ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เตือนพรรคการเมือง อย่าหาเสียงสนุกปาก – มติ ครม.อนุมัติประกัน “ข้าวนาปี – ข้าวโพด” รัฐช่วยออก 60%

“บิ๊กตู่” เตือนพรรคการเมือง อย่าหาเสียงสนุกปาก – มติ ครม.อนุมัติประกัน “ข้าวนาปี – ข้าวโพด” รัฐช่วยออก 60%

18 กุมภาพันธ์ 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaipublica.go.th

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ชี้ยุทโธปกรณ์ฯ 50% ช่วย ปชช. เตือนอย่าหาเสียงสนุกปาก

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่พรรคการเมืองหลายพรรคออกนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และพรรคเพื่อไทยชูนโยบายตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมร้อยละ 10 เพื่อตั้งกองทุนสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่า วันนี้คำถามดุเดือดทุกวันเลย เรื่องนี้ทุกคนต้องเข้าใจว่าหน้าที่ในการป้องกันประเทศนั้นไม่ใช่ทหารอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในประเทศ และการเกณฑ์ทหารหรือการเป็นทหารนั้นเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่คนไทยต้องเป็นทหาร แต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมด ก็ใช้หลักการพอเพียง ไม่ใช่ยามสงครามก็มีจำนวนเท่านี้

“ยามสงครามที่ต้องสู้รบกันจริงๆ หลายคนบอกไม่มี จะแน่ใจอย่างไร มันจะเริ่มมาจากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็จะมีการใช้อาวุธต่อกัน อดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่หรือ อันนี้ผมไม่ได้แก้ตัวให้ใคร ผมพูดด้วยหลักการของรัฐบาล เพราะเรามีหน้าที่ป้องกันประเทศ ป้องกันชายแดน น่านน้ำ น่านฟ้า ต่างๆ รวมถึงภารกิจที่ไม่ใช่สงคราม เช่น ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว การลักลอบเข้าประเทศ ลักลอบขนสินค้าตามชายแดน ก็ต้องเข้มงวดผ่านกำลังทหาร 7 กองกำลังที่อยู่รอบประเทศของเรา กว่า 5,000 กิโลเมตร”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อสำคัญคือการช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งก็มีหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยทหารพัฒนา ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองตอบหน้าที่ต่างๆ และเสริมการทำงานให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเขาเองก็มีจำนวนคนจำกัด ทหารก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีไปช่วย อย่างที่มีการฝึกซ้อมไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับพลทหาร เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเข้าใจ เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยทหารก็ต้องมีกองกำลัง ไม่เช่นนั้นจะรบไม่ได้ในยามสงคราม ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกประเทศ ไทยเองก็รับแนวทางมาจากตะวันตก ที่ผ่านมาก็มีปรับกันไป ในหมู่หนึ่งของทหารก็มีพลทหาร 8 คน ในจำนวน 13 คน จนรวมกันเป็นกองพัน ถึงกองพล ทุกอย่างนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อม ไม่ใช่เมื่อถึงเวลาแล้วไปเกณฑ์มาจะใช่อาวุธได้หรือ

“ประเด็นสำคัญวันนี้เราไม่ได้มองในแง่สงครามอย่างเดียว ไม่เกิดก็ดีอยู่แล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดตามแนวชายแดนนั้นมีตลอดหากเราไม่เข็มแข็งเพียงพอ ไม่มีอาวุธยุโธปกรณ์ที่เหมาะสม ไม่มีเทคโนโลยีไปเสริม ใช้คนอย่างเดียวก็ลำบากในการแก้ปัญหา ขอให้เข้าใจด้วย ว่าเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนที่ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน และในวันนี้เราก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมชายแดนและพื้นที่ตอนใน วันนี้เราทำงานเพื่อส่งเสริมหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ไม่มีกำลังพล มีแต่กฎหมาย งบประมาณ และแผนงาน แต่ไม่มีคนก็ใช้ทหารไปช่วยในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ใช่การเตรียมการเพื่อต่อต้านการเมือง”

“หน้าที่ของหทาร หรือกระทรวงกลาโหมนั้นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้ารัฐบาลอยู่แล้วในการสั่งการให้ถูกต้อง หากพูดไม่รู้เรื่องก็ไปกันไม่ได้ เราต้องรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ การจะไปลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมก็ต้องไปดูว่าแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีงบประมาณกันเท่าไร แล้วทำไมถึงเพิ่ม ถ้าเพิ่มแสดงว่าต้องไปจัดซื้ออะไรใหม่ๆ เข้ามาเพราะของเก่าชำรุด เพราะใช้มานานแล้ว กว่า 30-40 ปี บางอย่างหมดอายุการใช้งาน ซ่อมมจนไม่รู้จะซ่อมอย่างไร ยุทโธปกรณ์ขนาดหนักต่างๆ ที่เราต้องมี หากไม่มีศักยภาพสงครามก็เทียบเคียงประเทศอื่นไม่ได้ เมื่อฝึกร่วมจะเอาอะไรไปฝึกกับเขา การราดตระเวน ชายฝั่ง หรือชายทะเล หรือในพื้นที่ปัญหาในภูมิภาค จะปฏิบัติการร่วมกับประเทศอื่นก็ไปไม่ได้ คิดตรงนี้สิครับ”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกกระทรวงก็มีการเพิ่มงบประมาณทุกปี ตามสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ก็มีตัวเลขและหลักการของเขาอยู่แล้ว ขอให้เข้าใจด้วย ไม่ใช่ว่าไปลดตรงโน้นตรงนี้เอาไปให้ตรงนี้ตรงโน้น เขามีการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการทั้งหมดเรื่องงบปะรมาณ ดังนั้นการหาเสียงถ้าเอาแต่สนุกปากพูดอะไรก็ได้โดยไม่นึกถึงความเป็นจริงวันหน้าหากเกิดอะไรขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด

ทั้งนี้การช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติก็จะเห็นว่าทหารเท่านั้นที่จะออกมาทำงานได้ ยุทโธปการณ์ทางหทารหลายอย่างกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ใช้สำหรับดูแลประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าเก็บไว้ใช้ทางทหารอย่างเดียว หากตัดงบประมาณเขาหมดแล้วส่วนนี้หายไป พังไปจะทำอย่างไร เพราะมันมีอายุการใช้งานทั้งสิ้น

“ในส่วนการหาเสียงก็เป็นเรื่องขออนาคต ที่จะให้โน่นนี่ ในวันหน้า อาจติดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอีก ไม่ใช่จะให้ได้ทั้งหมดหรอก ก็ฝากประชาชนช่วยคิดด้วย ทุกพรรคก็อาจจะมีความหวังดี แต่การจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ ครม. และสภา ที่จะเป็นผู้อนุมัติแผนงานโครงการดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งได้มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทไปแล้ว นโยบายต่างๆ ก็ต้องอยู่ในกรอบนี้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เสียระบบการเงินการคลัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ยันลงพื้นที่ไม่เอี่ยวการเมือง ชี้ทั่วโลกหนุนนั่งนายกฯ ต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามการลงพื้นที่ตรวจราชการภายหลังตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีประชาชนมาขอถ่ายรูปและชูป้ายให้การต้อนรับ ว่า ตามความคิดตนนั้น ไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองตรงไหน เพราะว่าประชาชนเขาให้กำลังใจนายกฯ ไม่เกี่ยวกับใคร พวกที่หาเสียงก็ไปหาเสียงของเขา คนละเรื่องกันอย่าเอามาพันกัน หากพูดให้เสียหายก็พูดได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว

“วันนี้ผมก็ยังทำงานอยู่ เมื่อลงพื้นที่ไปแล้วประชาชนตอบรับการทำงานของผมก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร อย่าไปโยงว่าเป็นการเมืองทั้งหมดเลย ผมก็ทำงานมา 4-5 ปีแล้ว ก็ต้องมีทั้งคนรักและคนชัง คนรักก็เชียร์ คนชังก็ด่าก็แช่ง ก็มีทั้งสองฝ่ายทำไมไม่มองตรงนั้นบ้าง ที่ผ่านมาก็ทำอย่างนี้มาทั้งนั้น ซึ่งกฎหมายก็ให้ทำได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า มีความหวังกับอนาคตทางการเมืองไทย รวมถึงนิยามคำว่าเสถียรภาพทางการเมืองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า คำว่าเสถียรภาพทางการเมืองของไทยนั้นทุกคนน่าจะรู้ว่า อนาคตการเมืองไทยวันนี้ต้องยอมรับว่า สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมา 4-5 ปี นั้นได้รับการตอบรับจากนานาประเทศไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป (อียู) , สหรัฐอเมริกา , จีน หรือประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และธุรกิจต่างๆ ซึ่งตนเห็นว่า เมื่อมีผู้สนับสนุนให้ตนได้ทำต่อก็ควรต้องทำต่อ ก็ต้องขอบคุณเขา เพียงแต่เขามองว่าช่องทางการมาสู่ตำแหน่งของตนเช่นนี้จะมาอีกทางได้หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ ตามการเลือกตั้ง ตามกฎหมาย ตอนี้ตนก็เข้าสู่ช่องทางนั้น หากได้ก็คือได้ ไม่ได้ก็จบเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ย้ำอีกครั้งว่าตนเพียงมุ่งหวังเสถียรภาพของประเทศ ทุกคนต้องยอมรับ และรู้ว่าควรช่วยกันอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพไม่เกิดปัญหาเช่นเดิม เพราะหลายปัญหาที่ผ่านมาปัจจุบันค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้มีการมาพูดจาเอาดีเอาเด่นกันได้ทั้งหมด ตนก็ไม่เข้าใจเช่นกัน

ยืนยุบ “พปชร.” ทำได้ทำไป พ้อยังไม่เลือกตั้งก็โดนรุม

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความเห็นกรณีที่หลายฝ่ายยื่นเรื่องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งถูกมองว่าอำนาจทับซ้อน เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ว่า ข้อเสนอยุบพรรคนั้นเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำวันนี้ ตนก็ได้มีการสอบถามไปแล้วว่าเขาสามารถทำได้หรือไม่ได้ ก็ได้คำตอบว่า กฎหมายให้ทำได้ก็ทำไป

ต่อกรณีคำถามการทำลายป้ายหาเสียง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความเห็นว่า ตนถือว่าผู้ทำลายป้ายหาเสียงนั้นเป็นคนที่คิดไม่ดี เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธยิงป้ายหรือรูปหาเสียง การฉีกรูป หากเก่งจริงก็ออกมาแสดงให้เห็น เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการจับกุม

“คนเหล่านี้หรือจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย หากคุณยังเชื่อคนแบบนี้อยู่ เขาไม่บริสุทธิ์ใจทั้งสิ้นผมดูแล้ว เมื่อมีคนสนับสนุนให้ทำต่อเมื่อมีคนสนับสนุน อะไรที่ผมพอจะทำให้ได้ ช่วยประเทศได้ ผมก็ยินดีทำ ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้าประชาชนจะเลือก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประชาชน ผมก็คาดหวังเพียงว่าก่อนการเลือกตั้งบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย วันนี้ยังไม่ใกล้เลือกตั้งเลยก็มีการหาเสียงระดมด่ารัฐบาล ระดมด่าผม เล่นงานผมกันเกือบทุกพรรคเลย ผมถามว่านี่ใช่หรือ”

“ขณะเดียวกันผมก็ต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แล้วคนเหล่านี้ไม่ต้องการให้สงบหรืออย่างไรผมไม่รู้ แล้วหลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้อีกก็ต้องคาดการณ์ไปถึงตรงนั้น หากทำวันนี้ให้ปลอดภัย สงบเรียบร้อยไม่ได้ วันนี้ก็คิดขึ้นอีกอย่างที่เคยเกิดมา วันนี้หลายคนที่ออกมาพูดจากัน คนบางคนก็ทำความเสียหลายแก่ประเทศไปเยอะมาก แต่คนก็ยังฟังเขาอยู่ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น คนเราต้องรู้จักเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย ฉะนั้นอยู่ที่มือประชาชนทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ยัน รบ.มุ่ง”ลด ละ เลิก” สารเคมี – ฝากคิด ตัดงบควรแล้วหรือ

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยังไม่แบนสารเคมีอันตรายพาราควอต ว่า รัฐบาลมุ่งหวังให้มีการยกเลิกในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ที่จะเป็นผู้กำหนดออกมา โดยตนได้กำชับไป ให้สามารถตอบคำถามทุกฝ่ายให้ได้ เพราะเกณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนด ด้านรัฐบาลเป็นผู้เดินหน้าตามแผนที่จะลด ละ เลิก ให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

“ชอบพูดกันว่ากลุ่มทุนสารเคมี ผมก็ไม่รู้ว่าใคร กลุ่มทุนที่ว่าเป็นใคร มีบทบาทในการกำหนดทิศทางสารเคมีของไทย เรื่องนี้ก็ไปดูให้ดีแล้วกัน ผมว่าบางทีก็เป็นการหาวิธีการพูดให้เกิดความเสียหาย หากเรายังสร้างความเสียหาย สร้างความไม่ไว้วางใจต่อกันต่อไปในวันนนี้วันหน้าสิ่งเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อยากอธิบายอีกครั้งว่าเกษตรของไทยมี 3 ประเภทด้วยกัน 1) เกษตรแบบดั้งเดิม ที่มีการใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งก็ลดลงเรื่อยๆ เพราะกำลังมุ่งสู่เกษตรปลดภัย (GAP) 2) เกษตรแบบ GAP ที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด มีการตรวจสอบ มีการขึ้นทะเบียน วันนี้ก็เพิ่มมากขึ้นหลายล้านไร่ และ 3) เกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้มีเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านไร่ ซึ่งต้องแยกเป้าหมายให้ออก แล้วผลักดันไปเป็นลำดับ ตัวเลขปัจจุบันมีมากมาย ฉะนั้นอย่ามองว่ารัฐบาลไม่ดูแล ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณไปมหาศาลในการช่วยเหลือเกษตร หลายแสนล้านบาท

ดังนั้น หากจะให้ตัดงบประมาณลดส่วนใดส่วนหนึ่งไปเลย ขอถามว่าความสมดุลจะเกิดหรือไม่ ตนขอฝากเป็นการบ้านให้ช่วยกันคิด

แจง พ.ร.บ.ข้าวฯ โซเชียลไม่ใช่ของจริง สั่ง จนท.ทำความเข้าใจ ปชช.

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. … ว่า เป็นเรื่องของกฎหมายที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน กับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ก็จำเป็นต้องให้รัฐบาลเข้ามาพิจารณาด้วย ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาแล้วส่งกลับไปแล้ว ขอให้ปรับแก้ในประเด็นที่มีปัญหา ซึ่งสิ่งที่เผยแพร่ในวันนี้บางทีก็เอาร่างกฎหมายที่ไม่ใช่ฉบับจริงมาเผยแพร่ทำให้เกิดความเกลี่ยดชัง โดยยืนยันว่าเจนารมย์ของทั้ง สนช. และรัฐบาล คือการดูแลเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

“เขาก็เขียนไว้แล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งสิ้น เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยน การขายเมล็ดพันธุ์ ในส่วนของเกษตรกรเองไม่มีผลอะไร เพียงแต่ให้ไปดูในส่วนของภาคเอกชนว่าจะทำอย่างไร ในการขออนุญาตบริษัทต่างๆ ก็ต้องทำตามกติกา ต้องมีการรับรองพันธุ์อยู่แล้ว เท่าที่สอบถามพันธุ์ข้าวไทยมีกว่า 20,000 สายพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถทำได้ทั้งหมดพร้อมกันในทางปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมี 148 สายพันธุ์หลัก (ให้ผลผลิตสูง) ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว ที่เหลือก็ทยอยขึ้นทะเบียนไปตามลำดับ”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หากขึ้นทะเบียนทั้งหมดตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ขึ้นมา เพราะ การผลิตเมล็ดข้าวเพื่อทำพันธุ์ มี 3 ส่วน คือ จากกรมการข้าว ประมาณ 1 แสนตันต่อปี ส่วนของสหกรณ์ชาวนาประมาณ 2 แสนตันต่อปี และภาคเอกชนอีกประมาณ 2 แสนตันต่อปี ซึ่งต้องเข้าใจในจุดนี้ก่อน ยืนยันว่าความมุ่งหวังของรัฐบาลนั้นเพื่อดูแลเกษตรกร แต่ก็ต้องมีกติกา ซึ่งกติกาจะมากน้อย เกินไปอย่างไรก็ต้องพิจารณาใน สนช. ต้องไว้ใจกันตรงนี้ หากไม่ไว้ใจกันเลยก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีปรารภในที่ประชุม ครม.เน้นย้ำรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ ให้ตรวจสอบประเด็นข่าวที่มีการเผยแพร่ทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย หากพบข้อมูลอะไรที่มีการบิดเบือนให้รีบชี้แจงไม่ให้กระจายในวงกว้างแล้วต้องมาแก้ไขในภายหลัง และต้องให้มาถามที่นายกฯ เพียงคนเดียว รวมถึงอยากให้ประชาชนรับฟังการสื่อสารในช่องทางของรัฐบาลจะได้เชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น กรณีร่างพ.ร.บ.ข้าวที่มีการพูดกันออกมาว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ เรื่องนี้อยากให้ฟังผู้เสนอ ซึ่งสนช.เป็นผู้เสนอร่างดังกล่าวว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ดีกว่าการไปรับฟังการแชร์ที่อาจไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวไปถึง การระมัดระวังเกี่ยวกับอุบัติเหตุ การใช้รถใช้ถนน ว่า มีหลายส่วนที่พิจารณาขึ้นมา ต่างประเทศก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ด้วย โดยมีข้อเสนอให้ไทยว่า การสูญเสียส่วนใหญ่ คือ จากการดื่มสุรา ขับขี่โดยประมาท ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปในส่วนของ กฎหมายจราจรนั้นเปิดช่องให้มีการเจรจา สมยอมกันได้ ส่วนนี้ต้องมีมีการพิจารณาเพิ่มเติม แล้วรอฟังคณะกรรมการความปลอดภัยทางจราจรเสนอขึ้นมาสู่ ครม. รัฐบาลก็จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

“ไม่ว่าจะออกกฎหมายอย่างไรก็ต้องมีคนเดือดร้อน หากไม่ยากเดือดร้อนแต่ก็ยังบ่นกันว่าไม่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทั้งหมด อย่าตีกันจนเละไปหมด เพราะจะเกิดความวุ่นวาย และช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้ออกไปให้ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และพ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนัก ที่มาภาพ : www.thaipublica.go.th

อนุมัติประกัน “ข้าวนาปี-ข้าวโพด” รัฐช่วยออก 60%

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2561 ภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวน 1,740.60 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2561 จำนวน 164.25 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1,576.35 ล้านบาท โดยให้ธ.ก.ส.ทดรองจ่ายไปก่อน

ในรายละเอียด จะแบ่งรูปแปบบการประกันภัยออกแบบ 2 ระดับ (Tier) โดย 1) ในระดับแรกจะเป็นการรับประกันภัยพื้นฐาน มีพื้นที่เป้าหมายรวมไม่เกิน 30 ล้านไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่เกิน 28 ล้านไร่ และกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 2 ล้านไร่ คิดอัตราค่าเบี้ยประกัน 85 บาท/ไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อีก 7.02 บาท เป็น 92.02 บาทต่อไร่) โดยรัฐบาลจะอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ (รวมภาษีฯ เป็น 58.02 บาท) และที่เหลืออีก 34 บาท เกษตรกรจ่ายเอง ยกเว้นลูกค้าของธ.ก.ส.ที่ ธ.ก.ส.จะจ่ายเบี้ยส่วนนี้แทน 2) ในระดับที่ 2 จะเป็นการจ่ายเงินประกันภัยตามความสมัครใจและตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็นรหัสสี ได้แก่ พื้นที่สีเขียว 6.42 บาท/ไร่ พื้นที่สีเหลือง 17.12 บาท/ไร่ และพื้นที่สีแดง 27.82 บาท/ไร่

ในด้านความคุ้มครองจะให้ความคุ้มครองเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ภัยธรรมชาติ 7 ภัย คือน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า (ซึ่งเพิ่มเข้ามาในปีนี้) ในระดับแรกจะจ่ายเงินสินไหม 1,260 บาทต่อไร่ และในระดับที่ 2 จะจ่ายอีก 240 บาทต่อไร่ รวมไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่ 2) ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด จะจ่ายเงินสินไหมครึ่งหนึ่งของกรณีแรก

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ภายใต้วงเงินงบประมาณ จำนวน 121.8 ล้านบาท โดยใช้หลักการเดียวกับโครงการประกันภัยข้าว ในรายละเอียด ในระดับแรกจะมีพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 3 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่ และกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 2 แสนไร่ ขณะที่ระดับที่ 2 มีเป้าหมายพื้นที่ไม่เกิน 3 แสนไร่

การคิดค่าเบี้ยประกันแบ่งเป็น ระดับแรกจะคิดอัตราเท่ากันทุกพื้นที่ 59 บาทต่อไร่ (รวมภาษีฯ เป็น 64.2 บาทต่อไร่) โดยรัฐบาลจะอุดหนุน 35.4 บาท (รวมภาษีฯ เป็น 40.6 บาท) ที่เหลืออีก 23.6 บาทเกษตรกรจ่ายเอง ยกเว้นลูกค้าธ.ก.ส.ที่ธ.ก.ส.จะจ่ายให้แทน ขณะที่ในระดับที่ 2 จะเป็นการจ่ายเงินประกันภัยตามความสมัครใจและตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็นรหัสสี ได้แก่ พื้นที่สีเขียว 4.28 บาท/ไร่ พื้นที่สีเหลือง 11.77 บาท/ไร่ และพื้นที่สีแดง 25.68 บาท/ไร่ สุดท้ายการจ่ายสินไหมทดแทนในกรณีภัยธรรมชาติ 7 ภัยจะจ่ายในระดับแรก 1,500 บาทต่อไร และในระดับที่ 2 จะจ่ายเพิ่ม 240 บาทต่อไร่ รวมไม่เกิน 1,740 บาทต่อไร่ และในกรณีภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดจะจ่ายครึ่งเดียวของกรณีแรกเช่นเดียวกัน

“โครงการนี้สืบเนื่องจากโครงการประกันข้าวนาปีตั้งแต่ปี 2554 ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2559 และปีการผลิต 2560 โดย ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (15 ธันวาคม 2561) มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย 1.92 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 27.60 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ และคิดเป็นร้อยละ 47 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ”

“ขณะที่โครงการประกันข้าวโพด ในปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปศึกษาว่าจะขยายผลไปยังพืชชนิดอื่นๆได้หรือไม่ วันนี้กระทรวงการคลังได้นำเรื่องเสนอเข้ามา และการเริ่มแบ่งระดับของการประกันภัย เป้าหมายคือพยายามให้เกษตรกรได้เรียนรู้ประโยชน์ของการประกันมากขึ้น โดยในช่วงแรกรัฐจะให้ความช่วยเหลือค่าเบี้ยต่อไปก่อน พอเกษตรกรเริ่มเรียนรู้แล้วก็จะทยอยลดการจ่ายเงินช่วยเหลือและให้เกษตรกรจ่ายเองมากขึ้น รวมทั้ง 2 โครงการรัฐต้องอุดหนุนเงิน 1,863.4 ล้านบาท ” นายณัฐพร กล่าว

เห็นชอบมาตรการส่งเสริมสินค้าขึ้นชื่อท้องถิ่น

นายณัฐพร กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานกลไกหลักในการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ทุกระดับ พิจารณามอบหมายจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อสนับสนุนการผลักดันและขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ไทย ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการตลาดของการจำหน่ายสินค้า GI ไทยอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

โดยได้กำหนดเป้าหมายและแผนงานการดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมคุ้มครอง GI ไทย ได้แก่

  • การลงพื้นที่ส่งเสริมให้จังหวัดยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI รวม 8 สินค้า ใน 7 จังหวัด อาทิ หม้อห้อม (จังหวัดแพร่) โอ่งมังกร (จังหวัดราชบุรี) พริกไทย (จังหวัดจันทบุรี) กระเทียม (จังหวัดศรีสะเกษ) และลูกหยียะรัง (จังหวัดปัตตานี) เป็นต้น
  • เร่งพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI ไทยเพิ่มขึ้นอีก 16 คำขอ อาทิ มะม่วงยายกล่ำ (จังหวัดนนทบุรี) ทุเรียนสาลิกา (จังหวัดพังงา) และกาแฟวังน้ำเขียว (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นต้น
  • ผลักดันให้สินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพ ยื่นคำขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศเพิ่มอีก 5 สินค้า ใน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรีและมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และมาเลเซีย จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง
  • ผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 7 สินค้า เช่น สับปะรดตราดสีทอง นิลเมืองกาญจน์ และเงาะโรงเรียนนาสาร เป็นต้น
  • ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI รวม 10 สินค้า
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้า GI อย่างต่อเนื่องทุกปี อาทิ งาน GI Market และงาน THAIFEX – World of Food Asia เป็นต้น
  • สร้างความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของ GI ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ให้ มท. ในฐานะหน่วยงานกลไกหลักในการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับพื้นที่พิจารณามอบหมายจังหวัด ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครอง GI ไทย ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย อันช่วยเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ

อนึ่ง ปัจจุบัน พณ.ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน GI ไทยทั้งหมด 99 สินค้า จาก 66 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสินค้า GI หมวดข้าว 10 รายการ อาหาร 18 รายการ ผักและผลไม้ 47 รายการ ผ้า 9 รายการ หัตถกรรมและอุตสาหกรรม 13 รายการ และไวน์ – สุรา 2 รายการ และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาขึ้นทะเบียนอีก 69 รายการ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้สินค้า GI ไทย ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศแล้ว รวม 6 สินค้า ใน 4 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้/กาแฟดอยตุง/กาแฟดอยช้าง/ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน) และสาธารณรัฐอินโดนีเซียและอินเดีย (ผ้าไหมยกดอกลำพูน)

และอยู่ระหว่างผลักดันให้ได้รับการคุ้มครองเพิ่มอีก 6 สินค้า ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้/มะขามหวานเพชรบูรณ์/ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง) กัมพูชา (กาแฟดอยตุง) และเวียดนาม (มะขามหวานเพชรบูรณ์/ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและรับรองมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระดับจังหวัด (Internal Control) ทั้งหมด 64 สินค้าและระดับสากล (External Control) ทั้งหมด 19 สินค้า

แก้กฎหมายสภาอุตฯ เอื้อพัฒนาในอนาคต

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้

1) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “อุตสาหกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยให้ครอบคลุมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม เช่น การวิจัย พัฒนา และบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมซอฟแวร์ เพื่อให้การดำเนินการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และให้บริการสมาชิกได้ทั้งหมด

2) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านอุตสาหกรรมของภาครัฐ ในการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ

3) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา และจำนวนของคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกำหนดจำนวนของคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยใหม่ จากเดิมมีจำนวนกรรมการ 357 คน ลดลงเหลือไม่เกิน 251 คน เพื่อลดปัญหาเรื่องการจัดการประชุม องค์ประชุม การจัดการเลือกตั้ง และค่าใช้จ่าย และเดิมกรรมการมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ใหม่เพิ่มเติมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

4) เพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการบริหาร เพื่อเป็นทีมสนับสนุนประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการบริหารองค์กร เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง โดยประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการการจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร

5) แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือประกอบอุตสาหกรรมประเภทอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

6) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอาจมอบอำนาจ หรือมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ ยกเว้นอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายขององค์กร

7) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รักษาการ กำหนดเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้สมาชิกแจ้งข้อมูลของสมาชิก เพื่อใช้ในการควบคุม วิเคราะห์ ประเมิน และประกอบการจัดทำนโยบาย และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลในการประกอบการจัดทำนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบถ้วน

พาณิชย์เร่งแก้ข่าวละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในสถานที่จำหน่ายและเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งตัดช่องทางการลำเลียงสินค้าละเมิด ตลอดจนประสานองค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือกำกับดูแลพื้นที่และเว็บไซต์ที่ถูกระบุในรายงานการเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit and Piracy Watch List) ของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EC)

“เรื่องนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit and Piracy Watch List) เป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศนอกสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกช่องทาง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคให้ทราบถึงความเสี่ยงของการบริโภคสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากแหล่งต่าง ๆ ที่ระบุในรายงานฯ โดยมิได้มีมาตรการลงโทษหรือเกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวมีการระบุรายชื่อของตลาดขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รวมถึงตลาดสินค้าและตลาดขายสินค้าออนไลน์ของไทย ซึ่งอาจมีต่อภาพลักษณ์ด้านการค้าและการลงทุนของประเทศและกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องมาขอครม.ให้เห็นชอบสั่งการหน่วยงานต่างโดยตรง” พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าว

แบ่งส่วน “สภาพัฒน์” ตั้งใหม่ 5 กอง

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. …. โดยแบ่งส่วนจากสำนักงานเลขาธิการ, กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์, สำนักประเมินผลและเผยแพร่การพัฒนา, สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม, สำนักยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสาธารณะ, สำนักวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ, สำนักบัญชีประชาชาติ, สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ, สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง, สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้, สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ, สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่, สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค, สำนักวางแผนการเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม เป็น

สำนักงานเลขาธิการ (คงเดิม), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (คงเดิม), กองขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนา (เปลี่ยนชื่อ), กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (เปลี่ยนชื่อ), กองบัญชีประชาชาติ (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (เปลี่ยนชื่อ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง (เปลี่ยนชื่อ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เปลี่ยนชื่อ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ (เปลี่ยนชื่อ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค (เปลี่ยนชื่อ), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เปลี่ยนชื่อ)

กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม (ตั้งใหม่), กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง (ตั้งใหม่), กองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (ตั้งใหม่), กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (ตั้งใหม่) และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ตั้งใหม่)

คลังตั้งวงเงินทดรองจ่ายภัยพิบัติ 8 หน่วยงาน – 20-100 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในระหว่างที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 8 หน่วยงาน

  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 100,000,000 ล้านบาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จำนวน 50,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 10,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกะทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 50,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 50,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10,000,000 บาท
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 50,000,000 บาท
  • สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แห่งละ จำนวน 20,000,000 บาท

อนึ่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจอนุมัติให้ส่วนราชการอื่นมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ ตามความเหมาะสมจำเป็นในกรณีเกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และให้ส่วนราชการที่มีวงเงินทดรองราชการยุติการอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ในกรณีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย หรือมีการประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี

คลังตั้งวงเงินทดรองจ่ายให้กองทัพ “รักษาความมั่นคง” 100 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ปัญหาด้านชายแดนอันเนื่องมาจากภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ และมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินโดยเร็วเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้กองทัพบกเบิกเงินจากคลังเป็นเงินทดรองราชการ ในวงเงิน 100,000,000 บาท เพื่อทดรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบนี้ ได้เฉพาะรายจ่ายที่พึงจ่ายได้จากเงินงบประมาณ และให้กองทัพบกดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ และเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากสำนักงบประมาณแล้ว ให้ดำเนินการเบิกเงินงบประมาณรายจ่ายโดยวิธีเบิกหักผลักส่งเพื่อชดใช้เงินทดรองราชการจนครบถ้วนเท่าจำนวนที่ได้เบิกเงินไปจากคลัง ภายในระยะเวลา 30 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มเติม