ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดรหัสผล PISA 2015 พบกลุ่มช้างเผือก “เด็กด้อยโอกาส-ยากจนไทย” มีคะแนนสูงระดับโลก

ถอดรหัสผล PISA 2015 พบกลุ่มช้างเผือก “เด็กด้อยโอกาส-ยากจนไทย” มีคะแนนสูงระดับโลก

28 มิถุนายน 2017


สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) จัดแถลงข่าว “ถอดรหัสผล PISA 2015 เด็กด้อยโอกาส-ยากจน ความหวังที่คาดไม่ถึง สู่เป้าหมาย Thailand 4.0” หลังพบเด็ก “ด้อยโอกาส-ยากจนไทย” ส่วนหนึ่งมีคะแนนสูงระดับโลก แต่ยังขาดแรงหนุนจากภาครัฐ เสี่ยงสูญเสียคนเก่งระดับหัวกะทิของประเทศกว่า 3 หมื่นคนไปสู่ตลาดแรงงานไร้คุณภาพ สสค. ชี้ยุทธศาสตร์สู่ประเทศไทย 4.0 ต้องปลดล็อกศักยภาพคนกลุ่ม “Bottom 40%” ธนาคารโลกระบุ

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิจัยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงงานวิจัยและข้อค้นพบใหม่จากผลการสอบ PISA (Program for International Student Assessment) ในปี 2015 ว่า OECD วิเคราะห์ถึงกลุ่ม Resilient Student หรือนักเรียนที่มีระดับเศรษฐฐานะต่ำสุด 25% ของแต่ละประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบได้เป็นกลุ่มสูงที่สุด 25% ของโลก เป็นเด็กที่สามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้ หรือเรียกว่าเด็กกลุ่ม “ช้างเผือก” โดยประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือกหรือ “Resilient Student” จำนวนราว 3.33% แต่องค์การ OECD ผู้จัดสอบ PISA2015 ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า หากเยาวชนกลุ่มที่ยากจนที่สุด 25% นี้มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมเทียบเท่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของนักเรียนที่เข้าสอบจากทั่วโลกแล้วจะทำให้ประเทศมีจำนวนเด็กกลุ่มช้างเผือกหรือ “Resilient Student” เพิ่มขึ้นเป็น 30,300 คนหรือ 18.4% โดยนักเรียนกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาส่วนใหญ่อยู่ในเมืองขนาดปานกลางถึงเล็ก และมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่บิดามารดาได้รับการศึกษาเฉลี่ย 6 ปี

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวว่า ผลประเมินเชิงลึกของ OECD ยังพบว่า เด็กกลุ่มช้างเผือกมีทักษะ “การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” (Scientific Thinking) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในยุค 4.0 มากกว่านักเรียนที่อยู่ในกลุ่มฐานะเศรษฐกิจสังคมเดียวกัน ถึง 3 ปีครึ่ง มากกว่านักเรียนกลุ่มเฉลี่ยของประเทศถึงเกือบ 3 ปี และสูงกว่านักเรียนกลุ่มที่มีระดับเศรษฐฐานะสูงสุด ร้อยละ 25% ของประเทศหรือกลุ่มยูนิคอร์นมากกว่า 1 ปีการศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนแต่พบว่ามี “เด็กช้างเผือก” สูงถึง 75.5% หรือประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาระดับสูงอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่มีจำนวนเด็กกลุ่มนี้เท่ากันคือ 49 % ส่วนสหรัฐอเมริกามี 31% โดยประเทศที่มีเด็กกลุ่มช้างเผือกมากย่อมสะท้อนว่าคุณภาพของระบบการศึกษาในประเทศนั้นดีมาก เพราะแม้กระทั่งเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสก็ยังสามารถทำคะแนนได้ดีในระดับ Top 25% สูงสุดของโลกได้ สำหรับประเทศไทยนั้นมีเด็กกลุ่มช้างเผือก 18.4% จัดว่าอยู่ในกลุ่มกลางๆ โดยลดลงจากปี 2006 ที่มีเด็กกลุ่มนี้ 23.6%

“หัวใจสำคัญของการค้นพบนี้อยู่ที่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เด็กช้างเผือกสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องฐานะและโอกาสทางการศึกษามาเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนสอบ PISA สูงในระดับโลกได้ OECD พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีแรงบันดาลใจ มีความสนใจ และมีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ มีการใช้เวลาในห้องเรียนอย่างเต็มที่มากกว่าจะไปเรียนพิเศษ สำคัญที่สุดคือบทบาทของครู ที่มีกระบวนทัศน์แบบพระแสวง หรือ Growth Mindset มีการสอนแบบให้เด็กมีส่วนร่วม มีการให้ Feedback แก่เด็กเพื่อพัฒนา สอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม สอนตามความต้องการของเด็ก มีการประยุกต์เนื้อหาหรือหัวข้อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ ฯลฯ”

ดร.ภูมิศรัณย์ชี้ว่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากการศึกษาในครั้งนี้ก็คือ เด็กจำนวน 30,300 คนนี้กลับมีความคาดหวังกับอาชีพของตัวเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพียงร้อยละ 63 ซึ่งสวนทางกับศักยภาพ อันเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งสภาพเศรษฐฐานะที่ยากจน ทัศนคติของครอบครัวผู้ปกครองที่ขาดความรู้และความเข้าใจในศักยภาพของลูกหลาน ขาดแคลนแรงบันดาลใจ ต้นแบบในด้านอาชีพ การแนะแนวให้เห็นทางเลือกอาชีพ ทำให้พวกเขาไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อ หรือไม่ได้ศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่มีความถนัดและต้องการบางส่วนจบ ม.3 ก็ออกสู่ตลาดแรงงานกลายเป็นผู้ใช้แรงงานด้อยทักษะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับสังคมไทยที่ต้องสูญเสียคนเก่งที่มีศักยภาพไป

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่าค่าคะแนน PISA ของเด็กที่เพิ่มขึ้นมา 100 คะแนน จะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นถึงร้อยละ 1.8 ต่อปี แต่ตลอด 15 ปีประเทศไทยมีระดับคะแนนอยู่ที่ 400 คะแนนมาตลอด ส่งผลให้นักเรียนไทยมีทักษะต่ำกว่ากลุ่มประเทศ OECD ประมาณ 2.5 ปีการศึกษา และต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกเกือบ 3 ปีการศึกษา มีเด็กไทยเกินครึ่งที่มีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐานถึงแม้จะเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษามาเกือบ 9 ปีแล้วก็ตาม ขณะที่เด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูงของ PISA เพียงร้อยละ 1

“วันนี้รัฐบาลต้องการไปสู่ยุค 4.0 แต่มีสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพียง 1,000 คนต่อ 1 ล้านคน จากการศึกษาพบว่าประเทศที่ร่ำรวยและเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะต้องมีแรงงานทักษะสูงจำนวน 7,000-8,000 คนต่อ 1 ล้านคน ซึ่งข้อมูลจาก 68 ประเทศ จะพบว่าไม่มีประเทศไหนเลยที่มีคนระดับหัวกะทิแค่เพียงร้อยละ 1 แล้วจะสามารถพัฒนาคนในด้านวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาได้ โดยประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี เวียดนาม และสิงคโปร์ มีเด็กในกลุ่มนี้มากกว่าประเทศไทย ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น จากข้อมูลตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นต่อเนื่องนั้นไม่มีประเทศไหนที่ไม่ลงทุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องลงทุนทั้งเรื่องของการการศึกษา การวิจัยและพัฒนามนุษย์ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อแรงงานไทยจะมีทักษะและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม สามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้” ดร.ดิลกะกล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่า เด็กที่มีปัญหาด้านการศึกษาของไทยส่วนใหญ่มักจะมาจากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศ หรือ Bottom 40% หากภาครัฐสามารถค้นพบและพัฒนาเด็กกลุ่มช้างเผือกและส่งเสริมปัจจัยบวกทางการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มยากจนคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดหนุนทุนการศึกษา และการแนะแนวให้เห็นช่องทางโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ ก็จะช่วยลดจำนวนเด็กกลุ่มผลการเรียนอ่อนหรือมีทักษะด้อยมาตรฐานลง นับเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ไทย ทำให้ประเทศไทยมีแรงงานทักษะสูงที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นปัญหาของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน

“คนในกลุ่ม Bottom 40% ที่มีจำนวนมากกว่า 28 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ ผู้มีรายได้น้อยกว่าวันละ 200 บาท เด็กด้อยโอกาสในระบบการศึกษาและเด็กนอกระบบ การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้นั้น เราจะต้องพาคนกลุ่มนี้ไปให้ได้ ต้องทำให้ระบบการศึกษาสามารถเป็นกลไกการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ดี ภาคส่วนต่างๆ ต้องเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนกลุ่ม Bottom 40% ให้ถึงขีดสุดโดยเฉพาะเรื่องโอกาสทางการศึกษาทั้งสายอาชีพ และสายอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนยากจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่น่าจับตาของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้ในอนาคต ถ้าเราไม่ช่วยคนเหล่านี้ประเทศไทยจะไม่มีวันก้าวไปถึงเป้าหมาย Thailand 4.0 ได้เลย” ดร.ไกรยสกล่าว