ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กู้เงินกยศ. เรียนอะไรกัน!

กู้เงินกยศ. เรียนอะไรกัน!

9 สิงหาคม 2018


แม้ว่านโยบายการก่อตั้ง “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ. เมื่อ 22 ปีที่แล้วในปี 2539 เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศ โดยสถิติล่าสุด กยศ. ได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 570,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง กยศ. กลับต้องเผชิญกับปัญหาการชำระเงินคืนสินเชื่อ โดยปัจจุบันมีผู้กู้ที่ครบกำหนดต้องเริ่มชำระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนมีถึง 2.1 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 68,000 ล้านบาทที่ผิดชำระหนี้ และส่งปัญหาตามมาให้เป็นข่าวในสังคมไทยอยู่เรื่อยๆ และล่าสุดกับกรณีของ “ครูวิภา บานเย็น” ที่ไปค้ำประกันหนี้ กยศ. ให้ลูกศิษย์เกือบล้านบาท

ขณะที่ปัญหาการชำระหนี้ของ กยศ. ยังไม่คลี่คลาย อีกปมปัญหาสำคัญและถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคือการ “ปฏิรูปการศึกษา” เพื่อให้สามารถมีแรงงานที่มีทักษะในยุคสมัยใหม่ สามารถคิดค้นนวัตกรรม และกลายเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในท้ายที่สุด ปัจจุบันภาคการศึกษาของไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ โดยเฉพาะทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการคิดค้นนวัตกรรม ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญปัญหาผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้านสังคมศาสตร์ออกมามากเกินไป

ทั้งนี้ นโยบายหลักของรัฐบาลตามแผนการปฏิรูปการศึกษาจะเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ให้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการให้แรงจูงใจแก่สถาบันอุดมศึกษา การดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศให้เข้ามาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภายในประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยด้านเงินทุนยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเข้าถึงการศึกษาของคนหลายคน โดยนอกจาก กยศ. ที่มีอยู่แล้ว รัฐบาล คสช. ได้มีแนวทางจัดตั้ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”หรือ กสศ. โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ตามความขาดแคลนสำหรับผู้ด้อยโอกาส

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงได้สำรวจข้อมูลกู้ยืมระดับปริญญาตรีย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 ว่าภาคการเงินอย่างสินเชื่อเพื่อการศึกษาของ กยศ. สามารถตอบโจทย์สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่?

  • กสศ. สำรวจนักเรียนยากจนมี 1.69 ล้านคน ชี้ยากจนพิเศษ 6 แสนคน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 42.7 บาท/ครอบครัว
  • กองทุนกสศ.เตรียมทำชุดข้อมูล Big Data เจาะลึกผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์-ด้อยโอกาสการศึกษา 4.3 ล้านคน
  • ปาฐกถา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” โอกาสพลิกความเสมอภาคทางการศึกษา “เปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก”
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

  • กองทุน กสศ. เปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน สค.นี้ เน้นช่วยเด็กด้อยโอกาส ขาดแคลน 2.9 ล้านคนให้ตรงจุด โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน
  • ถอดรหัสผล PISA 2015 พบกลุ่มช้างเผือก “เด็กด้อยโอกาส-ยากจนไทย” มีคะแนนสูงระดับโลก
  • จากข้อมูลระบุว่าในปี 2560 มีจำนวนผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 418,681 ราย เป็นวงเงิน 23,676.65 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 56,551 บาทต่อรายต่อปี และหากเทียบกับปี 2559 พบว่าจำนวนผู้กู้ยืมเพิ่มขึ้น 2.8% จาก 407,269 ราย ขณะที่วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น 9.16% จาก  21,690.16 ล้านบาท และทำให้วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น  6.18% จาก 53,258 บาทต่อรายต่อปี อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับปี 2556 พบว่าจำนวนผู้กู้ยืมและวงเงินกู้ยืม กยศ. ลดลง 22.2% จาก 538,066 ราย และลดลง 14.1% จาก 27,567.12 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ด้วยจำนวนผู้กู้ยืมที่ลดลงเร็วกว่าวงเงินกู้ยืมส่งผลให้จำนวนเงินกู้ยืมเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น 10.4% จาก 51,234 บาทต่อรายต่อปี

    สำหรับรายละเอียดประเภทสาขาวิชาที่กู้ยืมพบว่า สาขาสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มีสัดส่วนมากที่สุด โดย ณ ปี 2560 โดยมีวงเงินกู้ยืมคิดเป็น 54% ของวงเงินทั้งหมด หรือประมาณ 12,754 ล้านบาท และมีสัดส่วนจำนวนผู้กู้ยืม 58% ของจำนวนผู้กู้รวม หรือคิดเป็นประมาณ 244,424 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวลดลงมาต่อเนื่องจากปี 2556 ที่มีวงเงิน 57% ของวงเงินรวม หรือลดลงไป 2,962 ล้านบาทจาก  15,716 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนจำนวนผู้กู้ลดลงจาก 60.9% หรือลดลงไป 83,242 รายจากจำนวนผู้กู้ที่ 327,666 ราย

    ด้านสาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวงเงินกู้ยืม ณ ปี 2560 คิดเป็น 25% ของวงเงินรวม หรือคิดเป็นวงเงิน 5,677 ล้านบาท และมีจำนวนผู้กู้ยืม 23% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด หรือเป็นจำนวน 96,854 ราย และเช่นเดียวกัน หากเทียบกับปี 2556 สัดส่วนวงเงินกู้ยืมลดลงจาก 25% ของจำนวนเงินทั้งหมด หรือลดลงไป 1,305 ล้านบาทจาก 6,981 ล้านบาท และสัดส่วนผู้กู้ยืมลดลงจาก 25% ของจำนวนผู้กู้ยืมทั้งหมด หรือลดลงไป 35,490 รายจาก 132,344 ราย

    ด้านสาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ นับเป็นสาขาเดียวที่มีวงเงินกู้และจำนวนผู้กู้ยืมเพิ่มขึ้น โดยมีวงเงินกู้ยืม ณ ปี 2560 คิดเป็น 14% ของวงเงินรวม หรือคิดเป็นวงเงิน 3,215 ล้านบาท และมีจำนวนผู้กู้ยืม 11% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด หรือเป็นจำนวน 44,470 ราย และเช่นเดียวกัน หากเทียบกับปี 2556 สัดส่วนวงเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นจาก 9.3% ของจำนวนเงินทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นไป 665 ล้านบาทจาก 2,550 ล้านบาท และสัดส่วนผู้กู้ยืมเพิ่มขึ้นจาก 6.3% ของจำนวนผู้กู้ยืมทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นไป 10,482 รายจาก  33,987 ราย