ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 26
ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ร่วม ถูกยุบพรรคพลังประชาชน พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ในฐานะ “เขย” ในครอบครัว “ชินวัตร” เป็น 1 ใน 3 คน ของตระกูล ที่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แม้ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี แต่ทุกวันเขายังต้องเข้าไปประจำการที่พรรคเพื่อไทย
หน้าที่ของเขา มีทั้งเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค, ประสานงานระหว่าง “ลูกน้อง” ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ กับคณะกรรมการของพรรค, ในฐานะอดีตผู้พิพากษา เขาจึงใช้สายสัมพันธ์ที่มี เชื่อมกับเครือข่ายนักกฎหมายใน “ศาล” กรณีมีคดีเกี่ยวพันกับพรรคและคนในตระกูลชินวัตร
ด้วยบุคลิกของคนเกิดที่ปักษ์ใต้-นครศรีธรรมราช เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ สมถะ รักครอบครัว และพร้อมยืนแถวหน้าเพื่อรับผิดชอบถ้าครอบครัวต้องเผชิญปัญหา มีบุคลิกสุภาพ เรียบร้อย ประนีประนอม
เขาจึงมีหน้าที่ที่ไม่ได้ถูกบันทึกในลักษณะงานตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องกระทำ นั่นก็คือ บทบาทสำคัญยิ่งในการประสานงานระหว่างทีมกุนซือกฎหมายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น้องภรรยา กับทีมกุนซือกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ภรรยา ที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
เมื่อภารกิจการออกกฎหมายนิโทษกรรม ถูกทำให้แท้งคาสภาผู้แทนถึง 2 ครั้งในรอบ 2 ปี เมื่อก้าวขึ้นปีที่ 3 ภารกิจสำคัญนี้จึงถูกวางอยู่ในมือของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” กับ “นายโภคิน พลกุล” และ “นายพิชิต ชื่นบาน” ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย 2 นายกรัฐมนตรี พี่น้องชินวัตร
แต่ก็เป็นการก้าวที่พลาด…อีกครั้ง
แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยบอกว่า เป็นการพลาดพลั้งทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในรอบ 7 ปีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดผลด้านลบและร้ายแรงทางการเมืองยิ่งกว่ากรณีขายหุ้นชินคอร์ป 76,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนเทมาเสก ในช่วงต้นปี 2549
และไม่เพียงแต่ข่าวที่ว่อนวงการการเมืองว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เข้าร่วมวงเป็นกาวใจให้กับแกนนำคนเสื้อแดง กับคนในตระกูลชินวัตรและแกนนำพรรคเพื่อไทย
แต่ยังมี “สมชาย” เป็นหนึ่งในคนสำคัญของครอบครัวและเครือข่ายแห่งตระกูลชินวัตร ที่ต้องร่วมวงกอบกู้วิกฤติแห่งอำนาจในครั้งนี้
วงประชุมในตึกพรรคเพื่อไทย จึงมีบุคคลทั้งระดับ “แกนนำ-แกนใน” ของตระกูล นั่งบัญชาการที่หัวโต๊ะ บนชั้น 8 อาคารโอเอไอ
“สมชาย” เบรกวงประชุม ออกมาสนทนากับนักข่าวเป็นครั้งคราว แบบปล่อยวาง…กับวิกฤติที่อยู่ตรงหน้า
เขาพูดไว้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยกรณี 312 ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นว่าที่มาของ ส.ว. อาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่-ก่อนที่จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ และก่อนม็อบของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะดีเดย์ 1 ล้านคน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556
เขาบอกว่า “ผมมั่นใจในระบบศาล มั่นใจวิจารณญาณแห่งกระบวนการยุติธรรม…ระบอบทักษิณมันไม่มี จะไปล้มล้างอะไร…จะเอาตระกูลนี้ทั้งตระกูลออกนอกประเทศหรือ มันโหดร้ายเกินไป…ผมไม่ไป ผมยอมตายที่นี่”
เขาพูดถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ในฐานะน้องภรรยา ว่า “ท่านไม่กังวล ท่านเป็นผู้นำตัวจริง เราเป็นญาติ ไปแทรกแซงท่านไม่ได้ ต้องยกย่องท่าน หากพวกเราไม่ยกย่องกันเอง ใครจะมายกย่อง ต้องไม่ก้าวก่ายงานท่าน การช่วยงานเบื้องหลังเป็นเรื่องธรรมดา”
เมื่อต้องพูดเรื่องเส้นทางกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาพูดได้แต่เพียงว่า “ยังพูดไม่ถูก ดูไม่ออก เรียกว่าพระเจ้ากำหนดมาแล้ว ว่าจะให้ใครทำอะไร ที่ไหน…เส้นทางกลับบ้านของท่านทักษิณมันยากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”
ย้อนกลับไปยังเส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีของ 3 คนในครอบครัวชินวัตรนั้นไม่ยาก เพราะชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากทุกครั้งในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การดำรงสถานะนายกรัฐมนตรีให้ครบเทอม แม้พ.ต.ท.ทักษิณจะได้อยู่ครบเทอม แต่สมัยที่สองก็ต้องถูกรัฐประหาร ไม่ต้องนับกรณีนายสมชายที่อยู่ได้เพียง 75 วัน และกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งครบวาระครึ่งเทอม ก็ถูกตั้งโต๊ะล่าชื่อขับไล่
ครอบครัวชินวัตรกำลังต่อสู้กับใคร คำถามนี้นายสมชายคิดอยู่นานก่อนจะตอบว่า “ถ้าเห็นหน้าชัดๆ ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่อยากไปประเมินสิ่งที่อยู่นอกลู่-นอกทาง…หวังว่าสักวันพวกที่ประท้วง จะมีดวงตาเห็นธรรม”
เป็นที่วิจารณ์กันมาก ทั้งผู้ที่เป็นลูกชาย นายพานทองแท้ ชินวัตร และ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ที่เห็นตรงกันว่า การก้าวพลาดทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ห่างไกลหน้างาน มีข้อมูลไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ทำให้ตัดสินใจสั่งรุกทางการเมืองแบบสุดทาง แต่ “สมชาย” ไม่เชื่อเช่นนั้น เขาบอกว่า “ผมยอมรับว่าท่านทักษิณเชื่อผม แต่เรื่องนี้มันใหญ่เกินไปที่ท่านจะเข้ามา มันไม่ได้เป็นเรื่องในครอบครัว แต่เป็นเรื่อง ส.ส.”
“เรื่องที่ทำตามความคิดท่านทักษิณมีจริง ทุกเรื่อง ทุกนโยบาย เป็นคำแนะนำ แล้วทำตามคำแนะนำของทักษิณมันผิดอะไร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 23“สมชาย” มีความเชื่อมั่นส่วนตัว หลังจากหารือร่วมกับ “คณะกรรมการครอบครัว” ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องไม่ยุบสภา
เขาเชื่อว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ จะมีเงื่อนไขที่เหมือนกับเขาในยุคที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจัยการตัดสินใจยุบสภานั้นไม่ใช่เฉพาะคนในพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจได้ แต่หัวใจสำคัญคือ บรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทุกคนจะไม่ยอมให้ยุบสภา จนกว่าจะถึงวาระที่วิกฤติที่สุด
สำหรับทางหนี-ทีไล่ ของฝ่ายเพื่อไทยและคณะ “สมชาย” วิเคราะห์เส้นทางไว้ ดังนี้
รัฐบาลเพื่อไทย: ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ออกข่าวขี้แจงให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ศาลรัฐธรรมนูญ: ไม่อยากพูดถึง แค่อยากให้เชื่อมั่นในวิธีการเดินของศาล ตามกฎหมาย
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ: จะดุเดือด เพราะจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับม็อบอยู่ข้างนอกสภาผู้แทนราษฎร
ท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน: เรื่องการเมือง อย่าไปคิดเรื่องยุทธวิธีอย่างเดียว ต้องคิดเรื่องตรงไป ตรงมาบ้าง
ถามถึงชีวิตส่วนตัวของเขา หลังพ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 เขาบอกว่า “เมื่อก่อนผมตื่นเต้น นับวันนับคืน เมื่อไรจะพ้นโทษ 5 ปี แต่ตอนนี้ไม่ได้สนใจแล้ว ตอนนี้เข้ามาทำงานการเมือง ก็บอกพรรคบอกพวก จะช่วยสนับสนุนพรรคตลอดไป…แม้ไม่มีตำแหน่งอะไร”
“หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ ก็มีพรรคอื่นให้อยู่”
“ในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 จึงไม่มีจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิต หากจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีจะเอาใครเป็นรัฐมนตรีก็ได้ มีทางเลือกมากขึ้น”
ไม่ว่ากระดานการเมืองจะหกสูง หกต่ำ
ไม่ว่าฤดูกาลการเมืองจะร้อนหรือหนาว
สำหรับนักการเมืองมืออาชีพแล้ว พวกเขาล้วนพร้อมปรับตัวให้สูง-ต่ำ รับความร้อน-หนาว ได้ทุกฤดูกาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในครอบครัว-ตระกูลชินวัตร ทุกคนล้วนถูกเคี่ยวกรำ ให้รับ-รุกสถานการณ์ทางการเมืองแทบทุกวัน
อาจกล่าวได้ว่า ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แทบทุกวิกฤติการเมืองล้วนมีคนในบ้าน “ชินวัตร” ต้องเกี่ยวข้อง ทั้งสิ้น
คำเปิดใจสนทนาของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” จึงบ่งบอกอารมณ์ จิตใจ ของครอบครัว “ชินวัตร” ว่าพร้อมแล้ว…สำหรับรับมือวิกฤตการเมือง…อีกครั้ง?