตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้ลดขั้นตอน ก็ลดไปจาก 25 เดือนเหลือน้อยกว่า 9 เดือนในบางโครงการ แต่ก็ยังอาศัยมติ ครม. กฎหมายนี้จึงนำเข้ามาในกฎหมายให้มีความชัดเจนให้แต่ละหน่วยงานมั่นใจและปฏิบัติงานได้ถูกต้อง หรือการกำหนดว่าอะไรจะเข้าข่ายบ้าง กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเท่านั้น จากเดิมที่คณะกรรมการ PPP คัดเลือกว่าอะไรเข้าอะไรไม่เข้า แต่ในกฎหมายนี้มีมาตราหนึ่งกำหนดประเภทไว้แล้วเบื้องต้น 12 ประเภท ซึ่งก็เพิ่มได้ภายหลัง เช่น ถนน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ชลประทาน โทรคมนาคม หน่วยงานวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่ผู้มีรายได้น้อย ศูนย์ประชุม นอกจากนี้ โครงการไม่ใช่ว่าแค่กำหนดกว้างแต่จะลงลึกไปในแผนโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติด้วยว่าคือโครงการอะไรที่ไหน โดยจะมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคัดเลือก หลักๆ จะเป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งทำให้มีความชัดเจนมาก จากเดิมที่อาจจะเอาเข้ามาแต่พอได้งบประมาณมาก็เอาออก ก็ไม่ชัดเจน”
4) “Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ
นายเอกนิติ กล่าวว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติพัฒนาประมงปลอด IUU
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบแนวทางที่จะพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย และเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการายงาน และไร้การควบคุม เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ขับเคลื่อน และผลักดันเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และบรรลุผลสำเร็จตามเจตจำนง โดยองค์ประกอบคณะกรรมการ ประกอบด้วย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานกลางแห่งชาติ องค์การตำรวจสากลในประเทศไทย อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ 1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการประมงของประเทศไทยให้ปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมง IUU 2) กำกับดูแล ให้ความเห็นชอบ ประสานความร่วมมือหรือดำเนินการใดๆ ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบาย แผนงาน โครงการของหน่วยงาน ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมง IUU 3) แต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม 4) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
“การประชุมที่ประเทศเบลเยียมเมื่อปลายปี 2560 ได้มีการหารือกับผู้แทนของสหภาพยุโรป ซึ่งอยากให้ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำให้ประเทศปลอดจากสัตว์น้ำหรือสินค้าประทงที่ผิดกฎหมายอย่างแท้จริง โดยถ้าไทยแสดงเจตนารมณ์ สหภาพยุโรปจะช่วยสนับสนุนและร่วมพัฒนามาตรการต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งหลังจากกลับมาจากการประชุมร่วมกับสหภาพยุโรป ทางคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเมื่อปลายเดือนมกราคม 2561 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และได้บทสรุปว่าเราจะกำหนดประเด็นหรือแนวทางหลักที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรือ คนงานบนเรือ เครื่องมือการทำประมง พื้นที่การทำประมง ทั้ง 4 เรื่องนี้ต้องถูกกฎหมาย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรือที่เป็นเรือไทย ไม่ว่าจะจดทะเบียนในประเทศไทย ติดธงชาติไทย การปฏิบัติเวลานำสัตว์น้ำที่จับได้มาขึ้นที่ท่าเรือจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ อย่างรอบคอบและครบถ้วนตามมาตรการที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรายงานการเข้าออกต่อระบบการติดตามเรือประมง การควบคุมการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า การจำกัดจำนวนใบอนุญาตการทำประมง ทุกอย่างต้องครบถ้วน ซึ่งในกรณีนี้เราควบคุมได้ง่าย เพราะมีกฎหมายที่ใช้ควบคุม ทั้งกฎหมายแรงงานประมง กฎหมายเรือประมง เรื่องระยะห่างจากชายฝั่ง เรื่องจำนวนห้วงเวลาที่ทำประมง ส่วนกรณีสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีข้อปฏิบัติว่ารัฐที่เป็นเจ้าของท่าจะต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน รัฐที่เป็นเจ้าของเรือมีส่วนในการบังคับเรือที่มีสัญชาตินั้นๆ ปฏิบัติตามกฎกติกาของเจ้าของท่า
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปถึงเหตุผลของการจัดตั้งคณะกรรมการใหม่ว่า แม้ประเทศไทยมีความมั่นใจว่าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายค่อนข้างชัดเจน รัดกุม ทุกภาคมีการประสานงานกัน แต่ยังมีความกังวลในส่วนของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงกำหนดให้มีแผนงานเพื่อจะออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย เพื่อให้เรือต่างประเทศปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำกับบางประเทศแล้ว 2-3 ประเทศ แต่ยังไม่กว้างขวาง และคณะกรรมการที่จัดตั้งมาก่อนหน้านี้ 2 คณะ จะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาและไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในส่วนนี้
“นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งว่าเราจะยกระดับการทำประมงในประเทศไทยให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่การระมัดระวังภายในประเทศไทยไม่ให้มีการทำประมงผิดฏฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศที่จะนำสินค้าประมงและสัตว์น้ำมาขึ้นที่ท่าเรือไทยด้วย ซึ่งจะมีการออกใบรับรองให้กับทุกประเทศ โดยจะทำใบรับรองดังกล่าวส่งไปที่องค์การการค้าโลกหรือ WTO ถ้า WTO ให้ความเห็นชอบก็จะเสนอใบนี้ไปยังประเทศต่างๆ ที่มีส่วนดูแลการทำประมงของประเทศนั้นๆ ถ้าตอบรับมาก็จะเป็นภาคีเครือข่าย การทำลักษณะนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะตัวเรา มีกฎกติกาหากคนอื่นจะมาค้าขายสัตว์น้ำกับเราก็จะต้องสนับสนุนมาตรการในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
สั่งทำ SEA ทั้งภาคใต้หาที่สร้างโรงไฟฟ้าฯ ก่อนทำ EHIA
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (SEA) ว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะที่จะมีการก่อสร้างหรือไม่ ก่อนที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามร่วมกับกลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 และลงนามกับกลุ่มที่สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ทั้งนี้การจัดทำ SEA นั้นจะครอบคลุมไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ด้วย และหากผลศึกษาออกมาว่ามีความเหมาะสม ในขั้นตอนของการจัดทำรายงาน EHIA จะต้องมีนักวิชาการที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกกระทรวงนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติ โดยให้เจ้ากระทรวงลงไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
นายกฯ เร่ง “วิษณุ” หาข้อสรุปช่วยทีวีดิจิทัลฯเมษานี้
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เร่งรัดแก้ไขปัญหาเรื่องค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ และการขอผ่อนผันมีโฆษณาของกรมประชาสัมพันธ์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
“นายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่าขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ 1) ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน และให้เอกชนยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และ 2) ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เสร็จโดยเร็ว คิดว่าน่าจะจบก่อนเมษายน 2561 เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเข้าเสนอ คสช. และ ครม. ตามกระบวนการต่อไป” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอให้มีการผ่อนผันข้อจำกัดเรื่องห้ามโฆษณา ตามมาตรา 20 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดห้ามกรมประชาสัมพันธ์จะหารายได้จากการโฆษณา ซึ่งทางกรมมีรายได้ช่องทางเดียวจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีราว 239 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอที่จะลงทุนผลิตรายการที่มีคุณภาพ แต่การขอผ่อนผันดังกล่าว จะมีข้อกำหนดว่าไม่ใช่เชิงธุรกิจ แต่เพื่อเพิ่มคุณภาพรายการเท่านั้น
“เราแค่ต้องการหาผู้ประกอบการที่สามารถตอบโจทย์ภาครัฐได้เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อหารายได้ในเชิงธุรกิจ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ในหลวงโปรดเกล้าจัดงาน “เถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย”
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดงานเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย เพื่อร่วมกันปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและอดีตพระมหาราช ส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติ ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2561 ตั้งแต่เวลา 14.00-21.00 น. ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์พระราชทานแก่ผู้มาร่วมพิธี พร้อมทั้ง ให้เชิญพระพุทธกำเนิดกาสาวพัสตร์ พระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช (6 พฤศจิกายน 2521) มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ จะได้จัดสถานที่ให้ประชาชนรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในครอบครัว พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ ตลอดจนกิจกรรมและการแสดงต่างๆ เช่น การแข่งขันก่อพระเจดีย์ทราย ชิงโล่พระราชทาน การแสดง ชุด “เถลิงศกเพลามหาสงกรานต์” การสาธิตการปรุงเครื่องหอม การออกร้านจำหน่ายอาหารและขนมไทย ฯลฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมงานเถลิงศกสุขสันต์มหาสงกรานต์ได้ตามวัน เวลาและสถานที่ดังกล่าว เพื่อร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติไทย
นายกฯ เตรียมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3
พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการจะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา สืบเนื่องจากเมื่อปี 2538 ครม. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในการใช้ และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในแม่น้ำโขง โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงขึ้น
พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวนี้แล้ว 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นทุก 4 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นปี 2553 ที่ประเทศไทย เป็นการรับรองปฏิญญาหัวหิน เกี่ยวกับการบรรลุความต้องการในการรักษาสมดุลการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 จัดในปี 2557 ที่ประเทศเวียดนาม มีการรับรองปฏิญญาโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการบริมหารจัดการลุ่มน้ำข้ามพรหมแดนเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน และอาหารลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนครั้งที่ 3 นี้เป็นปฏิญญาเสียมราฐ มีหลักแนวคิดเพิ่มความพยายามและการเป็นหุ้นส่วนของประเทศสมาชิกในการพัฒนา และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งร่างปฏิญญานี้มีข้อเสนอในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนการนำแนวทางของการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของคณะกรรมาธิกาาร และมีการนำผลการศึกษา ข้อเสนอจากการศึกษาจากการบริหารจัดการ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง และการศึกษาผลกระทบของการไฟฟ้าพลังงานของแม่น้ำโขง มาพิจารณาดำเนินการ ทั้งยังจะมีการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ และความร่วมมือ เมียนมา จีน ในกรอบความร่วมมือสำหรับภูมิภาคอื่นๆ และกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาด้านทรัพยากรด้วย